เมื่อโลกไร้สื่อ

เสรีภาพสื่อ? คำนี้คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงคอยเตือนกันในประเทศที่เจริญแล้ว
แต่ในประเทศที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทยแลนด์ คำนี้เป็นคำที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ โดยเฉพาะตั้งแต่การเข้ามาของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในทุกยุค
ในขณะที่อันดับเสรีภาพสื่อของประเทศเราจะสาละวันลดลง ๆ เราในฐานะที่เป็นสื่อเลยอยากรู้ว่าคนที่ทำหน้าที่สื่อด้วยกันมีความเห็นยังไงต่อสถานการณ์แบบนี้
ไม่แน่ว่าการที่รัฐบาลประกาศอย่างนั้นเพราะอาจจะมองว่าสื่อพวกนี้นำเสนอในสิ่งที่ “จริงเกินไป” กว่าที่เหล่าผู้มีอำนาจจะรับได้รึเปล่า ทั้ง ๆ ที่การรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหน้าที่ของสื่อ

“โห..ไม่ดีกว่าครับ”

“พี่พูดไม่ได้อะ ถามคนอื่นเถอะ”

“ไม่ขอพูดดีกว่าครับ ช่องผมอยู่นี่แสดงความเห็นไม่ได้เลย แค่นำเสนอตอนนี้ก็ยากแล้ว”

ถึงเราจะบอกไปว่าบทสัมภาษณ์นี้จะเป็นในรูปแบบของบทความและไม่เปิดเผยตัวตน แต่ก็มีสำนักข่าวหลาย ๆ สำนักที่ขอปฏิเสธในการแสดงความเห็นกับสิ่งที่ตัวเองกำลังนำเสนออยู่ขณะนี้ เพราะเราเป็นคนแปลกหน้า? ไม่รู้จะพูดยังไง? หรือว่าจริง ๆ แล้วเขาก็ไม่สามารถแสดงความเห็นได้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็เป็นสื่อ?

หลังจากการได้เข้าไปเหยียบอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นครั้งแรก เราเดินออกมาเจอกับบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องที่สุดกับกรณีสื่อถูกปิดกั้นนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้เจอเขาตัวเป็น ๆ เลยเกร็งนิดหน่อยก่อนที่จะสัมภาษณ์ เพื่ออรรถรสให้จินตนาการข้อความเป็นเสียงตอนเขาพูด

“อยากทราบความเห็นหน่อยครับเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ”

“ผมว่าเขาก็ทำเพื่อคุกคามไม่ให้ประชาชนกล้ารายงานนะครับแล้วก็อย่างที่ผมโดนนี่นะครับ ผมโดนเพราะว่าผมมารายงานข่าวการชุมนุมฉะนั้นการรายงานข่าวการชุมนุมไม่ควรเป็นเรื่องผิดอยู่แล้วนะครับแล้วก็ การที่เขาจงใจออกหมายเรียกผมเนี่ยว่าฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินเนื่องจากชุมนุมเกินห้าคนเนี่ยในทางปฏิบัติผมไม่ได้มาชุมนุมครับผมมารายงานข่าว

“การที่เขาทำอย่างนี้คือการที่เขาต้องการปิดสื่อแล้วก็สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นนะครับ แล้วมันก็เกิดขึ้นหลังจากที่วันนี้ศาลตัดสินว่ารัฐบาลไม่สามารถจะปิดว๊อยซ์ได้นะครับ ไม่สามารถจะปิดช่องทางในการสื่อสารได้เพราะว่าอำนาจทางกฏหมายไม่มีนะครับ ถ้าข่าวไหนผิดเนี่ยก็จัดการแค่ข่าวนั้นแต่ไม่ใช่ปิดช่องทางทั้งหมดซึ่งจะกระทบสู่การนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อวันนี้ศาลตัดสินแบบนี้เนี่ยเขาก็เลยใช้วิธีแบบนี้นะครับนั่นก็คือพอเล่นงานช่องไม่ได้เนี่ยก็คงจะมาเล่นงานตัวบุคคลนะครับ ซึ่งมันก็สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวครับคือ คนเขารู้ทั้งประเทศว่าผมมาทำงานนะครับ

“แล้วคุณมาดำเนินคดีกับคนที่มาทำงานว่าเป็นการชุมนุมนี่มันไม่เมคเซนส์อยู่แล้วครับ มันคือการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวแล้วก็ในที่สุดเขาต้องการให้เสียงของผู้ชุมนุมนี่มันถูกลบไปจากประเทศนี้ไม่ให้มีผู้ชุมนุมอยู่น่ะครับ”

-ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (Voice TV)

“….ขอบคุณมากครับ ขอถ่ายรูปด้วยได้มั้ยครับ?”

“ได้ครับ”

“ผมกลับมองว่า การที่ห้ามสื่อมันเหมือนกับเราห้ามพูดอะครับ หน้าที่ของสื่อคือการนำเสนอไม่ว่าจะเป็นความจริงมุมไหนก็ตาม การที่คุณบอกว่า‘สื่อห้ามนำเสนอนะ’มันก็เหมือนกับว่าคุณกำลังทำให้อาชีพ ๆ หนึ่งมันไม่มีประโยชน์ขึ้นมา หน้าที่ของเราคืออะไร? หน้าที่ของเราคือการนำเสนอต่อให้เป็นชุมนุมไหนก็ตามเรามีหน้าที่คือการนำเสนอ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดกลายเป็นว่ามันคือสิ่งที่ไร้ประโยชน์เมื่อพวกเขาบอกว่าคุณไม่ต้องทำแล้ว” สื่อมวลชนคนหนึ่งขณะกำลังถ่ายรูปอยู่บนสกายวอล์คกล่าว

“พี่ว่าถ้าไม่มีสื่อมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?”

“ถ้าไม่มีสื่อจะเกิดอะไรขึ้น? มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าข่าวที่ไม่มีการกลั่นกรอง ใครอยากจะปล่อยอะไรมาก็ได้ โอเคยอมรับว่าสื่อมันก็เป็นดาบสองคม บางทีภาพหนึ่งภาพมันล้านความหมาย บางทีเราถ่ายไปหนึ่งใบเนี่ยเขาอาจจะไปตัดเอาแค่ส่วนเดียวก็ได้ หน้าที่ของเราก็คือการนำเสนอภาพทั้งหมดให้ได้ แต่ถ้าไม่มีสื่อปุ๊ป ภาพหนึ่งใบที่เราเคยถ่ายหรือใครก็ได้ถ่ายมันอาจจะกลายเป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำลายกันและกันโดยที่ไม่มีใครกรองมาเลย

เรื่องการเอาภาพไปใช้นี่ก็น่าสนใจเหมือนกัน เพราะหลาย ๆ คนเอาไปใช้โดยที่ไม่รู้บริบทว่าเบื้องหลังภาพมันเป็นยังไงแล้วกลายเป็นว่าภาพเหล่านั้นจัดเข้าไปอยู่ในหมวดหมู่ข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ไปเลย

“คือในสังคมประชาธิปไตยเนี่ย ไม่ว่าเราจะเป็นสื่อที่ดีหรือไม่ดี จะทำตามจรรยาบรรณหรือไม่ อะไรก็แล้วแต่เราเชื่อว่าสื่อควรมีสิทธิ์ที่จะเปิดเผยข้อมูล ควรจะทำหน้าที่ของตัวเองตามจรรยาบรรณแต่ว่าในเมื่อมันมีเหตุการณ์แบบนี้เราคิดว่าประชาชนเองคงเข้าใจว่ามันสื่ออะไร”

“เราคิดว่ามันคงไม่ใช่ว่าบอกว่าปิดสำนักนึงแล้วทำไมไม่ปิดอีกสำนักนึง คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะปิดซักสำนักเลย นั่นคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าคุณก็เปิดไปสิ คุณเปิดให้ทุกคนได้ทำในสื่งที่เขาอ้างว่าเขาทำ สื่อที่เขาสื่อสารออกไป แล้วในความจริงมันจะบอกเองเพราะมันเช็คได้อยู่แล้ว โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ มันเช็คได้มากมายว่าอันไหนพูดไม่ตรง”

“ถ้าคนสิบคนพูดแบบนี้ อีกหนึ่งคนพูดแบบนี้มันก็อาจจะหมายความว่าสิบคนผิดก็ได้เพราะสิบคนอาจจะเป็นpropagandaทั้งหมดก็ได้ แต่คุณต้องเปิดโอกาสให้คนได้พูด นั่นคือขั้นพื้นฐานสุดแล้วในสังคมประชาธิปไตย”

“ระหว่างที่เราไม่ได้ออกไปม็อบเราก็ตามเช็คการไลฟ์เหตุการณ์ของแต่ละสำนัก บางสำนักก็มีจากหลายที่ เราเลยคิดว่ามันคงจริงเกินไปสำหรับใครบางคนแหละ หรือการไลฟ์มันอาจจะเป็นสิ่งที่ยากเกินไปกว่าที่รัฐจะควบคุม?”

“ผมว่าเขาอาจจะมีปัญหาเรื่องการควบคุบฝูงชนในพื้นที่นี่แหละ เขาอาจจะป้องกันการที่จะมีอะไรหลุดออกไป เป็นไปได้นะอันนี้ผมไม่ทราบ ถ้ารัฐบาลจะเลือกปิดแต่ไลฟ์ส่วนภาพนิ่งไม่โดนผมว่าคุณก็อาจไม่เข้าใจเรื่องการส่งไฟล์ในยุคปัจจุบันเท่าไหร่นะ มันไม่ได้ต่างอะไรกันมากหรอกแค่ไลฟ์มันอาจจะดูสดหน่อย แต่ผมว่าสื่อที่โดนปิดก็คือสื่อที่ข้อมูลจะค่อนข้างเอนมาทางฝั่งผู้ประท้วง ซึ่งการที่สื่อเลือกข้างมันไม่ใช่เรื่องแปลก” ช่างภาพคนหนึ่งกล่าวในประเด็นการไลฟ์

“ผมรู้สึกว่าแม่ง…คือมันยุคไหนแล้วอะ เลิกพยายามเหอะ ตอนนี้บทบาทของสื่อมวลชนคือการเล่าเรื่อง fact อย่างที่มีข้อมูลชัดเจนที่อยู่บนความจริง ผมมองว่าสื่อเลือกข้างได้ แต่การรายงานข่าวต้องเล่าทุกความเป็นจริงไม่บิดเบือนนั่นคือสิ่งสำคัญ ซึ่งผมก็พยายามให้มันเป็นกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกคนก็พยายามเต็มที่อยู่แล้วในฐานะสื่อมวลชน ผมว่าอันนี้คือข้อแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนจริง ๆ กับประชาชน ประชาชนผมว่ามีความที่จะเลือกข้างมากกว่าตามฝั่งตัวเองซึ่งอันนี้ผมก็เข้าใจ

“คือมึงปิดสื่อที่รายงานอย่างเป็นกลางไปอะจากนี้แม่งจะยิ่งเหี้ยกว่านี้ ความแตกแยกของข่าวสาร การเลือกข้างมันจะหนักขึ้นเพราะเล่าแต่ฝั่งตัวเอง ฝั่งนึงคิดอย่างนี้อีกฝั่งนึงคิดอย่างนี้ มันก็เป็นความปกติของสังคมประชาธิปไตยอะคือคนมองต่างกันได้ สุดท้ายแล้วเราไม่ต้องการอยากจะฆ่าล้างฆ่าฟันให้ความคิดอีกอย่างมันหายไป มันก็ต้องอยู่ด้วยกันอยู่ดีในสังคมอะจะยุคไหนก็ตามเถอะ การปิดสื่อคือการทำลายการที่จะสามารถเชื่อมตรงนี้ออกไปได้ มันทำให้สังคมแตกแยกกันมากขึ้น ผมว่ามันทุเรศ”

“มันก็ไม่ควรปิดกั้นเพราะว่าสื่อทุกคนก็รู้ว่าต้องเสนอความเป็นกลางที่สุดอยู่แล้ว อันนี้พูดในฐานะสื่อภาคสนามนะ เพราะว่าทุกคนก็จะถูกบรีฟมาอยู่แล้วว่าเราจะต้องถ่ายอะไร ทำยังไงให้เป็นกลางที่สุด ถึงแม้สำนักข่าวที่เราอยู่จะอยู่ข้างไหนแต่ว่าคนเป็นสื่อภาคสนามยังไงก็ต้องมีความเป็นกลาง พี่รู้สึกว่าสื่อภาคสนามอะมันเป็นประจักษ์พยาน ถ้าเกิดอะไรขึ้นมันสามารถมาย้อนดูภาพได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ณ ตอนนั้น”

“พี่รู้สึกยังไงกับการที่มีคนมาบอกว่า‘เราทุกคน’เป็นสื่อ?”

“คืออยากจะบอกว่าคนที่อยากจะมาถ่ายจะถ่ายก็ได้ แต่ว่าคนที่เป็นสื่ออะมันมีกฏหมายคุ้มครองเขาอยู่ว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้น แล้วก็การทำงานที่ผ่านอะไรมาเยอะเขาจะมีการยับยั้งการถ่าย การเสนอมันจะมีวิธีมุมมองซึ่งผมก็ไม่ได้ปิดกั้นนะอยากออกมาถ่ายก็ถ่าย แต่ว่าต้องดูแลตัวเอง รับผิดชอบตัวเองสูง ๆ เพราะว่าอะไร ๆ มันก็เกิดขึ้นได้ เรื่องการกรองข้อมูลด้วย คนทั่วไปอาจจะใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปด้วยระดับนึงแต่ว่าสื่อมันก็ใส่ไม่ได้ แต่ก็พูดไม่ได้เพราะสมัยนี้ผู้ประกาศข่าวบางคนก็ใส่ความเป็นตัวเองลงไป แต่นักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่อะจะไม่ จะต้องรายงานตามที่เห็นจริงมากกว่า”

“จริง ๆ สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนก็ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญนะครับ การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อพี่ก็มองว่ามันเป็นเหมือนปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนรวมไปถึงการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนซึ่งมันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับรู้อะครับ ส่วนประชาชนเขาจะคิดยังไงต่อหรือว่าจะมีการกระทำอะไรต่อจากข้อมูลนั้นอะ มันก็เป็นวิจารณญาณของแต่ละคนอยู่แล้วเพราะเชื่อว่าปัจจุบันนี้สื่อมันมีเยอะและมีความหลากหลายมาก เขาคงไม่ได้ฟังเพียงสื่อเดียวเท่านั้นก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร”

“เอาจริง ๆ แล้วเท่าที่ดูมาในช่วงวิกฤตเนี่ย มันก็มีการพลาดพลั้งไปบ้างของสื่อมวลชนเหมือนกันแต่ก็มีหลายคนที่ออกมาขอโทษ ออกมาแก้ข่าวซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนก็เป็นคนนึงที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว บางครั้งก็ต้องนำเสนอข้อมูลไปอย่างรวดเร็ว”

ฟังมาเราก็รู้สึกเศร้านิด ๆ กับเรื่องการเสพสื่อแค่สื่อเดียวนะ เพราะหลาย ๆ บ้าน(รวมทั้งเราเอง)ก็ยังเสพสื่ออยู่หลัก ๆ แค่เจ้าเดียว

“เบื่อมั้ยพี่? มาถ่ายทุกม็อบเลย” คำถามที่เราถามกับพี่ที่รู้จักซึ่งพบเจอแกบ่อย ๆ ในดงม็อบ
.
“มันก็มีบ้าง เบื่อบ้างแหละ แต่มันก็มีคำพูดอะไรหลาย ๆ อย่างในม็อบที่ทำให้เราอยากรู้อะ มันก็ยังมีอยู่นะสิ่งที่เราอยากรู้ ถ้าเราทำงานแล้วไม่อยากรู้มันก็เบื่อป่ะ แต่เราอยากรู้เราก็ยิ่งเดินหายิ่งอะไรมันก็ทำให้เราสนุกขึ้นแต่แบบ เรามาม็อบก็เหมือนได้หาข้อมูลให้ตัวเองเพิ่มเติมด้วย”
“คนที่มาม็อบมันก็เหมือนได้แสดงความรู้สึกที่ถูกปิดกั้นแล้วเก็บไว้ในใจอะ บางทีมันได้มาพูดมาระบายกับคนข้าง ๆ กับคนที่เขารับฟังมันก็เหมือนการระบายอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เอามาเก็บเป็นความโกรธแค้นแล้วจะไปตอบโต้อะ คือคิดเอาไปแก้ไขเพราะมันมีคำตอบอยู่ในนี้ ถ้าเราเดินดี ๆ เราก็จะรู้ว่าเด็กมันเฉลยออกมาเพราะมันพูดตรง ๆ เราก็ได้เก็บไปคิด”

“การที่ยิ่งมีสื่อเข้ามานำเสนอข้อมูลมันก็จะยิ่งช่วยเปิดเผยว่าความจริงคนเขาคิดกันยังไงใช่มั้ย?”

“ใช่ แต่ถ้ายิ่งมาปิดกั้นมันก็ทำให้ไม่ได้รับรู้ความจริงแล้วก็ยิ่งทำให้สังคมปะทุขึ้นอะ”

“อันดับแรกคือเราคิดว่า สื่ออะทุกคนมันเป็นได้แหละแต่ว่าอย่างน้อยอะเรามาถึงที่นี่ เรารายงาน-ถ่ายรูปไปใส่แฮชแท็คเพื่อให้คนตัดสินใจว่าจะมาม็อบมั้ย คนที่ไม่รู้ว่าตรงนี้มันเกิดอะไรขึ้นจะได้รู้ว่าสถานการณ์มันเป็นยังไงเพราะเราถ่ายแล้วอัปเลย พอเห็นอะไรเราอัปเลยมันก็มีความผิดพลาดอยู่เช่นตอนที่มีการสลายการชุมนุม(วันที่16ตุลาคม)เราใช้คำว่าแก๊สน้ำตาซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ เราก็ต้องแก้ไขให้มันถูกต้อง เราสนับสนุนการที่ทุกคนเป็นสื่อได้แต่ว่าอยากจะให้พูดบนฐานความเป็นจริง ไม่ใช่สร้างความตื่นตระหนก เราเข้าใจนะว่าการสื่อสารที่ผิดพลาดมันสามารถนำไปสู่ความหายนะได้”

“วันนั้นมันก็มีความตื่นตระหนกอยู่นะเพราะตอนสลายการชุมนุมมันมีคนไปทวีตให้คนที่เข้าไปหลบในจุฬาฯออกมา เพราะตำรวจเตรียมจะล้อมจับและจะมีการใช้กระสุนยาง” เราเพิ่มบทสนทนาเข้าไปในฐานะคนที่ดูไลฟ์และไถทวิตเตอร์อยู่ตอนเกิดเหตุการณ์

“อื้อ ใช่ ๆ เราก็ตกใจว่ามันใช่มั้ย แต่เราเลือกที่จะตัดสินใจไม่รายงานเพราะว่าเรายังไม่เห็นกับตา เพราะถ้าเราพูดไปมันก็เป็นการตีค่าให้คนเขาตัดสินแล้วว่ารัฐแม่งรุนแรงชิบหายเลยทั้งที่จริง ๆ มันไม่มี ตอนแก๊สน้ำตานี่เราตกใจมากแล้วเราต้องรีบรายงานให้คนอยู่ข้างหลังรู้ว่ามันมีการสลายการชุมนุมนะ พอเรารู้ทีหลังก็เลยไปแก้”

“ตอนที่มีการสลายการชุมนุม ผมก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกันพี่ ที่แชร์รูปต่อ ๆ กันมาเพราะหัวร้อนกับการที่รัฐคุกคามประชาชน จนต้องมีคนรู้จักมาบอกว่ามันเป็นรูปจากที่อื่นเลยได้ลบและบอกทางต้นทางไป”

“ใช่ ๆ ๆ ส่วนหนึ่งเพราะอารมณ์เดือดด้วยแหละ แล้วด้วยอคติในใจกับทางฝั่งรัฐด้วยทำให้เราถูกชี้นำไปทางนึง ซึ่งมาคิดทีหลังแล้วมันไม่ดีเลยว่ะทีหลังต้องละเอียดกว่านี้ แต่อีกอย่างหนึ่งที่เราเห็นไม่รู้มันเกี่ยวข้องรึเปล่านะคือเราถ่ายคนที่โดนจับได้”

“วันไหนนะพี่?”

“ถ่ายได้ตอนวันที่15 ทหารพยายามไม่ให้ถ่ายด้วย มันไล่เราแบบพยายามจะจับเราอะเอาง่าย ๆ แบบ‘เห้ยถ้าถ่ายจับนะเว้ย’ เรารู้สึกว่าพอมีคำนั้นออกมามันทำให้เรามองเขาไม่ดีขึ้นไปอีก เราถ่ายเพราะเราไม่รู้ว่าคนที่โดนจับเป็นใครแล้วเราเป็นกล้องเดียวที่ถ่ายได้ด้วยเลยถ่ายมารายงานบอกต่อ พอมาวันที่16เลยกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก กลายเป็นความเดือดดาลความอคติส่วนตัวด้วย เลยรายงานผิดพลาดไป”

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จเราก็ร่ำลากับรุ่นพี่ที่คณะซึ่งนอกจากจะส่งรูปขายแล้ว ยังรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้คนได้รู้ด้วย(โคตรขยัน)

ในขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมเดินประท้วงไป คำตะโกนว่า”ปิดเนชั่น”ที่ออกมาพร้อมกันจากปากผู้ชุมนุมก็เป็นส่วนหนึ่งในคำทั้งหมดที่ได้ยิน เราเลยรู้สึกว่าปัญหาของประเทศไทยหลาย ๆ เรื่องโดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองมาจากการไม่เช็คข้อมูลที่ตัวเองได้รับ

ถ้าผู้เสพสื่อเห็นพ้องต้องกันว่าสื่อไหนที่นำเสนอข่อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง สื่อ ๆ นั้นก็จะเสื่อมความนิยมจนอยู่ไม่ได้ไปเอง….หรือไม่แน่ว่าที่พฤติกรรมการบริโภคสื่อแบบนี้ยังอยู่เพราะว่าเขาไม่ได้เสพสื่อเหล่านั้นเพราะต้องการความจริง แต่เพื่อต้องการยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อกันแน่นะ?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรูปจากมุมมองของเรา คนกลุ่มนี้มากันจำนวน5-6คนนำโดยพี่แว่นดำคนนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ชุมนุม

ขณะที่เอาแผงกั้นมาขวางผู้ชุมนุมปากก็พูดไปว่า ‘สันติวิธีคือการอยู่เฉย ๆ ’ เมื่อผู้ชุมนุมกระชั้นชิดขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีการเบียดเสียดกันกับการ์ดผู้ชุมนุม พี่เขาก็โวยวายขึ้นมาว่า ‘ถ้าพวกคุณสันติวิธีกันจริง ๆ แล้วพวกคุณมาเบียดผมทำไม’

ถ้าปิดกั้นสื่อกันหมด นอกจากจำนวนกล้องที่รายล้อมพี่คนนี้จะลดลงแล้ว การนำเสนอข้อมูลในแต่ละด้านก็คงจะลดลงด้วย กลับกันถ้าพี่คนนี้ได้อ่านบ้อมูลที่นำเสนอโดยสื่อหลาย ๆ แห่ง ไม่แน่ว่าเขาอาจจะมีมุมมองต่อการชุมนุมเหล่านี้ต่างออกไปก็ได้

แต่ก็นั่นแหละ เราอยากให้เช็คข้อมูลเหตุการณ์นี้จากที่อื่นด้วย เพราะเหตุการณ์ค่อนข้างชุลมุน เราก็ได้แต่นำเสนอข้อมูลที่ได้เห็นและได้ยินมาในฐานะ “สื่อ” คนหนึ่งเท่านั้น 

Loading next article...