วากิวออสเตรเลีย เนื้อวัวที่กำลังจะหมดไปเพราะไฟป่า
ช่วงนี้ข่าวไฟไหม้ป่าในประเทศออสเตรเลียกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สื่อทุกสำนักต้องพูดถึง โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์ป่าที่ถูกผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเช่นโคอาลา จิงโจ้ หรือวัลลาบี ซึ่งดูแล้วเรียกน้ำตาและความสงสารจากทุกคนได้ง่ายๆ เพราะสัตว์พวกนี้มันแสนจะน่ารักน่าชังเหลือเกิน

ตัดภาพกลับมายังสถานที่เดียวกัน ม้า แกะ วัว หรือพูดง่ายๆว่าปศุสัตว์ทั้งหลายที่มนุษย์เลี้ยงไว้ใช้กินใช้งานก็ตายกันเกลื่อน กลายเป็นซากเกรียมสีดำปี๋วางเรียงรายเต็มถนนเหมือนกันนะ เสียแต่ว่าหน้าตาไม่น่าเอ็นดูเท่ากับพวกแรก แล้วอีกอย่างสุดท้ายก็ต้องถูกเชือดมาให้คนชิม มันก็เลยไม่ค่อยจะมีใครพูดถึงซักเท่าไหร่ นี่ยังไม่นับนก หนู กิ้งก่า แมลง และอื่นๆที่คริส ดิคแมน นักสิ่งแวดล้อมประจำมหาวิทยาลัยซิดนี่ย์ออกมาประเมินว่าจะตายรวมๆกันไปแล้วไม่ต่ำกว่า 480 ล้านตัว (เฉพาะที่รู้นะ) !!!!!!

เราเข้าใจนะ แต่ …. โห นี่มันสองมาตรฐานชัดๆ!

สนใจแต่ความน่ารักกันไปเถอะ รู้ไหมว่าเรากำลังจะอดกินเนื้ออร่อยๆ อย่างเนื้อวากิวออสเตรเลียกันหมดละ! เพราะแหล่งผลิตสำคัญของเนื้อชนิดนี้อยู่ในรัฐนิวเซ้าท์เวลส์ และควีนส์แลนด์ ซึ่งพื้นที่ประสบภัยเต็มๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกมาให้ข่าวว่าเกษตรกรทั่วประเทศเพิ่งเริ่มรายงานความเสียหายของสัตว์มาแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนตัวและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ส่วนบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางเกษตรกรรมอย่าง Mecardo ได้ประเมินว่าวัวที่เลี้ยงบริเวณรัฐวิคตอเรียและนิวเซ้าท์เวลส์ตายไปไม่น้อยกว่า 2.3 ล้านตัวแล้ว

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คนไม่กินเนื้อคงส่ายหน้า แล้วทำท่าแบบแล้วไง.. .ใครแคร์?

ถ้ายังไม่รู้ จะบอกให้ว่าเนื้อวากิวที่นี่เริ่มผลิตกันอย่างจริงๆจังๆ จนตัดตั้งสมาคมผู้ผลิตเนื้อวากิวแห่งออสเตรเลีย มาได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1989 หรือเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นออกประกาศให้เนื้อวากิวเป็น ‘สมบัติชาติ’ เมื่อ ค.ศ. 1997 การส่งออกพันธุ์วัวที่ให้เนื้อวากิวจึงกลายเป็นของต้องห้ามไปด้วย ส่งผลให้ออสเตรเลียกลายเป็นแหล่งเนื้อวัววากิวสายเลือดดีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนอกญี่ปุ่นทันที ปัจจุบันมีสมาชิกที่ลงทะเบียนไว้กับทางสมาคมกว่า 700 ราย อย่าถามว่าสร้างรายได้เข้าประเทศได้ปีละเท่าไหร่ ลองนึกถึงเนื้อฝานบางๆราคาลิบลิ่วตามเมนูของร้านอาหารไฮโซแล้วคำนวนดูคร่าวๆเองก็น่าจะกลืนน้ำลายดังเอื๊อกกันไม่มากก็น้อย

สาเหตุที่คนออสเตรเลียเชื่อกันว่าเป็นเหตุผลที่ทำเกษตรกรรมในออสเตรเลียได้ดีก็เพราะว่าพวกเขามีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) หรือมีการควบคุมความสะอาดและการจัดการที่ดี ก่อนหน้านี้การทำฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศนี้จึงได้ผลดี โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตเนื้อวัวออสเตรเลี่ยนวากิวที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งผลิตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

นั่นหมายความว่าการจะกลับมาผลิตสินค้าเกษตรเหมือนเมื่อก่อนนั้น จะต้องพึ่งสภาพแวดล้อมให้กลับมาสะอาดอย่างเดิม ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เริ่มทำเมื่อไหร่ และจะได้ทำกันตอนไหน เพราะขณะนี้สถานการณ์ไฟป่านั้นวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ และต่อให้รอดมาได้ เกษตรกรจะเอาอาหารที่ไหนไปให้สัตว์เหล่านี้กิน ในเมื่อแหล่งอาหารได้ตกอยู่ในกองไฟไปหมดแล้ว

ในเวลาที่คนทั้งประเทศล้วนแต่ต้องการความช่วยเหลือ เกษตรกรเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เกษตรกรบางรายออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาตัดสินใจปล่อยสัตว์ให้หนีออกจากกรงเองเมื่อเห็นว่าไฟรุกเข้ามาใกล้เกินไป แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะรอด บางตัวก็อาการหนักจนต้องทำการุณยฆาต สิ่งที่ต้องเร่งมือทำคือการขุดดินฝังซากสัตว์จำนวนมากที่ตายให้ทันเวลา ก่อนที่ซากเหล่านี้จะเน่าและกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคขนาดใหญ่ ซึ่งแค่นั้นก็ยากเหลือเกินแล้ว

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ผลิตวัววากิวในออสเตรเลียต้องเจอกับวิกฤต ก่อนหน้านี้ก็เจอกับวิกฤตโรควัวบ้าที่ทำให้ไม่สามารถส่งออกเนื้อวัวไปยังญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่และเป็นลูกค้าหลักได้ แต่ก็ไม่ร้ายเท่ากับเหตุการณ์นี้ที่เป็นการตัดกำลังผลิตออกไปโดยที่ยังไม่ทราบมูลค่าความเสียหายแน่ชัด

อุบัติเหตุทางอาหารแบบนี้เคยเกิดขึ้นคล้ายกันมาก่อน ดูอย่างตอนที่วานิลลาชั้นยอดจากเกาะมาดากัสการ์มีปัญหาเนื่องจาก พายุไซโคลน Enawo ที่พัดถล่มแปลงปลูกสำคัญไปเมื่อปี 2018 ที่ทำเอาวงการขนมหวานทั่วโลกสั่นสะเทือนเพราะราคาของวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นไม่รู้กี่เท่าเอาก็ได้ ร้านค้าหลายร้านที่สู้ราคาไม่ไหวก็ต้องเลี่ยงไปใช้วานิลลาเกรดต่ำจากแหล่งอื่น หรือยกเลิกการขายเมนูนี้ไปเลย

แม้ว่าจะยังมีสายพันธุ์วัววากิวเหลืออยู่ในมือของผู้ประกอบการที่อยู่ห่างไกลจากบริเวณที่เกิดเหตุบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยพิบัติครั้งนี้ได้ทำลายปริมาณประชากรวัววากิวที่ผลิตเนื้อลงไปมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลังจากนี้ราคาเนื้อวัววากิวจากออสเตรเลียจะต้องพุ่งสูงขึ้น เพราะปริมาณความต้องการยังคงเดิม ในขณะที่กำลังผลิตลดน้อยลงอย่างชัดเจน และยังไม่เห็นอนาคตว่าจะฟื้นฟูกำลังผลิตกลับมาได้เมื่อไหร่ 

 

ถ้าดูจากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าถึงแม้พวกสัตว์น่ารักกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์ แต่วัววากิวสายพันธุ์ออสเตรเลียนั้นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาที่ไหนไม่ได้เหมือนกัน นอกจากนี้วัวหนึ่งตัวตั้งท้องนานถึง 280 วัน และออกลูกแค่ครั้งละตัวเท่านั้นเอง ไม่นับว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ยากจะกลับมาเหมือนเดิมในระยะเวลาอันสั้น (หรือแม้กระทั่งในระยะยาวก็เถอะ)

รู้กันแบบนี้แล้ว ทำไมยังไม่มีใครตั้งองค์กรช่วยเหลือผู้ผลิตเนื้อเหล่านี้บ้าง ก่อนที่เราจะไม่มีอะไรอร่อยๆกินกัน

ลองนึกถึงกลิ่นอันหอมหวน ความฉ่ำน้ำรสอูมามิที่กระจายเต็มปากตอนเคี้ยวเนื้อที่มีไขมันแทรกอยู่ทุกอณูนั่นสิ แล้วจะซึ้งว่าความน่ารักคือมายา ข้าวปลาสิของจริง !

อ้างอิง:

https://mobile.abc.net.au/news/2020-01-05/fire-bushfire-dead-livestock-farmers-agforce-animal-carcasses/11841868?pfmredir=sm&fbclid=IwAR12csf0AxpRITNws0bn1lgB50MDpX77e8cacHkAjMGAJsyScoFjhQqxZsU

https://www.wagyu.org.au/australian-wagyu-30-years-in-the-making/

https://www.abc.net.au/news/2020-01-07/farmers-recount-heartbreaking-toll-of-bushfire-livestock-losses/11844696

https://www.thecut.com/2020/01/one-billion-animals-have-died-in-australian-wildfires.html

Loading next article...