เบื้องหลังหนังเต๋อ การสร้างมิติให้หนังผ่านสถาปัตยกรรม

วันนี้เราจะพาทุกคนไปล้วงลึกเบื้องหลังที่มาของฉากสวยๆ อาคารสุดเท่ในหนังเต๋อ การสร้างมิติให้โลกในหนังผ่านสถาปัตยกรรมในโลกแห่งความจริงของเต๋อ นวพล ผู้กำกับที่ “รักภาพยนตร์ในฐานะสิ่งมีชีวิต” แต่อาคารที่เค้าใช้ถ่ายหนังหลายอาคารดันหายไปแบบไร้ชีวิต! จนคนเรียกว่าอาถรรพ์หนังเต๋อ! ถ่ายที่ไหนที่นั่นต้องถูกทุบทิ้ง!

เต๋อ คือผู้กำกับที่ใส่รายละเอียดให้กับหนังและตัวละครราวกับว่าหนังของเค้าคือโลกอีกใบที่ทุกเรื่องราว และทุกสถานที่ในหนังนั้นมีอยู่จริง แม้กระทั่งหนังที่มีความแฟนตาซีอย่าง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ในสถานที่สมมุติก็พาคนดูไปสู่โลกอีกใบที่สมจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้หนังนอกกระแสเรื่องนี้สร้างความฮือฮาให้กับหนังไทย เปิดโลกวงการหนังไทยให้กว้างขึ้น ทั้งยังกลายเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำของสถาปัตยกรรมที่ถูกทำลายอย่างสนามม้านางเลิ้งอีกด้วย

ที่มาของฉากสวยๆ อาคารเท่ๆ และเรื่องราวของตัวละครในจักรวาลหนังเต๋อที่ดูสมจริงนี้ จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร จาก 36 จนมาถึง Fast & Feel Love จักรวาลหนังเต๋อ และการสร้างมิติให้หนังผ่านสถาปัตยกรรมของเต๋อนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จะมีอาคารในหนังเรื่องใดบ้างที่ถูกทุบทิ้งไป ตามมาอ่านกันได้เลย

Location สำคัญกับหนังมาก

เมื่อเราจะพูดถึงหนังเต๋อแล้ว บทความนี้เราจะขอเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรเป็นตอน ๆ เหมือนในหนังเต๋อบทแรก

ว่าด้วยเรื่องของ Location หรือฉากในหนัง ว่ามีความสำคัญอย่างไร และมันสำคัญแค่ไหนสำหรับพี่เต๋อ ทำไมในสมัยก่อนหนังพี่เต๋อถึงมีแต่อาคารเก่า แถมยังมีอาถรรพ์หนังเต๋อถ่ายที่ไหนที่นั่นต้องถูกทุบทิ้ง ที่มาที่ไปความสำคัญของ Location ในหนังเต๋อคืออะไร ไปอ่านกันได้เลย

“Location สำคัญกับหนังมาก เนื่องจาก Location คือสิ่งที่เซ็ตโทน เซ็ตจักรวาลให้กับหนัง เวลาเราเลือก Location มันไม่ใช่แค่ตัวละครควรจะอยู่ที่นี่ แต่เวลาเราเลือกสมมุติมีอยู่ 10 Location เราจะเอามาดูรวมกันว่า 10 Location นี้มันไปด้วยกันรึเปล่า แล้วเลือกสิ่งที่ใช่ที่ไปด้วยกันออกมา ถ้าเกิดเรากรุ๊ปให้มันเป็นโทนเดียวกัน มันก็จะเป็นจักรวาล และคาแรคเตอร์ของหนังเรื่องนั้นได้ แต่ถ้าเกิดเราเลือกสะเปะสะปะมันก็จะแบบจำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะว่าสมองคนดูไม่ได้ Inference ความต่อเนื่องนี้”

เราจะเห็นว่าพี่เต๋อให้ความสำคัญกับเรื่องขอ Location มาก พี่เต๋อยกตัวอย่างฉากในเรื่อง Marry is happy ให้เราฟัง ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะเป็นแนวแฟนตาซีที่ไม่ได้เน้นความสมจริงมากนัก ทุกสถานที่ในหนังล้วนถูกจำลองขึ้นมา แต่พี่เต๋อก็ยังทำให้หนังเกิดความสมจริงมากที่สุด ด้วยการหา Location ที่หน้าตาเป็นไปในทางเดียวกันมากที่สุด เข้ากับเนื้อเรื่อง และตัวละครมากที่สุด 

เช่นโรงเรียน หอพักที่จำลองมาจากสนามนางเลิ้ง บ้านแมรี่, ร้านขายเสื้อผ้า, ห้องพยาบาล และห้องเรียนที่มาจากอาคารแล็บยา ห้องนอนแมรี่ที่มาจากอพาร์ตเมนต์เก่า ทุกสถานที่ล้วนถูกคัดสรรมาอย่างดี ทั้งลักษณะอาคาร หน้าตารายละเอียด ดีเทลอาคาร รวมถึงสีของอาคารตัวอาคาร 

ซึ่งอาคารทุกอาคารในหนังล้วนมาจากการรวบรวมค้นหา Location ที่เป็นอาคาร Brutalist (สถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือย มักจะมีรูปลักษณ์ใหญ่โตแข็งกระด้าง ในเมืองไทยพบเห็นได้ในรูปแบบของอาคารราชการ อาคารพักอาศัยรวม หรืออาคารโรงเรียนในเครือคริสตจักร) ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่พี่เต๋อชอบในช่วงนั้น นำมาเปลี่ยนฟังก์ชันให้กลายเป็นสถานที่จำลองในหนังเพื่อให้เกิดโลกของตัวละครที่สมจริง แต่ทำไม Marry is happy จึงกลายเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำของสถาปัตยกรรมที่ถูกทำลาย ที่มาของการเริ่มถ่ายอาคารเก่าของพี่เต๋อมาจากอะไร เราไปตามอ่านกันต่อเลยค่ะ

36 ภาพยนตร์แนวทดลองเรื่องแรกที่ เต๋อ นวพล กำกับ จุดเริ่มต้นของอาคารเก่าในหนังเต๋อ

สำหรับ 36 หากคุณเคยดูหนังเรื่องนี้จะเห็นว่าทุกสถานที่ในหนังทั้งเรื่องนั้น ล้วนเป็นอาคารเก่าที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าแปลก ๆ เหมือนกับเนื้อเรื่องของหนัง ไม่ว่าจะเป็น Location ที่ตัวละครตามหา บ้านของตัวละคร บ้านเพื่อน หรือร้านซ่อมฮาร์ดดิสก์ก็ตาม 

พี่เต๋อเล่าที่มาของการเลือกอาคารเก่าทั้งเรื่องนี้ว่า ในช่วงนั้นพี่เต๋อชอบอาคารเก่าคล้ายตึกญี่ปุ่น ตึกไต้หวัน ที่มีความคลีน ๆ แล้วอยากถ่ายกรุงเทพฯ ให้ออกมาเป็นแบบนั้น 

“แต่ในขณะเดียวกันหนังมันพูดถึงเรื่องของปัจจุบันที่ค่อย ๆ สูญสลายไป ความทรงจำของวันนี้ที่พรุ่งนี้ไม่มีอีกแล้ว ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วคือยุคที่คอนโดกำลังจะพุ่ง แล้วตึกเก่าพวกนี้ก็โดนทุบกระจุยเพื่อสร้างเป็นคอนโดแทน จะมีฉากนึงในหนังที่ตัวละครไปยืนข้างไซต์ที่มีอาคารโมเดิร์นเก่าโดนทุบเพื่อนำไปสร้างคอนโดจริง ๆ ซึ่งมันตรงกับหนังมาก”

พี่เต๋อเล่าให้เราฟังด้วยความอินว่า หลังจากถ่ายหนังจบไปแล้วก็บังเอิญที่ตึกโรงแรมม่านรูดที่พี่เต๋อไปถ่ายในหนังเรื่องนี้ถูกทุบทิ้งไปเป็นคอนโดอีกเช่นกัน และยังมีอีกหลาย Location ของพี่เต๋อที่ไปถ่ายแล้วถูกทุบทิ้งจนหลายคนบอกว่านี่คือ อาถรรพ์!

ถ้าจะทุบให้ผมไปถ่ายไหมครับจะได้เก็บไว้

ต่อเนื่องจากอาถรรพ์! เรื่องที่ 2 จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่อาถรรพ์! หรอกค่ะแต่ด้วยสไตล์การทำหนัง และการเลือกอาคารในหนังของพี่เต๋อนั้น มักจะเป็นอาคาร Brutalist และ Modernist ซึ่งเป็นอาคารเก่า หรือบ้านเก่าของคนมีฐานะในยุค Mid-century Modern 

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในบ้านเราที่อาคารเหล่านั้นจะถูกทุบทิ้งไปอย่างง่ายดายโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่า หรือผลดี ผลเสียในการทุบอาคารนั้น ๆ ทิ้งสักเท่าไหร่ ไม่ว่าอาคารนั้น ๆ จะมีคุณค่าพอให้อนุรักษ์ไว้หรือไม่ก็ตาม อาคารธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์สำหรับเจ้าของอาคารแล้ว หลาย ๆ อาคารจึงถูกทุบทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เพื่อนำไปสร้างเป็นคอนโดมิเนียมเช่นเดียวกับใน 36 หรือนำไปสร้างเป็นอาคารที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ตามแต่ยุคสมัยและความเหมาะสม

 “ถ้าจะทุบให้ผมไปถ่ายไหมครับจะได้เก็บไว้” เมื่อเล่าถึงอาคารหลาย ๆ อาคารที่พี่เต๋อไปถ่ายแล้วถูกทุบทิ้ง หรือยังไม่ทันได้ถ่ายแล้วถูกทุบไปซะก่อนพี่เต๋อก็พูดประโยคนี้ขึ้นมา

ถ้าเราถ่ายที่นี่ก็ดีนะ มันจะได้บันทึกเอาไว้

“ตอนที่เราถ่ายหนังเราแต่ละเรื่องเรามีความตั้งใจอยู่เลยว่า ถ้าเราถ่ายอาคารพวกนี้ไว้ก็ดีนะ มันจะได้บันทึกเอาไว้”

“ฉะนั้นเวลาถ่ายเราก็จะถ่ายมุมให้มันกว้างขึ้นมานิดนึงเพื่อให้เห็นโครงอาคารนิด ๆ หน่อย ๆ รู้สึกว่าเป็นบทบันทึกอันหนึ่งของอาคารเหล่านั้นซึ่งเราถ่ายไว้เยอะเหมือนกัน อย่างสนามม้านางเลิ้งที่ใช้ถ่ายแมรี่ใครจะไปคิดว่ามันจะถูกทุบทิ้ง ช่วงปี 2012 เราปักหมุดเลยว่าเราจะถ่ายที่นี่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะมันยังมีอีกหลายจุดที่น่าถ่าย ทั้งตัวอาคารสนามม้าเอง หรือว่าส่วนตึกสมาคมเล็กเองที่อยู่ข้าง ๆ ก็ได้ถ่ายไปหลายงาน” 

ด้วย Mind Set ในการทำหนังแบบนี้นี่เองที่ทำให้เราได้มีความทรงจำของอาคารสนามม้านางเลิ้งซึ่งเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก แต่ทว่าอาคารที่มีคุณค่าเช่นนี้ก็ถูกทุบทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใยไม่ต่างจากอาคารทั่วไป…ตอนนี้  Marry is happy จึงกลายเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำของอาคารสนามม้านางเลิ้งที่ถูกทุบทิ้งไปแล้ว 

ตอนที่อาคารสนามม้านางเลิ้งถูกทุบทิ้ง เรากลับไปดู Marry is happy อีกครั้งด้วยความอาลัย ซึ่งต้องบอกเลยค่ะว่าหากเปรียบเทียบอาคารสนามม้านางเลิ้งเป็นคนคนนึง การกลับไปดู Marry is happy นั้นช่วยให้เราหายคิดถึงคนคนนั้นไปได้ชั่วขณะเลยล่ะ เพราะพี่เต๋อถ่ายไว้ได้ดีจริง ๆ ค่ะ เรียกได้ว่าถ่ายมาเกือบจะทุกมุมของตัวอาคาร ทั้งมุมสวย ๆ หรือมุมที่ไม่มีใครเคยเห็น ต้องขอบคุณพี่เต๋อที่ทำให้เราได้มีเครื่องบันทึกความทรงจำของสถาปัตยกรรมที่ถูกทำลายแห่งนี้

ผู้กำกับที่คลั่งไคล้อาคารเก่า และมองเห็นคุณค่าของมัน

จากผู้กำกับที่มีความชอบอาคารแนว Brutalist และ Modernist  เก่า ๆ จากการดูหนังต่างประเทศ จนได้ถ่ายอาคารเหล่านี้ในงานหลาย ๆ งานของตัวเอง ความชอบความสนใจที่เพิ่มขึ้นยิ่งทำให้ผู้กำกับคนนี้มองเห็นคุณค่าของมัน เค้ารู้สึกอย่างไรกับการที่อาคารเหล่านี้หายไปเรื่อย ๆ ลดน้อยลงทุกวัน ไม่มีการรักษาไว้ เราไปฟังกันเลยค่ะ

“บ้านเราเป็นประเทศที่ไม่ค่อยเก็บ Archive ไว้ คือน้อยมากไม่ใช่แค่ตึกอย่างเดียวแต่หมายถึงอื่น ๆ ด้วย ต้องกลับไปรากต้นมาก ๆ ว่าเรามองศิลปะว่าคืออะไร ถ้าในแง่ของความ Make Sense มันก็คงไม่ Make Sense ถ้าเราจะ Preserve ตึกไว้เพื่อความงามอย่างเดียว แต่ถ้าเรามี Mind Set เรื่อง Art หน่อยเราก็จะหาทางจนได้ เช่น ไม่ต้องทุบแต่เอาไปทำเป็นอย่างอื่นไหม อาจจะไม่ต้องถึงขั้นทุบทิ้ง มันจะมีสกิลมากขึ้นในการปรับปรุงตึก”

“แต่อันนี้มันอยู่ที่ว่าเราสนใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนไม่สนใจเค้าก็ไม่ได้เห็นความงดงามหรือคุณค่าของมัน มันก็จะเป็นแค่ตึกเก่า คล้าย ๆ เราไปขอถ่ายพวกบ้านเก่า ๆ คนสมัยนั้นจะบอกว่าจะถ่ายทำไมมันน่าเกลียด ก็ต้องพยายามอธิบายอาม่า อาโกวว่ามันสวยจริง ๆ ครับ เค้าก็จะแบบมันสกปรก เก่าแล้ว อย่าถ่ายเลย แต่ในความจริงแล้วการเป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคนั้นเอกลักษณ์จากในยุคนั้น มันมีคุณค่ามาก”

Marry is happy ที่มาของเครื่องบันทึกความทรงจำของสถาปัตยกรรมที่ถูกทำลาย

“Theme หนังคือ Tweet ที่บังคับกำหนดชีวิตของตัวละคร ก็จะนึกถึงเกาหลีเหนือหน่อย ๆ เผด็จการอะไรต่าง ๆ ก็จะมีลักษณะอาคารที่เป็น Brutalist ตึกปูนอาคารที่มีความโซเวียตรัสเซียอยู่นิดนึง เราก็จะรู้สึกว่าที่ที่แมรี่ควรจะอยู่มันน่าจะเป็นอะไรพวกนี้ เราก็เลยตามหาอาคารประเภทนี้ในกรุงเทพฯ เพื่อมาถ่าย”

จากการพูดคุยกับพี่เต๋อถึงแนวคิดที่มาของ Plot หนังแฟนตาซีแบบ Marry is happy และที่มาของการเลือก Brutalist Architecture อย่างสนามนางเลิ้งมาถ่ายนั้นเป็น Concept Idea ที่เจ๋งมากเลยทีเดียว ด้วยความที่อาคาร Brutal นั้นมีไม่เยอะในเมืองไทย และไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาของคนทั่วไป การเลือกถ่าย Brutalist Architecture จึงทำให้เกิดความไม่จริงขึ้นมาแบบอัตโนมัติ ซึ่งเข้ากับ Plot หนังแนวแฟนตาซีพอดี และทำให้พี่เต๋อได้มีโอกาสถ่ายอาคารสนามนางเลิ้งใน Concept Idea ที่มีความปะปนนี้

“Concept Idea มันก็คือความปะปน เช่น สมมุติว่าเราอยากถ่ายโรงเรียน มันไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนจริง ๆ ก็ได้ ถ่ายจากสิ่งอื่นก็ได้ อย่างอาคารโรงเรียนทั่วไปโอเคมันอาจจะสร้างมาแบบมีฟังก์ชันเป็นห้องเรียน ห้องประชุม แต่เวลาใช้งานจริงคนเราก็มักจะใช้แบบปะปน ด้วยความที่หนังเป็นแนวแฟนตาซี เราก็เลยคุยกับทีมอาร์ตว่าเราอยากได้โรงเรียนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนจริง ๆ ก็ได้นะ มันมาจากสิ่งอื่นก็ได้ ก็เลยได้เป็นสนามม้านางเลิ้ง กับ แล็บยา Phihalab มา ซึ่งมีเซนส์เดียวกับโรงเรียน เช่นเดียวกับโรงเรียนคริสตจักรที่จะมีสไตล์คล้าย ๆ กัน”

ฮาวทูทิ้ง อดีตของตัวละครสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม

ฮาวทูทิ้ง Plot หนังที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรงกับการรีโนเวทบ้านของจีนตัวละครหลัก ทำให้ฉาก หรือ Location ในหนังเรื่องนี้มีความสำคัญ และต้องสมจริงเป็นอย่างมาก ต้องใส่รายละเอียดอย่างหนัก รวมถึงตัวพี่เต๋อเองก็ต้องศึกษา ต้อง Work กับดีเทลต่าง ๆ ของฉากเป็นอย่างมากจนถึงขั้นที่บอกว่า เข้าใจ Interior Architect เลยว่าปวดหัวมากแค่ไหน และทำให้ได้ความรู้ไปทำบ้านของตัวเองหลังจากนั้นพอดี ผู้กำกับที่ทำหนังเกี่ยวกับการรีโนเวทบ้านซึ่งกำลังจะทำบ้านของตัวเอง เค้าจะอินกับการทำหนังเรื่องนี้มากแค่ไหน เราไปอ่านกันเลยค่ะ

ฮาวทูทิ้ง มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยอัตโนมัติจากเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการรีโนเวทบ้าน การ Set Up ฉากบ้านจีนเวอร์ชันเก่ามันจะบอกหมดเลยว่าเค้าโตมายังไง เพราะหนังไม่ได้เล่า Flash Back ว่าแต่ก่อนจีนเป็นยังไง มันเหมือนเรามาบ้านเพื่อนแล้วเราเห็นร่องรอยว่าอ๋อ หน้าบ้านมี Display มี Counter มีของในบ้านเป็นเครื่องดนตรีเก่า ๆ มีหนังสือ ห้องต่าง ๆ ที่นางเอกเดินพาทัวร์ก็เป็นห้องเรียนดนตรีเก่า ใช้ Set Up ฉากในการเล่าอดีตของตัวละครไปเลย โดยที่เราไม่ต้องเล่าอะไรมาก เหมือนกับการไปบ้านเพื่อนแล้วเดาได้ว่าแต่ก่อนมันคงเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวมั้งจากสิ่งที่เราเห็น” 

นอกจากรายละเอียดในการ Set Up ฉากบ้านจีนเวอร์ชันเก่า เพื่อเล่า Flash Back และที่มาที่ไปทั้งหมดของจีนแล้วในหนังพี่เต๋อยังไม่พลาดที่จะใส่บริบทที่สมจริงให้กับบ้านจีน ลักษณะย่านที่จีนอยู่ ตัว Location อาคารพาณิชย์เก่าในย่านสวนมะลิ ซึ่งถูกเลือกขึ้นมาเพื่อความสมจริงทางด้านฐานะความเป็นอยู่ของตัวละคร เพื่อให้คนดูสามารถเข้าใจได้ว่าตัวละครเป็นยังไง สิ่งที่จีนกำลังจะรีโนเวทมันเป็นไปในทิศทางไหน เพราะอดีตแบบไหนที่ทำให้จีนเดินทางไปแบบนั้น สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังจะไปสู่ทิศทางใดในชีวิต ซึ่งพี่เต๋อได้ทำความเข้าใจ และใช้  Architecture เล่าออกมาได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้เราเข้าใจอดีตของตัวละครทั้งหมดได้จาก Set Up ฉากโดยที่หนังไม่ต้องเล่าอะไรมาตามที่พี่เต๋อบอกจริง ๆ

ฮาวทูทิ้ง ทิ้งให้ผู้กำกับกลายเป็น Interior Architect

พี่เต๋อเล่าให้เราฟังว่าจริง ๆ แล้วใน ฮาวทูทิ้ง นั้นพี่เต๋อต้อง Set up ฉากขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด! เพราะตัวบ้านจริง ๆ แทบจะไม่มีอะไรเลย มีแต่โครงด้านนอกจึงต้อง Set up ขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด ผนัง ม่าน สิ่งของต่าง ๆ พี่เต๋อเพิ่มมันเข้ามาเองเพื่อให้สมจริงมากที่สุด ต้องมาคิดว่าจะให้ห้องของตัวละครใดอยู่ตรงไหนบ้าง เชื่อมกันยังไง เดินยังไง จีนเดินออกจากห้องนี้แล้วต้องไปทะลุตรงไหน 

“มีซีนที่จีนเดินออกจากห้องของตัวเองแล้วต้องไปเดินผ่านทะลุห้องพี่ชาย เดินลงมาข้างล่าง เข้าห้องกลาง และเดินต่อไปหน้าบ้าน คือมันต้องมี Sequence ที่อธิบายว่าบ้านนี้ห้องไหนอยู่ตรงไหน เพื่อไม่ให้คนงงเลยเป็นที่มาของฉากแรกที่จีนเดินเข้ามาตั้งแต่หน้าบ้าน และเดินผ่านห้องแต่ละห้อง”

พี่เต๋อเล่าให้เราฟังว่าต้อง Design ห้อง 4 ห้องต่อกันด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นงานที่ยากมากจนทำให้เข้าใจ Interior เลยว่าปวดหัวมากแค่ไหน เพราะกว่าพี่เต๋อจะคิดได้นั้นยากมาก ต้องค่อย ๆ คิดไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่หน้าบ้านว่าควรจะเป็นอะไร เข้ามาเป็นอะไร ขึ้นไปเจอห้องอะไรบ้าง 

จากคนที่เคยเป็นสถาปนิกมาก่อนบอกได้เลยค่ะว่าสิ่งที่พี่เต๋อทำมาทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายฮ่า ๆ สถาปนิกเองก็ต้องใช้เวลาคิดเหมือนกัน มันจึงยากมากที่คนที่ไม่ได้จบด้านการออกแบบ Architecture มาจะต้องมาสร้าง Space จัดวาง Function ของบ้านทั้งหมดทำของที่แทบจะเป็น 0 ให้กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ตามชีวิตของตัวละคร บวกกับต้องนึกถึงทิศทางของกล้อง และข้อจำกัดในการถ่ายอีก บอกได้เลยค่ะว่ามันยากกว่ามาก! เราเลยบอกกับพี่เต๋อไปว่า พี่เต๋อไปเป็น Interior Architect ได้แล้วค่ะฮ่า ๆ

สถาปัตยกรรมสร้างชีวิตของผู้อยู่อาศัย แต่ฉากสร้างตัวละคร และตัวละครคือที่มาของฉาก

“ในการที่ต้อง Set Up ฉากขึ้นมาใหม่ ถ้าถามว่าทำไมพี่ไม่ถ่ายในสตูไปเลย เพราะประเด็นอยู่ที่เราไม่สามารถซื้อต้นไม้ข้างนอกได้ เราไม่สามารถซื้อแสงแดดที่สมจริงได้ มันเป็นงานที่หินประมาณนึงแต่ก็เป็นความท้าทายของคนทำ” 

ยิ่งได้ฟังพี่เต๋อเล่าถึงเบื้องหลัง เทคนิค และวิธีในการทำหนังของพี่เต๋อแล้ว ต้องบอกเลยค่ะว่าผู้กำกับคนนี้ไม่ทำธรรมดา เราเชื่อที่พี่เต๋อบอกว่า “รักภาพยนตร์ในฐานะสิ่งมีชีวิต” จริง ๆ รายละเอียด ความสมจริง ในทุก ๆ มิติในหนังพี่เต๋อ พี่เต๋อทุ่มเทใส่ใจกับมันมากจริง ๆ ไม่แปลกที่เรารู้สึกจริง และอินทุกครั้งที่ได้ดูหนังของพี่เต๋อไม่ว่าจะเป็นหนังแนวไหน

การทำ Set ฉากของพี่เต๋อทุกฉากต้องสมจริง และสวยที่สุดเสมอ พี่เต๋อเล่าให้เราฟังว่า พี่เต๋อจะหา Location ที่เข้ากับตัวละคร และใส่ไอเดียการเดินของตัวละครเข้าไปให้ได้มากที่สุด เช่นตัวละครสามารถคุยพร้อมทำครัวไปได้ด้วย เพราะครัวอยู่ใกล้ห้องนั่งเล่นมาก ๆ แต่ก็จะมองไม่เห็นกันเพราะมีประตูปิดอยู่อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเกิดบ้านบางแบบครัวเชื่อมกับห้องนั่งเล่นแล้วมองเห็นทะลุกันหมด มันก็จะมีผลกับความสัมพันธ์ของตัวละครกับบทไปอีกแบบนึง 

ซึ่งสิ่งที่พี่เต๋อคิด สิ่งที่พี่เต๋อเล่นกับฉากนั้นเราว่าจะเรียกมันว่า ฉากสร้างชีวิตให้กับตัวละคร เหมือนกับที่สถาปัตยกรรมสร้างชีวิตของผู้อยู่อาศัยก็ได้ แต่แทนที่จะเป็นสถาปนิกกลับกลายเป็นผู้กำกับแทน พี่เต๋อต้องหาตามสิ่งที่สถาปนิกสร้างมาแล้วจากชีวิตของตัวละคร เพื่อนำมาสร้างฉากที่สร้างมิติให้กับหนัง สร้างเรื่องราวให้กับตัวละครตามแบบที่พี่เต๋อเขียนบทไว้ กราบในความใส่ใจทุกสิ่งที่อยู่ในหนังของพี่เต๋อจริง ๆ ค่ะ

Fast & Feel Love หนังที่ไม่ได้โดนบังคับถ่าย!

“ ใน Fast & Feel Love คนจะชอบถามว่าทำไมบ้านไม่เหมือนที่เคยหามาก่อน ทำไมเป็นบ้านจัดสรร คำตอบคือสตอรี่ครับ สตอรี่มันมาแบบนี้อยู่แล้ว เกาคือคนที่อยู่ระหว่างโลกแห่งความฝัน และโลกแห่งความจริง แล้วเราก็บอกตัวเองเหมือนกันว่าบ้านที่คนจริง ๆ อยากจะอยู่ไม่ใช่บ้านแบบในหนังที่ผ่าน ๆ มาของเรา”

“บ้านที่คนส่วนใหญ่เค้าซื้อง่ายขายคล่องก็คือบ้านแบบใน Fast & Feel Love หนังจะพูดถึงบ้านในฝันในแบบของเจ ซึ่งบ้านในฝันในแบบของเจก็ไม่ใช่บ้านในฝันในแบบของเรา แต่ว่ามันถูกต้องตามตัวละครเค้าแล้ว ในอีกทางนึงคือเกาต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เข้ากับตัวเอง เค้าต้องมาเล่นสแต็คในบ้านแห่งความฝันของเจซึ่งมันผิดที่ผิดทางประมาณนึง”

ซึ่งในหนังเรื่องนี้พี่เต๋อต้องการจะสื่อสารว่า “วันนึงคุณต้องมาอยู่ในโลกแห่งความจริง มันไม่เหมือนสิ่งคุณคิดหรอก” ก็เหมือนกับการทำหนังเรื่องนี้ ใน Fast & Feel Love ทุกฉากจึงถ่ายจากความเป็นจริง สิ่งที่เป็นอยู่มากที่สุด ถ่ายบ้านที่คนปกติชอบมากที่สุด พวกฉากอื่นๆ เช่นซุปเปอร์ก็จัดให้น้อยที่สุด แค่เอานมควายไปใส่ฮ่า ๆ ธนาคารก็ธนาคารจริง 

“แต่โจทย์ของเรารอบนี้คือเราก็อยากให้มันสวยอยู่ดี เวลาเราไปถึงที่จริงสิ่งที่เราต้องทำให้ได้คือ หาว่ามุมที่สวยที่สุดอยู่ตรงไหน หลังจากทำ Fast & Feel Love เราเลยรู้สึกว่าห้องแต่ละห้องมันมีมุมที่สวยที่สุดของมันอยู่ เราหามุมที่สวยของแต่ละที่ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคาร Brutal แล้วก็ไม่ได้โดนบังคับ โดนบังคับจะทำทำไม”

ความสนใจทางสถาปัตยกรรมมิติในหนังที่ไม่เหมือนใคร

จากที่ได้อ่านมาทั้งหมด การเลือกฉาก เลือกอาคาร การ Set Up ฉากหนังของพี่เต๋อ การสร้างเรื่องราวให้กับตัวละคร การเล่นกับ Architecture เราก็รู้เลยว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นจริง การมาคุยกับพี่เต๋อในวันนี้นั้นมาจากความชอบความสนใจในหนังของพี่เต๋อส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือรายละเอียดในหนังที่เรามองเห็น ความสนใจทางสถาปัตยกรรม และ Senses of Architecture ที่พี่เต๋อมีนั้น คือส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังของพี่เต๋อมีมิติที่สมจริง มีความสวยความเท่แตกต่างจากหนังทั่วไป ความสนใจทางสถาปัตยกรรมของพี่เต๋อจะเป็นมายังไงไปอ่านกันเลยค่ะ

“ความสนใจทางสถาปัตยกรรมมันเข้ามาแบบธรรมชาติ ชอบอาคารแนวนี้ มองบ่อย ๆ เริ่มเกิดคำถาม หนึ่ง สอง สาม ก็เลยเริ่มอ่านหนังสืออ่านบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมมากขึ้น แต่เพิ่งเริ่มๆอ่านนะ พยายามจะลงลึกขึ้นเรื่อย ๆ เช่นสมมติอ่านหนังสือของอาจารย์ต้นข้าว ค่อยอ่านไปตามความสนใจอะไรแบบนี้ครับ พอรู้ตัวอีกทีว่าอาคารที่เราชอบคือ Brutalist ก็เริ่มอ่านเยอะขึ้นว่ามันเป็นไงมายังไง เกิดจากอะไร เมื่อไหร่ยุคไหนอะไรแบบนั้นครับ”

“เวลาไปนู่นไปนี่ เห็นตึกนู่นนั่นนี่เราก็จะเก็บไว้ บางตึกเห็นมาจากหนังเก่า แล้วชอบก็เคยมีเอามาถ่าย จริง ๆ เวลาดู Location นอกจากดูสไตล์แล้ว เราต้องดู Blocking และ Space ของห้องว่าเราทำอะไรได้บ้าง อย่างฉากที่เราต้องการ Space ในการที่ตัวละครหนึ่งเดินออกไปจากตัวละครหนึ่งแล้วมี Space ที่ห่างกันประมาณหนึ่งไม่ใช่เดินออกได้เลย การเลือกมุมถ่ายเราจะดูว่าสตอรี่ควรเกิดที่มุมไหนของห้องแล้วหามุมที่สวยที่สุด เราจะพยายามเลือกมุมที่สวยที่สุดก่อน ถ้าโชคดีที่สามารถเกิดในจุดที่สวยที่สุดของห้องได้ก็โชคดี ก็คือต้องดูไปพร้อมกันกับสตอรี่ครับ” 

“ถ้าถามว่าสนใจอยากถ่ายตึกแบบไหนต่อไป มันต้องดูว่าเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร ตึกที่ถ่ายไม่จำเป็นต้องเก่า เช่น Modern Office สมัยนี้ก็น่าสนใจพวกรายละเอียดที่ซ่อนไว้ เช่นเวลาเดินเข้าไปแล้วมีประตูซ่อนอยู่ตรงกำแพง เป็นรอยต่อที่เป็นรอบพับของประตู พอคนผลักเข้าไป เราก็จะรู้สึกว่าที่นี่มันที่ไหนกันเนี่ยฮ่า ๆ ทำไมมันดูมีความลับจัง ประตูแบบนี้สื่อถึงว่าที่นี่ดูมีความลับอะไรแบบนั้น เหมือนเราเห็น Valuation ของตึกหรือรายละเอียดที่ซ่อนอยู่เหล่านี้มากขึ้น”

Loading next article...