เที่ยวฮ่องกงตอนเค้าประท้วงก็ดีเหมือนกันนี่นา !
เราเพิ่งกลับจากฮ่องกงค่ะ ซึ่งปรกติเวลาพูดถึงคำว่า “ฮ่องกง” เราก็มักจะคิดถึงเกาะฮ่องกง แดนสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งและของกินอร่อยๆ กันใช่ไหมคะ แต่ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของความเป็นเมืองท่องเที่ยวของฮ่องกงลดน้อยถอยลงไปไม่ใช่น้อย และถูกแทนที่ด้วยภาพที่ดูน่ากลัวของการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงที่ดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ชวนให้ลังเลว่า จะทิ้งตั๋วเครื่องบินไปฮ่องกงที่ซื้อไว้นานแล้วดีไหมนะ?

 

หลังจากตัดสินใจว่า—เอาวะ ไหนๆ ก็เคยผ่านมาหลายม็อบในหลายประเทศแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ลองไปเที่ยวแบบพร้อมรับมือสถานการณ์ไม่คาดฝันกันดูสักที เราก็เตรียมแพ็คกระเป๋าให้เบาและคล่องตัวที่สุด โหลดแอป MTR Mobile (แอปดูเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินและ Airport Express ของฮ่องกง ที่มีอัพเดตข่าวสารทางเดินรถตลอดทั้งวัน รวมทั้งประกาศเวลาเปิด-ปิดในช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอน), กด See First เพจสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง, ถามเพื่อน 2 คนที่อยู่ที่นั่นว่าโซนไหนที่ควรหลีกเลี่ยงบ้าง, และซื้อประกันเดินทาง (ซึ่งไม่เห็นเจ้าไหนคุ้มครองความเสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบเลยแฮะ ใครทราบช่วยบอกต่อทีค่ะ)

 

…แล้วก็ขึ้นเครื่องบินด้วยหัวใจตุ๊มๆ ต่อมๆ

แต่ก็นั่นแหละค่ะ การออกเดินทางก็มีอะไรให้เราประหลาดใจเสมอ

ห่านย่างของ Kam's Roast Goose ร้านอาหาร 1 ดาวมิชลินสตาร์ (ภาพ: สิริพรรณี สุปรัชญา)

  • ชีวิตโดยทั่วไปในฮ่องกงดูปรกติดี แต่ต้องเช็คเวลาเปิด-ปิดบริการขนส่งสาธารณะเป็นระยะ เนื่องจากบางวันจะปิดเร็วประมาณ 10-11 PM และ Airport Express อาจไม่จอดบางสถานี
  • จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากถึงมากที่สุด เหลือแต่คนฮ่องกงเองที่เดินสวนกันไปมา ค่าที่พักถูกลงมากมหัศจรรย์ เท่าที่เห็นก็คือโรงแรมระดับ 4 ดาวลดราคากันประมาณ 40%
  • ถึงจะเดินเข้าร้านอาหารแนะนำในมิชลินไกด์โดยไม่ได้จองไว้ก่อน ก็ไม่ต้องต่อแถวเลยสักร้าน ยกเว้นแต่ร้านห่านย่างที่ได้มิชลินหนึ่งดาว ซึ่งก็ต่อเพียงแค่ 2 คิวเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นช่วงบ่ายโมงวันเสาร์
  • เพื่อนของเพื่อนที่ไปสวนสนุกฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ บอกว่ารอแต่ละเครื่องเล่น 3-5 นาทีเท่านั้น (บางคนก็บอกว่ารูปในเพจที่เป็นข่าวดังว่าไม่มีคนนั้นเป็นภาพเก่า และเป็นส่วนที่กำลังปรับปรุง ความจริงแล้วยังมีคนไปใช้บริการอยู่อีกมาก) ส่วนเราเองไปขึ้น เคเบิลคาร์ก็คนน้อยมากๆ จนแทบจะเดินขึ้นไปได้เลยเช่นกัน

สวนสนุกโอเชี่ยนปาร์ค (ภาพ: สิริพรรณี สุปรัชญา)

  • ในการเดินทางเที่ยวกลับเมืองไทย เช็คอินสนามบินไม่มีคิว ตรวจหนังสือเดินทางก็ไม่มีคิว และแถวเอกซเรย์กระเป๋าถือมีอยู่ 4 คน
  • ด้วยความที่เป็นการชุมนุมของคนวัยทำงานบ้างนักเรียนบ้าง เพราะฉะนั้นก็จะมีการประท้วงกันจริงจังกันเฉพาะช่วงเย็นวันศุกร์หรือสุดสัปดาห์ จุดที่ประท้วงก็มีการรวมกลุ่มกันค่อนข้างมีระเบียบ และฝ่ายรัฐบาลจะมีการประกาศก่อนทำการเข้าปะทะ ดังนั้น ถ้าเรารู้จักหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงที่มีการชุมนุมประท้วงแล้ว ก็จะไม่พบลูกหลงอะไรนอกจากจะเอาตัวเข้าไปเสี่ยงในสถานการณ์ชุลมุนเอง

ตึก PMQ ในย่าน Sheung Wan (ภาพ: สิริพรรณี สุปรัชญา)
เมื่อระลึกย้อนไป นี่ก็เป็นการเตรียมตัวออกเดินทาง 5 วันที่ออกจะลุ้นระทึกอยู่ แต่ประสบการณ์นี้ก็ได้สอนเราว่า การเสพข่าวสารที่นำเสนอภาพเฉพาะด้านที่โลกสนใจจับตามองแม้จะดูน่ากลัว ก็ทำให้เราสนใจจดจ่ออยู่กับสถานการณ์ไม่สงบบางจุดจนก่อรูปร่างเป็นความคิดเหมารวมว่าทั้งเกาะต้องลุกเป็นไฟไปหมดแล้ว อันที่จริง รูปแบบความคิดนี้ก็ไม่ต่างกับกรุงเทพฯ เมื่อครั้งมีการชุมนุมประท้วงมากนัก ซึ่งถ้าหากเลี่ยงย่านราชประสงค์และราชดำเนินแล้ว ชีวิตประจำวันยังต้องดำเนินไป และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็ไม่ได้มีความปลอดภัยมากหรือน้อยจากเดิมเท่าใดนัก

 

การไปฮ่องกงครั้งนี้ ก็ทำให้เราเรียนรู้ที่จะไตร่ตรองสารที่รับเข้ามาให้มากกว่าเดิมอีกหน่อยแบบนี้เองค่ะ

การชุมนุมประท้วงอย่างสันติบริเวณสถานี MTR Admiralty (ภาพ: สิริพรรณี สุปรัชญา)
Tips สำหรับคนที่อยากไปฮ่องกงในช่วงนี้:

  1. เตรียมตัวให้พร้อมและคอยฟังข่าวสาร ดาวน์โหลดแอปต่างๆ เช่น MTR Mobile ให้พร้อม รถไฟฟ้าใต้ดินค่อนข้างโล่งในช่วงนี้และมักจะมีที่นั่งเสมอ รถประจำทาง รถราง และแท็กซี่ยังให้บริการตามปกติ ส่วน Airport Express จะไม่จอดในบางสถานีเป็นวันไป
  2. เนื่องจากบางวัน Airport Express ไม่แวะสถานีเกาลูน ดังนั้นเลือกอยู่ฝั่งเกาะฮ่องกงจะดีกว่า ย่าน Central, Wan Chai, Causeway Bay, และ Sheung Wan รวมทั้งย่านอื่นๆ ของเกาะฮ่องกงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ควรเลี่ยงสถานี MTR Admiralty ที่มักถูกประกาศเป็นจุดชุมนุมอีกที่หนึ่ง
  3. ถ้าหากมีธุระต่อ อาจต้องคิดหาทางหนีทีไล่เพื่อกลับบ้านในกรณีสนามปิดถูกปิด เช่น ข้ามไปเซินเจิ้นแล้วขึ้นเครื่องบินจากที่นั่น

(บันทึกจากประสบการณ์ท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 23-27 ตุลาคม 2562)
Loading next article...