‘เอรี่’ ขายตัวแต่ไม่ขายใจ
‘หนิง’ ธนัดดา สว่างเดือน อดีตผู้หญิงขายบริการ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเธอกลับมาจากบาห์เรน โดยไม่เหลือเงินติดตัวสักบาทเดียว หลังจากนั้นจึงตัดสินใจเขียนเรื่องราวของตัวเองส่งเข้าประกวด เพราะต้องการเงินมาใช้หนี้

ตอนนั้นคงไม่มีใครคิดมาก่อนว่า ผู้หญิงคนนี้จะชนะรางวัล ‘ชมนาด’ ด้วยกระดาษซึ่งเขียนด้วยลายมือจำนวน 120 แผ่นที่หลายหน้าเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบน้ำตา หลังจากนั้นชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป กลายเป็นนักเขียนหญิงซึ่งทุกคนรู้จักในนามปากกา ‘เอรี่’

บ่ายวันหนึ่งที่ร้านกาแฟ ฉันเริ่มต้นถามเธอว่ารู้สึกยังไงที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มต้นอาชีพใหม่ ?

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าชีวิตมันมีคุณค่า เราเห็นคุณค่าของตัวเอง

“แบบที่ไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นมาก่อนเหรอคะ” ฉันถาม

“เมื่อก่อนคนเขาพูดกันว่าไปขายตัวทำไม ไม่มีศักดิ์ศรีเหรอ หนิงไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร คิดแค่เวลาไม่มีกินแล้วศักดิ์ศรีมันช่วยได้ไหม

“มีคนพูดว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงขายตัว แต่เขาก็ไม่ได้ขายจิตใจ ขายวิญญาณ หนิงอยากรู้จังเลยว่า ใครคิดหรือพูดขึ้นมา โสเภณีแค่อยากจะทำเงินอย่างเดียวเท่านั้นแหละ ไม่รู้หรอกคุณค่าของความเป็นมนุษย์หรอก คำว่าศักดิ์ศรีในมุมของเราตอนนั้นก็คือ ไม่ได้ไปขอใครกิน ฉันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้ไปสร้างปัญหา ดีกว่าไปนั่งขอทาน แต่พอหลุดมาแล้วจึงเข้าใจ

“งานขายร่างกายอาจจะดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วมันไม่มีความสุขหรอก มันดีตอนที่ได้เงินเท่านั้นเอง พอเงินหมดก็ทุกข์ แล้วเงินก็ไม่ได้ตลอดเวลา มันจะมีช่วงขาลงด้วย อาชีพนี้ยังเสี่ยงกับโรคภัยหลายอย่าง บางทีก็เจอแขกทำร้ายหรือฆ่าตายก็มี อาชีพนี้ยังทำให้อยู่กับสังคมคนทั่วไปลำบาก เพราะพฤติกรรมของตัวเองด้วย เรามีชนักอยู่ก็มักจะต่อต้านสังคม คิดว่าสังคมไม่เข้าใจ”

คำพูดจากปากผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่า “หนิง” ทำให้กาแฟที่เราเคยดื่มทุกวันมีรสชาติไม่เหมือนเดิม และเวลาสองชั่วโมงของการสนทนาก็ทำให้บ่ายวันหนึ่งในคาเฟ่ที่คุ้นเคยแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

“พอมองย้อนกลับไป ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเรานี่แหละเป็นคนกำหนด จริงๆเลือกจะไม่ขายตัวก็ได้ ไปทำมาค้าขายหรือทำอย่างอื่น อาจจะได้เงินช้าหน่อย แต่เราอยากได้ อยากมีเหมือนคนอื่น พอหนิงหลุดจากอาชีพขายบริการแล้วก็ไปขายของ ไปเป็นแม่บ้านปูเตียง เรียนทำผม เรียนแต่งหน้า โห … ทำไมเราไม่รู้ตั้งแต่เมื่อก่อน อาชีพมีมากมาย แต่เราเลือกไปขายตัว ขนาดถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้วก็ยังทนทำอยู่ เพราะว่าเราเลือกที่จะทำตรงนั้นไง เมื่อก่อนงานเงินได้เดือนเป็นแสนก็ไม่พอใช้ แต่ทุกวันนี้เดือนไม่ถึงหมื่นก็ยังอยู่ได้

“หนิงไม่มีวันที่จะกลับเข้าไป เพราะเราไม่อยากทำอย่างนั้นแล้ว ไม่ได้อยากไปนอนกับใคร ไม่อยากถูกทำร้าย ถูกเหยียดหยาม ไม่อยากเป็นสัตว์ เวลาถูกกระทำ เราก็เหมือนกับเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่เขายังไม่รู้หรอก เขายังหลงระเริง อยู่ไปสักพักจึงได้รู้

“ตอนได้รับรางวัล คนก็มาแสดงความดีใจด้วย เธอได้รางวัล เธอแกร่ง เธอเก่ง แต่ถามว่าจริง ๆ คุณอยากคบเราไหม คุณก็ไม่อยากคบเราหรอก ก็แค่พูดให้กำลังใจ แต่เนื้อแท้จริง ๆ เราก็รู้ว่าเขาก็แบ่งแยกเรา แต่ก็ขอบคุณที่เขาพูดให้กำลังใจเรา ทำให้รู้สึกว่ามีค่า ขอบคุณที่ได้ให้โอกาส ทำให้จิตใจดีขึ้น พระไพศาล วิสาโล เคยบอกหนิงในวันที่ได้รับรางวัลว่าหลังจากนี้จะเจอคนดีและคนไม่ดีเข้ามา ตอนนั้นไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่พอมาเจอเข้าจริง ๆ ก็ถึงกับรับไม่ได้เหมือนกัน

“บางคนด่าหนิงแบบสาดเสียเทเสีย บางคนก็มาด่า เป็นกะหรี่แล้วจะเอาอะไรมาสอนเขา…’ ทั้งที่เราทำงานเพื่อบอกกับสังคมว่า ไม่อยากให้ใครมาเป็นโสเภณีอีก

แม้จะมีผลงานสร้างชื่อสร้างรายได้สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนคนอื่น เธอก็รู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับเท่าเทียมกัน “เพราะว่าเราเป็นโสเภณี เราไม่ได้จบปริญญา บางครั้งเราก็ได้รับเกียรติต่างกัน”

ในขณะที่นักเขียนคนอื่นถูกเชิญไปสอนเรื่องการเขียนให้นักศึกษา แต่เธอถูกเชิญให้ไปพูดอะไรตลก ๆ เพื่อสร้างสีสัน ซึ่งคำตอบของเธอมีเพียงอย่างเดียว

“หนิงไม่ไปเพราะไม่ได้เป็นตัวตลก”

ระหว่างนั้น เอรี่พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรวมทั้งพิสูจน์ตัวเองในหลายด้าน เธอส่งงานเขียนเข้าประกวดอีกครั้ง และได้รับรางวัลเป็นหนที่ 2 พร้อมกับทำลายกรอบวิธีคิดแบบเดิม ๆ เริ่มมองโลกสายตาใหม่ ๆ โดยเฉพาะการคิดบวกซึ่งเธอเชื่อว่าจะดึงสิ่งดี ๆ ให้เข้ามาในชีวิต รวมทั้งข้ามพ้นความรู้สึกด้านลบไปด้วยการพยายามทำความเข้าใจ

“ตอนแรกก็โกรธ รังเกียจคนพวกนี้ ไม่อยากอยู่ตรงนี้ อยากตอบโต้แรง ๆ ตอนหลังก็เอาไปคิด พยายามเข้าใจมนุษย์ เข้าใจสังคม อาจจะเพราะว่าอายุเรามากขึ้น ทำให้ใจเย็นลง ได้เห็นอะไรมากขึ้น แล้วก็ทำยังไงให้ตัวเราเองมีศักยภาพกว่าเดิม ไม่ได้โทษคนอื่น

“กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ มันโคตรยากเลย เพราะว่า หนิงเป็นคนดื้อหัวชนฝาเหมือนกัน อะไรที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง ไม่เจอกับตัวเองจะไม่เชื่อ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง เมื่อก่อนใครมาบอกให้หนิงคิดบวก หนิงไม่ฟังเลยนะ เดินหนีเลย อย่ามาโลกสวย รู้สึกต่อต้าน ก่อนจะพบว่า มันจริง มันเหมือนเป็นแรงดึงดูด”

ฉันสงสัยว่าในเมื่อเธอเลิกอาชีพเก่าโดดเด็ดขาด แล้วปัจจุบันเธอหารายได้จากไหน?

เอรี่บอกว่าเธอมีรายได้จากยูทูบและการขายสินค้าต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีชีวิตอยู่ได้แบบสบาย ๆ แม้ว่าจะไม่มากเท่าเมื่อก่อนก็ตาม  

“ตอนนี้หนิงก็มีความสุขที่ทุกคนได้มาปรึกษา ได้ทำประโยชน์ ได้ตีแผ่เรื่องราว ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย หนิงมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องรีบหาเงิน ไม่ต้องไปนอนกับใครก็ไม่รู้ ทุกวันนี้มีความสุขกับการเขียนหนังสือ มีความสุขกับการเล่าเรื่องราว มีความสุขกับแนวคิดไอเดียใหม่ ๆ มีความสุขกับการคิดบวก ซึ่งดึงแต่เรื่องดี ๆ เข้ามา”

“อยากรณรงค์ให้บ้านเรามีโสเภณีน้อยลง ที่ผ่านมีคนเข้ามาหาขอคำปรึกษา ในจำนวน 20-30 คน อาจจะมีเลิกทำอาชีพนี้ได้หรือตัดสินใจไม่เข้าไปทำอาชีพนี้สัก 1 คน ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ส่วนใหญ่คนเคยทำแล้วก็จะวกกลับไปอีก เพราะไม่คิดว่าจะมีงานที่ทำแล้วได้เงินดีเท่านี้ เพราะสังคมให้คุณค่ากับคนมีเงิน พวกเขาก็อยากได้รับการยอมรับ

ฉันคิดว่าเพราะอดีตเป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่ทุกคนสามารถสร้างปัจจุบันและอนาคตได้

“ทุกวันนี้หนิงอยากจะมีชื่อเสียงเพื่อต่อยอดงานที่ทำ ถ้าหนิงมีพื้นที่ยืนในสังคม ก็จะสามารถทำประโยชน์ได้มาก ถ้าหนิงเป็นคนโนเนม ไปพูดอะไรกับใครก็ไม่มีใครเชื่อ

…แม้ว่า เอรี่จะบอกลาและเดินลับสายตาหายไปหลังประตูร้านกาแฟแห่งนั้นนานแล้ว แต่หลายถ้อยคำของเธอยังคงก้องดังสั่นสะเทือนในความรู้สึก และทำให้มุมมองความคิดบางอย่างของฉันเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

Loading next article...