ASEAN ที่รัฐประหารเบ่งบาน

กลุ่มประเทศ ASEAN หรือกลุ่มระดับภูมิภาค (Regional Entity) จะมีทำไม ถ้ามันไม่ช่วยกันยกระดับชีวิตพวกเรา

เพื่อนชาวพม่าที่พึ่งออกจากเรือนจำหลังจากถูกจับไปได้ 28 วัน คุยกับเราเรื่องนี้

การเมืองและสิทธิมนุษยชนในพม่าและทั้งภูมิภาคไม่ได้ดูดีนัก โดยเฉพาะจากสายตาของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

RICE เคยสัมภาษณ์ ‘จอนนี่’ ผู้ประท้วงชาวพม่าแล้วครั้งหนึ่งแล้วผ่าน Zoom Call ก่อนหน้าเข้าคุก มาฟังมุมมองเค้าอีกทีก่อนความรุนแรงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศเมียนมา

จอนนี่คือโปรดิวเซอร์ชาวพม่าที่เคยออกไปเรียนที่ซิดนี่ย์ และเป็นคนเดียวที่ยอมให้เราสัมภาษณ์ เขามองว่าการประท้วงครั้งนี้คือการเปลี่ยนแปลงระบบอุปถัมป์ที่มีมายาวนาน และเป็นการอัพเดตวัฒนธรรมให้เข้ากับยุคสมัย เริ่มไม่ใช่แค่การต่อต้านอำนาจทหารอย่างเดียว 

“อะไรที่มันเก่าไปแล้วเราว่าก็ทิ้งมันไปเหอะ อย่างพวกระบบเครือญาติ การฟังคำสั่งผู้ใหญ่ เด็กไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น แต่เราว่าพวกวัฒนธรรมเดิมดี ๆ มันก็มี แต่ก็ต้องเลือกใช้”

เราคิดว่าตอนเด็ก ๆ เรามีข้อห้ามจากผู้ใหญ่เยอะมาก ทั้งเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมพุทธศาสนา อาจจะต้องขอโทษที่เราต้องวิจารณ์นิดนึง จริง ๆ

ทุกศาสนาก็มีปัญหาทั้งนั้นแหละ แต่กับเรื่องของศาสนาพุทธเรารู้สึกว่ามันมีข้อห้ามเยอะมาก แต่เราว่าเพราะรัฐบาลด้วย กับโครงสร้างการบริหารงานแบบเผด็จการ”

สื่อต่างประเทศทำได้แค่รายงานข่าวสถานการณ์ที่พม่าทุกวัน เพื่อเป็นสัญญาณบอกว่าต่างประเทศกำลังดูอยู่ แต่การกดดันนี้ยังไม่พอที่จะทำให้ทหารพม่าหยุดฆ่าประชาชน  

เราคิดว่าน่าจะช่วยกันทำให้รัฐบาลรู้ว่าคนไทยไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร เพื่อให้เวทีอาเซียนช่วยกันกดดันพม่าให้ส่งตัว ออง ซาน ซูจี มาไกล่เกลี่ยกับ มิน ออง หลาย กลางที่ประชุมประเทศอินโดนีเซียปีนี้ด้วยเพื่อความยุติธรรมของทั้งสองฝ่าย 

แต่จะเป็นไปได้เหรอ ในเมื่อรัฐบาลของเราก็มีที่มาแบบเดียวกัน ?

“เราได้ยินมาว่าทหารพม่า มาขอคำปรึกษาไทยว่าจะรับมือกับม็อบยังไง ? ใช่ปะ ฮ่า ๆ”

จอนนี่ถามเรากลับว่าข่าวลือนี้จริงมั้ย เราก็ได้แต่ขำแห้ง ๆ ไม่แน่ใจ 

นี่สินะอาเซียนในมุมมองพวกเราจริง ๆ

สามเดือนของการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า มีผู้เสียชีวิตราวพันคน ขณะที่คนไทยประท้วงกันมาแล้วเป็นปี ๆ มีตำรวจหัวใจวายเสียชีวิตตอนทำหน้าที่สลายการชุมนุมในวันที่ 28 มีนาคม 1 นาย ถึงตอนนี้จะยังไม่มีคนตายเพิ่ม แต่ผู้ประท้วงหลายรายกำลังอยู่ในคุกด้วยข้อหามาตรา 112 

เราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าการปราบผู้ชุมนุมแบบไหนจะเลวร้ายกว่ากัน และการเรียกร้องของประเทศไหนจะสำเร็จก่อนกัน แต่ที่แน่ ๆ เรารู้ว่าประเทศที่ปกครองด้วยทหารกำลังขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออก

ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเป็นพื้นฐานการสื่อสารของมนุษย์

จอนนี่บอกว่าหลังจากที่คุยกัน การประท้วงลำบากขึ้นมาก ทหารใช้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องไปอยู่แนวหน้าม็อบแล้วช่วยปาระเบิดควัน ในความชุลมุน เขาถูกตีด้วยกระบองแล้วส่งตัวเข้าไปขังในคุก 

“ก่อนโดนจับ เราเขียนจดมายลาตายเอาไว้ด้วยนะ เพราะออกไปประท้วงแล้วจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พอต้องติดคุกจริง ๆ ก็คิดไว้แล้วว่าอาจต้องอยู่นานเป็นปี ครอบครัวก็ยังไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน เค้าไม่ให้เราติดต่อใครเลย” 

ภาพข้างบนก็เป็นจดหมายในโน้ตมือถือที่จอนนี่เขียนใว้ให้ครอบครัว จนถึงวันนี้ครอบครัวก็ยังไม่เห็น และทางทีมเราก็อ่านไม่ออกหรอก แต่มันบอกเราว่าเค้าตั้งใจอยากให้อะไรมันดีขึ้นจริงๆนะ

จอนนี่ถูกปล่อยออกมาหลังจากถูกขังได้ไม่นาน โดยมีข้อแม้ว่า “ห้ามกลับไปชุมนุมอีก” แต่จอนนี่ก็กลับไปประท้วงในม๊อบ “Blue Shirt” ทันที่ช่วงสงกรานต์ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อน ๆ ที่เขาเจอในเรือนจำ ด้วยการเขียนชื่อเพื่อนๆ แล้วไปยืนประท้วงนอกบ้านทั้งๆที่ถูกห้ามคล้ายๆ #ปล่อยเพื่อนเรา นะเนี่ย

เค้าบอกว่าตอนนี้บรรยากาศเมืองย่างกุ้งเปลี่ยนไปมากหลังจากทหารเข้ามาปกครอง มีตำรวจเดินสำรวจทั่วเมือง บางทีก็ขอเข้าค้นบ้าน ตามถนนก็มีด่านตรวจ 

“เพื่อนเราขับรถผ่านด่านตรวจในย่างกุ้งช่วงสงกรานต์ ทหารถามทำไมไม่มีใครออกมาเล่นน้ำ เขาตอบไปว่า ‘ก็มันมีคนตายห่* ในเมืองเป็นร้อยศพแบบนี้ ใครจะมีอารมณ์มาฉลองวะ’” 

ครอบครัวจอนนี่มีแค่พิธีรดน้ำดำหัวในกันบ้านเล็ก ๆ ปล่อยให้บรรยากาศเมืองที่เงียบเหงาทำหน้าที่สะท้อนประชาชนที่กำลังรวมพลังกันต่อสู้กับอำนาจทหาร

“ก่อนหน้านี้เราก็ยังพอจะได้ลิ้มรสประชาธิปไตยอยู่นิดหน่อย ก็เลยได้เห็นว่ามันจำเป็นสำหรับแต่ละอาชีพที่จะต้องช่วยกันต่อสู้กันเรื่องนี้ให้ได้ บางส่วนพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังมีหลายอันที่เราต้องไปต่อ เราคิดว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวที่จะสามารถช่วยให้เราทำผลงานอย่างสร้างสรรค์ได้โดยที่ไม่มีลิมิต

น้ำเสียงของจอนนี่แฝงไว้ด้วยความหดหู่ได้ชัดเจน แม้มันจะดังผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่อยู่ห่างไกลกันเกือบพันกิโลเมตรก็ตาม

จอนนี่บอกว่า “ตอนเด็กๆ เราถูกสอนว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก มันสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ตอนนี้เราอายุสามสิบแล้ว เราก็ได้รู้ความเป็นจริงว่า จริง ๆ แล้วเรามีสิทธิเพราะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยนะ ต้องได้รับในสิ่งที่เราควรจะได้ในฐานะพลเมือง

“จริง ๆ ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก เราจะช่วยประเทศนี้ในอนาคตได้มากเลย”

สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่าหลังจากนี้พม่าอาจจะเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมือง แล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าผู้นำประเทศไหนออกตัวเข้ามาช่วยสงบศึก 

“ลึก ๆ แล้วก็อยากให้ประเทศเพื่อนบ้านช่วยเหลือเราเหมือนกัน แต่จริง ๆ ก็เดาได้อยู่แล้วว่ายังไงมันก็ทำไม่ได้”

ส่วนตัวเรามองว่าคนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามช่วยแชร์ข่าวที่ชาวพม่าต้องการสื่อออกไปให้โลกได้รู้ อย่างเช่นแฮทเเท็ค #savemyanmar และ #againstmilitarycoup เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าให้เบ่งบาน และเข้าใจว่าคนทางนั้นต้องเจอกับอะไรบ้าง จากสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะใกล้เคียงกันของทั้งสองประเทศ

ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง เรามองว่าคนรุ่นใหม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็เริ่มต้นที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

อย่างที่จอนนี่ทำให้เราดูเป็นตัวอย่างแล้ว

Credit: Voice TV

จอนนี้มองว่าการสู้ครั้งนี้มันคุ้มค่า ถ้าแลกกับอนาคตที่ดีกว่า 

“เราไม่ได้อยากฆ่าใครเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยคืนมาหรอก แต่เรารู้สึกว่าศัตรูต่างหากที่บังคับให้เราต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ 

ที่ผ่านมาเราประท้วงอย่างสันติวิธีมาตลอด มาถึงวันนี้เค้าเห็นเราเป็นศัตรูไปแล้ว เราไม่มีทางเลือกนอกจากสู้กลับ”

จอนนี่เล่าให้ฟังก่อนแยกกันว่าคนพม่ากำลังหัดยิงปืนผ่าน Youtube และมีบางกลุ่มก็ไปเข้าร่วมกองทัพชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ 

“ใช่ ๆ ฮ่า ๆ ได้ยิน ๆ สามอาทิตย์ก่อนเราโดนจับ เค้าทำศึกปราบผู้ชุมนุมค่อนข้างหนัก เราก็เลยต้องสู้กลับด้วยปืนอัดลม แบบทำเองนะ หลาย ๆ คนก็พยายามประดิษฐ์ปืนจากท่อ กระสุนก็เอามาจากลูกแก้ว แล้วก็พยายามหาพวกเหล็กมาทำเป็นอาวุธ คือเราก็เรียกมันว่าเป็นการป้องกันตัวเองแล้วกัน” 

สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและพม่า บอกเราว่าถึงเวลาแล้วที่คนในอาเซียนต้องจับมือแล้วก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันจริง ๆ ซักที เพราะคนที่ย่างกุ้งตอนนี้ กำลังสร้างเครื่องป้องกันตัวสำหรับการประท้วงครั้งหน้า 

ไม่ใช่แค่รัฐบาล คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า หรือใครคนนึง

เพราะคงไม่มีประเทศไหนเดินต่อได้ถ้าไม่มีประชาชน

Loading next article...