เจอกันเมื่อชาติต้องการ

#ไฟไหม้กิ่งแก้ว สะท้อนถึงอะไรบ้างในการจัดการภัยพิบัติบ้าง?

จนถึงเช้าวันนี้ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่กู้ภัย สาธรณภัย และ อาสาสมัครต่างๆ ก็ยังคงเฝ้าระวังภัย แม้เปลวเพลิงจะมอดลงอีกครั้ง

ตอนนี้ทุกคนที่บ้านก็คงรู้แล้วว่าตั้งแต่เวลา 3.00 น. ของคืนวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เกิดเหตุโรงงานพลาสติกระเบิดมีเพลิงไหม้ ในย่านถนนกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ

นี่คือเรื่องราวของ ผู้อพยพ อาสาสมัครต่างๆ และ ทุกฝ่ายที่พร้อมเข้าช่วยเหลือภัยพิบัติอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ นอกจาก “ความปลอดภัย” ของทุกคน

ตอนตีสามเมื่อวานเราหลับไปแล้ว ก่อนจะตื่นมาพร้อมกับข่าวเต็มหน้าฟีดเฟซบุ๊กถึงเหตุไฟไหม้

เราเห็นเปลวเพลิง ความวุ่นวาย ความตาย จากหน้าจอมือถือตัวเอง ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราเองบ้าง เราจะทำยังไงเพราะเอาจริง ๆ บ้านเราก็อยู่ใกล้เขตโรงงานเขตอื่น ๆ เหมือนกัน

หลังจากนั่งดูหน้าจอมือถือใจจดใจจ่อ เรารู้สึกว่าต้องไปทำอะไรเท่าที่ทำได้แล้ว มากกว่าโพสด่าทอ และตั้งคำถามกันไปมา

สิ่งแรกที่เราเจอตอนเวลาสองทุ่มของวันที่ 5 ก็คือด่านตรวจ

เราได้คุยกับพี่เก๋ ป่อเต็กตึ๊ง ที่คอยประสานงานอยู่ที่ด่านปิดถนนของตำรวจ 5 กิโลเมตรจากที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเขตกั้นที่ระยะปลอดภัยที่ไม่ให้พลเรือน นอกจากอาสาสมัครกู้ภัย และ หน่วยงานต่าง ๆ เข้าไป

พี่เก๋มาตั้งแต่ตีสามกว่า ๆ ของเมื่อคืนวันที่ 4 จนถึงตอนนี้พี่เก๋ก็ยังไม่ได้นอน ปกติเธอก็เป็นทั้งกู้ภัย และแท๊กซี่ที่ขับหากินและอาศัยอยู่แถวหนอกจอกอยู่แล้ว

“พี่ทำงานมา 20 กว่าปี พี่ช่วยทุกเคส เคสนี้ก็ถือว่าหนัก แล้วก็ยาวนาน แถมเป็นสารเคมี” พี่เก๋บอกเรา

ระหว่างที่พี่เก๋ พยายามบอกว่าเราไม่ควรเข้าไป นักข่าวที่ไปอยู่ตั้งแต่เมื่อคืนก็ค่อนข้างเสี่ยงและอันตราย แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ไม่น่าออกทัน เพราะเป็นซอยเล็ก ๆ แถมคน (เจ้าหน้าที่) ยังเยอะ แถมรถใหญ่ก็เต็มไปหมด

ระหว่างนั้นเราเหลือบไปมองในรถแก ข้างในมีของที่โยน ๆ ไว้เพราะต้องรีบพุ่งออกจากบ้านและไม่ได้นอนเพื่อมาทำงานไม่หยุดหย่อนเกือบ 24 ชม.

ชีวิตอาสาสมัครกู้ภัย… ออกจากบ้านแล้วก็คงไม่รู้แหละมั้ง ว่าจะได้กลับอีกทีเมื่อไหร่…

นี่คือแนวหน้าของการช่วยเหลือในประเทศเราเหรอเนี่ย ใจล้วน ๆ

ตัดภาพไปที่วัดลาดกระบัง เราอยู่กลางศาลาที่เป็นจุดหนึ่งที่ถูกใช้เป็นศูนย์อพยพชั่วคราวจากคนในละแวกกิ่งแก้ว

ภาพตรงหน้าคือประชาชน ทั้งไทย ทั้งต่างด้าว นั่งและนอนพักอยู่ในศาลา โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะได้ ‘กลับบ้าน’ เมื่อไหร่เนื่องจากไฟยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง

พี่ ๆ เหล่านี้ไม่มีใครรู้อะไรมากกว่านั้นตอนออกจากบ้าน เอาข้าวของออกจากบ้านมาแค่ได้เท่าที่ถือได้ ที่วัดมีทีมงาน พรรคการเมือง กู้ภัย และ หน่วยงานต่าง ๆ คอยเอาน้ำ ของกิน ของใช้มาให้อย่างพอเพียง

แต่ไม่มีคำตอบว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น…

“ตอนกลางวันนี่มืดท้องฟ้าไปหมดเลย มันจะเป็นสายดำๆตามแรงลม นะ บางทีมันก็พัดลงมาที่พื้นข้างล่าง ทำให้ประชาชนเวียนหัวหรือแสบตา ตอนพี่อยู่ในเส้นกิ่งแก้วก็แสบตา แสบแขนไปหมดเลย”

พี่แหลม ผู้ประสบภัยคนแรกที่เราเข้าไปคุย เป็นคนไทยในชุมชนกิ่งแก้วที่อพยพมาขอหลวงพ่อวัดลาดกระบัง นอนวัดทั้งครอบครัวบอกกับเรา

ส่วนตัวแล้วพี่แหลมยังบอกเราอีกว่าอยากให้มีมาตรการรับมือกับภัยพิบัติแบบต่าง ๆ ให้เป็นชิ้นเป็นอัน แน่นอนมากขึ้น หรืออย่างน้อย ๆ ในการรับมือกับสารเคมี หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติเกี่ยวกับสารเคมี

ถ้าทุกคนรวมถึงประชาชน (อย่างน้อยก็ในละแวกโรงงาน) มีความรู้ หรือมีการเตรียมการล่วงหน้า การจัดการหลายอย่างคงผ่านไปได้เร็วกว่านี้

กลับมาที่ด่านตรวจ 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ พี่ตำรวจแวะเวียนมาเตือนเพราะไม่อยากให้เราเข้าไป

ข้าราชการที่ทำตามหน้าที่พยายามกันคนที่ต้องเดินทางผ่านถนนเส้นนี้ (ซึ่งอาจอยู่ในรัศมี shock wave แรงระเบิดได้) ก็ดูเหมือนจะทำให้เราหมดหวังเล็ก ๆ ว่าเรามาช้าเกินไป คงเข้าไปไม่ได้แล้วแหละ

ระหว่างนั้นเราก็คุยกันต่อแบบถูกคอ อยู่ดี ๆ ก็มีเสียงวอดังขึ้น พี่เก๋ก็บอกว่ามีเหตุด่วนต้องเข้าไปที่จุดเกิดเหตุ

“กระโดดขึ้นรถมาเลย รกหน่อยนะ!”

ขึ้นเบาะหลังปุ๊บ รถก็ออกตัวเร็วหลังเราติดเบาะนิด ๆ

เราคุยกันขำๆ ว่ารถกู้ภัยต้องแต่งทุกคันสินะ ก็เหลือบไปเห็นสีหน้าที่เปลี่ยนไปของพี่เก๋ เสียง ‘วอ’ วิทยุสื่อสาร ที่เรียกหากันไม่หยุด และ ชุด PPE ที่เบาะหลังข้างเรา ​- ของจริงแล้วล่ะ!

อากาศและบรรยากาศเปลี่ยนไป ในหัวเราขาวโพลน “เฮ้ย นี่เราจะได้ไปใกล้ถึง ‘ความจริง’ ที่เราตามหาขึ้นมาทันทีเลยเหรอวะ”

พี่เก๋บอกเราว่า “เดี๋ยวน่าจะพาไปเก็บภาพใกล้ ๆ ได้แหละ แถว ๆ ปากซอย”

พอถึงหน้าปากซอย ระหว่างที่พี่ ๆ กู้ภัยต่างคุยธุระกัน
มองไปรอบ ๆ มีทั้งคนใส่รองเท้าคอมแบต แตะหนีบ ผ้าใบ จากสารพัดชุดและหน่วยงาน

หลายคนก็อาจจะสงสัยว่าที่เมืองไทยไม่มี Emergency response เหรอ

“ในเมืองไทยจะใช้ระบบการพึ่งพาอาศัยกัน การมีน้ำใจต่อกัน ก็จะมีกลุ่มอย่างพวกพี่เนี่ย เป็นจิตอาสา เพราะบางทีรอรถพยาบาล รอหน่วยงานภาครัฐ เอ๊ะ… มันไม่มา อย่างเราเห็นรถชนหน้าบ้านเรา เราก็ลงไปช่วย” พี่เก๋ตอบเรา

สำหรับเรา จากที่เห็นผ่านตามา ถึงเมืองไทยจะมีปภ. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ซึ่งมาพร้อมเฮลิคอปเตอร์ KA-32

แต่สุดท้ายเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ไหน กู้ภัยและประชาชนก็ยังต้องเข้ามาช่วยอยู่ดี

เสียง ‘วอ’ ดังขึ้นกลาย ๆ จากหน้าปากซอยที่เราอยู่

พี่กู้ภัยต่างก็ตะโกนกันมาว่า “เฮ้ย มีเหตุต้องเข้าไปหน้างานด่วนแล้ว ขึ้นรถ ๆ” เราวิ่งกระโดดขึ้นรถกันแบบงง ๆ ทันทีที่ขึ้นรถเราถามว่า

“รถอะไรอะพี่ ทำไมพี่ต้องเข้าไป”
“รถดับเพลิงราชาเทวะของป่อเต็กตึ๊งเนี่ยแหละ พี่ต้องไปเปิดเอากุญแจให้”

พี่เขาก็เล่าว่า ทีมงานเหนื่อยมาก อยู่กันมาจะ 24 ชั่วโมงแล้ว ลืมกุญแจในรถแล้วล็อกไว้ เปิดรถไม่ได้ มันเป็นเรื่องเล็ก ๆ นะ แต่แสดงถึงความเป็นจริงของความเหนื่อยล้า และสติที่อิดโรย

ใกล้ 24 ชั่วโมงเข้าไปทุกที… เราดู Live ในมือถือเราจาก The Reporters… เพลิงก็ยังหน้าตาเหมือนเดิมอยู่เลย

ทันทีที่เลี้ยวโค้งนึงในซอย… “ความจริง” ก็เริ่มมาอยู่ต่อหน้าเรา

หลังคุยกับพี่ ๆ จากชุมชนแถบกิ่งแก้วที่อพยพมาเสร็จ ก็มีหนุ่มใส่เสื้อเชิ้ตสีฟ้าสดใสพุ่งเข้ามาพร้อมกลิ่นเหงื่อและเสียงโทรศัพที่ยังมีคนพูดอยู่ในสาย

“พี่ พี่ เพื่อนผมยังติดอยู่ข้างในกิ่งแก้วอยู่เลย ออกมาไม่ได้ พี่รู้จักใครมั้ย?” ด้วยสำเนียงที่แปลกหู ทำให้เราเอะใจทันทีแล้วถามกลับไปอย่างสุภาพว่าพี่เป็นคนที่ไหน

“พม่าครับ มีแรงงานพม่ายังติดอยู่ในกิ่งแก้วซอยสิบ อยู่ประมาณร้อยคน ไม่มีรถออกมา ตำรวจก็ไม่ให้พวกผมเข้าไปรับ”

อีกหนึ่งเสียงที่ตกหล่นจากระบบ ทีมเราก็ไม่แน่ใจจะช่วยยังไงและโพสลงเฟสบุ๊คส่วนตัวกันขอความช่วยเหลือ จากการแชร์ของคนรอบ ๆ ตัว

และแล้วเสียงก็ดังไปถึงและได้รับการติดต่อกลับจาก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ประสานงานส่งรถเข้ารับแรงงานพม่าทั้งร้อยคนอพยพออกไปยังอีกวัดนึง

หลายคนในวัดลาดกระบังนอกจากจะหอบเอาของใช้ส่วนตัวเข้ามาแล้ว ก็ยังหอบเอาโรคประจำตัวมาด้วย อยากพี่คนนี้ที่นอกจากจะต้องเลี้ยงหลานแล้วก็ยังพกโรคความดันติดตัวออกมาด้วยพร้อมกับของใช้

มันทำให้เราคิดนะ เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้แค่นี้ มันทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของคำว่า “บ้าน” และความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน และทุกนาที ทุกชั่วโมงที่เราห่างจาก “ชีวิตปกติ” มันทุกข์ทรมาน…

พี่ ๆ ที่วัดเริ่มทยอยล้มตัวลงนอน เราก็ลาแยกย้ายโดยหลาย ๆ คนก็บอกเราว่าวันพรุ่งนี้ก็ยังไม่รู้จะทำยังไง ได้ไปทำงานมั้ย ได้กลับบ้านมั้ย…

เราต่างก็ไม่มีใครรู้คำตอบของอนาคต

เราออกจากวัดลาดกระบังมุ่งหน้าออกไปทางกิ่งแก้ว

ตอนนี้ข้างทางละแวกกิ่งแก้วแทบจะเหมือนเมืองร้าง ถึงแม้จะเป็นแค่ช่วงหัวค่ำ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในหนังผีหรืออยู่ในยุค Post-Apocalypse

นอกจากแสงสว่างของไฟข้างทางที่ไม่ค่อยสว่างแล้ว ก็มีแสงออกมาจากด่านตรวจ และจุดรวมพลต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ตามทางเป็นจุด ๆ เวลานี้เป็นเวลาที่รถกู้ภัยวิ่งบนถนนเยอะกว่ารถธรรมดา… ก็เพิ่งเคยเห็นนี่แหละ

ลึกเข้ามาในซอย เราเริ่มเห็นพี่กู้ภัย ทีมงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) วิ่งกันไปมาผ่านข้างรถเราไป

“ขออนุญาตผ่านทางหน่อยครับ ๆ ผมจะไปเปิดรถดับเพลิงหน้างานครับ” ตลอดทางพี่เก๋ใช้ลำโพงในรถ เสียงต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาทางวอเยอะยากเกินกว่าเราจะเข้าใจอะไรได้แล้ว

ทันทีที่เราลงจากรถเรารู้สึกได้ถึงไอร้อนทันที พี่เก๋ก็วิ่งออกตัวไปหารถดับเพลิงที่ล็อกไว้

เราหันไปก็เจอ พี่เดชา หัวหน้าทีมผจญเพลิงของเขตราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ ยืนพักเหนื่อยอยู่ประมาณ 400 เมตรจากกองไฟหลัก

“บ้านพี่เองห่างจากนี่ไป 500 เมตร พี่นอนอยู่ ตื่นมาแอร์ร่วงลงมาอะ บ้านแถวนี้ก็โดน shock wave แรงสั่นสะเทือนกันหมด แล้วแต่จะมากน้อย พี่ก็ให้พ่อแม่พี่น้องเคลียร์กันไป ส่วนพี่ก็มาทำงานตรงนี้ก่อน” พี่เดชาบอกกับเรา

ที่บ้านแชทอะไรมาบ้าง

“ไม่ต้องครอบครัวหรอก ทั้งเพื่อนมัธยม เพื่อนเก่าทักมา เป็นยังไง ๆ เราไม่มีเวลาไปตอบไง”

“แล้วยิ่งช่วงที่มีน้องที่เสีย มันมีข่าวว่าพี่อะเป็นคนนั้น พี่ที่เป็นหัวหน้าดับเพลิงอะเสีย มีแต่คนโทรมา พี่ก็แบบไม่ใช่ ยังอยู่ ๆ เพราะหุ่นคล้าย ๆ แต่งตัวคล้าย ๆ” พี่เดชาบอกว่าตอนที่เสียน้องที่รู้จักไปทุกคนทั้งเสียใจและใจเสียแต่ก็ยังลุยทำงานต่อ

เราถามต่อไปว่าจะ 24 ชั่วโมงแล้ว เพลิงยังคงไหม้อยู่ พี่รู้สึกว่าพร้อมมั้ยกับภัยพิบัติขนาดนี้

“เรื่องอุปกรณ์อะพร้อม… แต่การประสานงาน ผู้บริหาร หรือผู้บัญชาการเหตุการณ์ บางครั้งก็ไม่พร้อม เรายังไม่มีความรู้ในบางเรื่อง ไม่เหมือนต่างประเทศ”

เพราะเราต้องมาเถียงว่าสรุปใครทำ ผู้ว่าทำ กู้ภัยทำ หรือ ปภ.ทำ ใครเป็น ‘เจ้าภาพ’ สินะ

เราลองถามพี่เดชาถึงการเอาคอปเตอร์ KA-32 มาช่วยดับไฟในโรงงาน เพราะเราก็เพิ่งเคยเห็นและมาไม่ทันเหตุการณ์

“ในทีมดับเพลิงเราก็มองภาพอยู่แล้วว่ามันอาจจะไม่ได้ผลหรอก เพราะมันไม่ได้ดับไฟป่า แต่ก็ตามผู้บังคับบัญชาไปว่าจะลองดูแบบไหน ก็เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกแหละ”

“จริง ๆ อำนาจเบื้องต้นมันมีอยู่แล้ว ทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง แต่คนที่สั่งบางครั้งก็ยังไม่ได้มาไง พวกพี่มาถึงก่อนอะ เหตุการณ์ระดับนี้ต้องมาถึงตั้งแต่ตี 3 ตี 4 ของวันที่ 4 แล้ว”

“นี่เห็นบางคนมาก็ตอน 9 โมง 10 โมง แล้ว” พี่เดชาเล่าให้เราฟังว่ามีหน่วยไหนบ้างที่มาตั้งแต่แรก ตอนเช้า ตอนค่ำของอีกวัน..”

และแล้วเรื่องราวที่เหลือก็อย่างที่พวกเราเห็น ในขณะนั้นอีกไม่นานก็เที่ยงคืน…

ก็มี “ท่าน” คนนึงโผล่มาถึง…

RICE และ ทีมงานทุกคน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ประสบภัย และ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนชนชาติ และ ทุกหน่วยงาน อาสาสมัคร ที่เข้าช่วยเหลือในครั้งนี้

นี่แหละคือเวลาที่เราหมายถึงเมื่อเราพูดว่า… “เจอกันเมื่อชาติต้องการ”

Loading next article...