เก้ ๆ กัง ๆ เที่ยวรอนักท่องเที่ยวกลับมา

ต้องเปิดประเทศเพราะเหมือนจะไม่มีกินกันแล้ว! (ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่พร้อมล่ะมั้ง)

ถ้าไม่มีวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวถึง ​40 ล้านกว่าคนเลยนะ แล้วก็ยังมีรายได้ประมาณ 20% หรือหนึ่งในห้า ของทั้งประเทศที่มาจากการท่องเที่ยว… แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีวิกฤติที่ทำให้รายได้ตรงนี้หายไป

การที่รัฐบาลเร่งรีบที่จะเปิดประเทศบอกอะไรเราบ้าง… ประเทศเรา ‘เสพติดการท่องเที่ยว’ แหละ

เราลองปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวมาหนึ่งวันเพื่อที่จะถามความเห็นพี่ๆ ที่ขาดรายได้กันดู ว่า ‘ขาดยา’ กัน ขนาดไหนในเกือบสองปีที่ผ่านมา ตามมากันเล้ย!

ภาพ: วัชรวิชญ์ ภู่ดอก, พบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข

ว่าไงนะ ? เห็นว่าร้าบาลจะเปิดประเทศให้ต่างชาติจาก 46 ประเทศเข้ามาเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัวอย่างนั้นน่ะเหรอ​ ? แม้ว่าจะเสี่ยงเกิดคลัสเตอร์ใหม่และต้องล็อกดาวน์อีกครั้งแต่ก็ยังเปิดให้เข้ามาเที่ยวโดยไม่กักตัวอย่างนั้นน่ะเหรอ

อะ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ลองออกมาทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวดูบ้างก็แล้วกัน อยากรู้เหมือนกันว่าที่เขาว่าเปิดประเทศน่ะมันพร้อมแค่ไหน

แล้วคนที่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะเป็นยังไงบ้างนะ ? หลังกรุงเทพฯกลายเป็นเมืองปลอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะดูเหมือนการเป็นเมืองท่องเที่ยว มันจะไม่มั่นคงเอาซะเลย….

ในฐานะคนกรุงเทพฯที่ไม่ค่อยได้เที่ยวกรุงเทพฯอย่างเรา เป้าหมายแรกที่อยากไปก็คือ… วัดพระแก้วยังไงล่ะ แหม น่าอายเหมือนกันนะ บางทีก็รู้สึกว่าฝรั่งที่มาชะโงกทัวร์ในกรุงเทพฯยังไปเที่ยวมาทั่วกว่าเราซะอีก ฮ่า ๆ 

เราเช็กข่าวในเน็ตนะไม่ใช่ว่าไม่เช็ก (แต่ไม่ได้โทรเช็ก) แต่เห็นว่าข่าวปิดปรับปรุงมันตั้งแต่เมษาแล้วนี่นา นึกว่าเปิดแล้วพร้อม ๆ ห้างซะอีก สุดท้ายก็ได้แค่ถ่ายรูปจากด้านนอก… เนี่ย คนมันไม่ใช่ทำอะไรมันก็ผิด ความผิดหวังที่มาพร้อมกับอากาศร้อนระอุโดยที่ไม่มีที่ให้หลบร้อนมันเจ็บปวดชะมัด

พอเห็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ Rank SS ของกรุงเทพฯปิดปรับปรุงแบบนี้ มันดูจะกระทบคนแถวนั้นอยู่มากโข  ยิ่งในประเทศที่ในเวลาปกติมูลค่าการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP ด้วยนี่ยิ่งแล้วใหญ่

พูดถึงผลกระทบ พอล็อกดาวน์เยอะเข้าผลกระทบที่หนักที่สุดก็คงไปตกอยู่กับสถานที่ท่องเที่ยวและธุรกิจของเอกชนมากกว่า นี่เราไม่รู้ว่าพอเปิดประเทศเข้าจริง ๆ จะยังเหลือที่เที่ยว ที่กิน ที่ช็อป ที่พัก เหลือเยอะแค่ไหน… เปิดให้มาเที่ยวแต่ไม่มีที่ให้เที่ยวก็คงน่าเศร้า

“เอ่อ พี่ครับ ถ่ายรูปให้ผมหน่อยได้มั้ยครับ ยังไม่เปิดใช่ไหมครับ?”

“ใช่ เขาปิดปรับปรุง เขายังไม่บอกว่าจะเปิดวันไหนเลย อาจจะเปิด 1 พฤศจิพร้อมเปิดประเทศมั้ง? แต่ผมก็ไม่กล้าฟันธง” – พี่ข้าราชการท่าทางใจดีพูดไปด้วย ถ่ายรูปให้เราไปด้วย ก่อนจะเดินกลับเข้าไปด้านในกำแพงวัด… 

สปอยล์ต่ออีกนิดว่า ไม่กี่นาทีหลังเราผิดหวังจากวัดพระแก้ว ก็มีข่าวว่าจะเปิดวัดพระแก้วในวันที่ 1 พฤศจิกายน ผุดขึ้นมาในอินเทอร์เน็ต… 

อืมมมมมม มาไล่เลี่ยกับข่าวเจอโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสในไทยเลยแฮะ ในข่าวบอกเจอ แต่สาธารณะสุขบอกไม่เจอ เราจะเชื่อใครดี น้ำเปล่าสองเข็มที่ฉีดไปจะช่วยไหมเนี่ยยยย

เอาเถอะ พลาดจากวัดพระแก้วก็ไม่เป็นไรเพราะแถวนั้นยังมีงาน Installation Art สวย ๆ อยู่ อาจเป็น Landmark ใหม่ สำหรับถ่ายรูปหลังเปิดประเทศก็ได้นะเนี่ยยยย ถือเป็นการออกแบบแบบ Multi Functional Design ที่ดีเลย (ใช้ศัพท์ยาก ๆ แบบนี้แล้วดูมีความรู้จัง รู้งี้ใช้มานานและ) เพราะมีหลายฟังก์ชั่นในหนึ่งชิ้น 

เป็นทั้ง Tourist Attraction Spot ก็ได้ Protester Attraction Spot ก็ได้ ถือว่าเกินคุ้มครับ… คนจ่ายภาษีแบบเราเป็นปลื้ม (รู้ใช่ไหมว่าประชดน่ะ)…

เราได้คุยกับ ‘พี่ประสาน’ คนขับตุ๊กตุ๊กที่จอดรถนั่งอยู่ในภวังค์เหม่อเพื่อรอใครซักคนเดินมาบอกจุดหมายปลายทางของตัวเอง

“วันนี้ได้เท่าไหร่แล้วพี่?”

“เพิ่งได้เที่ยวประเดิม เพิ่งได้ 60 บาทแรกเลย ออกมาตั้งแต่ 7 โมงเช้า” – พอเราฟังก็พลิกนาฬิกาข้อมือที่เร็วไป 7 นาทีของตัวเองขึ้นมาดู นาฬิกาบอกเวลาประมาณบ่ายโมงกว่า ๆ

พี่ประสานเล่าว่าช่วงที่ยังไม่มีโควิด นักท่องเที่ยวเยอะ วันนึงก็ได้พันกว่าบาท ซึ่งก็เยอะกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายเท่า ไม่แปลกที่หลายคนจะหันมาทำอาชีพที่พึ่งพาการท่องเที่ยว

“ครับ มันหาเงินง่าย แค่รับฝรั่ง 2-3 เที่ยว มันก็โอเคแล้ว บางทีค่ารถเท่านี้แต่ถ้าเขาถูกใจก็ได้ทิป อย่างมีครั้งนึง พาฝรั่งเที่ยววัด ตกลงราคากันไว้ 300 แต่พอจบทริปเขาชอบที่ที่เราพาไป ก็เลยให้มา 900”

ช่วงสิบกว่าปีก่อน แถววัดพระแก้ว แถวถนนหน้าพระลานมีนักท่องเที่ยวเยอะมาก ถึงกับต้องปิดถนนให้คนเดินกันเลย เรื่องรายได้ไม่ต้องพูดถึง ถามว่ามีเวลาพักพอหรือเปล่าดีกว่า พี่ประสานบอกมา

“ถ้าน้องมาสัมภาษณ์พี่ช่วงนั้น เผลอ ๆ พี่ไม่ให้สัมภาษณ์นะ เพราะต้องวิ่งรถตลอด”

แต่ในเวลาที่ไม่มีการท่องเที่ยวแบบนี้ คนในแวดวงอาชีพเหล่านี้ก็ต้องเจ็บหนัก ยังดีที่เถ้าแก่เจ้าของอู่ผัดเรื่องค่ารถออกไปให้ก่อน ทำให้อยู่รอดง่ายขึ้น

“ที่ผ่านมาเราพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติเยอะไปเหมือนกันนะ อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน นอร์เวย์ รัสเซีย โอ้โหยยย มาเต็ม แต่พอเค้าไป รายได้ส่วนใหญ่มันก็หายไปทันทีเลย แต่ ณ ตอนนั้น(ที่ยังดีอยู่) เรายังไม่ทันได้คิดไง

แต่ถึงการท่องเที่ยวจากต่างชาติไม่บูมเราก็ยังอยู่ได้ ถ้าพอมีการท่องเที่ยวในประเทศบ้าง เราก็รับคนไทยบ้าง พ่อค้าแม่ค้าบ้าง มันก็ยังโอเค พี่ก็ไม่ได้วิ่งต่างชาติอย่างเดียวนะ มันก็ตามจังหวะ”

พี่ประสานขยายความอีกว่าทุกวันนี้ก็ได้คนแถวท่ามหาราชนี่แหละช่วย ก็รู้จักกัน เห็นมาจอดประจำทุกวัน ก็จ้างไปตรงนู้นตรงนี้บ้าง ก็พออยู่ได้ ได้เที่ยวละ 50 บ้าง 100 บ้าง

ในปี 2018 ก่อนโควิดจะระบาด การท่องเที่ยวประเทศไทยทำรายได้ได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาท (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP) ซึ่งในจำนวนนั้นมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2 ใน 3 ซึ่งนับว่าเยอะมาก ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเยอะกว่าอเมริกา (ประมาณ 10% ในปี 2018) ซะอีก ถึงมูลค่ารวมจะน้อยกว่าก็เถอะ

แถมแรงงานไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวก็มีอยู่ประมาณ เกือบ 10 ล้านคน พอรู้แบบนี้ ไม่แปลกเลยที่ประเทศไทยจะเจอวิกฤตหนักจากการขาดการท่องเที่ยว นี่ยังไม่นับเรื่องการบริหารและคุณภาพของวัคซีนอีกนะ

*, **

คนเกือบ 10 ล้านคนนี่เยอะมากนะ และในจำนวนมหาศาลนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับตัวได้ หรือมีสายป่านยาวพอที่จะผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้… ไม่แปลกใจเลยที่เราจะเห็นข่าวคนฆ่าตัวตาย หรือจำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้น เพราะคนไร้บ้านหลายคนที่เราเคยคุยด้วยก็มาจากธุรกิจการท่องเที่ยว

ก็นับเป็นข่าวดีแหละมั้งที่ 1 พฤศจิ ประเทศไทยจะมีการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว อย่างน้อยคนเกือบสิบล้านคนที่ยังอยู่รอดก็คงพอมีรายได้เข้ามาบ้าง ถ้าไม่ได้มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอีก… เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนล่าสุดเห็นว่าภูทับเบิกก็มีคลัสเตอร์หรือเปล่านะ?

เนื่องจากวัดพระแก้วยังไม่เปิด เราเลยไปวัดสระเกศแทน อาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ Outdoor ทำให้มีความเสี่ยงต่ำ จุดคัดกรองโควิดเลยมีแค่เครื่องวัดอุณหภูมิ… ว่าแต่ถ้าคนเดินตากแดดมานาน ๆ จะวัดอุณหภูมิผ่านไหมนะ?

การเดินขึ้นภูเขาทองเป็นไปด้วยความเหนื่อยกว่าปกติ เพราะต้องใส่แมสก์เดินขึ้น ท่ามกลางอากาศร้อน เหงื่อท่วมทั้งตัว แต่แน่นอน มาเที่ยวทั้งทีก็ต้องถ่ายรูป เราเปิดดูรูปที่เหล่าบล็อกเกอร์, อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวชอบถ่ายกัน กะจะลองทำตาม… อืมมมม โพสแบบนี้ภาพต้องสวยแน่ ๆ ไหนลอง

แชะ!

ดูรูปตัวเองหน่อยซิ… อืมมมมม ไม่สวยเลย ดูกระโดกกระเดก ผิดไปหมดทุกองศา ฮ่า ๆๆๆ ยากกว่าที่คิดนะเนี่ย ยืนชูสามนิ้ว เอ้ย! สองนิ้ว… อาจจะเหมาะกับเราที่สุด

ว่ากันตามตรง วิวข้างบนภูเขาทองนี่สวยมากนะ คงเป็นที่ถูกใจท่องเที่ยวหลายคน แต่ไม่รู้ว่าหลังเปิดประเทศจะมีปัญหาเรื่องการ Social Distancing บนทางเดินขึ้น-ลงหรือเปล่า เพราะเป็นพื้นที่จำกัด

เปิดประเทศก็เสี่ยง ไม่เปิดประเทศก็ไม่มีรายได้ เพราะคนอีกหลายคนก็ยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว ‘ป้าหลัน’ คนขายส้มตำข้างวัดสระเกศก็ให้ความเห็นไม่ต่างจากพี่ประสาน คือ วัดปิด ไม่มีคนมาเที่ยวก็รายได้ก็หายไปเยอะ แต่ยังดีหน่อยที่ยังมีคนงานกับชาวบ้านแถวนี้มาซื้อ

“ตอนนั้นมันมีชีวิตชีวา มันครึกครื้น ฝรั่งก็เยอะ พม่าก็เยอะ พม่านี่เค้าชอบวัดนะ เค้าจะเดินเรียงแถวกันเข้ามาเลย โอ๊ยยย ขายดี๊ดีนะ” – ป้าหลันพาเราย้อนอดีต ซึ่งเราคิดว่าไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยถ้าร้านป้าหลันจะขายดี

พูดแบบไม่อวย ป้าหลันทำลาบหมูที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์มากกกก มีความเป็นอีสานผสมจีน คือเป็นลาบที่มันและหอมเหมือนอาหารจีน เกิดมาก็เพิ่งเคยกินนี่แหละ เรารู้สึกมูฟออนจากลาบจานนี้ไม่ได้ นี่ว่าจะกลับไปกินอีกเหมือนกัน

“อย่างแม่ค้าอย่างป้าที่อยู่ตรงนี้ ก็ต้องพึ่งการท่องเที่ยวอยู่ดีอะ คนขายส้มตำ คนขายก๋วยเตี๋ยว ถ้าวัดปิดคือพวกเค้าจบทันที”

“เปิดประเทศป้าก็กลัวโควิดเหมือนกันนะ กลัวมันกลับมาอีก มันคุ้มเปิดประเทศมั้ยก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็อาจจะดีกว่าอยู่แบบปิดมั้ง คนที่เค้ามีเงินที่สายป่านยาว เค้าหยุดทำงานไปเค้าก็อยู่ได้ แต่อย่างป้าคือขายไปวันต่อวันไง”

“อ้าว แล้วถ้าเปิดแล้วมีคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ อีกรอบล่ะ?”

“(หัวเราะ) ก็ไม่รู้จะว่าไงนะ ปิดอีกก็ โอ้โหหหห (หัวเราะ) มันก็แย่เหมือนกันนะ ก็ต้องยอมรับอะเนาะ ทำไงได้ล่ะ”

พอมาเที่ยวแล้วได้คุยแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่าปัญหามันกลายเป็นงูกินหางที่ไม่มีทางออก นอกจากว่าวัคซีนดี ๆ จะต้องเข้าไทยและทุกคนได้ฉีดกันอย่างทั่วถึง มากกว่าต้องมาแย่งกันเหมือนของลดราคาชิ้นสุดท้ายในร้านขายของ

เราอยู่กรุงเทพมา 30 ปี เพิ่งได้ลองนั่งเรื่อด่วนเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก บอกเลยว่าประทับใจมากกกกก จากท่าน้ำพรานนกไปวัดราชสิงขร ใช้เวลาแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง ราคาแค่ 15 บาท เท่านั้น

พอได้เห็นกรุงเทพฯในอีกมุมมองนึง ก็เพิ่งรู้ว่ากรุงเทพฯสวยมากกกก ถ้ามองด้วยมุมจากบนเรือ เพราะสองข้างทางมีอาคารทรงสวย ๆ เยอะ ได้เห็นวัดและโบสถ์สองข้างทางเต็มไปหมด แถมอากาศบนแม่น้ำเจ้าพระยาก็ดีกว่าบนถนนเจริญกรุงชนิดเทียบไม่ติด

จะติดก็แค่เราเห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราเห็นทั้งคุณภาพชีวิตแบบติดลบที่ฐานพีระมิด ไปจนถึงคุณภาพชีวิตแบบบนยอดพีระมิดได้จากการนั่งเรือ 1 เที่ยว เห็นว่าบางชุมชนริมน้ำก็น้ำท่วมด้วยนะ ใครอยากเห็นก็ลองมานั่งดู

ว้าาาาาาา ยังไม่ทันจะได้ตื่นรู้เท่าไหร่ เรือก็เทียบท่าวัดราชสิงขรข้างเอเชียทีคซะแล้ว เร็วจริง ๆ

เราอยู่กับพี่พงศ์ เจ้าของร้านขายของฝากในเอเชียทีค เล่าว่าช่วงโควิดรายได้หายไปกว่า 80%

“สมัยก่อนคนจะเยอะมาก เวลามีทัวร์มาลงหรือจัดงานเช่นลอยกระทงหรือปีใหม่ แทบไม่มีที่ยืนเลยครับ”

“แต่ตอนนี้แทบไม่มีที่ยืนเลยใช่มั้ยครับ? … มีแต่ที่นอน”

พวกเราทั้งคู่ขำออกมา เรารู้ว่าภายใต้เสียงหัวเราะของพี่พงศ์มันแฝงไปด้วยความเครียดและความหวัง เครียดที่ว่าจะเอายังไงกับร้านดี และหวังว่าอะไร ๆ มันจะดีขึ้นบ้าง

“รู้สึกดีใจครับ ที่ช่วงนี้เริ่มมีคนมาเดินมากขึ้น อย่างบางทีมีฝรั่งเดินผ่านผมก็เซย์ฮัลโหลแล้ว ไม่ต้องแวะร้านผมก็ได้” – อืมมมมม จะว่าไปตอนเดินผ่านหน้าร้านพี่พงศ์ก็ทักเราก่อนนะ ถึงได้มาสัมภาษณ์อยู่ตรงนี้ ฮ่า ๆ

สำหรับคนค้าขาย การมีคนเดินผ่านหน้าร้านหนึ่งคน ก็อาจเปรียบได้เป็นความหวังหนึ่งหน่วย เมื่อไม่มีคนเดินก็แปลว่าไม่มีความหวัง แต่ทุกวันนี้พี่พงศ์เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจจะห่างไกลกับก่อนโควิด แต่ก็ดีกว่าตอนล็อกดาวน์รอบแรก อย่างน้อยก็ได้ลูกค้าแล้วหนึ่งคน เพราะเราซื้อผ้ากลับไปให้แม่หนึ่งผืน ฮ่า ๆๆ

พี่พงศ์เล่าว่ายังดีที่ช่วงก่อนโควิดมาเพิ่งเริ่มขายข้าวหมูทอดเพิ่ม ทำให้ช่วงล็อกดาวน์มีเงินจากการทอดหมูมาจุนเจือได้บ้าง อาจเรียกว่าโชคดีได้ไม่เต็มปาก เรียกว่าไม่โชคร้ายไปมากกว่านี้อาจจะเหมาะกว่า

“แต่ถ้ามันเปิดประเทศแล้วมีคลัสเตอร์จนต้องปิดอีก ผมก็คงต้องกลับไปทอดหมูต่อครับ” – พี่พงศ์ตอบมาพร้อมเสียงหัวเราะแค่น ๆ

การเที่ยวกรุงเทพฯของเราคงจะจบลงที่เยาวราช ถนนของกินยอดฮิตประจำกรุงเทพฯ… ที่นี่อาจจะคนไม่เยอะเท่าเมื่อก่อนแต่ก็คนเยอะกว่าที่คิด ไม่มั่นใจว่าเพราะตามความรู้สึกของคนไทย ที่นี่ดูน่ามาเดินมากกว่าสถานที่ที่เน้นทำมาเพื่อขายชาวต่างชาติอย่างเดียวหรือเปล่า… เอ๊ะ หรือทุกคนแค่หิวกันนะ?

ในความจอแจพอประมาณเราเห็น คนเข้าคิวซื้อของกิน ไรเดอร์มารอรับอาหาร รถมักง่ายเปิดไฟฉุกเฉินลงมาซื้ออาหาร นางแบบสาวที่โดนกล้องฟิล์ม 3 ตัวจากชายหนุ่มกำลังรุมถ่าย เรากลับสะดุดตากับชายในชุดซุปเปอร์แมน ที่หลายคนอาจจะเคยเจอกันมาบ้างตามม็อบ ‘พี่แดง’ หรือหมอบรรพต แพทย์แผนไทยและหมอนวดเรียกเราให้ถ่ายรูป เรายืนคุยกับพักนึงแกก็เรียกเข้าไปนวด

เจ็บ… เจ็บมาก จนเราเผลอหยีตาไปโดยไม่รู้ตัว

“โอ๊ยยยย เจ็บ ๆๆๆ”

“เส้นที่ 2 ของคุณมีปัญหา คุณนอนไม่เป็นเวลา กินไม่เป็นเวลา นั่งหน้าคอมพ์นาน ใช่ไหม?” – พี่แดงพูดไปกดเส้นเราไป ถ้าถามว่าแรงบีบมือของใครมากที่สุดในประเทศไทย เราคงตอบว่าพี่แดงนี่แหละ

พี่แดงนวด ๆ คลึง ๆ อยู่ไม่นานก็เสร็จพิธี เราเดินออกจากร้านด้วยความระบม แต่คอ บ่า ไหล่ เบาขึ้นอย่างบอกไม่ถูก เอาล่ะ มีแรงเดินเที่ยวเยาวราชแล้ว!

การท่องเที่ยวที่หยุดชะงักก็ส่งผลกับธุรกิจที่เรานึกไม่ถึงอย่างคลินิกแพทย์แผนไทย เพราะคนไข้จากต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางเข้ามารักษาได้ บวกกับหลายคนมักผูกการเข้ามาคลินิกในกรุงเทพฯไปกับการไปเที่ยว พอสถานที่ท่องเที่ยวไม่เปิด ทำให้คลีนิกมีรายได้น้อยลง นี่คือสิ่งที่พี่แดงเล่าให้เราฟังระหว่างนวด

ชีวิตหลายคนพึ่งพาการท่องเที่ยวเกินไปมั้ย? ก็ใช่ แต่ผิดมั้ย ก็ไม่ผิด เพราะมันคือวิถีชีวิตและอาชีพของเขา อีกอย่างคือใครปรับตัวได้ก็โชคดีไป แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะปรับตัวได้ โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้มีเงินสำรองในการจะปรับตัวไปทำอย่างอื่น

พูดง่าย ๆ คือมันไม่ผิดที่ใครพึ่งพาการท่องเที่ยว แต่มันผิดที่อะไรบางอย่างทำให้คนกลุ่มนี้พึ่งพาการท่องเที่ยวต่อไปไม่ได้มากกว่า

อ๋อ และอีกอย่างที่ได้รู้คือ ให้ตายเถอะ การโพสท่าแบบเน็ตไอดอลและเหล่าบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวนี่มันยากจริง ๆ

ถ้าถามว่าอะไรในทริปที่ดูเป็นการเก้ ๆ กัง ๆ ตรงตามชื่อซีรีส์ที่สุด… ก็ไอ้การโพสท่าถ่ายรูปนี่แหละ ฮ่า ๆๆๆ

Loading next article...