กรุงเทพฯ: แผ่นดินที่ไกลเกินเอื้อม

ความฝันที่จะ มีบ้าน มีพื้นที่ของตัวเอง ในมหานคร ที่ชื่อว่า ‘กรุงเทพฯ’ 

ความจริงแล้วความฝันนี้ไกลเกินเอื้อมมั้ย ในปี 2021?

กรุงเทพฯในปี 2021 ยังมีชุมชนเรือลากที่มีคนอาศัยอยู่บนเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ ไม่ไกลจากสะพานพระราม 9 (สะพานแขวน)

พ่อแม่หลาย ๆ คนคงอยากให้ลูกมีความมั่นคนทั้งในด้านการงานและที่อยู่อาศัย แต่ในความเป็นจริง ทั้งค่าครองชีพ ต้นทุนชีวิต ความเสี่ยงด้านอาชีพ ในสังคมที่ทุกคนมีทางเลือกและทางให้ไปไม่เท่ากัน

การคุยกับพวกเขาทำให้เราได้รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเป็นเจ้าของบ้าน คอนโด หรือที่ดินได้เลย

ความเป็นจริงนี้ สะท้อนให้เราเห็น ปัญหาของคนรุ่นต่อไปอย่างไร ?

เยื้องสะพานพระราม 9 ที่มีรถวิ่งแน่นขนัดทุกช่วงเวลา หากมองลงมาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งถนนพระราม 3 ก็จะเห็นเรือผูกติดกับฝั่งต่อ ๆ กัน ไม่ต่างจากแผ่นดินผืนใหม่ที่ยื่นออกมาจากชายฝั่ง ที่ต้องเรียกว่า ‘แผ่นดินผืนใหม่’ เพราะว่าเรามักจะเห็นผู้คนที่อาศัยอยู่ที่บ้านเรือที่เป็นชุมชนเรือลากแห่งนี้ เดินข้ามหรือกระโดดข้ามจากเรือลำหนึ่งไปอีกลำหนึ่ง ต่อกันไปเรื่อย ๆ

ท่ามกลางอากาศร้อนของบ่ายวันหนึ่ง เราเดินเข้าซอยแคบ ๆ ที่เลียบคลองเล็ก ๆ ออกไปจากถนนพระราม 3  ไม่น่าเชื่อว่าภายในซอยจะมีบ้านและผู้คนเยอะขนาดนี้

บางบ้านก็ตีพื้นคล่อมคลองเพื่อให้ได้พื้นที่เพิ่ม เมื่อเดินทะลุออกไปก็เป็นสะพานไม้ ที่ไม่รู้จะใช้คำว่าสะพานได้หรือเปล่า เพราะเป็นเพียงไม้พาดต่อกันเป็นทางยาว แล้วต่อไม้คานเล็ก ๆ แยกไปตามเรือ โดยความกว้างมีตั้งแต่ไม้ 1-4 แผ่น 

เมื่อก้าวเท้าเหยียบลงไปแผ่นไม้ก็งอลงไปตามน้ำหนัก ส่งเสียงดัง ‘เอี๊ยดดดด’ ดูไม่มั่นคงเอาซะเลย ถึงจะหวั่นใจนิด ๆ ทุกครั้งที่เดินผ่าน… แต่ก็คงไม่แจ็กพ็อตหรอกมั้ง 

จนถึงตอนนี้เราก็ยังรู้สึกประหลาดใจมากที่รู้ว่ายังมีคนใช้เรือเป็นบ้าน แถมยังอยู่ในเขตกรุงเทพฯอีก เลยเกิดสงสัยว่าทำไมถึงไม่ซื้อที่ดิน ปลูกบ้าน ซื้อคอนโดอยู่กันดี ๆ หรือที่จริงแล้วนิยามของที่อยู่ที่ดีอาจแตกต่างไปตามความพอใจของแต่ละคน

เราเจอกับ ‘น้าเพ็ญ’ หนึ่งในสมาชิกชุมชนเรือลากในผืนแผ่นดินใหม่แห่งนี้ที่ชวนเราเข้าไปนั่งในบ้าน (เรือ) 

“ถ้าในกรุงเทพฯพวกน้าก็ไม่ได้มีบ้านอยู่บนดินหรอก ก็อยู่กันอย่างนี้แหละ เพราะว่าทำงานเรือลาก”

“แล้วที่อื่นมีบ้านมั้ยครับ?”

“อ๋ออออ มี ๆ มีบ้านญาติอยู่ที่อยุธยา”

“แล้วแบบนี้เวลากลับบ้านนี่นั่งรถหรือนั่งเรือกลับครับเนี่ย?”

“นั่งเรือสิ ก็ล่องขึ้นไปอยุธยาได้เลย” น้าเพ็ญเล่าให้ฟังด้วยท่าทีอารมณ์ดี

จะว่าไปก็เป็นไลฟ์สไตล์ที่เท่ไม่หยอกนะเนี่ย

เมื่อได้เข้ามานั่งในบ้าน(เรือ)ของน้าเพ็ญความรู้สึกแรกคือเย็นสบาย ต่างจากริมถนนเมื่อกี้อย่างกับคนละโลก แถมเสียงรบกวนก็แทบไม่มี นอกจากเสียงน้ำและเรือที่โคลงเคลงนิดหน่อยเมื่อเจอคลื่น 

น้าเพ็ญเล่าว่าเรือทุกลำตรงนี้มีทะเบียนเรือ แล้วก็ขึ้นอยู่กับกรมเจ้าท่าทั้งหมด แถมความรู้สึกก็คล้าย ๆ อยู่ ‘บ้านบนบก’ เพราะมีเฟอร์นิเจอร์ครบ แถมสิ่งอำนวยความสะดวกก็มีเหมือนอยู่ในบ้าน ทั้งห้องครัว ตู้เย็น แอร์  ห้องน้ำ แต่สิ่งที่มีน้อยกว่าบ้านบนบกก็คือยังไม่มีอินเทอร์เน็ตส่วนตัวเป็นของตัวเอง ก็จะใช้จากมือถือเอา

ที่มีทุกอย่างเหมือนบนบกได้เพราะอาศัยซื้อน้ำและไฟจากบ้านที่อยู่ริมตลิ่งแทน ค่าน้ำยูนิตละ 20 บาท ค่าไฟยูนิตละ 10 บาท ซึ่งแพงกว่าหอที่เราอยู่ด้วยซ้ำ แต่ผู้คนที่นี่ก็ยอมเพราะความสะดวกและเคยชิน เห็นว่าต้องเตรียมค่าน้ำค่าไฟไว้เลยเดือนละ 2,000-3,000 บาท

“เคยมีฝรั่งที่อยู่คอนโดตรงนั้นเดินมากับเมียคนไทยนะ มาไหว้ ๆ ขอน้า บอกว่าอยากมานอนบนเรือมั่ง น้าก็เลยให้เข้ามา เมียฝรั่งก็บอกน้าว่า โห แบบนี้ดีเนอะ มีเงินก็มาอยู่ไม่ได้ สบายจัง แต่หารู้ไม่ว่าน้าอะ อยากไปอยู่คอนโดเหมือนกัน แต่ไม่มีปัญญา” 

น้าเพ็ญเล่าให้เราฟังเป็นเชิงเปรียบเทียบอย่างติดตลกก่อนจะหัวเราะก๊ากออกมา เพราะที่จริงแล้วน้าเพ็ญไม่ได้ชอบคอนโด จากเท่ารู้คนในชุมชนเรือลากแห่งนี้ก็ดูจะไม่มีใครชอบห้องแคบ ๆ อย่างคอนโดเท่าไหร่ เพราะถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะมีที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อปลูกบ้านแล้วผูกเรือไว้หน้าบ้านมากกว่า

เรือหลายลำถูกผูกและจอดไว้เรียงกัน บางลำก็เป็นเรือลาก บางลำก็เป็นเรือนอน จะใช้ลำไหนหรือไปหาคนในเรือลำอื่นก็กระโดดข้ามไปได้เลย ซึ่งถ้ามีเรือมาเพิ่มก็คงไม่ต่างจากการที่เรา ๆ ต่อเติมบ้านทำห้องเพิ่ม โดยมีห้องทำงานเคลื่อนที่คือเรือลาก

ส่วนลำนี้ที่น้าเพ็ญพาเราเดินข้ามจากกาบเรือนอนที่นั่งคุยกันเมื่อกี้มา เป็นเรือขายของที่จะคอยวิ่งขายคนที่ทำงานบนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เป็นประจำ ก็จะมีการดัดแปลงพื้นที่ใช้สอยอีกแบบ ที่เด่น ๆ คือมีการแขวนถุงสินค้าต่าง ๆ เอาไว้เพื่อประหยัดพื้นที่ใช้สอย

บนน้ำหรือบนดินอาจไม่ต่างกัน… นี่ไม่รู้ว่าตอนไปขายต้องเปิดลำโพงหรือโทรโข่งแบบรถขายกับข้าวในซอยบ้านเรามั้ย “กับข้าวมั้ยจ๊ะกับข้าว”

น้าเพ็ญบอกว่าการทำงานเรือลากที่คอยลากทรายหรือดินไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาถึงจะยังพอมีงานเลี้ยงชีพได้ แต่ก็ไม่ได้มั่นคงขนาดนั้นเพราะว่าต้นทุนกับความเสี่ยงสูง จึงอยากผลักดันลูกชายให้ไปทำงานบนบกมากกว่า เพราะว่านอกจากความเสี่ยงแล้ว ยังมีต้นทุนหลัก ๆ อย่าง “ค่าน้ำมัน”

โดยเฉลี่ยใช้น้ำมันถึงรอบละ 30,000 บาท ในขณะที่ค่าจ้างจะตกอยู่รอบละ 40,000 บาท การรับงานก็จะมีบริษัทโทรมาโยนงานให้ พอไปถึงจุดหมายก็จะจอดเรือรอเพื่อรองานเที่ยวกลับกรุงเทพฯ ไม่งั้นจะเสียค่าน้ำมันไปฟรี ๆ อย่างเช่นเดือนนี้มีงานสองรอบ ก็จะได้เงิน 80,000 บาท แต่หักค่าน้ำมันออกก็จะเหลือแค่ 20,000 บาท (หารกับน้าหนุ่มก็ตกคนละหมื่น/เดือน) นี่ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุงเรือ ค่าน้ำค่าไฟค่ากินอีก 

ซึ่งจากการคุยกับน้าเพ็ญทำให้รู้ว่าค่าแรงเป็นประมาณนี้มาหลายปีแล้ว ในขณะที่ค่าครองชีพต่าง ๆ มีแต่จะแพงขึ้น

“แล้วรู้สึกว่าพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลังมั้ยครับ?”

“คือ… มันเป็นไปตามยุคตามสมัย ด้วยความที่เราเสียดายว่าเรามีเรือแบบนี้ เราก็ต้องยอมรับสภาพ ตัวน้าอะไม่เป็นไรหรอก ชินการอยู่บนเรือมากกว่า แต่กับลูกก็อยากให้เค้าเรียนสูง ๆ มีงานมีที่อยู่มั่นคง” น้าเพ็ญตอบเรา

งานเรือลากมักจะทำงานไม่เป็นเวลา อย่างเช่นถ้าน้ำลงก็ต้องจอดเรือ แต่ถ้าบังเอิญน้ำขึ้นตอนเที่ยงคืนตีหนึ่ง ก็ต้องออกเรือต่อ ไม่เหมือนคนทำงานบนฝั่งส่วนมากที่จะทำงานกลางวันแล้วพักตอนกลางคืน แค่ล่องเรือขึ้นไปอยุธยาเที่ยวเดียวก็ใช้เวลาเฉลี่ย 9 วันแล้ว แถมยังต้องแบกรับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับกระแสน้ำอีก

ปกติน้าเพ็ญก็ออกเรือไปกับน้าหนุ่มผู้เป็นสามีกันสองคนโดยน้าหนุ่มเป็น ‘กัปตัน’ ที่จะคอยขับเรือและคุมทุกอย่างโดยรวมส่วนน้าเพ็ญก็จะรับหน้าที่เป็นเอ็นจิเนีย หรือที่คนเรือลากเรียกติดปากว่า ‘อินเนีย’ ที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าวิศวกรจำเป็นหรือสารพัดช่างบนเรือดี เพราะต้องคอยซ่อมและค่อยดูเรื่องสัพเพเหระบนเรือ

“แล้วมันอันตรายแค่ไหน? พี่เคยลาก ๆ แล้วมันหลุดหรือมันชนมั้ย?”

“ก็มีนะ… เหตุการณ์แบบ… “

“อันตรายมากกกกก” น้าหนุ่มสามีน้าเพ็ญที่ซ่อมเรืออยู่ด้านหลังพูดเน้นเสียงขึ้นมาเป็นครั้งแรก

“ไม่ใช่ว่าไม่กลัวนะ… กลัว! กว่าจะได้มาแต่ละบาท คุณดูสิ เรือมันใหญ่ แล้วร่องสะพานมันเล็ก”

“อ๋อ ผมนึกออก ที่เป็นเสา ๆ ใช่มั้ย?”

“นั่นแหละ ถ้าทุกสะพานเป็นแบบพระราม 8 สะพานแขวน สะพานภูมิพลที่ไม่มีช่องสะพานนะ ชาวบ้านชาวเรือก็ไม่มีปัญหาหรอก” น้าหนุ่มวางมือจากการซ่อมเรือแล้วหันมาพูดกับเรา

“ไปดูสิ อย่างสะพานพุทธนี่เล็กปะล่ะ” น้าเพ็ญเสริมขึ้นมา

“แล้วมันมีช่องอยู่นิดเดียว เรือมันไม่เหมือนรถนะ รถพ่วงมันยังไปตามล้อ แต่เรือนี่ไปตามน้ำ เราจะต้องดัดมันไปให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็เรียบร้อย… คว่ำ แล้วสะพานนี่มันของหลวงนะ พูดกันยาก เพราะฉะนั้นอย่าให้เกิดเรื่องเลยดีที่สุด” น้าหนุ่มอธิบาย

“แล้วเคยมีอุบัติเหตุมั้ยพี่?”

“มี!” ทั้งคู่ตอบขึ้นมาเป็นเสียงเดียวกันก่อนน้าหนุ่มจะอธิบายต่อ

“กรมทางหลวงวิ่งตามเรือเลย เค้ามีกล้อง มีกล้องจับไว้ที่เสาสะพานอะ มีชื่อเรือขึ้นอะไรขึ้นครบเลย”

เพราะงานนี้มีความเสี่ยงสูงแถมพอหักลบต้นทุนแล้วกำไรก็น้อย ที่เห็นได้ชัดคือราคาน้ำมันที่ต้องเติมใช้เป็นต้นทุนก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าจะเทียบให้ใกล้ตัวขึ้นอีกก็ราคาอาหารตามสั่งที่ทยอยขึ้นจากจานละ 15-20 บาท เป็น 40-50 บาท นั่นยิ่งทำให้หลายคนที่นี่(นอกจากน้าเพ็ญ) ยังต้องอยู่บนเรือ

“เห็นอนาคตบนฝั่งมากกว่ามั้ยครับ?”

“ใช่ครับ”

“ยังไงอะ ทำเรือลากก็ได้เงินเหมือนกันนะ”

“อันนี้มันเสี่ยงกว่าครับ พ่อแม่เค้าไม่อยากให้มาเสี่ยง” 

“แล้วคิดไว้ยังว่าอยากทำอะไร?”

“อยากทำ Audit ครับ พวกตรวจสอบบัญชี” 

โฟลต ลูกชายคนเล็กของน้าเพ็ญและน้าหนุ่มที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เล่าให้เราฟังในเย็นวันหนึ่งขณะกำลังรับเลี้ยงเด็กให้กับเรือลำอื่นเวลาที่มีคนออกไปทำงานบนฝั่งเพื่อหารายได้พิเศษ

“น้าว่าตอนนี้ทุกอย่างมันบีบตัว อย่างเมื่อก่อนเราไปห้าง ถ้าลูกอยากกินเคเอฟซี แมคโดนัลด์ เราก็ซื้อให้ลูกกินได้สบาย ๆ แต่เดี๋ยวนี้กลับเป็นแบบว่า หนูจะกินอะไรหนูก็ดูประหยัด ๆ หน่อยนะ หรือไม่งั้นพ่อแม่สองคนก็กินด้วยไม่ได้ ก็ซื้อแค่ให้ลูกกิน

“อย่างรุ่นลูกเนี่ย สิ่งเร้า อะไรต่ออะไรมันเยอะไง มันชวนให้เสียเงิน เราอยากให้ลูกเรากลับมากินข้าวที่บ้าน (เรือ) อย่างชาบูชินี่หัวละเท่าไหร่แล้ว 399 400 กินกันห้าคนก็สองพัน แต่ถ้าเราซื้อมาเนี่ยแค่พันนึงเราก็กินไม่หมดแล้ว” น้าเพ็ญเล่าให้เราฟัง

“กินได้เป็นวันอะ”

“เอ้ออออ น้าก็ซื้อหมูมาแล้วมาหมักกันเอง จะปิ้งย่างจะต้มอะไรก็ตามใจ กินแล้วก็นอนตรงนี้ น้าจะชินกับแบบนี้มากกว่า จะไม่ชอบออกไปกินข้างนอก” น้าเพ็ญพูดไปพราง กวาดมือชี้ไปที่พื้นเรือไปพราง

น้าเพ็ญเล่าว่าแต่เดิมเป็นคนพิจิตรแต่ครอบครัวล่องลงมาทำงานเป็นเรือลากตั้งแต่ตัวเองอายุได้ 13 ปี ก่อนจะแต่งงานมีลูก เพราะว่าตัวเองเรียบจบแค่ ป.3 จึงอยากให้ลูกมีโอกาสได้เรียนสูง ๆ และขึ้นฝั่งไปทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนคนส่วนมากมากกว่า เพราะงานเรือมันไม่มั่นคงแถมไม่ได้มีสวัสดิการอะไร

“แล้วอย่างลูก ๆ นี่เค้าอยากมีบ้านหรือคอนโดอะไรในกรุงเทพฯมั้ยครับ?”

“เค้าก็อยากมี คนโตที่เป็นทหารก็อยู่ในแฟลตทหารนะ แต่เค้าก็เตรียมตัวกับแฟนเค้าจะซื้อกันบ้างแล้ว นี่ล่าสุดเห็นว่าเจอบ้านมือสองอยู่แถวพระราม 5 ขายแค่ล้านกว่า สองล้านเอง แต่ว่าก็ต้องรีโนเวต แล้วอีกอย่างเราก็ไม่รู้ด้วยว่าปี 54 น้ำท่วมหรือเปล่า มันไม่เหมือนเรือที่ต่อให้น้ำท่วมแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา

นี่ลูกชายคนโตได้เดือนละ 9,000 หรือหมื่นนิด ๆ เอ้งงง มันก็กู้ไม่ได้ กู้ไม่ผ่าน ก็ลูกชายกับแฟนอะ ขนาดจบป.ตรีทำงานทหารสองคนกับเมียนะ ได้เท่าไหร่เอง แต่ก็ดีหน่อย ได้รักษาพยาบาลฟรี” 

นี่ขนาดเป็นทหารนะ ถ้าจะพูดถึงคนที่ทำงานโดยได้ค่าแรงรายวันเป็นค่าแรงขั้นต่ำก็คงแทบจะต้องเลิกคิดการลงหลักปักฐานกันเลยทีเดียว ทั้ง ๆ ที่การเป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาฯที่ตนเองอาศัยอยู่ควรจะเป็นเรื่องของทุกคนแท้ ๆ

ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวและที่ดินในปี 2563 มีค่าเท่ากับ 150.4 จุด เพิ่มขึ้น 46.87% จากปี 2553 (102.4 จุด) *

ถ้าเราเทียบง่าย ๆ คือเอารายได้ของการทำเรือลากที่สมัยก่อนน้าเพ็ญได้เฉลี่ยเที่ยวละ 40,000 บาท แต่ตอนนี้ในปี 2564 น้าเพ็ญก็ยังได้เที่ยวละ 40,000 บาทเท่าเดิม (หักต้นทุนแล้วเหลือเที่ยวละ 10,000 บาท ต่อเดือนก็จะได้งานเฉลี่ยประมาณสองเที่ยว) 

ปัจจุบันที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯมีราคาสูงขึ้นเรื่อย แต่รายได้ของบางอาชีพ อย่างเช่นอาชีพเรือลากกลับไม่ได้ถูกปรับขึ้นตาม นั่นทำให้เป็นการยากมากที่ใครหลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (ค่าแรงถ่ายภาพหรือสอนดนตรีของเราก็ยังไม่ขึ้นเหมือนกัน) จะมีที่ดินเป็นของตนเองในกรุงเทพฯ ที่ที่ความเจริญและงานหลากหลายรูปแบบมากระจุกเป็นก้อน

พอเริ่มเย็นเราก็เห็นเรือหลายลำเริ่มมีคนเข้ามาอยู่ และเปิดไฟ คนบางกลุ่มที่อาจจะอยู่บนเรือตั้งแต่เด็ก หรือมีความเคยชิน ก็ยังเลือกที่จะอาศัยอยู่บนเรือต่อไป แม้จะไม่ได้ทำงานเรือลากแล้ว เพราะว่าอยู่บนเรือมันถูกกว่า

แม้แต่เราเองที่ทุกวันนี้แต่ละเดือนก็เหลือเก็บแค่เพียงหยิบมือหรือไม่เหลือเก็บเลยยังรู้สึกท้อใจ ความหวังที่คิดจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองในกรุงเทพฯก็คงเป็นแค่ความฝัน

“ถ้าเราจะซื้อบ้านเราต้องมีเงินก้อน ในบัญชีอย่างน้อยต้องเป็นแสน ๆ เข้าใจเปล่า? ถ้างานเราขัดข้องขึ้นมาเราจะได้ไม่เครียด ตอนนี้น้าเพ็ญอยากแนะนำว่าให้ทำงานไป แล้วก็เก็บเงิน ห้าร้อยหรือพันนึงก็ยังดี”

ลูก ๆ น้าเพ็ญนะ เค้าก็พยายามดีดตัวเค้าเองว่าเค้าต้องมีให้ได้ ๆ” น้าเพ็ญเล่าต่อ

“เพราะว่าสังคมมันบีบบังคับเปล่าครับ ว่าทุกคนต้องมี? จริง ๆ มันไม่จำเป็นหรือเปล่า?”

“ใช่ แต่เราและใคร ๆ ก็อยากมีทั้งนั้นแหละ อยากมีบ้านอยากมีรถ แต่เราก็ต้องดูความเป็นไปได้ด้วย คือถ้าเราอยากกินเคเอฟซี ก็กินได้ แต่อย่าไปกินเยอะอย่ากินบ่อย จำคำน้าเพ็ญไว้… หิวค่อยกิน ถ้าแค่อยาก อย่าไปกิน” น้าเพ็ญอธิบาย

“น้าเพ็ญไม่ชอบคอนโดนะ คิดว่ามันอึดอัด”

“แล้วน้าเพ็ญคิดว่าเป็นไปได้มั้ยครับ สำหรับคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯหลายปีอย่างน้าเพ็ญจะคิดซื้อบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วผูกเรือไว้หน้าบ้านแทน เพื่อรับงานเรือลากต่อ”

“จริง ๆ น้าเพ็ญก็คิดอย่างงั้นแหละ น้าเพ็ญจะดูแถวปะทงปทุม ปากเกร็ด อะไรแบบนี้อะนะ ก็เคยคุยกับน้าหนุ่มว่าคงดีเนาะ ถ้าเรามีบ้านแล้วเราเอาเรือเรามาจอดริมน้ำ… แต่เป็นแค่ฝันเปล่าวะ?… มึงก็ฝันมานานแล้วนะ” น้าเพ็ญเสียงแผ่วลงในประโยคสุดท้าย ก่อนจะเบือนหน้าหนีมองออกไปที่แม่น้ำเจ้าพระยา

Loading next article...