‘สินสอด’ หน่วยวัดความรัก?

‘ผู้หญิงรู้สึกโดนดูถูกมั้ย เมื่อถูกตีราคาเป็นเงิน ?’ 

‘สินสอด’ ‘ค่าเลี้ยงดู’ ‘ค่าน้ำนม’ ยังจำเป็นจริงๆ เหรอ ?

ถ้าการแต่งงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ หลายสิ่งหลายอย่างในงานแต่งงานก็คงไม่ต่างจากสิ่งประดับตกเเต่งจุดสตาร์ทในงานวิ่งมาราธอน

สุดท้ายแล้วการที่เราตีราคามนุษย์ด้วยหน่วยเงิน ‘บาท’ เป็นสิ่งที่เราอยากชวนเพื่อน ๆ มาคุยกันในวันนี้

ถ้าดูจากงานเลี้ยงที่เคยไปหรือพาดหัวเว็บที่เคยเห็น เชื่อว่าอย่างแรกที่นักข่าวและป้าข้างบ้านโฟกัสเกี่ยวกับงานแต่งงานก็คือสินสอด แต่เราสงสัยว่าสินสอดใช้วัดได้เหรอว่าชีวิตคู่เขาจะไปรอดรึเปล่า?

สมัยที่ยังไม่มีโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊ค (หรือเก่าหน่อยก็ส่งจดหมายหรือโทรเลข)  และการเดินทางยังลำบาก การแต่งงานคือการที่ผู้หญิงแต่งเข้าบ้านผู้ชาย แล้วก็ขาดการติดต่อจนแทบจะเหมือนหายตัวไป ไม่ได้ดูแลและช่วยงานพ่อแม่เหมือนเดิม ‘ค่าสินสอด’ นี่แหละที่จะเป็นเงินที่มาทดแทนเรื่องนี้

เราอยู่กับ ‘พี่นัท’ และ ‘พี่กริ่ง’ คู่แต่งงานคู่ใหม่ที่ไม่ได้ให้ค่าสินสอดที่ตอนนี้เล่าว่าชีวิตมีความสุขดี พร้อมกับพลิกดูหนังสือรวมภาพบรรยากาศในการขอแต่งงาน งานหมั้น งานแต่งงาน ที่ทั้งคู่พิมพ์ออกมาเป็นเล่มภายในบ้านเดี่ยวย่านชานเมืองกรุงเทพฯ

พี่กริ่งเล่าว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับคนที่เกิดมาในครอบครัวที่เข้าใจ เพราะฝั่งแม่และยายก็ไม่ได้เก็บค่าสินสอดเหมือนกัน ทำให้การคุยกับที่บ้านเป็นไปได้ง่าย เพียงแต่ในงานจะมีการเอาสินสอดมาวางพอเป็นพิธีแล้วก็คืนให้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามของญาติ ๆ และแขกคนอื่น เพราะทั้งคู่มองว่าการมีสินสอดตั้งไว้ในงานแบบนี้เป็นการ ‘ประนีประนอม’ ระหว่างวัฒนธรรมเก่าและวัฒนธรรมใหม่

“เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นฝรั่งเหมือนกันนะ เขาใช้คำว่า Dehumanize อะ” – พี่กริ่งเล่ามุมมองของเพื่อนฝรั่งให้เราฟัง

“ลดทอนความเป็นคนเหรอครับ” 

“เออ ๆ ๆ มันไม่ Dehumanize ผู้หญิงเหรอที่ไปตีราคาเขาแบบนั้น? แต่ตอนนั้นพี่ยังไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องนี้เท่าไหร่ พี่ก็เลยยังไม่รู้จะตอบเขายังไง คือมันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมน่ะ” 

คนที่ไม่คิดมากก็คงไม่ติดอะไรล่ะมั้ง แต่คนคิดมากแบบเราบางทีก็อดคิดเรื่องสินสอดไม่ตกเหมือนกัน ถึงแม้เผลอ ๆ ชีวิตนี้อาจจะไม่มีโอกาสตกลงเรื่องสินสอดกับใครด้วยซ้ำ 55555

เราเปิดประเด็นในเรื่องที่เคยได้ยินคนพูดมามากที่สุดเข้ามาในวงสนทนา นั่นคือ ‘ผู้หญิงรู้สึกโดนดูถูกมั้ย เมื่อถูกตีราคาเป็นเงิน ?’

พี่กริ่งบอกเราว่าบางคนจะรู้สึกแบบนั้นก็ไม่แปลก เพราะเมื่อมีตัวเลขก็ย่อมเกิดการเปรียบเทียบ อย่างเช่นว่าการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสินสอดของคนอื่น เช่น ดารา ลูกคนใหญ่คนโต หรือใกล้ตัวหน่อยก็ลูกสาวบ้านนั้น ญาติบ้านนี้ จนรู้สึกว่าชีวิตฉันมีค่าเป็นเงินแค่นี้เองเหรอ  สำหรับบางคนมันยิ่งทำให้ Self Esteem (ความนับถือตัวเอง) ลดลง

“พอโตมาก็ได้รู้ว่าบ่าวสาวบางคู่ต้องเลื่อนงานแต่งงานไปหลายปีเพราะว่า ต้องเก็บเงินเป็นหลักล้านอะไรแบบนี้ เออ… เราถึงเพิ่งรู้ว่าบางครอบครัวเขา เขา Concern จริง ๆ นะ” — พี่กริ่งบอกเรา หลังจากเล่าให้ฟังว่าตัวเองไม่คิดจะอยากได้สินสอดอะไรตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว 

เงินล้านนี่ฟังดูเยอะมากสำหรับเราที่ยังใช้เงินเดือนชนเดือน มีเก็บบ้างเล็กน้อยตามแบบฉบับชนชั้นกลาง (ตอนล่าง) ซึ่งคงเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนไม่มีต้นทุนชีวิตหรือโอกาสอะไรเยอะแยะแบบเรา ถ้าไม่ได้เก็บมาตั้งแต่รุ่นพ่อ อืม… ก็แค่ลองคิดดูตามความเป็นจริง แถมเศรษฐกิจตอนนี้ก็ดีจนน้ำตาจะไหลซะเหลือเกิน  พูดแบบนี้คนจะหาว่าเราเป็น Loser มั้ยนะ? 

ถ้าไม่มีทุนอะไรเยอะ จะหาเงินล้านมาก็คงต้องกู้… ถ้าผ่านอะนะ นี่จะต้องเป็นหนี้ตั้งแต่ยังไม่แต่งเลยเหรอเนี่ย ว้า… แย่จัง 

ไม่ดีกว่า… 

ไม่จ่ายสินสอด? 

เปล่า ไม่แต่ง… ตึกโป๊ะ! 55555

ทั้งสองคนบอกว่าก่อนหน้าเคยเคยเห็นพวกเว็บคำนวณสินสอดอยู่บ้างเหมือนกัน พี่กริ่งเล่าว่าเธอรู้สึกว่ามันตลก และไม่เคยลองกดคำนวณสินสอดของตัวเอง แต่เอาไปให้แม่ดูแม่ก็บอกว่าอย่าไปตีราคากันเลย

การให้พ่อแม่แฟนตีราคาแฟนตัวเองก็คงจะเป็นปัญหาและกระอักกระอ่วนใจอยู่ไม่น้อย จะตีราคาแพงไปก็กลัวจ่ายไม่ไหว จะตีถูกไปก็กลัวลูกน้อยใจว่ามีค่านิดเดียว ส่วนคนฟังจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ไม่กล้าต่อเพราะกลัวเป็นการดูถูกอีกฝ่ายซะอีก

“บางคนเขาก็เรียกค่าน้ำนมว่ากว่าฉันจะเลี้ยงดูมาขณะนี้เรียนจบทำงานมีตำแหน่งขนาดนี้ฉันก็ต้องมีแบบค่าน้ำนมค่าเลี้ยงดูมาบ้างเออแฟร์ไหม พ่อแม่เธอก็เลี้ยงดูเธอเหมือนกันนะ” — พี่กริ่งพูดให้เราฟัง ก่อนจะหันไปทางพี่นัทที่นั่งอยู่ข้าง ๆ แล้วพูดประโยคสุดท้าย และทั้งคู่ก็หัวเราะออกมาพร้อมกัน

ในความเข้าใจที่ไม่อิงพจนานุกรมของทั้งคู่ คำว่า ‘คุณค่า’ มักจะมาพร้อมกับคำว่าคุณค่าทางจิตใจ เป็นอะไรบางอย่างที่เราตีค่าออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ ซึ่งต่างจากคำว่า ‘มูลค่า’ ที่มักจะถูกนำมาตีเป็นตัวเลข และมักจะใช้คู่กับสิ่งของ ซึ่งสำหรับเราก็อยู่ที่ว่าเราจะตีความเจ้าสาวว่าเป็นแบบไหน ระหว่างคุณค่ากับมูลค่า

“แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้นไง อันนี้พูดถึงการตีมูลค่า มันอาจจะตียากนะเพราะว่าคนมันไม่ใช่สินทรัพย์ ไม่ใช่สิ่งของที่ต้องมาตีมูลค่า เพราะฉะนั้นมันคือมนุษยธรรม” — พี่นัทบอกกับเรา

นอกจากวัฒนธรรมสินสอดแล้ว ถ้าให้พูดคร่าว ๆ งานแต่งงานแบบไทย ๆ ก็มักจะมาคู่กับเรื่องตลกที่แอบสนับสนุนความไม่เท่าเทียมทางเพศ แนวคิดเรื่องสินสอดนี่ก็เรื่องนึงที่สนับสนุนชายเป็นใหญ่ แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นที่สนับสนุน ‘หญิงเป็นใหญ่’ อย่างที่เราเห็นแล้วเอือมทุกครั้งที่ไปร่วมงานก็คือ ‘คาถาบูชาเมีย’ กับการให้เจ้าสาว ‘กราบ’ เจ้าบ่าวบนเวที ที่พิธีกรก็มักจะพูดติดตลกว่าให้แขกหันมาดูเพราะเหตุการณ์นี้มีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ถามว่ามันซัพพอร์ตมั้ย มันก็คงซัพพอร์ตในเรื่องความไม่เท่าเทียม เพราะเราสนุกไปกับเรื่องที่มันอาจจะเป็นปัญหาโดยที่เราไม่ได้รู้ตัว แต่ถามว่าจุดนั้นเนี่ยคิดไหม ? ก็ไม่ได้คิดหรอก มันเป็นงานมงคลอะ แล้วเราก็อยากจะเรียกเสียงหัวเราะใช่ไหม ? มันก็เลยไม่มีใครมาตั้งคำถามกับเรื่องนี้”

บางคนก็ว่าเป็นค่าน้ำนมค่าเลี้ยงดูที่มอบให้ครอบครัวเจ้าสาว เพื่อทดแทนเงินที่เสียไปในการเลี้ยงดู บ้างก็ว่าเพื่อพิสูจน์ความพยายามของเจ้าบ่าว บ้างก็ว่าเป็นการแสดงว่าเจ้าบ่าวสามารถเลี้ยงดูเจ้าสาวได้

แต่ในโลกปัจจุบันที่ทุกเพศเรียกร้องหาความเท่าเทียม ‘ค่าสินสอด’ ก็คงเป็นเหมือน ‘ควันหลง’  เพราะในทางอ้อม ๆ มันก็คงส่งเสริมสิ่งที่ ‘เฟมินิสต์’ และ ‘เฟมินิสต์ฝึกหัดในทวิตเตอร์’ หรือ ‘เฟมทวิต’ เรียกกันติดปากว่า ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ (Patriarchy) 

เดี๋ยวนี้การใช้ชีวิตคู่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายชายทำงานนอกบ้าน ฝ่ายหญิงทำงานในบ้านแค่อย่างเดียว แต่มันเป็นไปได้ในทุกแบบ ไม่ว่าฝ่ายชายจะเป็นพ่อบ้าน ทั้งสองฝ่ายทำงานนอกบ้านทั้งคู่ แล้วจ้างแม่บ้านหรือทำงานบ้านเองตอนว่าง 

ไม่ใช่ว่าฝ่ายชายจะต้องเป็นคนดูแลฝ่ายหญิง หรือฝ่ายหญิงต้องเป็นคนดูแลฝ่ายชาย จริงๆแล้วทั้งคู่ควรดูแลซึ่งกันและกัน หรือไม่ว่าจะมีเพศสภาพเป็นแบบไหนก็แต่งงานใช้ชีวิตด้วยกันได้ทั้งนั้น

“พี่คิดว่าตอนนี้มันเป็นยุคคาบเกี่ยวของทั้งสองแบบ คือผู้ใหญ่อย่างฝั่งคุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มเป็นประเภทที่มีการเปลี่ยนมุมมองไปบ้าง แล้วแต่ก็ยังมีบางคนที่ยังติดประเพณีวัฒนธรรมเก่าอยู่มาจากบรรพบุรุษ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือคนที่กำลังจะกลายเป็นพ่อและแม่รุ่นต่อไปแบบเรานี่แหละ” — พี่นัทบอกเราก่อนจะเล่าเหตุการณ์เซอร์ไพรซ์ขอพี่กริ่งแต่งงานให้เราฟัง ทั้งคู่ดูเฮฮาขึ้นมาก พอได้เล่าความป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ของแต่ละคนในวันนั้น…

เหตุการณ์ดี ๆ พอได้กรอเทปนึกย้อนกลับไปมันก็มีความสุขสินะ

นี่หรือเปล่าคือสิ่งที่เราควรจะโฟกัส ?

เราถามทั้งคู่ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จ ทั้งคู่บอกว่าความสุข และเหนือสิ่งอื่นใดคือความเข้าใจและรับฟังกัน แน่นอนว่าเรื่องเงินก็สำคัญ แต่ถ้าไม่ได้บวกความเข้าใจมาด้วยก็คงบ้านแตก อย่างเช่น ถ้าสมมติเราขัดสนเรื่องเงินทอง แต่ถ้าทั้งคู่มีเป้าหมาย คุยกันแล้ว ตกลงกันได้ และเข้าใจกันว่าจะประหยัดมากขึ้นหรือทำงานมากขึ้น ก็คงไปด้วยกันได้

ทั้งคู่ยังคงพลิกดูหนังสือภาพงานแต่งงานไปทีละหน้า เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่ทั้งมีและไม่มีภาพประกอบ ทั้งคู่ยังคงหัวเราะอย่างมีความสุขอยู่ในบ้านหลังกระทัดรัดย่านชานเมือง… ฟังดูเป็นตอนจบที่ Cliche แต่มันคือเรื่องจริง

ปล. พี่กริ่งส่งข้อความหาเรา ในเย็นวันหนึ่งหลังจากสัมภาษณ์เสร็จ

Loading next article...