เมื่อยอดมนุษย์อยากเรียนรู้สังคม LGBTQIA+

ทำไมที่ผ่านมา ไม่ยักเห็น ผู้ว่าฯ ลงมาเข้าใจปัญหาของ LGBTQIA+ กันเลยแฮะ?

ตั้งคำถามเล่น ๆ ในฐานะประชาชน ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ควรเป็นคนที่เข้าใจ และรู้ทุกแง่มุมการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ ในวันที่เก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กำลังจะผลัดเปลี่ยน เรานึกคึก อยากคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศกับผู้สมัครชิงตำแหน่ง 

หนึ่งในนั้น ขวัญใจชาวเน็ต ด้วยภาพลักษณ์ยอดมนุษย์ พลังล้นยิ่งกว่าทานอส และดูจะเก่งในการเสนอนโยบายผลักดันกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ – แต่ ‘ชัชชาติ’ คนนี้ ยังไม่เคยพูดกับใคร หรือสื่อไหน ถึงความเข้าใจเรื่อง LGBTQIA+ สักครั้ง 

เราในฐานะคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จึงชวนเขานั่งคุย และเดินสำรวจ ความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่จริงในไทย บนถนนข้าวสาร เพื่อดูว่าผู้สมัครที่เป็น Cis Men อย่างเขา จะคิดยังไงกับเรื่องนี้

ภาพ: จิตติมา หลักบุญ

สารภาพว่าบนหน้าสมุดจด เราเตรียมคำถามมาเยอะ เพื่อถาม ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพราะความอัดอั้นตันใจส่วนตัว ที่สังคมก็เห็นกันอยู่ทนโท่ว่า LGBTQIA+ มีอยู่จริง แต่ก็มีแค่นักการเมืองไม่กี่คนที่พร้อมพูดถึง หรือผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิให้พวกเขาได้ แต่เราก็ใจชื้นไปด้วยที่คุณชัชชาติตอบรับการให้สัมภาษณ์กับ RICE

เรานัดคุณชัชชาติ ที่ถนนข้าวสาร ซึ่งจุดหมายแรกคือบาร์ที่ปิดตัวลงเพราะพิษโควิด-19 และส่วนหนึ่งก็มี LGBTQIA+ ทำงานอยู่ที่นี่ จึงเหมาะเจาะในการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยอยู่พอควร แต่ก่อนอื่น เราขอเช็กความรู้เบื้องต้นเรื่องความหลากหลายทางเพศกับคุณชัชชาติก่อนกัน

คุณชัชชาติรู้มั้ย ว่าแต่ละตัวอักษรของ LGBTQIA+ คืออะไรบ้าง?

“พอรู้นะ L คือ เลสเบี้ยน G คือ เกย์ เอ้อ แต่เกย์บางที ผู้หญิงชอบผู้หญิงก็เป็นเกย์ได้ใช่ป้ะ (ในต่างประเทศ บางครั้งเรียกคนรักเพศเดียวกันเป็นเกย์ค่ะ – เราเสริมคุณชัชชาติ) B คือ ไบเซ็กชวล T คือ ทรานส์เจนเดอร์ อย่างผมเคยเจอ คุณออเดรย์ ถัง (รัฐมนตรีสตรีข้ามเพศ คนแรกของไต้หวัน) ส่วน Q คือ เควียร์…ใช่ป้ะ คืออะไรนะครับ”

คุณชัชชาติให้เราอธิบายต่อถึงตัว Q I และ A เขานั่งฟังอย่างตั้งใจ ว่า Queer คือคนที่ไม่จำกัดว่าต้องรักกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ส่วน I หรือ Intersex คือคนที่เกิดมามีลักษณะทางร่างกายทั้งชาย และหญิง อาจจะเป็น อวัยวะเพศ ฮอร์โมน หรือโครโมโซม และ A คือ คนที่ไม่ได้ปรารถนาจะมีเซ็กซ์ พูดง่าย ๆ ว่าเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องสำคัญในความสัมพันธ์

“แล้วก็พลัสใช่ไหม น่ารักดีเนอะ ผมว่าจริง ๆ มันดีที่ว่า จริง ๆ มันไม่ได้หยุดแค่ตัวอักษรเหล่านี้หรอก เพราะความหลากหลาย มันอาจจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาได้” ถูกของคุณชัชชาติ เพราะในบางพื้นที่บนโลก ตัวอักษรมียาวไปถึง LGBTQIA2S+ แล้ว

แม้เราจะเรียกเขาว่าอาจารย์ก็จริง แต่ท่าทางของเขาตอนนี้ เหมือนศิษย์ที่กำลังนั่งฟังเราพูดอย่างตั้งใจ ชนิดที่ว่าตาไม่กระพริบ โดยไม่ตะขิดตะขวงว่าเราอายุน้อยกว่าเขาจะมาสอนเขาได้ยังไง นั่นทำให้เรากล้าที่จะถามต่อโดยไม่เกร็ง

คิดว่า LGBTQIA+ เป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ขนาดไหนในกรุงเทพฯ?

“จำนวนไม่รู้เลยครับ แต่ถึงจะใหญ่ หรือไม่ใหญ่ ไม่ได้มีผลอะไร เพราะทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ถึงสมมติเขาเป็นประชากรส่วนน้อย เขาก็ต้องมีสิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าการเป็นประชากรส่วนใหญ่”

ปัญหาของบ้านเรา คือไม่ยอมรับความแตกต่าง เราพยายาม ทรีตคนเป็นไบนารี มี 0 กับ 1 เหมือนระบบคอมพิวเตอร์ แต่ลืมไปหรือเปล่าว่าเราคนนะเว้ย คนที่มี Greyscale มีเฉดของสเปคตรัมที่แตกต่างกัน”

“การยอมรับความหลากหลายทางเพศ มันเริ่มตั้งแต่เด็ก ก่อนเราจะมีความคิดทางการเมืองซะอีก เราอาจจะเห็นเพื่อนที่เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน ถ้าเรายอมรับความแตกต่างนี้ได้ตั้งแต่ต้น อนาคตเราจะยอมรับเรื่องอื่น ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง หรือความเห็นต่างได้มากขึ้น”

ที่ผ่านมา เราได้ยินวาทกรรม “เมืองไทยคือสวรรค์ของ LGBTQIA+” ผ่านหูมาบ่อย ๆ พูดกันตามตรง ว่าเราไม่เคยเชื่อในคำกล่าว เพราะกฎหมาย และปัญหาที่มีในประเทศยังล้นเป็นภูเขา จริงอยู่ที่ สวรรค์ที่ว่า อาจเป็นแค่มุมมองของใครบางคน แต่ไม่มีทางใช้ได้กับทุกคนในคอมมูนิตี้นี้แน่ ๆ 

“คงมีคนที่โชคดี ที่อยู่ในกลุ่มที่มีคนยอมรับ แต่คงมีอีกหลายคนที่ไม่กล้าแสดงออก กลัวจะมีปัญหา ถ้าเพื่อนร่วมงานรู้ หรือขาดหลาย ๆ อย่าง ทั้งด้านสวัสดิการ หรือการยอมรับ ผมว่าเรื่อง LGBTQIA+ มันยังไม่ Inclusive สำหรับทุกคน อาจจะเป็นแค่บางคน”

เมื่อคุณชัชชาติ เน้นย้ำคำว่า Inclusive หรือความครอบคลุม เราจึงแลกเปลี่ยนปัญหากับเขาทีละประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่ LGBTQIA+ เจอ เริ่มกันที่เรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ เราเล่าให้เขาฟังว่า มีคู่รักเพศหลากหลายจำนวนหนึ่ง ที่ไม่สามารถเซ็นรับรองทางการแพทย์ให้กันได้ เมื่อฝ่ายใดเกิดอุบัติเหตุ ซึ่ง ณ เวลานั้น ทำให้เขาทรุดหนักกว่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถรักษาได้ทันที นี่จึงเป็นช่องโหว่ที่ใหญ่มากพอสมควร

คำพูดจากปากเราคนเดียวคงน้อยไป เราจึงพาคุณชัชชาติไปเดินบนถนนข้าวสาร เพื่อเจอกับพี่ ๆ Drag Queen หรือนางโชว์ ที่มาจัดแสดงโชว์วันนี้ ได้แก่ คุณศรีมาลา และ คุณ Naughty Girl

ท่ามกลางแสงไฟสะดุดตารอบ ๆ ถนนข้าวสาร เราพบว่าคนกลางคืนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันมากขึ้น แต่แน่นอนว่าไม่ได้ครึกครื้นเท่าเมื่อก่อนด้วยสถานการณ์ คุณชัชชาติเห็นสองสาวแดร็กควีนมาแต่ไกล ก่อนออกปากชมว่าวันนี้แต่งชุดสวยกันมาก

“สวัสดีครับ ผมชัชชาตินะครับ”

“รู้จักค่ะ แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ถ้าหนูเป็นคนกรุงเทพ หนูเลือกคุณชัชชาติเลยนะคะ” 

ศรีมาลา ในชุดเดรสชมพูบานเย็นวิบวับเข้ากับเธอ และ Naughty Girl ที่สวมวิกผมสีบลอนด์ ผอมชุดสีเงินสวยสง่า ยิ้มแย้มต้อนรับคุณชัชชาติอย่างเป็นมิตร และภายใต้รอยยิ้ม แดร็กควีนทั้งสองก็มีสิ่งที่อยากจะพูดเรื่องสมรสเท่าเทียมให้เขารับฟัง

“อย่ามองพวกเราเป็นเพศที่เรียกร้องอะไรเยอะเกินไป แต่นี่ (สมรสเท่าเทียม) คือสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะชาย หญิง เกย์ เลสเบี้ยน เป็นใครก็ตามแต่ ทุกคนคือคนเท่ากัน คุณอยากแต่งงาน คุณอยากจดทะเบียนสมรส เราก็อยากทำเหมือนกัน แต่กฎหมายมันไม่ครอบคลุมถึงเรา” 

“หวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญ กับพวกเรา ที่เป็นพลเมืองที่จ่ายภาษีเช่นเดียวกันกับผู้หญิง ผู้ชาย”

นี่คือคำพูดของศรีมาลา ก่อนที่ Naughty Girl จะเสริมว่า “We Are Human พวกเราเป็นมนุษย์เนอะ”

ผมคิดว่า น่าจะให้เขามีสิทธิ์เหมือนคนทั่วไป เหมือนกับที่เราทรีตคู่แต่งงานชายหญิง เพราะมันมีเรื่องสวัสดิการอื่นประกอบอีกเยอะ ภาษี มรดก หรือเรื่องต่าง ๆ คุณจะไปรอให้เขาเกิดใหม่ แล้วค่อยได้ใช้กฎหมายที่เข้ากับเขาเหรอ ผมว่าน่าเศร้ามากนะ ที่หนึ่งชีวิตไม่สามารถมีความสุขจากกฎหมายได้”

“เหตุผลที่อ้าง ๆ กันคือ ทำให้ไม่มีประชากรเพิ่มขึ้น ซึ่งผมว่ามันเป็นเหตุผลที่แปลกนะ ถึงเขาจะไม่ได้จดทะเบียน เขาก็ไม่ได้ทำประชากรเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว มันไม่ได้เบียดบังใคร เผลอ ๆ ถ้าทำให้ถูกกฎหมาย เขาอาจจะมีการ adopt เด็กมา หรือดูแลเด็กให้เป็นพลเมืองที่ดีได้”

นี่คือความเห็นของคุณชัชชาติที่บอกเราเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่เขารู้ดีว่าปัญหาที่ LGBTQIA+ เรียกร้อง ไม่ได้มีแค่เรื่องนี้

คุณชัชชาติถาม ศรีมาลา และ Naughty Girl ต่อว่า มีอะไรที่อยากให้สังคม หรือภาครัฐปรับปรุง 

ทั้งสองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเธอโชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ แต่ก็ยอมรับตรง ๆ ว่ายังมีอีกหลายคนถูกกีดกัน ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือสร้างความเข้าใจใหม่ว่า การเป็น LGBTQIA+ ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ได้จับฉลากมาเป็นเหมือนจับใบดำ ใบแดง หรือต้องทำข้อสอบอะไรถึงจะเป็นกันได้

“อย่างเราสองคน เป็นเกย์ ปกติไม่ได้แต่งตัวแบบนี้ แต่งเป็นผู้ชายเหมือนคุณชัชชาติเลย เราไม่ได้มีปัญหาเท่าไหร่ แต่คนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ มีการทำเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ใช้ชีวิตแบบผู้หญิงทั่วไปแล้ว เขามีปัญหาเรื่องคำนำหน้าชื่อ เรียกเขาว่านาย ติดปัญหาเวลาไปต่างประเทศ พาสปอร์ตต่าง ๆ ไม่ได้รับการยอมรับ” ทั้งคู่พูดกับคุณชัชชาติอย่างตั้งใจ

จริง ๆ ข่าวในไทย ก็มีหลายครั้งที่นำเสนอ กรณีผู้หญิงข้ามเพศ ไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ เนื่องจากเพศสภาพไม่ตรงคำนำหน้า ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ดูจะไม่แฟร์กับพวกเธอเอาซะเลย สิทธิที่จะระบุตัวตนเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย ตามเพศสภาพของตัวเอง ทำไมหลายประเทศให้ได้ แต่ไทยยังไม่ได้ ก็เป็นเรื่องน่าตั้งคำถาม ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนคนหนึ่งหรือเปล่า

“ตามที่น้อง ๆ (แดร็กควีน) บอก นี่คือปัญหาที่เราต้องเข้าใจ เขาอาจจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แต่ปัญหาของเขาก็สำคัญ ไม่ได้น้อยไปกว่าพวกเรา ผมเลยคิดว่าต้องเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็น แล้วก็รวบรวม ว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาอย่างไร ทั้งเรื่องการเยียวยา ความไม่เท่าเทียม คำนำหน้าไม่ตรงเพศสภาพ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องเอาตรงนี้มาดู และพยายามหาทางแก้ ไม่งั้นก็จะมีแต่ความขัดแย้ง”

ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคุณชัชชาติมาพอสมควร สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากเขา คือการไม่ปิดหู ปิดตา หรือเพิกเฉยต่อปัญหาที่กลุ่ม LGBTQIA+ เจอ ซึ่งแม้วันนี้เขาจะยังไม่มีอำนาจออกนโยบายออกมา แต่ก็เชื่อว่า สิ่งที่เขาพูด จะทำให้ใครหลาย ๆ คน เปิดใจมองอีกมุมดู

ถ้าคุณสามารถสร้างนโยบายสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ คุณอยากทำอะไรบ้าง?

“อันดับแรกคือลงไปคุยกับเขา (เหมือนวันนี้) แล้วสร้างจัดหาความต้องการมาให้เขา บางเรื่องที่ไม่แน่ใจ เราก็คุยจนกว่าจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร ไม่มีความรู้ก็ถามครับ”

“เท่าที่เคยคุยมาเบื้องต้น ด้านสาธารณสุขอาจต้องเพิ่มเรื่องจิตใจ หรือจิตวิทยา เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพราะพวกเขาหาคนให้คำปรึกษาไม่ได้ เราจึงควรมีสายด่วน ให้เขาโทรหา หรือมีบริการรับฮอร์โมน ถ้าเขาต้องการ ซึ่งควรเข้าถึงได้ในศูนย์สาธารณสุข”

“ผมอยากสร้าง ecosystem ที่ทำให้เด็ก ๆ LGBTQIA+ มีความไว้วางใจที่จะพูดถึงปัญหาที่เขาเจอ ไม่ใช่เขาพูดออกมาแล้วเขาจะโดนเบลมว่าผิด และทำให้ไม่กล้าพูด อย่างเรื่องบูลลี่ หรือ การคุกคามทางเพศ เรามีตำรวจที่มีหน้าที่บริการประชาชน ก็ควรมีระเบียบปฏิบัติชัดเจนว่า คุณต้องทรีตคนเท่ากันนะ”

“ยอมรับประชาชนที่ให้บริการ ยอมรับเพศสภาพที่แตกต่าง ที่มีความหลากหลายได้ เริ่มจากตรงนี้ก่อน ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เริ่มที่ตัวเอง แล้วไปให้ประชาชนทำกันเอง นั่นคงไม่ใช่แล้ว”

“อีกอย่าง ผมอยาก ติดธงสีรุ้งโชว์ ในเดือน Pride Month ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ว่าเรายอมรับเขานะ”

คำถามสุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายกับคุณชัชชาติกลางถนนข้าวสาร เราถามไปตรง ๆ ว่า “ทำไมเราไม่ค่อยเห็นนักการเมือง อยู่ภาพเดียวกันกับ LGBTQIA+ สักเท่าไหร่” คำตอบของเขาน่าสนใจ

“มองในแง่วิทยาศาสตร์ ก็อาจจะมองได้ว่า บางคนอาจคิดว่าเขา (LGBTQIA+) เป็นกลุ่มน้อย ไม่มีผลต่อคะแนนโหวต หรือถ้ามีภาพกับ LGBTQIA+ จะกระทบคะแนนโหวตส่วนใหญ่ ซึ่งมองว่าสังคมเป็นไบนารี ผมเดาเฉย ๆ นะ นักการเมืองอาจจะเสียกลุ่ม Conservative ไปได้ และเขาก็ไม่คุ้นกับความหลากหลาย”

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความหลากหลายทางเพศ แต่อยู่ที่ตัวเรา มีความลำเอียงอยู่ในใจ มีอคติอยู่ในใจ ผมว่าอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการคิด และมุมมองแล้วครับ”

“ปัญหาอยู่ที่เราไม่ทันโลก ไปมองคนอื่นว่าผิดจากรูปแบบ…เราต้องมองย้อนว่าปัญหาอยู่ที่อะไร อาจจะเป็นที่เราเองก็ได้”

ริมถนนข้าวสาร คุณชัชชาติขอตัวกลับก่อน เพราะรุ่งเช้ามีงานต้องสะสาง ขณะที่เสียงเพลงรอบ ๆ ยังกระหึ่มไปด้วยความสนุก เราตัดสินใจขอนั่งต่ออีกสักหน่อย ก่อนกลับบ้านไปพักผ่อน

ระหว่างที่นั่งอยู่ในบาร์ เรานั่งคิดตามที่คุณชัชชาติบอก…ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออคติของคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจตัดสินหรือเปล่า? และวันนี้เขาก็ทำให้เราเห็นว่า ถ้าผู้สมัครผู้ว่าฯ หรือนักการเมือง ช่วยกันลงมาสำรวจเรื่อง LGBTQIA+ มันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น และ…

อย่างน้อย ๆ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็จะรู้สึกว่า ว่าที่ผู้นำประเทศก็คอยอยู่เคียงข้างเขา

Loading next article...