Come & See: ความจริงที่เกือบถูก censor

‘Come and See (2020)’ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องล่าสุดของไก่ ณฐพล บุญประกอบ มาพร้อมกับกระแสว่าอาจจะถูกแบนในประเทศไทย 

ต่อให้ล่าสุดได้รับอนุญาตให้ฉายได้ในไทย ก็ยังไม่แน่ใจว่าได้มาเพราะโดนสังคมกดดันรึเปล่า 

การพิจารณาเรตติ้ง (age rating system) จนไปถึงการห้ามฉายภาพยนตร์ (film censorship / screening ban) กำลังสะท้อนให้เห็นปัญหาการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อสารความจริงผ่านงานศิลปะ

ผู้ชมจะไม่มีโอกาสได้เห็นภาพยนตร์สะท้อนสังคม ผู้กำกับจะไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ตราบใดที่ยังมีระบบการเซ็นเซอร์

ภาพ: พบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข

วันนี้บรรยากาศการพูดคุยกับพี่ไก่เป็นไปด้วยความโล่งใจหลังจากการประกาศว่าภาพยนตร์เรื่องเอหิปัสสิโก (Come and See) อนุญาตให้ฉายได้ในไทย เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สารคดีเล่าเรื่องเกี่ยวกับคดีการฟอกเงินของวัดธรรมกายนำมาสู่ปมปัญหาการปิดล้อมวัดสมัยรัฐบาลคสช. ที่ถูกมองว่ามีเนื้อหาอ่อนไหวเพราะมีการพูดถึงปมศาสนา 

เราโทรนัดพี่ไก่ทันทีหลังจากเห็นกระแสข่าวการแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาตอบรับนัดเราพร้อมให้สัมภาษณ์ในเช้าวันถัดมาหลังจากฟังประกาศผลจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ 

“ผมโล่งใจ แต่จริง ๆ มันไม่ควรจะมาลุ้นเปล่าว่าหนังจะได้ฉายไหม ทั้ง ๆ ที่หนังทุกเรื่องสมควรจะได้ฉายอยู่แล้ว และปล่อยให้หน้าที่ของหนังมันทำงานไป สุดท้ายคนดูก็จะคิดกันเอาเองว่าความเป็นจริงของประเด็นต่าง ๆ มันเป็นยังไง” พี่ไก่พูดไปยิ้มไปพร้อมความรู้สึกตลกกับการที่ตัวเองลงทุนทำหนังมาแล้วเกือบจะไม่ได้ฉาย 

การทำหนังสารคดี ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำคอลัมน์บนสื่อออนไลน์ เราเองก็นำเสนอเรื่องราวผู้คนในสังคมผ่านมุมมองของเรา แต่กลายเป็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่ต้องส่งเซ็นเซอร์ 

ส่วนการทำภาพยนตร์สารคดีเพื่อฉายในโรงมีกฎหมายกำหนดให้ต้องนำส่งกองเซ็นเซอร์ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ทำหน้าที่ในการตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่ให้ออกฉาย โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์ วีดิทัศน์ โทรทัศน์ ศิลปวัฒนธรรม หรือการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งต้องแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนไม่เกินสี่คนและจากภาคเอกชนจำนวนไม่เกินสามคน

“คืออย่างหลาย ๆ case เนี่ยมันคลุมเครือมาก ว่าอะไรคือบรรทัดฐานว่าให้ฉายได้ ไม่ได้”

อย่างตอนนี้ เรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของวงการหนังไปแล้วรึเปล่า ?

“ผมก็หวังว่ามันจะเป็นบรรทัดฐานที่อย่างน้อยแสดงความก้าวหน้าอันนึงของวงการหนังนะ ผมคาดหวังว่ามันจะเป็นแบบนั้น แต่สุดท้ายเดี๋ยวคนดูก็จะมาตัดสินตัวหนังเองว่าสุดท้ายหนังมันอาจจะไม่เห็นมีอะไรเลย เซ็นเซอร์อะไร ไม่เห็นมีไรเลย ฮ่า ๆ” 

เรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมไทยจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่ยังมีการปิดกั้นเสรีภาพทางการแสดงออก (Freedom of expression) ภาพยนตร์เรื่องเอหิปัสสิโกอาจจะโชคดีที่ได้ฉาย แต่ในขณะเดียวกันในอดีตมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกแบนในประเทศไทย 

“…แต่อย่างที่บอกอะฮะ ว่าในสมัยหนึ่งคนทำหนังก็รวมตัวกันสู้เพื่อให้ได้การจัดระบบเรตติ้ง แต่สุดท้ายการจัดระบบเรตติ้งเนี่ยมันก็ทำให้มีหลุมในการแบนหนังอยู่ดี สุดท้ายกลายเป็นคนทำหนังเค้าสู้ขึ้นมาเพื่อให้ได้การจัดระบบที่มีกฎเพิ่มมากยิ่งขึ้น ฮ่า ๆ ๆ”

กลายเป็นว่ามันอาจจะทำให้วุ่นวายเพิ่มขึ้นอีก

“ฮ่า ๆ ใช่ ๆ ผมว่า คือยังไงอะ การสั่งห้ามฉายหนังมันไม่ควรจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว อืม..มันไม่ควรจะมีการคิดแทนกันในแง่ของวัฒนธรรมความเชื่อ ความคิด สุดท้ายเราควรให้คนดูเค้าเป็นคนตัดสิน แล้วเราก็รับผิดชอบในฐานะคนทำหนังที่ผลิตมันขึ้นมาเอง…”

การตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพี่ไก่ไปซะแล้ว พี่ไก่เล่าว่าความชอบเรื่องแบบนี้ได้มาจากการเติบโตที่ชอบอ่านหนังสือเลยมีโอกาสได้คิดเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ รอบตัว รวมถึงการไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสารคดีที่นิวยอร์ก ส่วนตอนนี้ก็มีบริษัททำโฆษณาและภาพยนตร์สารคดีของตัวเองชื่อว่า Underdoc 

“ผมว่าอย่างที่บอกอะฮะ ว่าทำไมเราไม่ปล่อยให้คนถกเถียงกัน เพราะความแตกต่างทางความคิดมันไม่ได้อันตรายสำหรับผม นอกจากคนที่หวงแหนกับสถานะที่ตัวเองกำลังดำรงอยู่ รู้สึกว่าสิ่งนั้นมันจะมาลดทอนอำนาจเค้า หรือว่าศักยภาพในสิ่งที่เค้าดำรงอยู่รึปล่า 

จริง ๆ สังคมโตขึ้นมาได้เกิดจากแนวคิดของสังคมที่ถกเถียงกัน”

เห็นได้จากผลงานก่อนหน้านี้เรื่อง ‘2,215 เชื่อ กล้า บ้า ก้าว’ สารคดีเกี่ยวกับการวิ่งของพี่ตูน บอดี้แสลม ยังสามารถสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยได้เลย เรื่องเอหิปัสสิโกก็กำลังสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับ ศาสนา สังคม และ การเมืองของประเทศไทยผ่านมุมมองการเล่าเรื่องของผู้กำกับ 

ขนาดการเข้าไปถ่ายทำด้านในวัดได้ยินว่าต้องทำเรื่องขอเข้าไปแล้วก็จะมีคนมาดูแลตลอดการทำงานสุดท้ายแล้วคนไทยเป็นอะไรกับการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อรักษาภาพลักษณ์นะ 

“ผมว่าบ้านเราจริง ๆ งานที่ค่อนข้างชัดคืองานราชการส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ จะพูดว่าราชการก็เป็นการโจมตีเกินไป เอาเป็นว่าโดยรวมสังคมเรามันเป็นเรื่องของการรักษาหน้า คืออะไรก็ได้อย่าให้เสียหน้า อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่ามันทำให้เกิดปัญหามากในบ้านเรา

ถ้าในระดับครอบครัวคืออย่างเวลาแม่ชอบบอกเราว่า ระวังอย่าให้แม่เสียหน้านะลูก” 

ครั้งแรกที่ติดต่อไป พี่ไก่บอกกับเราว่า ‘ออฟฟิศผมเล็กมากนะครับ’ 

‘มันเล็กมากจริง ๆ นะครับเดี๋ยวส่งรูปให้ดูทางไลน์นะครับ’ …โอวว… มันจุคนได้แค่สามคน ที่ไม่นับห้องโถงและห้องเก็บของที่เป็นส่วนกลางที่ใช้ร่วมกับออฟฟิศอื่น

เรามองชีวิตผู้กำกับหนังในออฟฟิศขนาดกระทัดรัด ไม่ค่อยต่างอะไรกับคนทำงานศิลปะส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ชีวิตตัวเองที่ทำงานอยู่กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็ยังกังวลเกี่ยวกับการจัดการชีวิตตัวเองว่าจะมีชีวิตยังไงเพื่อตอบสนอง passion ตัวเอง (ที่มักไม่ทำเงิน) และในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่รอดแบบไม่ไส้แห้ง การทำหนังไปแล้วห้ามฉายก็เหมือนกับการลงทุนซื้อของไปแล้วแต่โดนห้ามขาย

“ขนาดอเมริกายังมีสารคดีสนับสนุนโลกร้อน สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ GMO หรือแม้แต่สารคดีเกี่ยวกับชาวคริสต์หัวรุนแรงในอเมริกาอย่างเรื่อง Jesus Camp (2006) ที่ผมเอามาเป็น reference ในการทำหนังเรื่องนี้”

ไม่แน่ใจว่าอีกหน่อยเราจะได้เห็นสารคดีที่เป็นเรื่องศาสนาของคนไทยได้เข้า Netflix บ้างรึเปล่า สำหรับเราคิดว่าประเทศนี้ยังมีเรื่องอีกเยอะให้ไปขุดค้น

“ผมว่าเป็นเรื่องดีนะตอนทำเรื่องพี่ตูน ผมพูดแทนพี่ตูน เพราะเค้าก็ไม่ได้เข้าใจทุกมิติหรอก ใครจะไปเข้าใจอะไรทุกมิติ เค้าก็แค่ทำในสิ่งที่เค้าเชื่อ เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นผลดี แล้วเท่าที่กำลังที่เค้าทำได้ 

ส่วนในแง่ของมิติการตรวจสอบว่าโรงพยาบาลไหนจะเอาเงินไปแล้วจะได้ประโยชน์มากที่สุด โครงสร้างเชิงอำนาจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดจะเป็นยังไง อันนี้ถ้าหนังหรือการวิ่งของพี่ตูนมันเป็นการ bring out ให้คนมารวมกันให้คิดสิ่งใดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ผมคิดว่ามัน success นะ 

มันได้เลือกว่าซ้ายหรือขวา มันไม่ใช่ว่าพี่ตูนต้องวิ่ง พวกแกที่วิเคราะห์โครงสร้างมันผิดอย่างเงี้ย หรือการวิ่งมันผิด วิเคราะห์โครงสร้างมันถูก มันไม่ใช่แบบนั้น สังคมไม่ได้เป็นไปแบบนั้น โลกไม่ได้เป็นไปแบบนั้น มันไม่ใช่ขาวดำอะ เออมันไม่ใช่ A หรือ B ผมนี่คิดนะว่าตัวเรา แม้กระทั่งบ้านเราโตมากับข้อสอบช้อยส์มากไปเปล่านะ ? 

ไม่ B ก็ A ไม่ A ก็ B ไม่ขาวก็ดำ ไม่ซ้ายก็ขวา แต่ว่าจริง ๆ มันปลายเปิดมาก ๆ เลย”  

ในขณะที่ฉายในประเทศต้องมีการตรวจเช็คพิจารณาเรตติ้งและมีโอกาสห้ามฉายหรือตัดบางส่วนออก การฉายอะไรที่ถ่ายในไทยก็ต้องถูกการตรวจสอบบทภาพยนตร์/สารคดีโดย Film Board และมีสิทธิ์ห้ามถ่ายเพื่อไปเผยแพร่ต่างประเทศเช่นกัน จะว่าไปพอเห็นแบบนี้ในโลกสมัยใหม่ ก็รู้สึกว่ารัฐเข้ามาควบคุมทุกอย่างมากเกินไปเหมือนกันนะ แบบนี้เราจะเรียกว่าคัดกรองหรือปิดปากดีนะ?

ที่ผ่านมาพวกเรามีโอกาสได้รู้ความจริงเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ แค่มุมเดียวจากผู้มีอำนาจ ในขณะที่สังคมมันมีเรื่องให้รู้มากกว่าหนึ่งด้าน การทำภาพยนตร์สารคดีไม่ได้หมายความว่ามันคือการนำเสนอความจริง แต่มันคือการนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของผู้กำกับ ส่วนคนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา

แปลว่าการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ทุกวันนี้ เค้ากำลังแสดงความเป็นห่วงพวกเรา หรือว่าเค้ากลัวเราจะรู้มากไป อันนี้เริ่มไม่แน่ใจเท่าไหร่ 

ไม่แน่ใจว่าคนชอบทำสารคดี เค้าชอบทำเพราะอยากเผือกเรื่องชาวบ้านรึเปล่านะ 

พี่ไก่ขำลั่นออกมา ประมาณว่าพูดจาถูกใจใช่เลย

“ฮ่า ๆ ๆ เออผมจะนึกถึงบัตรเผือกอะ ตอนเด็ก ๆ ไปยื่นแล้วได้ไปเผือกเรื่องชาวบ้านเค้าอะ ทำสารคดีนี่ใช่เลย เนี่ยหรืออย่างทุกคนมาสัมภาษณ์ผมเนี่ย คือมาเผือกความคิดเห็นผมอะใช่ไหม (ยิ้ม) 

เอ๊ะ คำถามคือไรนะโทษที” 

อะ คือถ้ามันเป็นการเข้าไปเผือกอะ อย่างพี่ได้เผือกชีวิตพี่ตูนไปหนึ่งละ วัดธรรมกายอีกหนึ่งละ พี่คิดว่า การเซ็นเซอร์กำลังเผือกชีวิตพี่ไหม 

“ฮ่า ๆๆๆๆๆ ตอนแรกผมคิดว่าเค้าจะมาสัมภาษณ์ผมนะ แต่กลายเป็นว่าเค้าไม่ได้ถามอะไร เค้าไม่ได้ให้ผมชี้แจงอะไร” 

“…เมื่อวานยังคุยกับทีมเลยนะว่าดีใจที่เค้ามา focus มาให้ความสนใจกับหนังเรามากขนาดนี้ ดูตั้งสองรอบ แล้วนั่งเถียงกัน ผมนี่อยากเข้าไปฟังมากว่าเค้าเถียงอะไรกัน แบบ โห…งานเราเค้าให้ความสนใจมากขนาดนี้เลยหรอ ก็รู้สึกสนุกดีถ้าคิดในแง่นั้น 

พอพูดถึงการเผือกชีวิตคนอื่นเนี่ย ผมชอบมากเพราะว่าจริง ๆ แล้วมันเป็น privilege ของคนทำงานแบบเรามาก ๆ เพราะว่ามันไม่สามารถหาประสบการณ์แบบนี้ได้จากการทำงานอื่น 

การที่อยู่ดี ๆ เราตื่นหกโมงไปนั่งอยู่ในบ้านคนอื่น ไม่พูดไรด้วยนะ ดูเค้าใช้ชีวิต ดูเค้ากินข้าวแล้วก็แบบ อ่า..มันคุยกับเมียแบบนี้ คุยกับลูกแบบนี้ ฮ่าๆ อยู่ดี ๆ ก็นั่งรถไปกับเค้า ไปโผล่ที่ทำงานเค้า มันแบบ ฮ่า ๆ บางทีคนเค้าก็อาจจะหาว่าบ้าก็ได้นะใครจะอยากเป็นอยู่ใน position นี้วะ แต่เราดันชอบที่จะได้รับรู้ชีวิตอื่น ๆ มั้ง เรารู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันเลยเป็น privilege ของคนทำ doc อะ 

อยู่ดี ๆ เราไปเข้าวัด ไปดูคนอื่นเค้าทำพิธีกรรม ตีสี่ตื่นมาดูเค้าอยู่ในมุ้ง ก็รู้สึกว่ามันพิเศษดี 

นี่หนังที่ได้ดูนี่แค่ติ่งเนื้อเล็ก ๆ ของกระบวนการทั้งหมดที่ผมได้มานะ” 

ในเมื่อประเทศเรายังมีการตั้งคนกลางมาตรวจสอบความเหมาะสมการรับชมภาพยนตร์อยู่ การผลิตงานภาพยนตร์ก็จะถูกจำกัดให้ฉายได้แค่ไม่กี่แนว สารคดีที่กำกับโดยคนไทยจึงไม่ค่อยผลิต ทั้ง ๆ ที่มันมีความสำคัญมากต่อทุกคน กลายเป็นว่าคนไทยส่วนหนึ่งต้องทำหนังเอาไว้ฉายที่ต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่เรื่องมันเกี่ยวกับคนไทย น่าเสียดายที่พวกเราไม่ค่อยมีโอกาสได้รับชม 

น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาความเป็นจริงเกี่ยวกับสังคมและชีวิตผู้คนได้ครบด้านเพื่อนำมาถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชม แล้วก็มีน้อยคนมากที่สามารถเอาความชอบของตัวเองมาทำเป็นอาชีพผู้กำกับหนังสารคดีที่ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าร่ำรวย 

Loading next article...