ดินแดงหลังม่านแก๊ส

ภาพจำของดินแดงคงเปลี่ยนไปแล้ว 

พูดถึงดินแดงคนคงไม่ได้นึกถึง อนุสาวรีย์ชัยฯ, ทางด่วน Tollway, แฟลต, หรือ คำว่าสามเหลี่ยม แต่คงนึกถึงเหตุการณ์ปะทะที่แก๊สน้ำตาลอยฟุ้งซะมากกว่า

หลายคนพูดว่าการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีผู้เสียสละ แต่มันคงไม่ต้องมีผู้เสียสละเยอะขนาดนี้ ถ้าแก๊สน้ำตาไม่ได้ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่ออย่างที่ผ่าน ๆ มา

เสียงประทัด พลุ ระเบิดปิงปอง ระเบิดขวด เศษแก้ว กลิ่นควันแก๊สน้ำตา เศษลูกกระสุนยาง รถฉีดน้ำแรงดันสูง ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นภาพ Stereotype ของสงครามกลางเมือง การสลายการชุมนุม แบบที่พวกเราเคยเห็นในหนังได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ที่บริเวณแยกดินแดงที่รายล้อมไปด้วยที่พักอาศัย

เราเห็นการยั่วยุตำรวจควบคุมฝูงชนจากฝั่งผู้ชุมนุม (ซึ่งเข้าใจได้เพราะหลายคนก็จนตรอก) การขว้างปาวัตถุระเบิด ยิงลูกแก้ว หัวน็อต จุดไฟเผา ในขณะที่ฝั่งตำรวจคุมฝูงชนก็ขับรถไล่ล่า ยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง อย่างไม่เป็นตามหลักสากล ทำให้สถานการณ์ปะทะที่ดินแดงดูท่าจะไม่จบลงง่าย ๆ 

แอบกระซิบหน่อยว่าลูกบ้านแฟลตดินแดงก็เหมือนกับที่อื่น คือมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ลูกบ้านทุกคนบริเวณนั้นมีเหมือนกันก็คือ ‘ผลกระทบ’  จากทุกอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายเตรียมมาเพื่อปะทะ ไม่ว่าจากกระสุนยาง จากประกายไฟพลุหรือระเบิด รวมทั้งแก๊สน้ำตา

โดยเฉพาะ ‘แก๊สน้ำตา’ เป็นสิ่งที่จะไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ เพราะไม่ว่าลูกบ้านจะรักตำรวจหรือรักผู้ชุมนุมแค่ไหน ทุกคนกลับเกลียดแก๊สน้ำตาพอ ๆ กันทั้งนั้น

“ตำรวจก็มีมาตรการของเค้า แต่ตรงนี้มันเป็นแหล่งชุมชนที่ขายของกัน วันก่อนตกลงมาที่ร้านข้าวพอดี คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็มีเยอะ ทำไมคุณไม่ลงมาดูวะ ว่าตึกที่มันกำบังม็อบจากพวกคุณมีคนอาศัยอยู่นะ”

‘พี่ตั้ม’ ชาวแฟลตที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าพร้อมกับเปิดคลิปให้เราดู

ถึงจะมีการเคลมว่าแก๊สน้ำตาไม่มีผลในระยะยาว แต่ถ้ามีใครได้รับเข้าไปในปริมาณที่เข้มข้นก็ทำให้เกิดอันตรายได้อยู่ดี โดยเฉพาะในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือบริเวณที่มีตึกรามบ้านช่องตรอกซอกซอยที่ค่อยกำบังลม ทำให้แก๊สน้ำตาอยู่ได้นานขึ้น นี่ยังไม่นับว่ามีใครแจ็กพ็อตเป็นโรคหอบนอนอยู่บนห้องพักอยู่แล้วด้วยนะ

“แก๊สน้ำตาเนี่ย ตอนแรกผมก็ไม่เคยโดน แต่พอมาโดนแล้วแบบเฮ้ย มันอันตรายว่ะ แล้วถ้าคนมีอายุเค้าโดนแล้วมันจะเป็นไง? คุณยิงมามันลงพื้นจริง แต่ควันมันลอยไง”

“หน้าต่างมันเป็นบานเกล็ดเนี่ย แก๊สน้ำตามันก็เข้ามาได้ ตอนกลางคืนป้านั่งดูทีวี ถ้าแสบก็ลุกไปล้างหน้า หรือเอาน้ำมาขันนึงกับผ้า ก็เอาผ้าชุบน้ำแล้วปิดหน้าเอาไว้ ทำได้แค่นั้นแหละลูก” – ป้าแดง หนึ่งในลูกบ้านแฟลตดินแเดงบอกกับเรา

ด้วยวัย 80 ปี ทำให้ออกไปไหนไม่สะดวก แต่ป้าแดงก็ยังยิ้มแย้มพร้อมกับหยิบกล้องส่องทางไกลที่เอาไว้ส่องดูเหตุการณ์ภายนอกขึ้นมาอวด ถึงจะไม่ได้ออกไปดูใกล้ ๆ ได้แค่ส่องออกไปจากห้องให้พอเห็นเหตุการณ์บ้าง เพราะบางทีถึงมีเสียงดังเกิดขึ้นแต่ก็เดาไม่ออกว่าเป็นเสียงอะไร… บางอย่างทีวีก็ไม่ได้ถ่ายทอดสด

“เราอยู่คนเดียวมา 40-50 ปี จนชิน เราชอบชีวิตแบบนี้อะ ในนี้ก็สบายดี ถ้าจะดูข่าวก็เปิดทีวีดู อยากฟังเพลงก็มีเทปให้ฟัง แผ่นคอนเสิร์ตสุนทราภรณ์ก็มี คุ้มมาก ป้าดูไปหลายรอบแล้ว”

ถ้าเลือกได้ป้าแดงก็ไม่อยากย้ายออก แม้จะมีหลานชวนไปอยู่ด้วยหลายทีด้วยความเป็นห่วง แต่ป้าแดงไม่อยากไปเพราะกลัวไปแล้วกลายเป็นภาระคนอื่น แต่ถ้าแก๊สน้ำตายังไม่หยุดลอยเข้ามาทางบานเกล็ดหน้าต่างจนสุขภาพแย่กว่านี้ก็คงต้องยอม

ปัจจุบันหลายห้องในแฟลตก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป ที่เห็นได้ชัดคือบางห้องมีการเอาพลาสติกคลุมหน้าต่างไว้อีกที ปิดช่องพัดลมดูดอากาศ หรือบางห้องก็เอาผ้าชุบน้ำมาอุดที่ช่องด้านล่างประตู

หลายคนเป็นกังวลถึงเรื่องสุขภาพในระยะยาว สื่อเมืองนอกหลายแห่งก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนคือฮ่องกง  เพราะประชาชนที่นั่นเป็นโรคผิวหนังและโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นจากการยิงแก๊สน้ำตาไปเป็นหมื่นลูก ที่สำคัญมีนักข่าวแนวหน้าเป็นโรคผิวหนังเพราะถูกแก๊สน้ำตา (แบบ CS gas แบบเดียวกับที่ใช้ในไทยนี่แหละ) ถึงแม้ในขณะนี้ทางรัฐบาลฮ่องกงและไทยจะรับรองว่าไม่มีผลกระทบในระยะยาวก็ตาม…

*, ** 

ตามหลักการแล้วแก๊สน้ำตาไม่ใช่แก๊ส แต่เป็นผงสารเคมีที่เกิดการเผาไหม้ มีน้ำหนักมากกว่าอากาศ แก๊สน้ำตาจึงมักลอยต่ำ ทำให้เด็กที่ตัวไม่สูงได้รับมันในปริมาณที่มากกว่าผู้ใหญ่ นี่ยังไม่รวมหมาแมวหรือสัตว์เล็ก ๆ ด้วยนะ 

’บี๊บ’ คือหนึ่งในเด็กละแวกแฟลตดินแดงที่ได้เห็นภาพการชุมนุม การปะทะ และการสลายการชุมนุมในบัตรราคาแบบ Ringside ติดขอบเวทีคนนั้น 

***

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กตัวเล็ก ๆ จะต้องเติบโตมาท่ามกลางความรุนแรง การเล่นตามประสาเด็ก ๆ ก็เปลี่ยนจากวิ่งกับเพื่อนเป็นเดินหาเศษกระสุนยางแทน

ว่ากันว่าการเลี้ยงดูและสภาพสังคมตอนเด็กจะหล่อหลอมกลายเป็นนิสัยในวัยผู้ใหญ่ ตอนนี้เพิ่งเริ่มมีการปะทะได้ไม่นาน แต่ถ้าทุกอย่างยืดเยื้อ เรื่องความรุนแรงในเด็กก็คงเป็นเรื่องที่้ต้องตั้งคำถาม

… แบบนี้ไม่ต่างจากโตมาในสงครามการเมืองน่ะสิ ?

“แล้วเมื่อคืนเห็นอะไรบ้าง?”

“เห็นรถ… รถอะไรนะ? รถ… น้ำแรงดันสูงไล่ฉีดพวกประชาชนใช่มั้ย แล้วก็วิ่งตามตูด วิ่งตามตูดมาใช่มั้ยแล้วก็ยิง ปั้ง! ปั้ง! ปั้ง!”

“แล้วอยากไปแจมมั้ย?”

“ไม่ อยากอยู่ไกล ๆ จากเค้า เราเข้าไปใกล้มันก็เสี่ยง เพราะบางทีเค้าก็อยู่บนสะพานด้วย” 

“อยากลองปาระเบิด เล่นปะทัดปะ?”

“ไม่อะ หนูก็แค่อยากดูเฉย ๆ นั่นแหละ” –  เราโล่งใจที่อย่างน้อยตอนนี้บี๊บคิดได้และไม่ได้อยากรู้อยากลองไปซะทุกเรื่อง

บี๊บเดินคุยไปด้วย เก็บร่องรอยที่หลงเหลือจากการปะทะไปด้วย
และนี่คือผลประกอบการที่ได้จากบริเวณแฟลต 7 ถึงแฟลต 1

หลายคนก็ชินกับเหตุการณ์ตรงหน้า แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่ชิน รวมทั้ง ‘พี่แว่น’ คนนี้ด้วย

“ทุกวันนี้คนแถวนี้จะเป็นโรคประสาท หวาดระแวง เธอรู้มั้ยทุกวันนี้เวลามันยิง มันนอนไม่หลับเลย ไม่กล้านอน มันวิตกจริต ไม่รู้ว่าแก๊สน้ำตาจะลอยเข้ามาเมื่อไหร่ ถ้าวันนึงเรานอนหลับไปแล้วแก๊สน้ำตามันเข้ามาพอดีล่ะ?” – พี่แว่นอธิบายความรู้สึกให้เราฟังโดยมีเสียงปะทะดัง ห่างกันแค่กำแพงกั้น

พี่แว่นบอกว่าตัวเองเป็นไทรอยด์ ทำให้เหนื่อยง่ายมาก ยิ่งพอโดนแก๊สน้ำตาปุ๊บก็จะยิ่งหายใจไม่ออก เหมือนกำลังจะตาย ปกติคนเป็นโรคนี้ก็หลับยากอยู่แล้ว นี่ต้องมาระแวงแก๊สน้ำตาให้ไม่กล้าหลับไปอีก

“รัฐบาลบอกให้ Work From Home ให้ฉันอยู่บ้าน แล้วคุณยิงอะ แล้วคุณไม่ได้คิดสงสารเหรอว่าประชาคนเค้าจะไปอยู่ตรงไหน เอาเงินที่จะมาซื้อของยิงเด็กเนี่ย มาซื้อวัคซีนให้พวกเราเหอะ” – พี่แว่นทิ้งท้าย

นอกจากผลกระทบที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างบาดแผล อุบัติเหตุ การโดนรมควันแก๊สน้ำตา การปะทะกันที่ดินแดงยังมีผลกระทบอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นอีกมากมาย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะสุขภาพในระยะยาว

มันเป็นเรื่องยากที่จะพูดว่าใครผิดหรือถูก เพราะถึงชาวบ้านละแวกนั้นจะบ่นเรื่องแก๊สน้ำตามากกว่า (ก็มันหลบยากกว่าและคุมความเสียหายยากกว่าระเบิดปิงปองอะ) แต่เราก็เห็นชาวบ้านที่เชียร์ฝั่งผู้ชุมนุมตะโกนด่าผู้ชุมนุมเวลาปาระเบิดเสียงดังเหมือนกัน… ด่าไปด้วยเชียร์ไปด้วยนั่นแหละ

เราเชื่อว่าสุดท้ายที่ปลายทาง ปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ และประเทศไทยจะดีขึ้น แต่อย่าลืมว่าในกระบวนการแก้ปัญหา ระหว่างทางมันมีคนรอบข้างกำลังลำบาก (ถึงหลายคนจะเต็มใจก็เถอะ ฮ่า ๆๆๆ)

จะดีกว่าไหมถ้าเรามองแฟลตดินแดงเป็นชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่จริง ๆ มากกว่าจะเป็นแค่ภูมิประเทศที่บังสายตาผู้ชุมนุมจากตำรวจ ที่กำบังลมไม่ให้ลมพัดแก๊สน้ำตา หรือเป็นแค่ตึกที่เอาไว้ขึ้นไปหลบตำรวจ

จะว่าไปก็หายากนะ รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐที่เห็นประชาชนมาก่อนจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้ร้องขอหรือทวงถาม โดยเฉพาะเรื่องของสวัสดิการ คุณภาพชีวิต สาธารณสุขพื้นฐาน เพราะเท่าที่เรารู้มาตอนนี้คือมันแย่ในทุกมิติจริง ๆ 

หรือถ้ารู้สึกว่าเรา (ประชาชน) ขอมากไป ถ้างั้นก็ขอแค่ให้รับผิดชอบต่อการกระทำตัวเองก็พอ…

Loading next article...