Disposable Me: (กล้อง) ใช้แล้วทิ้ง: ครูดอย

[Disposable Me / (กล้อง) ใช้แล้วทิ้ง] เป็นซีรีส์ที่เอากล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งไปฝากให้คนแปลกหน้าถ่าย เพื่อเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเขา ที่แม้แต่เราเองก็อาจจะนึกไม่ถึง

Roll #06: [ครูดอย]

ชีวิตบนดอยมันแสนสงบ สโลว์ไลฟ์ ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงของชีวิตครูบนนั้นมันเป็นยังไง?

ถึงแม้จะเป็นปี 2021 แล้ว แต่ความสะดวกสบาย สวัสดิการ การศึกษาที่ได้มาตรฐาน และคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ยังแทบหาไม่ได้ในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ 

บ้านบนดอยมันก็อากาศดี (ไม่มี PM 2.5) อยู่หรอก แต่แค่นั้นมันพอจริง ๆ เหรอ?

‘บ้านบนดอยบ่มีแสงสี บ่มีทีวี บ่มีน้ำประปา ’ จากท่อนหนึ่งในเพลง บ้านบนดอย ของจรัล มโนเพ็ชร  ตั้งแต่ปี. 2526 อธิบายความเป็นไปบนยอดดอยเมื่อเกือบ ๆ 40 ปี ก่อนเอาไว้ในเพลงฮิตที่โด่งดังไปทั่วเมือง

แต่เกือบ 40 ปีให้หลัง ยังมี ‘บ้านบนดอย’ อีกหลายหลัง (หมู่บ้าน) ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา 

เราส่งกล้องไปให้ ‘แม็กซ์’ ครูดอยคนเดียวในชีวิตที่เรารู้จักให้ถ่ายภาพสิ่งที่เขาจากมุมมองครูประจำโรงเรียนในตำบลบ้านแม่หลองใต้ อำเภออมก๋อย ที่อยู่กลางหุบเขาลึกในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ต้องพูดถึงว่าไกลจากตัวเมืองแค่ไหน เอาเป็นว่าร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์ที่ใกล้ที่สุดห่างไป 4-5 ชั่วโมง

ถ้ามองแบบ ‘นักท่องเที่ยวสายคำคม’ ผู้เชี่ยวชาญการมองโลกในแง่ดีและไม่คิดมาก (Romanticize นั่นแหละ) แถวนั้นก็คงดูสงบน่าอยู่ไม่น้อย… เสียงสายลม สายฝน อากาศเย็น ๆ ไม่มีรถติด แต่ถ้ามองดี ๆ เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมผ่านมาเกือบ 40 ปี ปัญหาเหล่านี้ถึงยังไม่หมดไปอีกนะ…

แม็กซ์เล่าให้ฟังว่าเด็ก ๆ แถวนั้นเขาพูดภาษากะเหรี่ยงกัน ซึ่งทำให้แม็กซ์ที่พูดภาษาไทยรู้สึกกลายเป็นคนนอก จะสื่อสารกับนักเรียนก็ลำบาก เพราะภาษาไทยของเด็ก ๆ แถวนั้นยังไม่แข็งแรง ทำให้เด็กป.1-ป.3 จะได้เรียนแค่วิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์เท่านั้น…

 โห… ถ้าเราอยู่แถวนั้นคงซวย เพราะเราไม่ชอบเลขซักนิด นี่แปลว่าเราจะไม่ชอบ 50% ของบทเรียนสินะ แย่จัง

(ลืมเปิดแฟลชห้องจริง ๆ ไม่ได้มืดแบบนี้นะ)

“กำแพงภาษาเป็นปัญหาใหญ่ บางคนเข… อ่านไม่ออกเลย กว่าจะลงสระ กว่าจะ… ตัว… สะก… ลงวรรณยุ… กต์อะไรต่าง ๆ ได้ ก็ปาเข้าไปป.3แล้วค่ะ ทุกวันนี้หนูเน้น ป.1 2 3 นะ แจกลูกคำ สะกดคำ  ๆๆๆๆ” – แม็กซ์เล่าผ่านสัญญาณโทรศัพท์ที่ชัดบ้างซ่าบ้างตามประสาสัญญาณที่ส่งมาจากพื้นที่ห่างไกล

ขนาดคนเมืองที่อ่านออกเขียนได้ ก็มีหลายครั้งที่ยังถูกหลอก ไหนจะขบวนการ 18 มงกุฎ หลอกขอข้อมูลส่วนตัว หลอกให้โอนเงิน ไหนจะคนในครอบครัวหรือเพื่อนโกงกันเอง นับประสาอะไรกับคนที่อ่านภาษาไทยได้กระท่อนกระแท่น แม้จะต้องสอนในข้อจำกัดเยอะแยะ แต่สิ่งที่แม็กซ์กำลังทำมันคงทำให้คนดอยมีโอกาสเอาตัวรอดมากขึ้นบ้าง

ปัญหาที่ใหญ่พอ ๆ กันก็คือการขาดแคลนครู แต่แม็กซ์โตมาจากทางภาคเหนือ ก็เลยทำให้ไม่ต้องปรับตัวมากเท่ากับครูเมืองคนอื่น ๆ ซึ่งบางคนขึ้นมาได้2-3วันก็หนีหายไปเลย ยังไม่ทันทำเรื่องลาออกด้วยซ้ำ หรือบางคนที่ขึ้นมาแล้วร้องไห้เพราะปรับตัวไม่ได้

บนนั้นมีไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ที่ไม่รู้ว่าจะดับเมื่อไหร่ แต่ส่วนมากก็ดับช่วงกลางคืน ส่วนสัญญาณโทรศัพท์ที่ใกล้ที่สุดคือต้องเดินป่าขึ้นไปใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง

… ก็นะ แถวนั้นมันจะมีอะไรให้ทำเท่าไหร่เชียว เน็ตไม่มี จะนอนดู Netflix ก่อนนอนก็ไม่ได้ ติดต่อใครเขาก็ลำบาก ก่อนนอนคงจะได้ยินแต่เสียงแมลงต่าง ๆ กับเสียงลมเท่านั้นแหละ

เราไม่รู้ว่าระหว่างหาครูที่พูดกะเหรี่ยงมาสอนเลย หรือพัฒนาชุมชนให้เจริญมากขึ้นเพื่อที่ครูที่มาสอนจะได้ปรับตัวได้ อย่างไหนจะยากกว่ากัน… แต่ไม่ว่าจะทางไหนก็ไม่ง่ายแน่ ๆ

“บางทีเราอะอยากคุยกับเพื่อน หรืออยากคุยกับครอบครัวทางบ้านบ้างก็ทำไม่ได้เลยอะค่ะ เราต้องขึ้นดอยไปโทรศัพท์ พอขึ้นไปแล้วบางทีโทรหาเขาไม่ติดก็มีค่ะ… แบบเสียเที่ยว เดินไปตั้งไกล หรือมันก็ติด ๆ ดับ ๆ  แต่อย่างน้อยได้ยินเสียงก็โอเค” ประโยคสุดท้ายของแม็กซ์สั่นเล็กน้อย ไม่รู้ว่าเพราะสัญญาณหรืออะไร…

ห่างกันกับบ้านและครอบครัวแค่ภูเขากั้นไม่กี่ลูก… แต่ทำไมมันดูไกลจัง ไกลกว่าที่เราวีดีโอคอลล์หาที่บ้านจากญี่ปุ่นเยอะเลย

พูดถึงไกลบ้าน เด็ก ๆ ในหมู่บ้านข้างเคียงที่ไม่มีโรงเรียนก็จะเดินทางมาอยู่หอที่โรงเรียนนี้ ทำให้แม็กซ์ต้องตื่นมาตั้งแต่ตี 5 เพื่อทำอาหารให้เด็ก ๆ 6 โมงกว่า ๆ ก็กลับมาอาบน้ำ และกินข้าวเพื่อเตรียมเข้าแถวเคารพธงชาติตอน 8 โมง… เรียกว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว อืมมมม แต่เราก็ลืมถามนะว่าแล้วมีสวดมนต์กันมั้ย เพราะแถวนั้นเขานับถือผีกันน่ะสิ

แต่ล่าสุดเห็นว่าปลายเดือนที่แล้วมีวันหยุด เด็ก ๆ หมู่บ้านอื่นกลับบ้านกัน แต่พอโรงเรียนเปิดก็กลับมาเรียนไม่ได้เพราะมีน้ำป่าไหลหลาก

อยู่ตรงนั้นเหมือนควบทั้งงานสอนและงานพี่เลี้ยง ถึงจะไม่ได้มีเด็กทะเลาะอะไรกันแรง ๆ ให้ แต่ด้วยกำแพงภาษาทำให้มีเด็กหลายคนที่พูดแล้วไม่ตอบ ทำให้เป็นที่กังวลใจว่าเด็กมีปัญหาอะไรหรือกังวลอะไรหรือเปล่า ทำให้แม็กซ์ต้องคอยถามจากเพื่อน ๆ ของเด็กอีกที… 

แหม.. ฟังแล้วนึกถึงตอนตัวเองเด็ก ๆ เลยที่ครูฝรั่งคุยด้วยแล้วเราเอาแต่เงียบ ไม่กล้าคุยด้วย

เด็กที่นั่นบางคนก็กำพร้าพ่อบ้างกำพร้าแม่บ้าง แล้วบางทีในหมู่บ้านเขาอาจจะมีสิ่งเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง มีฝิ่น… ส่วนสุราบุหรี่มันก็เรื่องปกติ หรือลูกกลับบ้านไปก็มีทะเลาะมีปากเสียงกันให้ลูกเห็น ลูกก็กลัว… มันส่งผลต่อเด็กมากเหมือนกัน เพราะมันทำให้เด็กไม่กล้าคุยกับผู้ใหญ่คนอื่น

“เด็กเหมือนรู้สึกอายที่พ่อแม่เขาเป็นแบบนี้ แล้วครูก็มารู้เรื่องครอบครัวเขาจากเพื่อนเขาอีกที … ปัจจุบันเราก็เข้าไปในหมู่บ้านตลอดค่ะ เข้าไปหาครอบครัวนั้นครอบครัวนี้ เราก็จะรู้ค่ะว่าบ้านนั้นเป็นแบบนั้นบ้านนั้นเป็นแบบนี้ เรารู้หมด แต่เราพูดไม่ได้เฉย ๆ ค่ะ”

แม็กซ์บอกว่าหลาย ๆ ครั้งก็ต้องเป็นพยาบาลจำเป็นอีกด้วย ที่นั่นไม่ได้มียาแผนปัจจุบันพอสำหรับทุกคน มีพอแค่สำหรับเด็กในโรงเรียน แต่มีหลายครั้งที่แม็กซ์ต้องแบ่งเอายาจากโรงเรียนไปรักษาชาวบ้านด้วย “เมื่อคนแถวนั้นมีปัญหาเขามักจะมาหาครู” แต่ที่หนักสุดจนจำได้ขึ้นใจคือ

“เอ่อ… นิ้วขาดค่ะ”

“แล้วแม็กซ์ทำไงอะ?”

“เขาไปไร่ไปนามาด้วย เขากลับมาก็ตัดชายเสื้อตัวเอง พันนิ้วตัวเองไว้ นิ้วที่ขาดคือนิ้วกลางค่ะ ขาดไปครึ่งท่อนเลย กระดูกอะไรหลุดหมดเลย”

แม็กซ์ว่าตอนแรกที่เขามาหาเห็นเอาชายเสื้อพันนิ้วตัวเองไว้คิดว่าจะแค่โดนมีดบาด พอเข้ามาในห้องพยาบาลครูคนอื่นก็หลบให้ดู พอแกะแผลออกมาคือตกใจ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่ามือจับเชือกที่ล่ามควายไว้แล้วควายเกิดตกใจกับควายอีกตัวที่สวนมา วิ่งตกใจไปขวิดกับอะไรก็ไม่รู้จนทำให้เชือกรัดนิ้วจนขาด… ส่วนนิ้วอีกครึ่งท่อนที่หลุดไปเห็นว่าจุดไฟเผาไปแล้ว

“ดูจากกระดูกเขาแล้วแบบ… (แม็กซ์ถอนหายใจเฮือกใหญ่) โอ๊ย ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ คือมันหลุดไปแล้ว กระดูกอะไรก็หลุดไปหมดแล้ว เขาก็เผา… จบ เขาก็กลับมาแค่นิ้วที่ขาด ๆ รักษาเป็นเดือน ๆ ค่ะ ”

นอกจากนั้นก็มีช่วยหมอตำแยทำคลอด (?!!!!) หรือมีเด็กทารกไข้ขึ้น พวกครูก็ต้องรวมเงินค่ารถให้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แม็กซ์บอกซึ่งค่ารถไปกลับ 3,000 บาท เพราะทางมันลำบากและในหมู่บ้านมีรถแค่ 2 คัน

ส่วนโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก็ห่างไป 4-5 ชั่วโมง (รวมไป-กลับก็ 10 ชั่วโมง)  อืมมมมม… 4-5ชั่วโมงนี่เราขับรถจากกรุงเทพฯนี่เกือบถึงเขาค้อแล้วนะ…

 อ๋อลืมบอก ร้านสะดวกซื้อที่ใกล้ที่สุดก็ห่างไป 4-5 ชั่วโมงเหมือนกัน

“แล้วเงินเดือนพอใช้มั้ยอะแม็กซ์” – เราถามขึ้นมา เพราะเงินเดือนหลักพันของครูก็ต้องหักไปเป็นเงินช่วยชาวบ้านอีกไม่รู้เดือนละเท่าไหร่

แม็กซ์ขำ แต่คำตอบไม่ค่อยขำเท่าไหร่

“ทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีหนี้สินอะไรก็พอค่ะ แต่ถ้ามีหนี้สินด้วยก็ไม่พอแน่ ๆ เงินเดือนหลักพันทำงานหลักแสนค่ะ” 

“บางทีเราอยากช่วยเค้าแล้วเราช่วยไม่ได้ มันก็ท้อ กลับมาร้องไห้เลย ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย”

‘บ้านบนดอย’ อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่ต้องมีห้างสรรพสินค้าใหญ่ มีโรงหนัง ร้านเหล้า รถไฟฟ้า ร้านอาหาร Fine dining แต่อย่างน้อยถ้าบ้านบนดอยทุกแห่งมีทางสัญจร มีโรงเรียน มีโรงพยาบาลหรืออนามัย มีไฟฟ้า มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตก็คงจะดี เพราะพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี 

ถ้าถามเรานะ มันไม่ได้ผิดที่เขาไปเกิดบนดอย แต่มันผิดที่คุณภาพชีวิต “ดี ๆ” แบบในเมืองมันไปไม่ถึงที่นั่นมากกว่า…

Loading next article...