สร้างสรรค์เด็กกับครูข้างถนน

‘ครูข้างถนน’ ออกเดินพก ขนม ปลากระป๋อง ข้าวสุก สมุดวาดรูประบายสี โดมิโนแล้วก็บิงโก ไปตามถนนใน กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความไว้ใจและจุดประกายครอบครัวด้อยโอกาสให้มองเห็นความสำคัญของการศึกษา

ในหนึ่งวันที่เราเดินตาม ‘ครูพงษ์’ จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ทำให้เราเห็นว่า – สิ่งแรกของการศึกษาคือการเห็นความสำคัญในการศึกษา แต่เมื่อเด็กด้อยโอกาสไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้ เขาก็คงไม่มีวันรู้ว่าการศึกษาสำคัญขนาดไหน

เราลองตามครูกลุ่มนี้ทำงานมาวันนึง การศึกษาที่ถูกสื่อสารผ่านการให้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างความไว้ใจลดทอนความเหลื่อมล้ำระหว่าง ‘ครู’ และ ‘นักเรียน’ จะหน้าตาเป็นยังไง?

ใช้ข้างถนนเป็นที่ตากผ้า, ใช้ข้างถนนเป็นที่ออกกำลังกาย, ใช้ข้างถนนเป็นที่เก็บของเก่า หรือใช้ข้างถนนเป็นที่อยู่อาศัย 

เราเพิ่มฟังก์ชั่นให้ ‘ข้างถนน’ ต่างกันไปตามปัจจัยและต้นทุนที่แต่ละคนมีซึ่งแน่นอนว่า ‘ไม่เท่ากัน’ เช่นนี้ ‘มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก’ จึงเพิ่มฟังก์ชั่นการเป็นห้องเรียนให้กับ ‘ข้างถนน’ ทำให้บุคลากรบางส่วนของมูลนิธิมีหน้าหน้าที่หลักคือการเป็น ‘ครูข้างถนน’ 

‘ครูข้างถนน’ คือ โครงการที่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจะลงพื้นที่เพื่อติดตามเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาสให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เดิมทีโครงการนี้มีพื้นที่การทำงานครอบคลุมใน 5 ย่านสำคัญ ได้แก่ พัฒน์พงศ์, หัวลำโพง, สะพานพุทธ, จตุจักร และบางกะปิ

‘ครูพงษ์’ หรือ นาย ธนะรัตน์ ธาราภรณ์ คือหนึ่งในครูข้างถนนของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กและเป็นอดีตเด็กในความดูแลของมูลนิธิแห่งนี้

ครั้งหนึ่งครูพงษ์เป็นเด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบเพราะเงินของพ่อแม่ซึ่งเป็นแรงงานก่อสร้างนั้นมีไม่มากพอที่จะส่งเสียลูกทั้งสามคนให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จากเด็กในมูลนิธิที่ต้องเรียน กศน. (การศึกษานอกระบบ) เพราะโตเกินกว่าจะเข้าเรียนในห้องเรียนกับคนที่อายุน้อยกว่า ในช่วงที่เรียน กศน. ครูพงษ์ก็ติดตามลงพื้นที่ช่วยงานในฐานะครูผู้ช่วยครูข้างถนนอีกที จากการช่วยงานจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ นาย ธนรัตน์ ธาราภรณ์ ตัดสินใจเรียนต่อในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเพื่อสร้างความพร้อมในเส้นทางการเป็นครูอย่างเต็มรูปแบบ

เราพยายามจินตนาการภาพของการเป็นครูเคลื่อนที่ที่พร้อมสำหรับเด็กทุกช่วงวัย ถ้าเป็นแบบที่คิดตามกรอบของครูที่สอนอยู่ในโรงเรียน ภาพที่ออกมาคงจะเป็นครูพงษ์หอบกระเป๋าหลายใบและในกระเป๋าแต่ละใบก็จะมีหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาอยู่นับสิบกิโลกรัม

แต่เปล่าเลย ครูพงษ์มีกระเป๋าเป้สะพายหลังแค่ใบเดียวและในนั้นก็มีนม ขนม ปลากระป๋อง ข้าวสุก สมุดวาดรูประบายสี โดมิโนแล้วก็บิงโก

“เค้าเรียกสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็กเพราะเด็กบางคนไม่รู้จักเรา เฮ้ย ครูจริงหรอ เราก็มีอุปกรณ์ให้เค้าเล่น มีนมให้เค้ากิน โอเค เค้าไม่สนิทใจกับเราไม่เป็นไรแต่วันรุ่งขึ้นเราไปอีกเด็กก็ต้องสงสัยแล้ว เฮ้ย ทำไมครูคนนี้มาทุกวันแล้วมาก็มาปูเสื่อนั่ง สุดท้ายมันก็สร้างความคุ้นเคยให้กับเค้า”

การเดินทางของโครงการครูข้างถนนตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้มี ‘ครูข้างถนน’ เกิดขึ้นทั่วประเทศทั้งที่สังกัดหน่วยงานรัฐ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ( กทม., เทศบาล, อบต. ), กศน. และหน่วยงานเอกชน เช่น บ้านครูจา พัทยา จ.ชลบุรี, บ้านลูกรัก จ.ขอนแก่น และ บ้านครูน้ำ จ.เชียงราย เป็นต้น

“ของเราเนี่ยเป็นองค์กรแรกที่ทำเรื่องครูข้างถนน เราเห็นว่าเด็กเร่ร่อนมักจะไหลมา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง เราก็เลยพยายามผลักดันหน่วยงานรัฐ เครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน เราก็ไปเอาครู กศน.ก่อนให้เค้าจัดตั้งครูเร่ร่อนขึ้นมาทุกจังหวัดเพื่อค้นหาเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาส แล้วเอาพวกเค้าเข้าระบบการ
ศึกษา

มันก็โชคดีที่เราได้มีโอกาสผลักดันร่วมกับท้องถิ่น ก็เลยเกิดครูเทศบาลท้องถิ่น(ข้างถนน)เพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนทุกจังหวัดด้วย เราจึงมีเครือข่ายอยู่ทุกจังหวัดแล้วปลายทาง กรุงเทพฯ เด็กก็ถูกสกัดโดยครูเหล่านี้ที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ”

เด็กเร่ร่อนอาจต้องทำงานผิดกฎหมายเพื่อให้มีเงินใช้และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นโดนตำรวจจับ ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจึงร่วมมือกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจผ่านหลักสูตร ‘นักเรียนนายร้อยตำรวจสัมผัสปัญหาชุมชน’ โดยการพานักเรียนนายร้อยไปลงพื้นที่ให้เห็นการทำงานของมูลนิธิและเข้าใจสภาพปัญหาจริงของเด็กเร่
ร่อน อย่างน้อยในวันที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกับเด็กเร่ร่อน ตำรวจจะได้มีทางเลือกมากกว่าส่งพวกเขาไปอยู่สถานพินิจ

“ก่อนจะจบหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ เค้าจะต้องมาสัมผัสปัญหาชุมชนซะก่อน เพราะการเป็นตำรวจทำให้ต้องเจอคนในชุมชนหรือคนด้อยโอกาสเพิ่มมากขึ้น บางทีเค้าไม่รู้หรอกว่าเด็กเร่ร่อนคืออะไรปัญหาคืออะไร บางทีจับปุ๊บทำคดีส่งฟ้องเด็กก็เข้าสถานพินิจ

แต่พอเค้าได้มารู้ว่าปัญหาเด็กเร่ร่อนคืออะไรเกิดจากอะไร ดมกาวสารระเหยมันไม่จำเป็นต้องมียาบำบัดมันแค่ต้องมีสถานที่บำบัดเค้าก็มาบอกผมว่า ครู ผมเจอเด็กครูนะ ก็มาส่งให้เราทำให้เด็กไม่ต้องเข้าสถานพินิจไม่ต้องบอบช้ำ ไม่ใช่ว่าอะไรก็เข้าสถานพินิจเข้าห้องขังเข้าคุกเข้าอะไรอย่างเงี้ย เนี่ยเป็นโครงการที่ดีมากเลย”

แม้ว่าครูพงษ์จะทำงานร่วมกับรัฐมาเยอะแต่วิธีการสุดท้ายที่ครูพงษ์จะหยิบมาใช้เพื่อให้เด็กได้ไปอยู่ใน
ความดูแลของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กก็คือ การยืมเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น นาย, ปลัดอำเภอ, เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และตำรวจให้ไปพูดคุยโน้มน้าวผู้ปกครองเพื่อยินยอมให้เด็กในปกครองของตนมาอยู่อาศัยใช้ชีวิตในความดูแลของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กแห่งนี้แทน

ผ่านการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก (พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546) ที่ระบุชัดเจนใน ‘หมวด 2 การปฏิบัติต่อเด็ก’ เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ให้นึกถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

“มันก็ต้องมีกลวิธีเพราะประโยชน์ของเด็กสูงสุดที่สุด ให้เด็กได้รับการศึกษา ได้รับสวัสดิการ ได้รับโอกาสที่ดีที่สุดแค่นั้นเองเราไม่ได้คิดไรเลย วันไหนที่ผู้ปกครองพร้อมปุ๊บเราก็ให้รับลูกกลับไปเลย แล้วอีกอย่างนึงเราการันตีได้เพราะเราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กจนโตเรารู้ไง ระบบเป็นอะไรยังไงเรารู้”

ครูพงษ์ย้ำให้เราเห็นสาเหตุของการทำงานร่วมกันกับภาครัฐว่าเป็นเพราะต้องการให้เด็กด้อยโอกาสหรือ
เด็กเร่ร่อนได้รับการศึกษาอย่างเร่งด่วนที่สุด

“งานครูข้างถนนคืองานเชิงรุกที่ลงไปช่วยให้ไวที่สุดเพื่อให้เด็กพ้นจากความลำบาก ยากเข็ญที่เค้าเจอให้ไวที่สุดแค่นั้นแหละ”

เราถามครูพงษ์ว่าครูข้างถนนสั่งการบ้านมั้ย ครูพงษ์ตอบทันทีว่าการบ้านเดียวที่ครูสั่งคือให้เด็กจำเบอร์โทรครูไว้เผื่อติดต่อในกรณีฉุกเฉิน

ซึ่งมันก็เวิร์กจริง ๆ เพราะมีอยู่วันหนึ่งเด็กเร่ร่อนที่ถูกแทงจนไส้ทะลักโทรมาหาครูพงษ์ให้ไปเซ็นใบรับรองการผ่าตัดให้เค้า การรักษาผ่านไปได้ด้วยดี จากที่ตอนแรกตั้งใจจะมาอยู่ที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเพื่อพักฟื้นชั่วคราว สุดท้ายเค้าก็ติดสังคมที่มูลนิธิ ได้เข้าเรียนในระบบ และไม่ออกไปเร่ร่อนอีกเลย

“ผมยอมรับเลยว่าการศึกษามันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้หนึ่งคน ผมยกตัวอย่างอย่างผมเนี่ยถ้าเกิดผมไม่มีการศึกษาผมอ่านหนังสือไม่ออก ผมก็ไม่ได้มานั่งอยู่อย่างนี้หรอกครับ แต่นี่การศึกษาช่วยผมระดับนึงไงเพื่อให้ผมได้คิดได้

ถามว่าตอนเด็ก ๆ ผมอยู่ที่มูลนิธิเป็นเด็กอะผมสร้างปัญหาให้ที่นี่ตั้งเท่าไหร่ ผมออกไปขโมยจักรยานที่สถานีรถไฟหลักสี่มาแปลงแล้วก็เอามาเป็นของตัวเอง แต่พอผมเข้าไปในระบบการศึกษาปุ๊บ ได้เรียน กศน. วันอาทิตย์ไปพบเพื่อนพบครู มันก็ทำให้เราได้คิดว่าอะไรผิดอะไรถูก นี่ไงผมถึงบอกว่าการศึกษามันสำคัญ”

“ถ้าไม่มีมูลนิธิเราก็คงไม่มีครูพงษ์ในวันนี้ ผมก็คงจะมีลูกมีเมียอิเหละเขะขะเมาไปเรื่อยเหมือนพี่น้องผมที่เคยเป็น แต่มูลนิธิก็ส่งเสียให้ผมได้เรียนหนังสือ ได้ให้โอกาสหลาย ๆ อย่างกับผม สำหรับผมผมก็คิดว่าเรื่องที่จะตอบแทนได้ก็คือกายและใจที่เราต้องทำงานตอบแทนมูลนิธิที่นี่”

แม้กลุ่มเป้าหมายหลักที่ครูพงษ์เข้าไปคุยด้วยในทุกวันนี้จะเปลี่ยนจากเด็กเร่ร่อนเป็นผู้ปกครองของเด็ก
ด้อยโอกาส แต่ถึงอย่างนั้นครูพงษ์ก็ยังยึดเรื่องการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลักสำคัญในการทำงานอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่ารู้จักกันดีแล้วผู้ปกครองของเด็กจะให้ความร่วมมือเสมอไป

อย่างเช่นเคสที่ครูพงษ์พาเราไปเจอ เคสนี้เป็นครอบครัวอยู่กัน 5 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน และน้าของเด็ก ทั้งห้าคนอยู่ในเพิงพักชั่วคราวบนที่ดินร้างริมแอ่งน้ำขังแห่งหนึ่งใน กรุงเทพมหานครซึ่งไม่มีน้ำประปาและ
ไฟฟ้า ทุกคนในครอบครัวหาเลี้ยงชีพด้วยการตระเวนเก็บของเก่าขาย ครูพงษ์เจอและติดตามให้ความช่วยเหลือครอบครัวนี้มา 2 ปีแล้ว

“นี่หลังจากที่ผมแนะนำเรื่องสุขลักษณะไปบ้านเค้าก็สะอาด เป็นระเบียบขึ้นนะครับ ก็ได้เท่าเนี้ย มันจะมากกว่านี้ก็ไม่ได้แล้วเพราะที่ที่เค้าอยู่มันไม่ใช่ที่ของเค้าเอง ไปอยู่กับเราเด็กก็สะอาดสะอ้านแต่งตัวดี มีข้าวกินทุกวันไม่ได้มาอยู่ตากแดดตากลมอย่างงี้” ครูพงษ์บ่นพรึมพรำหลังจากที่แง้มประตูเข้าไปดู และไม่มีเสียงตอบรับจากปลายทาง

เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ไม่มีเสียงตอบรับจากพ่อแม่เรื่องที่จะอนุญาตให้ลูกของตนเองไปอยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อจะได้เข้าเรียนตามสิทธิที่เด็กควรจะได้รับ แม้จะเข้าใจดีในเรื่องความเป็นห่วงของพ่อแม่ที่จะต้องอยู่ห่างไกลจากลูก แต่ครูพงษ์ก็ยังอดเสียดายไม่ได้ที่เด็กจะเสียโอกาสดี ๆ ในชีวิตไป

“พ่อแม่ก็รักลูกทุกคนแหละแต่เราก็ต้องดูว่ารักเนี่ยมันต้องรักให้ถูกไง”

“ผู้ปกครองสำคัญที่สุด ถ้าเกิดพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา พ่อแม่ได้รับการศึกษามามาก่อนเงี้ย ลูกก็ต้องได้รับการศึกษา อะอย่างผม ผมมีลูกผมรู้เลยการศึกษาสำคัญมาก”

มาถึงตรงนี้สิ่งที่เราเห็นชัดที่สุดก็คือในก้อนของคำว่า ‘การศึกษา’ นั้นมีอะไรมากกว่าแค่การได้เข้าเรียนในระบบแล้วก็จบ เพราะมันยังมีครอบครัว มีสวัสดิการ มีบัตรประชาชน สัญชาติ นู่นนี่นั่นยิบย่อยอีกเต็มไปหมด

เพราะการตระเวนตามพื้นที่ร้างเพื่อติดตามหาครอบครัวที่ลำบากและพาเด็กมาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อให้ได้เข้าเรียนในระบบนั้นคือการดำเนินการเรื่องขอรับสิทธิผู้พิการ – ผู้สูงอายุ สิทธิ์สามสิบบาทรักษาทุกโรค ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พาไปทำบัตรประชาชน หรือแม้กระทั่งการพาไปแจ้งเกิด บางเคสที่ใช้เวลานานหลายปีก็เพราะหมดไปกับการพิสูจน์สัญชาติและทำเรื่องยื่นขอสัญชาติไทย

ครูพงษ์บอกกับเราว่าวิชาทักษะชีวิตที่ครูข้างถนนสอนนั้นเทียบไม่ได้เลยกับการได้รับการศึกษาในระบบ
เพราะการไปเรียนทำให้ได้เจอครู เจอเพื่อน เจอสังคมที่จะเปิดโอกาสและโลกใหม่ ๆ ให้กับเด็กได้มากกว่าข้างถนนหรือพื้นที่ร้างและชุมชนตกสำรวจ

ครูพงษ์ยกตัวอย่างของอดีตเด็กในมูลนิธิที่เมื่อก่อนอยู่กับครอบครัวที่มีอาชีพเก็บของเก่าและอาศัยนอนริมทางรถไฟว่าหลังจากที่เธอได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่มูลนิธิแล้ว เธอตัดสินใจไม่กลับไปที่บ้านหลังเก่าอีกโดยเธอให้
เหตุผลว่าไม่อยากกลับไปอาบน้ำในพื้นที่โล่งกลางแจ้งอีกแล้ว

“มันไม่มีใครอยากกลับไปแย่เหมือนเดิมหรอก ผมเองก็เหมือนกัน เนี่ยผมจบแล้วผมทำงานนี่แล้วถามว่าให้ผมกลับไปอยู่แถวบ้านผมก็ไม่เอา ผมสร้างบ้านให้พ่อแม่อยู่ได้ แต่ถ้าให้ผมกลับไปก็ไม่เอาเพราะสภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อ ถ้าอยู่แล้วเดี๋ยวก็ โหหหห ชาวบ้านก็ด่ากันเมากันทะเลาะกัน เรื่องยามั่งอะไรมั่ง อยู่ไม่ได้อะ”

“ผมถึงบอกว่าการศึกษามันสำคัญไง มันทำให้เค้าเปลี่ยนแปลงชีวิตเค้าได้จากบางคนทำงานก่อสร้างแต่พอได้เรียนปุ๊บมันมีไอเดียและมีความคิดที่กว้างกว่าคนอื่นเค้า

ถามว่างานก่อสร้างเรารู้อย่างเดียว ผูกเหล็ก ตอกตะปู เทปูน ใช่มั้ยฮะ แต่ถามเฮ้ยเราเรียนมาเราคำนวณเป็น เสาต้องกี่เมตร หลังคาต้องเท่าไหร่ พื้นที่นี้เสาต้องกี่ต้น เฮ้ย เราเป็นผู้รับเหมาได้นี่หว่าเพราะเราจบปริญญาตรีมาถูกต้องมั้ย เราก็ยกฐานะตัวเองไปเป็นผู้รับเหมาได้” ครูพงษ์เล่าย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและจริงจัง

อีกสองคำที่อยู่ในก้อนของคำว่า ‘การศึกษา’ ที่ครูพงษ์บอกเราเป็นนัยมาตลอดก็คือ ‘สังคมและโอกาส’
ที่การศึกษาจะช่วยยกระดับความคิดและชีวิตคน ๆ หนึ่งได้

ครูพงษ์ไม่ได้เล่าให้เราฟังว่าสุดท้ายแล้วอดีตเด็กเร่ร่อนหัวลำโพงกับเด็กด้อยโอกาสที่อาศัยนอนริมทางรถไฟมีทิศทางการใช้ชีวิตอย่างไร เขาและเธอได้เรียนถึงระดับไหน ประกอบอาชีพอะไร หรือมีกินมีใช้ขนาดไหน

ในขณะที่คนในสังคมถกกันเรื่อง ‘เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน’ แต่กลับมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่รู้จะเอาประสบการณ์ที่ไหนมาถกเพราะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ

Loading next article...