เรือนไทยใครว่ามีผี​ ? ​

บ้านทรงไทย ฟังก์ชัน (function) ไม่ตรงใจ ไม่ตรงค่านิยมเรา หรือ พวกเราแค่ติดภาพหนังผีกลัวกันไปหมด​ ?

พี่ต้อย ช่างอยุธยารุ่น 4 อยู่กับเรือนไทยมาตั้งแต่เกิด สร้างวัดมาเกินร้อยหลัง สร้างเรือนไทย สร้างกุฏิ มาตลอดชีวิต ยืนยันไม่เคยเห็นผี 

จริง ๆ แล้วเรือนไทยอยู่ยาก หรือเราไม่รู้วิธีอยู่กับมันให้ถูกต้องกันแน่ แค่เข้าใจอากาศ สิ่งแวดล้อม และค่านิยมคนไทยโบราณก็อยู่ได้สบาย นอกจากซื้อคอนโด บ้านสไตล์ร่วมสมัย เรือนไทยคืออีกทางเลือกของที่อยู่อาศัยที่น่าจับตามอง ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่มีฝันอยากอาศัยอยู่ใน บ้านทรงไทย ?

เหตุผลที่ตั้งใจมาวันนี้เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความไม่ป็อปของเรือนไทย ว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ป็อปเพราะมีผีหรือเพราะฟังก์ชันไม่ตอบโจทย์กันแน่ 

เราลองต่อสายโทรถามผู้รับเหมาสร้างเรือนไทยอยุธยา เกี่ยวกับกระแสที่ลดลงของการสร้างเรือนไทยและการมีอยู่ของผี

“ใครบอกว่าบ้านไทยไม่นิยมแล้ว ลูกค้าผมมีตลอด ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ ยังวิ่งงานทั่วประเทศ” 

เอ่อ.. แล้วผีละคะ คนไม่กลัวหรอ 

“ผีอะไร ใครบอก”

วันนี้นัดกับช่างสร้างเรือนไทยอยุธยารุ่น 4  นั้นคือบ้านของครอบครัวช่างต้อย อยู่ติดกับถนนสายเอเซีย ถ้าขับรถผ่านอำเภอโพธิ์สามต้น ก่อนถึงตัวเมืองอยุธยาจะเห็นบ้านไทยตั้งสง่าอยู่ริมถนน ทันทีที่เลี้ยวรถผ่านเข้าไปในรั้วบ้าน เราสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความร่มเย็นและความลึกลับของเรือนไทย

พี่ต้อยพาเราเดินชมภายในเรือนไทยที่สร้างไว้สำหรับครอบครัว ทันทีที่เปิดประตูเข้ามาเราเห็นผ้าสีพันอยู่รอบเสา…ในใจเริ่มคิดว่าบ้านคนทำไมต้องพันผ้าสี ไม่ได้เอาไว้สำหรับศาลพระภูมิหรอ เห็นแบบนี้แล้วดูเฮี้ยนชอบกล  

พ่อของพี่ต้อย ช่างสมหมาย ช่างอยุธยารุ่นสามอาศัยอยู่ชั้นล่าง ส่วนบริเวณที่เรากำลังชมอยู่นี้คือชั้นสองสร้างไว้เป็นสถานที่พักผ่อน ห้องพระ และห้องเก็บของเพื่อรำลึกถึงแม่ผู้ล่วงลับ

“เข้ามานี่กลัวผีมั้ยอะ เห็นแบบนี้ยังกลัวอยู่เปล่า” พี่ต้อยถาม

“ตอนนี้ไม่กลัวนะคะ แต่อย่าปล่อยหนูไว้ในนี้คนเดียวก็พอ ฮ่า ๆ ๆ” เราตอบไปพร้อมเดินสำรวจรอบเรือน 

ทุกครั้งก่อนสร้างบ้าน ผู้รับเหมาจะทำการไหว้เจ้าที่ ผูกผ้าสีตรงเสาเอก เสาโท และขื่อบ้านก่อนเริ่มงานเสมอ การไหว้เป็นวัฒนธรรมและความเชื่อ พี่ต้อยเล่าให้ฟังว่าไม่เคยมีครั้งไหนไม่ไหว้เลย และการไหว้ก็ยิ่งทำให้พี่ต้อยได้งานอยู่เรื่อย ๆ 

“เออไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน ถึงต้องผูกผ้าสี มันก็เป็นเคล็ดอะเนอะ จะสร้างบ้านทุกครั้งเราต้องดูฤกษ์ดูยาม บอกเจ้าที่เจ้าทาง แล้วก็ต้องเคารพเสาเอกเสาโท ไอ้ที่เค้าว่ากันว่าเสาตกน้ำมันก็เสาเอกเสาโทนี่แหละ ถ้าเห็นก็เฮี้ยนเหมือนกันอะนะ พี่เห็นพี่ก็คงเฮี้ยนเหมือนกัน แต่ตั้งแต่สร้างบ้านมาทั้งชีวิตพี่ไม่เคยเห็นเลยนะ” 

เรื่องเสาตกน้ำมัน พี่ต้อยอธิบายว่ามันเกิดบ่อยสมัยก่อนเพราะไม้ตะเคียนมีน้ำมันอยู่ในไม้เยอะมาก ส่วนพวกไม้สัก หรือไม้ชนิดอื่นจะไม่มีน้ำมัน ถ้ามีก็น้อยมาก แล้วหนังผีหรือคนที่มีความเชื่อก็จะเอามาเล่าเรื่องเพื่อถ่ายแต่งสีภาพทำให้ดูหลอนเพิ่มขึ้น

ภาพจำที่เคยมีสมัยเด็กคือผีจากหนังเรื่องนางนาก เพราะมีฉากในหนังที่แต่งสีให้ดูมืด ๆ ลึกลับ หลอน ๆ เลยทำให้ตั้งแต่เล็กจนโต ความกลัวผี กับบ้านไทยติดอยู่ในหัวมาตลอด กลายเป็นทำให้เราห่างไกลจากศิลปะของเรือนไทยไปซะอย่างงั้น

พอดึงความสว่างลง เรือนไทยจะดูเหมือนหนังผีขึ้นมาทันที พี่ต้อยเล่าต่อว่าห้องนี้เอาไว้เก็บของที่แม่พี่ต้อยเคยใช้ มันเลยฟังดูน่ากลัวขึ้นอีกหลายเท่า พออธิบายต่อว่าฝาห้องทำเอง แกะสลักด้วยช่างรุ่นเก่าแก่ของอยุธยา เราเริ่มสนใจมันขึ้นมาอีกครั้ง 

เราลองเคาะผนังไม้เพื่อทดสอบความแข็งแรง เคยได้ยินว่าบ้านไทยฝาบาง พูดแล้วได้ยินกันทั้งบ้าน ไม่น่าอยู่ แต่สำหรับเรือนไม้หลังนี้ไม่ใช่อย่างที่คิด เรือนไทยหลังนี้ถูกปรับให้ใช้ไม้แผ่นหนามากขึ้น อย่างบ้านหลังนี้ทำจากไม้สัก ปัญหาเรื่องเสียงจึงไม่เคยมี พื้นก็เช่นกัน เราลงส้นไปเต็มที่ กลับไม่ได้ยินเสียงแกร๊กก… สักนิด 

ห้องเก็บความทรงจำของแม่อันเป็นที่รักของพี่ต้อย ถูกจัดอยู่มุมขวาสุดของเรือน มีอากาศถ่ายเทตลอดวัน เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นทำเองอย่างเอาใจใส่ เราสังเกตพี่ต้อยชื่นชมทุกส่วนของบ้านอย่างใกล้ชิด เรือนไทยหลังนี้เต็มไปด้วยความรักและความทรงจำ 

อันที่จริง จะไม้เก่าไม้ใหม่ก็แล้วแต่ความเชื่อเรื่องผี ภายในบ้านหลังนี้ตกแต่งตามแบบแปลนของบ้านไทยโบราณทุกส่วน ถึงแม้จะมีห้องน้ำในตัว ก็มีการถือเคล็ดแปะป้ายว่า ‘ห้องเก็บเพชรพลอย เงิน ทอง ห้ามเปิด’ 

“เหมือนกับพวกท้ายรถที่แปะว่ารถคันนี้สีแดง อันนี้หลักการเดียวกัน ห้องน้ำมันเป็นของไม่ดี แม่เค้าแปะไว้ตั้งแต่ทำบ้านหลังนี้มาเลย ไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มันเป็นเคล็ด มันเป็นเคล็ดเข้าใจปะ” พี่ต้อยอธิบาย  

การจัดวางฟลอร์แปลนเรือนไทยโบราณ เริ่มวางแผนจากความเชื่อคนไทยสมัยเก่า เราสังเกตว่ามีการถือเคล็ดทั้งหน้าห้องน้ำ การพันผ้าสีบนเสาเอก เสาโท ขื่อ หรือแม้แต่การวางทิศของแต่ละห้องก็คำนวนตามหลักธรรมชาติและความเชื่อ อย่างศาลพระภูมิ ไม่ควรหันหน้าตรงกับบ้าน ห้องนอนไม่ควรหันศรีษะทางทิศตะวันตก หรือ ทิศใต้

เราสัมผัสได้ถึงปริมาณลมที่พัดมาอย่างไม่ขาดสาย เรือนไทยลมดีกว่าบ้านเรามาก จะว่าไปบ้านไทยเค้าออกแบบมาให้เหมาะกับอากาศที่นี่นะ พวกบ้านตะวันตกไม่ระบายลม เลยต้องเปิดแอร์ทุกวัน 

“เพราะอะไรรู้เปล่ามันถึงเย็น เพราะรูระบายอากาศสองทาง แล้วก็จั่ว (โครงหลังคา) ที่สร้างเอนให้ลมพัดเข้ามาในนี้ง่ายขึ้น เห็นปะว่ามันต่างจากบ้านฝรั่ง เพราะเค้าสร้างผนังสี่เหลี่ยมกับหลังคาเตี้ย ลมมันไม่ค่อยเข้า ส่วนบ้านไทยจะปลายแหลม” 

เราว่าความน่ากลัวเกิดจากการตกแต่งภายในที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ ดูแข็งและทึบ เลยไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ที่ชอบความโล่ง และห้องสีโทนอ่อน ส่วนในหนังก็ชอบเอาผีห้อยลงมาจากขื่อ ขณะที่บ้านสมัยใหม่มีฝ้าปิดไว้ทำให้ดูเรียบร้อยมากขึ้น 

เรือนไทยในความเป็นจริง ไม่เก่าผุพังอย่างในหนังผี เราประทับใจการออกแบบโครงสร้างให้รับลมได้ตลอดวัน ไม่น่าเชื่อเลยว่าบ้านจะน่านั่งเล่นขนาดนี้ พอเริ่มเข้าใจแบบนี้แล้ว เราเริ่มฝันอยากมีเรือนไทยไว้สักหลัง

ในรั้วเดียวกัน มีโรงงานไม้ของช่างต้อยตั้งอยู่ เราเดินชมบรรดาไม้เก่า ไม้ใหม่ เพื่อเตรียมงานสำหรับลูกค้า และอีกส่วนช่างต้อยก็กำลังวางแผนทำรีสอร์ทเรือนไทยติดกับบ้านและศูนย์การเรียนรู้เรื่องศิลปะเรือนไทยเพิ่มอีกหลัง 

“พวกนี้คือไม้เก่า เพิ่งไปแยกมาจากบ้านลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นบ้านของบรรพบุรุษเค้าให้เราแยกส่วนเพราะจะเอามาสร้างเป็นบ้านหลังใหม่ เนี่ยไม้เก่าทั้งนั้น ยังไม่ผุเลยเห็นปะ แล้วเห็นปะละว่าผีซ่อนอยู่ตรงไหน อะ ลองหาดู” 

กลางวันแสก ๆ ไม่น่าจะมีผีมั้งคะพี่.. เราเริ่มสนใจความสวยงามทนทานของจำนวนไม้มหาศาลในโรงไม้หลังนี้มากกว่าผีซะแล้ว

ภาพวาดบนพื้นโรงงาน คือแบบฝาปะกน เอาไว้ติดเป็นฝาเรือนไทย สมัยก่อนมีลายเดียวเป็นลายโบราณที่ไม่ค่อยนิยมสมัยนี้เพราะทำจากไม้ชิ้นเล็ก ผุง่าย และ ต้องใช้ไม้มาสร้างลายมากกว่า ทำให้มีต้นทุนสูง ส่วนในภาพคือแบบฝาปะกนสมัยใหม่ พี่ต้อยเลือกใช้ไม้สักเพื่อความทนทาน และสร้างลายให้น้อยลงเพื่อประหยัดงบประมาณ 

“ถ้าคนรุ่นใหม่จะซื้อบ้านไทยจริง ๆ ก็แล้วแต่งบนะ หลังละล้านบาทก็มีอยู่ได้สบาย อย่างบ้านหลังนี้ก็ไม่กี่ล้านนะ  แต่มันเปลืองค่าที่ดินไง ถ้าบ้านไหนไม่มีที่ดินเค้าก็จะไม่นิยมกัน แต่ลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มที่มีที่ดินอยู่แล้ว แล้วก็ไปเอาไม้ที่ได้จากบ้านบรรพบุรุษมาให้เราสร้างใหม่ 

ส่วนผีเนี่ย เค้าว่ากันว่าจะตามมาจากบ้านเก่า แต่ถ้าแยกชิ้นออกมาแบบนี้แล้วไม่มีผีละ เออ แต่เคยมีบ้านลูกค้าหลังนึง ทำจากไม้ใหม่ แต่เค้าอยู่ไม่ได้ เค้าว่าบ้านนี้มีของเลยมาฝากเราขายต่อ” 

พี่ต้อยพูดเสมอว่าไม่เคยเห็นผี แต่ไม่เคยลบหลู่สิ่งที่มองไม่เห็น เรากับพี่ต้อยเห็นตรงกันว่าไม่ว่าจะเรือนไทยหรือบ้านสมัยใหม่ถ้าผู้นั้นยืนยันจะเชื่อเรื่องผีหรือเรื่องเจ้าที่แรง จะย้ายไปไหนก็ต้องเจออยู่ดี เราเลยว่าเรือนไทยถ้าอยู่ให้สงบร่มเย็นก็ทำได้ แบบที่พี่ต้อยพยายามพิสูจน์ให้เราเห็นตลอดวัน

เรือนไทยหลังใหม่กำลังสร้างติดกับโรงงาน ทุกการออกแบบทำตามแปลนโบราณ ที่เพิ่มเติมคือยกฝ้าสูงเพิ่มความโปร่ง และใช้ไม้สักสีอ่อนเพิ่มความทันสมัย 

“เอาเป็นว่าความเชื่อเรื่องผีและเรือนไทยอยุธยาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผมไม่ปฏิเสธว่ามันไม่มีแล้วกัน บางอย่างที่เรามองไม่เห็นไม่ได้แปลว่ามันไม่มี” 

พี่ต้อยตอบในฐานะช่างปลูกเรือนไทยมานานกว่า 30 ปี ที่สืบทอดวิชามาจากช่างสมหมายผู้เป็นพ่อ ครอบครัวนี้สร้างเรือนไทยมาเกินร้อยหลัง ทั้งวัดดังอย่างวัดพนัญเชิง จังหวัดอยุธยา หรือว่าจะเป็นศาลาเฉลิมพระเกียรติก็สร้างมาหมดแล้ว

เราเริ่มเข้าใจความสวยงามของบ้านไทยมากขึ้น จากปกติที่นิยมเฟอร์นิเจอร์ตะวันตกแบบเรียบ ๆ ตอนนี้เราเริ่มชอบความอ่อนช้อยของศิลปะไทย อย่างฝาบ้านพี่ต้อยมีช่างแกะสลักเป็นลายนกยูง ไก่ กระรอก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ที่เกิดปีไก่ ส่วนนกยูงหมายถึงความโชคดี และกะรอกคือความสวยงาม 

“ช่างแกะสมัยนี้เริ่มหายาก คนแกะลายนี้ทั้งหลังก็ตายไปหมดละ ช่างคนอื่น ๆ ก็ฝีมือไม่ดีขนาดนี้” 

พี่ต้อยผู้รับช่วงต่อมาจากพ่อผู้เป็นผู้รับเหมาสร้างบ้านเรือนไทยรุ่นสาม เล่าให้ฟังว่าการถ่ายทอดวิชาสร้างเรือนไทยไม่มีตำราบอกชัด พี่ต้อยอาศัยการเป็นครูพักรักจำจากพ่อ การเรียนรู้เรื่องฝีมือช่างไทยคือการฝึกฝนเองด้วยมือ 

“พ่อเค้าก็บอกมาไม่ค่อยหมด เราก็อาศัยฝึกเอง ดูจากที่เค้าทำ ถึงแม้มันจะไม่เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็พยายามฝึกให้มันเป็นลายเซ็นต์ของเราคือเรื่องเหงาปั้นลม ส่วนพ่อเค้าเก่งเรื่องสัดส่วน เค้าจะทำเรือนไทยสวยมาก เดี๋ยวจะพาไปดูที่วัดพนัญเชิง” 

หันไปอีกที พี่ต้อยก็ออกตัวเดินไปขึ้นรถพาเราไปดูวัดพนัญเชิง เราก็รีบขึ้นรถตามแกไป

ความรู้เรื่องบ้านทรงไทยสำหรับเรามีค่าเป็นศูนย์ ไม่เคยสนใจมันด้วยซ้ำ พอได้คุยกับช่างต้อยเราเริ่มมองบ้านไทยอยุธยาเปลี่ยนไปจากความเชื่อเรื่องผี จริง ๆ แล้วมันมีเอกลักษณ์เด่นอีกส่วนคือเหงาปั้นลม (ปลายแหลมสองข้างหลังคา) ที่สามารถบอกเป็นลายเซ็นต์ของช่างแต่ละคนได้

พี่ต้อยสอนเราดูเหงาปั้นลมฝีมือพี่ต้อย ว่ามันมีความสมส่วนจะโค้งเหมือนเขาควาย ถ้าหากเอาเขาสองฝั่งมาประกบกัน มันจะออกมาสมส่วนพอดี การกะเกณฑ์ขนาดแบบนี้ต้องอาศัยฝีมือความชำนาญหลายปี ต่อให้เรียนออกแบบมานานแค่ไหน ถ้าไม่เคยลองปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้ขนาดนี้

พอมาเห็นโครงสร้างเรือนไทยกับเหงาปั้นลมที่กุฏิวัดพนัญเชิง เราเข้าใจมันจริง ๆ แล้วว่าเสน่ห์ของเรือนไทยมันอยู่ตรงความอ่อนช้อยของปลายยอดและสัดส่วนที่พอดีของมัน 

“พี่ไม่มีลูกไม่มีเมีย ก็ไม่มีคนสืบทอดทายาทรุ่น 5 อะสิคะ พี่ไม่เสียดายหรอที่จะไม่ได้สืบทอดวิชานี้แล้ว ?” พี่ต้อยยิ้มให้เราเบา ๆ พร้อมมองไปที่ผลงานที่ตัวเองสร้างร่วมกันกับพ่อ 

“ก็อยากให้มีคนมาสืบอยู่ หลานอายุ 10 ขวบเอง จริง ๆ ก็อยากให้เค้าไปเรียนพวกสถาปัตไทยนะ จะได้มาต่อยอดงานของที่บ้านได้ แต่ถ้าเค้าไม่สนใจก็ไม่เป็นไรก็คงต้องปล่อยเค้าไป”

พี่ต้อยพาขับรถชมเรือนไทยใกล้เมืองอยุธยา เราเห็นหลายครอบครัวใช้ชีวิตร่วมกับบ้านไทยได้อย่างพอดี ใต้ถุนสูงรับลมเหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อนตอนกลางวัน ส่วนชั้นสองเอาไว้ใช้นอน 

“บ้านแถวนี้โดนน้ำท่วมปี 53 มาหมดแล้ว อย่างหลังนี้ท่วมไปถึงชั้นสอง แต่ไม้ไม่เป็นอะไรเลย หลังนี้ทำจากไม้สักทั้งหลัง ก็มีแค่สีลอกเท่านั้น”

ที่ผ่านมาความนิยมบ้านสมัยตะวันตกเข้ามามาก จนทำให้เราลืมมองความสำคัญของเรือนไทยที่คนโบราณเค้าออกแบบมาให้เหมาะกับภูมิอากาศ และความเป็นอยู่ของคนไทย อย่างการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ห้องโถงและใต้ถุนบ้านมีความสำคัญ ส่วนเรื่องความเชื่อเรื่องการไหว้เสาเอกเสาโทเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา 

การปรับวิธีการออกแบบเรือนไทยให้เหมาะสมกับสมัยใหม่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากช่างต้อย ที่จริงแล้วการมีเรือนไทยก็เป็นการลงทุนที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะทุกส่วนคงทนแข็งแรง สามารถถอดแยกออกมาเป็นสมบัติไว้ให้ลูกหลานได้ต่อ

เรื่องผีเป็นความเชื่อและวิธีการเล่าเรื่องจากภาพยนตร์ ช่างต้อยคอยบอกเราตลอดการเดินทาง 

“เรากลัวผีเพราะคิดไปเองอะสิ อย่างพี่ก็อยู่กันแบบไม่ลบหลู่ใคร คำโบราณอะไรที่ว่าไว้เราก็ทำตาม” 

พอได้สัมผัสเรือนไทยผลงานพี่ต้อย เราเข้าใจความงามของศิลปะไทยมากขึ้นว่ามันคือความอ่อนช้อย และสัดส่วนที่สมบูรณ์ของตัวเรือนและเหงาปั้นลม การเอาใจใส่รายละเอียดของบ้านทำให้เรารู้สึกว่าการออกแบบที่ดีจะช่วยให้คนในบ้านมีความสุขได้เหมือนกัน

ส่วนผีกับบ้านไทยเรามองว่ามันมีแค่ไหนหนัง มันสร้างให้เราจินตนาการไปถึงความน่ากลัว ทั้ง ๆ ที่ความจริง เรือนไทยดูสง่างามมาก พอเข้าใจแบบนี้แล้วนอกจากฝันอยากมีบ้านสไตล์ตะวันตก เราเริ่มมองว่าเรือนไทยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน 

Loading next article...