คิดถึงลาบฝีมือแม่ แต่ที่บ้านไม่มีงาน

กลับบ้านกันปีใหม่เป็นอย่างไรกันบ้าง?

ไม่อยากพูดเลยว่า ความเป็นจริงที่โหดร้ายคือ เราเดินทางกลับมาเมืองหลวงเพื่ออาชีพ เพื่อหาเงินต่อแล้วเจอกับมาตรการปิดกิจการต่าง ๆ จากวิกฤตโควิด-19 

เคยคิดมั้ย – ว่าถ้าบ้านเกิดเรามีงานมีรายได้ให้เราล่ะ 

เราจะยังอยากเข้ามา ‘กรุงเทพมหานคร’ อยู่มั้ย?

เราจำเป็นจะต้องอยู่กรุงเทพกันจริง ๆ ใช่ไหม? 

หลายคนมองว่ากรุงเทพไม่ใช่เมืองในฝัน แต่เป็นเมืองที่มีงานให้ทำ หลายคนจำใจจะต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ เพราะบ้านที่อีสานมันไม่มีอะไรเลย 

ในตลาดเล็ก ๆ เยื้องกับซอยปรีดีพนมยงค์ 21 มีร้านส้มตำที่เราเชื่อว่าจะได้พบกับคนที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อมาทำงานในกรุงเทพ เราอดสงสัยกับความรู้สึกที่พวกเค้ามีต่อเมืองแห่งนี้ไม่ได้เลย ทั้งปัญหาการเมือง ความวุ่นวาย อากาศ และ ผู้คน เค้าจะมองมันแบบเดียวกับเราไหมนะ 

“กลับไปอยู่บ้านมันก็ดีกว่าอยู่กรุงเทพอยู่แล้ว แต่มันกลับไม่ได้ไง ก็กรุงเทพมันเป็นที่เดียวที่มีงานดี ๆ ให้ทำ” 

ได้ยินแค่นี้จากปากลูกชายเจ้าของร้านลาบ ที่ปัจจุบันย้ายจากสกลนครมาทำงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพเกือบ 10 ปีแล้ว เขาเองก็มองไม่ต่างจากเราว่า ถ้าไม่ใช่กรุงเทพก็คงไม่รู้ว่าจะไปทำงานในจังหวัดไหนดี

ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง

เดี๋ยวนี้กรุงเทพมีแต่ร้านอาหาร franchise ผุดขึ้นมากมาย เราไม่ค่อยเห็นร้านเล็ก ๆ อย่างร้านลาบในใจกลางเมืองเท่าไหร่ หลายครั้งร้านแบบนี้คงอยู่ไม่ได้เพราะราคาค่าเช่าอันแสนแพง 

“กรุงเทพมันก็ดีที่สุดแล้วในเรื่องของรายได้ ต่อให้ค่าเช่าแพงก็ต้องยอมจ่าย กลับไปบ้านมันยิ่งไม่มีอะไรมากกว่านี้”

ปีนี้คงเป็นปีที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจได้เผยตัวออกมาให้เราเห็นชัดขึ้น ว่าความมั่งคั่งค่อนข้างกระจุกตัวในเมืองใหญ่ และ อยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม จากรายงานสถานการณ์แรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีล่าสุด จะเห็นว่า มีแรงงานในภาคอีสานทั้งหมด 8.9 ล้านคน และ 4.9 ล้านคน เป็นแรงงานภาคเกษตร

ได้ยินมาว่าเดี๋ยวนี้หลายครอบครัวในอีสานเลิกทำเกษตรกรรมไปเยอะ  ด้วยราคาผลผลิตที่ไม่สร้างกำไร ปัญหาพ่อค้าคนกลาง และ สภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายบ้านหันมาทำงานรับจ้างในเมืองกันมากขึ้น

ถ้าไม่ทำเกษตร ก็คงต้องทำอาชีพค้าขาย ซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดย่อมรวมตัวอยู่ในกรุงเทพ มันส่งผลให้ราคาค่าเช่าพื้นที่ต้องสูงขึ้น สุดท้ายก็เป็นการจำกัดโอกาสเจ้าธุรกิจที่มีรายได้น้อย ทำให้กลุ่มร้านอาหารเล็ก ๆ ถูกผลักออกไปให้ห่างไกลจากความเจริญ

ปีที่ไม่อยากกลับบ้าน (เพราะค่าเดินทาง)

คุณพี่เจ้าของร้านบอกกับเราว่ายังไงกลับไปอยู่สกลนครมันก็ดีกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องทำงานหาเงิน สำหรับพี่เขาแล้ว คงต้องตอบว่าอยู่กรุงเทพดีกว่าในเรื่องความหลากหลายของวัตถุดิบ และ การเดินทาง 

ถ้าถามว่าคิดถึงบ้านขนาดไหนก็คงคิดถึงน้อยกว่าพี่ลูกจ้างสองคนที่กำลังเตรียมอาหารอยู่ในร้าน ฟังดูเหมือนพี่แกจะชินไปแล้วกับการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอันแสนแออัดแห่งนี้ 

“เวลากลับบ้านครั้งนึงก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ ไหนจะค่าอาหาร ไหนจะค่าเดินทางอีก” 

การกลับบ้านสำหรับพี่แกก็ดูไม่ใช่เรื่องจำเป็นอะไร ในเมื่อเศรษฐกิจค่อนข้างย่ำแย่ สิ่งที่แกนึกอยู่บ่อย ๆ ก็คงเป็นเรื่องราคาค่าเช่าร้าน แม้ว่าเจ้าของที่จะลดราคาค่าเช่าให้แล้วก็ตาม แต่จำนวนลูกค้าที่มามันลดลงไปเยอะอย่างน่าเหลือเชื่อ 

คิดคำนวนออกมาแล้วกำไรก็แทบจะไม่เหลือเลย 

“ปกติลูกค้าจะเยอะมาก แต่ช่วงนี้คือไม่เหลือเลย” 

โชคดีที่เจ้าของที่ยังลดค่าเช่าร้านให้ ไม่อย่างงั้นก็คงแย่กันหมด พี่แกเล่าไปด้วยความเฉยชา

ต้องไม่เป็นเมืองเกษตรกรรม ถึงจะมีรายได้ดี?

ความฝันที่อยากกลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่สกลนครคงยังเกิดขึ้นไม่ได้เร็ว ๆ นี้ ลูกชายเจ้าของร้านส้มตำพูดกับเราด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย ดูเหมือนว่าพี่แกจะมีเป้าหมายในการมาเก็บเงินที่กรุงเทพเพื่อจะย้ายกลับไปอยู่บ้านในวันที่มีเงินมากพอ 

“เก็บเงินอีกสัก 10 ปี คงย้ายไปกลับไปอยู่สกลนครนะ” 

พอถามถึงสกลนคร พี่แกเลยเล่าว่าแถวบ้านเนื้อวัวจะหวานมาก ยิ่งเวลาเอาเนื้อมาทำก้อยจะสดใหม่กว่า เพราะวัวแถวบ้านเลี้ยงด้วยพืช เนื้อมันเลยคุณภาพดีกว่าวัวแถวกรุงเทพที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ด แม้แต่ปลาร้าคุณยายมักจะหมักไว้ให้ได้ทานกันทั้งบ้าน พร้อมบรรยากาศการนั่งล้อมวงกินข้าวริมท้องนาที่หาไม่ได้ในกรุงเทพ  

“สกลเป็นหมู่บ้านการเกษตรด้วยแหละ เลยไม่ค่อยเจริญ”

จริง ๆ การทำการเกษตรก็คงไม่ได้ผิดอะไร หากมองจากมุมผู้บริโภคอย่างเรา กลับต้องขอบคุณเค้าเสียด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีพวกเขาเราก็คงไม่มีอาหารอร่อย ๆ ทาน อันที่จริง เราแอบสงสัยว่าการเกษตรของประเทศเราจะสามารถพัฒนาไปไกลกว่านี้ได้ไหม แบบที่เราเห็นคุณภาพชีวิตชาวนาในญี่ปุ่น

เมื่อความเจริญไม่กระจายตัว ทำให้เราต้องคิดถึงบ้านเกิด 

พี่คิดถึงบ้านไหม? 

“คิดถึง” พร้อมยิ้มออกมาเบา ๆ 

ปีนี้ลูกจ้างร้านนี้ก็คงไม่กลับบ้านเหมือนกัน ยิ่งมาจากสุวรรณเขตฝั่งลาว ยิ่งต้องมีค่าใช่จ่ายกลับบ้านสูงขึ้นไปอีก 

“ถ้าเป็นไปได้ก็คงอยากให้ที่ลาวมีงานให้ทำเยอะ ๆ จะได้กลับไปอยู่บ้าน” 

เรายืนสนนากันระหว่างพี่แกกำลังปรุงลาบให้กับลูกค้าที่เพิ่งเข้ามาใหม่ พี่แกพูดไปยิ้มไปเกี่ยวกับบรรยากาศดีๆ ที่สุวรรณเขต พี่แกเล่าว่าผักที่ขึ้นแถวบ้านก็เก็บมากินแกล้มอาหารได้เลย อาหารลาวจึงไม่ต้องปรุงรสเยอะมาก เพราะวัตถุดิบหลายอย่างมันสดอยู่แล้ว  

ฟังแล้วอยากจะนั่งรถไปตอนนี้เลย ฟังดูเหมือนจะดีกว่าที่นี่เป็นไหน ๆ 

เราเห็นพี่เค้าแล้วทำให้เรานึกถึงชีวิตตัวเองสมัยทำงานพาร์ตไทม์ร้านอาหารที่ประเทศอังกฤษ สมัยนั้นเราสามารถหาเงินได้มากกว่าปัจจุบันที่ประเทศไทย แม้ว่าค่าเช่าบ้านในชานเมืองลอนดอนจะมีราคาแพง แต่ราคาค่ากินอยู่ เดินทางโดยรวมแล้วถือว่ายังพอมีเก็บบ้างในแต่ละเดือน (ถือว่าอยู่สบายเลยแหละ ไม่ต้องกลัวว่าเดือนนี้จะเงินไม่พอใช้) 

ถ้าถามว่าตอนนั้นคิดถึงบ้านมั้ย เราก็คิดถึงนะ คิดถึงเพื่อน ครอบครัว และ บรรยากาศของความเป็นบ้านเรา ตอนนั้นก็มีแค่การกินอาหารไทยมั้ง ที่ทำให้หายคิดถึงบ้านได้นิดหน่อย

ต้องย้ายมาเรียนที่กรุงเทพ ถึงจะมีโอกาสที่ดีในสังคม 

“คนอีสานก็อยู่ทุกที่นั่นแหละ เหมือนโควิด แต่พวกเราไม่อันตรายนะ”

ลูกค้าประจำที่นั่งอยู่โต๊ะหน้าร้านกล่าวขึ้นมาด้วยความอารมณ์ดี  

จริง ๆ ประโยคนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ถ้าความเจริญกระจายไปถึงอีสาน (รวมถึงทุกที่ในต่างจังหวัด) พอพูดถึงเรื่องความเจริญในต่างจังหวัด พี่ ๆ ทุกคนต่างหัวเราะให้กับความสงสัยของเรา ดูเหมือนว่าพี่เค้าจะเลิกฝันไปแล้วว่าอยากให้ความเจริญไปถึงบ้านเขา 

พี่ท่านหนึ่งบอกกับเราว่าอยู่ที่กรุงเทพจนกลายเป็นชินไปแล้ว ครอบครัว และ เพื่อนฝูงต่างก็ย้ายมาอยู่ที่นี่กันหมด อย่างลูกสาวก็ย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพ (แน่นอนว่าพี่เค้าบอกว่าเพราะการศึกษาในกรุงเทพมันดีกว่า) พี่เค้าเล่าไปพร้อมดวงตาแห่งความฝันว่าอยากให้ลูกได้เข้ามหาลัยดี ๆ จะได้มีโอกาสในการทำมาหากินได้มากขึ้น 

ฟังแล้วก็แอบเบื่อกับการบ่นเรื่องการศึกษา เพราะผ่านมากี่สิบปีก็ยังมีปัญหานี้เกิดขึ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริษัทรับแต่คนที่จบจากมหาลัยมีชื่อเสียง แล้วก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาลัยเหล่านั้น อาจจะมีการเคี่ยวเข็ญด้านวิชาการมากกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามหาลัยลำดับรองจะใช้ไม่ได้เลยรึเปล่า เรามองว่าเรื่องนี้น่าจะพูดกันที่ความสามารถเกี่ยวกับตัวบุคคลมากกว่าจะกำหนดกันในเรื่องสถาบันนะ

แนวทางการแก้ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ…ที่ยังมาไม่ถึง 

ถ้าเป็นไปได้พี่อยากทำงานที่กรุงเทพหรือทำงานที่บ้านพี่มากกว่า? 

“อยากกลับไปทำที่สกลมากกว่า” พี่ชายลูกเจ้าของร้านเงยหน้าแล้วยิ้มให้เราด้วยความใจดี 

“จริง ๆ ก็อาจเป็นเพราะ คอร์รัปชั่นด้วยแหละ ความเจริญมันเลยไปไม่ถึง” 

หลายคนในต่างจังหวัดก็คงภาวนาให้แถวบ้านตัวเองเจริญขึ้น ไม่ว่าจะเลือกตั้งผ่านมากี่ร้อยครั้ง ความเหลื่อมล้ำก็ยังเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างความฝันที่ทุกคนอยากจะเข้าถึงการคมนาคมอย่างเท่าเทียมคงเป็นเรื่องที่ฟังดูห่างไกลอยู่ 

“อีก 10 ปี ที่บ้านคงเจริญขึ้นด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง”

พี่แกเล่าต่อว่าอีกหน่อยเราคงนั่งรถไฟจากกรุงเทพไปสกลได้อย่างง่ายดาย ส่วนตัวเราเริ่มจินตนาการไว้ว่าไทยจะกลายเป็นแบบประเทศญี่ปุ่นไหมนะ ที่ทุกคนสามารถเดินทางระหว่างเมืองได้อย่างสะดวกสบาย อย่างรถไฟราคาถูกก็มีรองรับไว้สำหรับคนที่มีรายได้น้อย ส่วนใครที่อยากได้ความสะดวก สบาย รวดเร็ว ก็ยอมจ่ายแพงขึ้นอีกหน่อย 

“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้สกลเจริญขึ้นนะ” พี่แกกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ยังมีความหวัง

เพราะที่บ้านไม่มีอะไรเลย…เราจึงต้องมาอยู่ที่นี่ 

หลายคนที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพล้วนมีคำตอบที่คล้ายกันว่าเพราะความจำเป็นจึงต้องย้ายมาเรียน หรือ มาทำงานในกรุงเทพ เพราะ ‘ที่บ้านไม่มีอะไรเลย’ 

ถ้าเป็นไปได้หลายคนมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อยากกลับบ้าน’ ‘อยากทำงานที่บ้าน’ ‘อยากอยู่ใกล้ครอบครัว’

ความเจริญทางวัตถุที่กรุงเทพ คงเป็นความบันเทิงชั่ววูบสำหรับใครหลายคน (รวมถึงตัวเราด้วย) สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ว่ากลับบ้านต่างจังหวัดดีว่าเป็นไหน ๆ ก็น่าจะเป็นความรู้สึกดีต่อบรรยากาศ และ ความรู้สึกผูกพันที่มีต่อคนที่บ้าน

อาหารที่เรากินก็อาจทำให้เราหายคิดถึงบ้านได้บ้าง แล้วมันก็สะท้อนให้เราเห็นปัญหาความกระจุกตัวของความเจริญ ที่คนต่างจังหวัดได้แต่ภาวนาให้แถวบ้านดีขึ้น 

มันก็คงจะดีนะถ้าทุกหัวเมืองมีงานให้ทำ เราก็คงได้กลับไปกินอาหารฝีมือแม่ทุกวัน

Loading next article...