ตลาดนัดจตุจักร: ไม่เจ๊งก็เจ๊า

ตลาดนัดจตุจักร ในวันที่มีคนขายมากกว่าคนซื้อ ก็เพิ่งจะเคยเห็นวันนี้แหละ

COVID-19 ทำให้ตอนนี้ร้านค้าในตลาดหลายแห่งทยอยปิดตัว แต่คนที่ไม่มีทางเลือกก็ต้องสู้ต่อไป

นี่คือเสียงจากพ่อค้าแม่ขายที่ยังกัดฟันสู้ ยื้อยุดฉุดกระชากเปิดร้านแข่งกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อรอวันที่ทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ทุกคนลืมภาพตลาดนัดจตุจักรที่เคยเจอไปได้เลย เพราะตอนนี้เราไม่รู้ว่าควรเรียกที่นี่ว่าตลาด หรือหมู่บ้านร้างมากกว่ากัน

ด้วยพิษเศรษฐกิจจาก COVID-19 และความล้มเหลวจากการบริหารของรัฐบาล (อีกแล้ว) ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ในจตุจักรทยอยปิดตัวลง หรือบางร้านก็แค่พักการขายหน้าร้านไว้ก่อนเพราะไม่คุ้มค่าน้ำมันที่จะเดินทาง เพราะถึงจะมาขายก็ไม่ได้แปลว่าจะมีคนซื้อ

ตอนนี้ในตลาดเงียบเป็นเป่าสาก เงียบซะจนไม่ต้องกลัวเจอโจรล้วงกระเป๋า แต่กลัวเจอผีเป็นวิญญาณตามติดแทน ฮ่า ๆ ทั้ง ๆ ที่เรามาตอนบ่ายวันเสาร์ ซึ่งเป็นช่วงที่คนควรจะเยอะที่สุด แต่ตอนแรกที่เราเข้ามาเจอบรรยากาศแบบนี้มันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ‘เอ๊ะ นี่ตลาดเปิดหรือเปล่านะ’ ถึงกับต้องหยิบมือถือขึ้นมาดูปฏิทินเพื่อความชัวร์ว่ามาถูกวัน

เราเดินลัดเลาะไปตามซอกซอยต่าง ๆ โครงการแล้วโครงการเล่า จะว่าไปวันนี้คือวันที่เราเดินจตุจักรสบายที่สุดเลย เพราะไม่ต้องเบียดกับใคร แถมแทบจะไม่มีของให้ดู ทำให้ไม่นานเราก็เดินวนดูซะทั่ว เรียกได้ว่าถ้ามาอีกทีตอนคนเยอะก็คงไม่หลงแล้ว

เราหยุดอยู่หน้าร้านขายกระเป๋าที่ทำจากกระสอบป่านของพี่ตุ้มบริเวณใกล้ ๆ หอนาฬิกา พี่ตุ้มเล่าว่าทุกวันนี้ที่ยังมาเปิดร้านก็เพราะบ้านอยู่ใกล้ ไม่ต้องเสียค่าเดินทางเยอะ การได้มาเปิดร้านทุกอาทิตย์ทำให้พี่ตุ้มเห็นความเปลี่ยนแปลงของตลาด 

“เนี่ยอย่างอาทิตย์นี้พอมีข่าวว่าเค้าฉีดยากันเยอะขึ้น คนก็จะเดินมากกว่าสองอาทิตย์ที่แล้ว” 

“อันนี้เยอะแล้วเหรอพี่?” – เราถามพี่ตุ้มกลับ ก่อนที่เราทั้งคู่จะหัวเราะแห้ง ๆ ออกมา พร้อมกับมองออกไปหน้าร้านที่มีแต่แดดแต่ไม่มีคน

“นี่เยอะแล้ว… ถึงบอกว่าเรามาทุกอาทิตย์แบบนี้ เราจะได้รู้ว่าสถานการณ์เป็นยังไง” 

อืม… เราจำได้ว่าตั้งแต่เราเดินเข้าตลาดมา เรายังเห็นลูกค้าเดินดูของไม่ถึง 20 คนเลยด้วยซ้ำ ตลาดที่คนขายเยอะกว่าคนซื้อ… เพิ่งได้เห็นก็วันนี้แหละ

“คนเดินนี่กลายเป็นความหวังเลยอะ แต่ไม่ได้หวังให้เค้ามาซื้อของเราแล้ว เราหวังแค่ว่าให้มีคนเดินก็พอ เราคิดแค่ว่าวันนี้จะมีคนเดินเยอะแค่ไหนนะ โดยไม่ต้องซื้อร้านเราก็ได้” – พี่ตุ้มตอบเรากลับมา หลังจากที่เราถามถึงความคิดในหัว เวลาเจอคนเดินผ่านหน้าร้านซักทีนึง

พี่ตุ้มเล่าให้ฟังว่ามีบางช่วงที่สถานการณ์ในตลาด ‘ดูเหมือน’ จะกลับมาดี แต่ไม่นาน ก็มีคลัสเตอร์จากที่นู่นที่นี่ตามที่ออกข่าว อย่างล่าสุดก็ที่ทองหล่อ ทำให้ช่วงต้นปีที่ตลาดเริ่มกลับมามีคน เงียบไปเหมือนเดิม

“คนที่เค้าเพิ่งกลับมาสู้ใหม่ ยิ่งร้านอาหารฝั่งตรงข้ามที่เป็นขายของสดอย่างงี้ เค้าพยายามจะกลับมาสู้ แต่เค้าสู้ไม่ไหว ขนาดเค้าเป็นผู้ชายนะ น้ำตาเค้านี่คลอแบบ…” – พี่ตุ้มตอบเรา แต่ไม่จบประโยค พี่ตุ้มเงียบไปพักนึงก่อนจะอธิบายว่าร้านอาหารก็มีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเรื่องทุนจมหรือทุนเสียเปล่า เพราะของสดในร้านทยอยเน่าทยอยเสียไป เนื่องจากไม่มีคนกิน ไหนจะค่าจ้างลูกจ้าง ไหนจะค่าเช่า

ถัดไปจากร้านพี่ตุ้มไม่ไกล เราได้คุยกับพี่ละออ เจ้าของร้านเสื้อผ้า… อะไรซักอย่าง เราเรียกไม่ถูก ที่มันโปร่ง ๆ แบบที่ฝรั่งเค้าชอบซื้อกันน่ะ

พี่ละออบอกว่าจริง ๆ ตอนนี้ที่มาเปิดก็เพราะกลัวเสียฐานลูกค้า หรือลูกค้ามาแล้วจะไม่เจอ แถมยังประสบปัญหาทุนจมด้วย เลยต้องรีบระบายของในสต็อกออกเท่าที่จะเป็นไปได้ (ถึงจะไม่เยอะก็เถอะ) ก็ทำให้รอดไป “ก็เปิดพอให้ได้ค่ากับข้าวลูกอะนะ” – พี่ละออบอก

“พี่ไม่มีเงินลงทุนใหม่แล้ว คือง่าย ๆ ถ้าไปคุยกับแบงก์ทุกแบงก์ เค้าก็คงไม่ปล่อยให้พี่แล้ว เค้ามองว่ายังไงเราไม่มีแบบ… กำลังส่ง เนาะ ประมาณนั้น” – พี่ละออเล่าสถานการณ์ให้เราฟัง ก่อนจะเสริมอีกว่าอีกไม่นานจะต้องจ่ายค่าเทอมให้ลูกด้วย โดยเฉพาะลูกคนโตที่สอบติดมหาลัยชื่อดังที่อยู่ชานเมือง ทำให้ต้องเสียค่าหอเพิ่มอีก 

“จตุจักรกลับมาคึกคักที่สุดก็ตอนที่มีเราชนะรอบแรกอะค่ะ  คนก็จะแบบ วู้ววววว” – พี่ละออพูดไป ทำท่าโบกไม้โบกมือเฮฮาไป 

“แต่คนมาจับจ่ายกันแค่สองอาทิตย์นะคะ แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีคนเลยค่ะ”

😅😅😅

เราเจอกับ ‘ป้ารุน’ แม่บ้านที่กำลังนั่งพักหลังจากเพิ่งไป ‘ออกรอบ’ มาหมาด ๆ (ออกรอบ คือ เดินวนเก็บขยะ) กลับกันกับพี่ ๆ พ่อค้าแม่ขาย ในความร่อแร่ของสถานการณ์ในตลาด กลับทำให้งานทำความสะอาดเบาลงอย่างเห็นได้ชัด

“รอบนึงนี่ได้เยอะมั้ย?”

“ก็ถุงใหญ่นี่แหละ ถุงนึงก็เต็ม” – ป้ารุนตอบกลับมาพร้อมกับทำไม้ทำมืออธิบายว่ารอบนึงของป้ารุนกว้างแค่ไหน… เราเห็นแล้วก็จินตนาการว่าราว ๆ 1 ส่วน 6 ของตัวตลาด

“แล้วถ้าเป็นเมื่อก่อนอะ?”

“โอ๊ยยย เมื่อก่อนรถจัมโบ้ สี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ ที่เค้าชอบเข็นตามห้างตามโรงบาล เดินจากนี่ไปหอนาฬิกาก็เต็มแล้ว” – ป้ารุนตอบพร้อมกับชี้ให้ดูหอนาฬิกาที่อยู่ห่างไปประมาณ 50 เมตร

ป้ารุนบอกว่าตอนนี้จะใช้คำว่า ‘เดินเก็บขยะ’ ก็คงจะไม่ถูก เพราะตอนนี้มันคือการ ‘เดินหาขยะ’ จากขยะที่มองไปทางไหนก็เจอก็กลายเป็นต้อง ‘พยายาม’ มองหา แต่ถึงยังไงป้ารุนก็ยังคิดถึงตอนที่คนเยอะขยะเยอะจนเก็บไม่ไหวมากกว่า เพราะนั่นเป็นตัวบ่งชี้ว่าป้ารุนคงจะยัง ‘ไม่ตกงาน’ ในเร็ว ๆ นี้

ในตลาดนัดจตุจักรไม่ได้มีแค่พ่อค้าแม่ค้าจากในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังมีมาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ การที่ตลาดดูร้างส่วนหนึ่งก็เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ไกลหลายร้านตัดสินใจไม่เข้ามาเปิดร้านเนื่องจากไม่คุ้ม อย่างเช่น ร้านเครื่องจักสาน งานไม้แฮนด์เมดที่มาจากเชียงราย พิษณุโลก หรือร้านก๋วยเตี๋ยวเรือจากอยุธยา

เราได้คุยกับพี่ปุ๊กกับพี่เอ๋ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่งที่มาจากอยุธยา ที่ตัดสินใจกลับมาเปิดร้านหลังรัฐบาลประกาศให้นั่งกินอาหารในร้านได้แล้ว ทั้งสองให้เหตุผลว่าไหน ๆ ก็จ่ายค่าเช่าเค้าไปแล้ว อย่างน้อยกลับมาเปิดแล้วได้เงินจ่ายค่าเช่าก็ยังดี

“ทุกวันนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊า คือถ้ามาเปิดก็ยังเจ๊าบ้าง ถ้าไม่เปิดเลยก็เจ๊งอย่างเดียว” – พี่เอ๋บอกเราด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ตอนนี้ใกล้จะค่ำ ท้องฟ้าค่อย ๆ มืดลงเหมือนมีใครเอามือไปบิดสวิตช์หรี่แสงของท้องฟ้าลง

เห็นสภาพตลาดวันนี้แล้วก็คิดว่าถ้าผมเป็นแม่ค้า อนาคตของผมก็คงเหมือนกับฉากนี้แหละ

ช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ควรจะเป็นเวลาที่คนแน่นที่สุด ตลาดจตุจักรกลับว่างเปล่า พี่เอ๋คุยกับเราสลับกับมองออกไปนอกร้าน สักพักก็มีลูกค้าเข้ามากินก๋วยเตี๋ยว 1 คน พี่ปุ๊กรู้หน้าที่เดินไปลวกเส้น ปล่อยให้พี่เอ๋คุยกับเราต่อ

“โอ้โห หน้าร้านเนี่ยเหรอ ตอนกลางคืน ตอนค่ำ ๆ แบบช่วงนี้นะ เมื่อก่อน ช่วงสี่โมงเย็นเป็นต้นไปอะ คนจะแบบเเน่นเอี้ยด เดินแบบไหลอะ เหมือนสงกรานต์ที่สีลม เต็มถนน ข้ามแทบไม่ได้อะ” – พี่เอ๋บอกเราก่อนจะเดินไปเก็บชามเปล่าของลูกค้าคนล่าสุด ที่วันนี้คงจะเป็นคนสุดท้ายของวัน 

วันนี้ทั้งคู่ปิดร้านตอน 1 ทุ่ม เห็นแล้วเราไม่กล้าถามว่าวันนี้ได้ยอดขายทั้งหมดกี่ชาม 

อย่างที่รู้กันว่าด้วยระยะทาง ทำให้คนที่มาจากต่างจังหวัดไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับบ้าน หลายคนเลยเลือกที่จะนอนในตลาดแทน หลังพี่ปุ๊กพี่เอ๋เก็บร้านเสร็จ ทั้งคู่พาเราเดินไปยังล็อกด้านในที่เช่าเอาไว้เป็นห้องนอนเล็ก ๆ 

“เมื่อก่อนมันเหมือนกับว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่ง เป็นชุมชน กินตรงนี้ นอนตรงนี้ เหมือนเป็นเพื่อนบ้าน” – พี่เอ๋เดินไปด้วยพูดไปด้วย พร้อมกับชี้มือไปยังความมืดด้านขวา พี่เอ๋บอกว่าเมื่อก่อนก็เคยนั่งกินข้าวสังสรรค์กันตรงนี้ แต่ตอนนี้ทุกคนก็ต้องแยกย้าย

“เย็นปุ๊บ พอตลาดปิดปุ๊บ พวกแผงค้าก็เก็บร้านเก็บอะไร เย็นก็กินข้าว อะบ้านนี้มีก๋วยเตี๋ยว บ้านนี้มีข้าวมันไก่ บ้านนี้มีข้าวแกง ก็มานั่งกินนั่งคุยกัน แล้วก็เข้าไปอาบน้ำ แล้วตื่นมาสู้ใหม่ แต่ตอนนี้ไม่มีเเล้ว” – พี่ปุ๊กเสริมขึ้นมา

“วันแรก ๆ ที่พี่ต้องนั่งกินคนเดียว รู้สึกยังไงบ้างครับ?” – เราถามพี่ ๆ ในขณะเดินผ่านความมืดแถวหอนาฬิกา

“หงอยเหงานะ มันแปลก เพราะปกติ ตอนเย็นวันเสาร์จะเป็นอะไรที่คึกครื้นมาก ทุกแผงค้า ทุกหน้าร้าน จะนั่งกินนั่งคุยเฮฮา เหมือนกับสนุก มีความสุขอะ แต่ตอนนี้มองไปแล้วมันมืดตึ้บ” – พี่ปุ๊กตอบเราด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย

หลังเข้ามาดูตลาดนักจตุจักรหนึ่งวัน ถ้าจะให้นิยามเราคิดว่าที่นี่เหมาะจะเรียกว่า ‘หมู่บ้านเกือบร้าง’ ภาพล็อกขายของที่ถูกปิด ทางเดินมืด ๆ แสงไฟสลัว ๆ จากเสาไฟที่มีไว้พอให้มองทางเห็น มันทำให้เรานึกถึงโครงการบ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ ตึกแถวร้าง ๆ ตามชานเมือง

ไม่นานพวกเราก็ฝ่าความมืดเข้ามาถึงบ้านพัก (ล็อกขายของ) ของพี่ปุ๊กพี่เอ๋ แสงไฟในห้องถูกเปิดสว่างขึ้นอีกครั้งกลางความมืดในโครงการที่ยี่สิบกว่า ๆ ของตลาด เรายืนอยู่หน้าห้องที่เปิดไฟมองซ้ายขวา เห็นเป็นทางทอดยาวออกไปในความมืด

ตอนนี้ลูกบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้อาจต้องแยกย้ายออกไปทั้งถาวรและชั่วคราว พี่ปุ๊กพี่เอ๋ที่ตอนนี้กำลังพักผ่อนอยู่ในล็อกขายของล็อกเล็ก ๆ ก็ได้แต่หวังว่าบ้านหลังอื่นในหมู่บ้านนี้จะกลับมาเปิดไฟ กลายเป็นชุมชนตลาดจตุจักรอีกหน

เพราะตอนนี้สำหรับชาวหมู่บ้านจตุจักรการที่มีลูกค้ามากกว่าเดิมแค่คนเดียวนั่นก็ถือเป็นความหวังแล้ว แต่ถ้าใครจะมาเที่ยวที่นี่ก็คงต้องระวังโควิดกันหน่อยล่ะนะ

“ขอพูดอะไรแรง ๆ สักครั้งในชีวิตค่ะ พูดแล้วจะร้องไห้… น้ำท่วมไม่กลัว กลัวอย่างเดียว… ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด” – ประโยคนี้ทั้งเราและพี่ ๆ ที่ขายของไม่ได้พูด แต่คนในทวิตเตอร์คนนึงกล่าวไว้เมื่อปี ‘54

Loading next article...