‘ตุ๊กตุ๊ก’ รอดเพราะ ‘ติ่ง’

‘คิดจะพัก คิดถึงยองแจ’ ป้ายศิลปินเกาหลีท้ายรถตุ๊กตุ๊ก ที่เล่าชีวิต ‘ตุ๊กตุ๊ก’ ได้เป็นอย่างดีในวิกฤติครั้งนี้ เพราะจากที่ขาดรายได้จนอยากเลิก น้า ๆ มีแรงสู้ต่อด้วยพลังของ ‘ติ่ง’

“ต่างชาติขึ้นที จ่ายครั้งละ 300 วิ่งวันละหลายครั้งก็ได้เยอะเข้าไปอีก โควิดรอบแรกยังพอมีคนไทยขึ้นบ้าง แต่รอบสองนี่หนัก หาให้ได้ถึง 300 ยากมาก ไม่ได้สักบาทก็มี”

ความเศร้าจากการเสพติดจากรายการท่องเที่ยวที่ขาดหายไปเกิดขึ้นทั่วประเทศไทยในเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา แล้วแบบนี้ตุ๊กตุ๊กอยู่รอดได้เพราะใคร?

ลองไปฟังเสียงยืนยันว่าติ่งทำงานหนักมากกก เป็นแรงสนับสนุนอีกทางให้คนขับตุ๊กตุ๊ก และเจ้าของอู่ที่นำไอเดียป้ายศิลปินเข้ามาติดกัน

ภาพ: พบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข

สำหรับเรา รถตุ๊กตุ๊กเป็นของแรร์ประจำชาติที่นักท่องเที่ยวชอบขึ้นอันดับต้น ๆ เพราะเห็นวิว แสง สี ในเมืองชัด ลมเข้าหน้าไม่มียั้ง คนขับบางคนก็ซื้อใจเก่ง พาทัวร์พร้อมแนะนำสถานที่ เม้าท์สัพเพเหระ จนหลายคนติดใจ 

เหมือนกับ ‘น้าบัง’ คนขับรถตุ๊กตุ๊กประจำอู่เฮียซ้งย่านศาลาแดงที่บอกว่าตลอด 30 ปีที่ขับ ก็ชอบรับต่างชาติมากกว่าคนไทยเหมือนกัน เพราะคนไทยบางกลุ่มขึ้นทีรถแทบบุบ (ครั้งละมากกว่า 6 คนก็มี) แถมได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่ต่างชาติให้ จึงพยายามรับเฉพาะคน 

“แต่ช่วงโควิดสาหัสมาก บางวันหาเงินไม่ได้สักบาท เพราะประเทศปิด ไม่มีนักท่องเที่ยว”

“ผมไม่มีตังค์จ่ายค่าเช่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ และค่าเช่ารถ เงินกินข้าวแทบไม่มี เลยคิดว่ากลับไปสิงห์บุรีบ้านเกิดดีกว่า อย่างน้อยค่าครองชีพก็ถูก อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีเงินเหมือนจะตาย แต่โต๊ด (ลูกเจ้าของอู่) มาชวนติดป้ายศิลปินท้ายรถก่อน”

ท่ามกลางฝนตกหนัก น้าบังพูดกับเราในอู่เฮียซ้ง แล้วมองฝนไปด้วยว่า “ไม่จ่ายค่าเช่ารถเฮียมา 6-7 เดือนแล้ว ได้เงินวันละ 300 บาท เติมแก๊ส 100 จ่ายให้อู่อีก 100 เท่ากับว่าผมกินข้าว 3 มื้อ 100 บาท มันพอไหมครับ อู่เลยบอกผมว่ายังไม่ต้องจ่ายค่าเช่ารถก็ได้ แต่ขอให้ลองเปิดใจติดป้ายดู ผมก็เลยติด 

สรุปติดตั้งแต่เดือนมีนามาถึงวันนี้ (หัวเราะ)”

เขินไหมเนี่ย หนุ่มที่ไหนก็ไม่รู้มาอยู่หลังรถ? เราถามน้าขำ ๆ 

น้าบังก็ยอมรับตรง ๆ ว่าตอนแรกก็มีอคติ และไม่ได้คิดว่า ป้ายศิลปินที่เอามาติดหลังรถ จะช่วยอะไรได้ในวิกฤตแบบนี้

“ผมไม่ชอบเลย งงมากที่อู่จะเอาป้ายศิลปินมาติดรถ มันเกะกะ รำคาญ ทำความสะอาดอะไรก็ไม่สะดวก ตอนนั้นออกตัวไปด้วยว่าเอาไปติดคันอื่นเลย (หัวเราะ) แต่พอโต๊ดเขามาอธิบายว่า ต้องปรับตัวนะ ลำบากกันหมดจริง ๆ เราก็เริ่มคิดตาม เออว่ะ แค่กินข้าวจานละ 40 บาท ยังคิดแล้วคิดอีก

“คันอื่นเขาก็มองว่า แม่งติดอะไระวะ ใครวะ แต่พอขับไปนาน ๆ ทุกคนก็ชิน กลายเป็นว่าตอนนี้แห่กันมาติดกันหมด เพราะมันเห็นเงินเต็มตา เวลาแฟนคลับเขามาขอถ่ายรูป ครั้งหนึ่งก็จะให้คนละ 300-1,000 แล้วก็ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ที่ผมก็แฮปปี้ดี อย่างป้าย อาเล็ก ธีรเดช นี่ ตัวจริงเขามาเองเลยครับ ผมได้รูปคู่เขามาด้วย

คำตอบของน้าก็ทำให้เราขำไปด้วย

พอเห็นไอเดียการทำธุรกิจของ ‘โต๊ด’ ทายาทอู่เฮียซ้งผู้สร้าง Tuk Up สตาร์ทอัพเรียกรถตุ๊กตุ๊กผ่านไลน์ ที่มีบริการทั้งรับติดป้ายจากแฟนคลับ และออกแบบป้ายให้หากลูกค้าไม่อยากดีไซน์เอง เราก็อดถามออกไปซื่อ ๆ ไม่ได้ว่า “น้องเป็นติ่งป้ะเนี่ย”

“ผมไม่ได้ติ่งศิลปินเกาหลีหรอกครับ แต่ผมชอบ ซน ฮึง มิน นักบอลเกาหลีทีมสเปอร์ แล้วสิ่งที่ผมว้าวกับการทำธุรกิจเลยก็คือ มีแฟนคลับทำป้ายนักบอลมาติดเหมือนกัน ผมแบบ เฮ้ย ติ่งนี่มหัศจรรย์จริง ๆ มีติ่งทุกวงการที่เอาความชอบของเขามาขับเคลื่อนสังคมแบบสร้างสรรค์ ไม่ได้ไร้สาระแบบที่ผู้ใหญ่บอกเลย

“แต่จริง ๆ ก็ไม่ไร้สาระตั้งแต่เขาชื่นชอบใครสักคนแล้วครับ”

เริ่มแรก Tuk Up เกิดจากการแก้ปัญหาการขาดรายได้ของคนขับตุ๊กตุ๊กในอู่เฮียซ้ง ช่วงโควิด-19 ระลอกแรก และระลอก 2 ที่โต๊ดวางแผนทำเป็นโมเดลคล้ายการเรียกแกร็บ แต่เปลี่ยนเป็นเรียกผ่านไลน์ และตั้งราคา 30 บาท สำหรับวิ่งช่วงเซ็นทรัลลาดพร้าวถึงบางบัวให้คนไทยโดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รู้สึกว่าราคาเอื้อมถึง แถมมีบริการรับส่งสัตว์เลี้ยงให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่โต๊ดเรียนอยู่ เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งผลตอบรับก็ช่วยประคองน้า ๆ ไปได้บ้าง

“อู่ตุ๊กตุ๊กกับคนขับตุ๊กตุ๊กต้องพึ่งพากัน ถ้าไม่มีน้า กิจการของผมกับพ่อก็ไปต่อไม่ได้ เราต้องคิดหาทางให้น้า ๆ รอด เลือกจะไม่เก็บค่าเช่ารถ น้ามีจ่ายเดือนไหนค่อยจ่าย แต่ลำพังช่วยน้าอย่างเดียวเราก็ไม่ไหว เลยต้องคิดหาทางช่วยธุรกิจด้วย

แต่พอโควิด-19 ระลอก 3 มหาวิทยาลัยสั่งปิด คนขับตุ๊กตุ๊กไม่สามารถวิ่งได้ จากมีตุ๊กตุ๊กในอู่ 40 คัน กลายเป็นเหลือ 7 คัน เพราะทุกคนกลับต่างจังหวัดกันหมด โต๊ดเลยต้องหาวิธีรับมือ คิดบริการใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งเพื่อนติ่งของเขานั่นแหละ ช่วยไว้!

“ช่วงมหาลัยปิด เพื่อนผมเป็นติ่งวง BTS เขาบอกว่ากระแสป้ายศิลปินเกาหลีมันเริ่มมา มีหลายคนเอาไปติดหน้าร้านรถเข็นเพื่อช่วยพ่อค้าแม่ค้า เขาก็ถามเราว่า ลองดูไหม มันไม่เสียหายอยู่แล้ว ก็เลยลอง ตอนนั้นจำได้เลยว่าเริ่มด้วยป้าย Suga (สมาชิกวง BTS) แฟนคลับช่วยกันโปรโมต คนก็ติดต่อเข้ามาเยอะมาก”

จริง ๆ วัฒนธรรมติดป้ายศิลปินมีมาตั้งนานแล้วแหละ เมื่อก่อนเหล่าแฟนคลับนิยมติดป้าย LED บนสถานีรถไฟฟ้า เพื่อโปรโมตศิลปินที่เขารักให้คนรู้จักมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักติดเนื่องในวันเกิด หรือวันครบรอบเดบิวต์ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป โควิด-19 ทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น เหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ติ่งหลายคน (รวมทั้งเรา) หยุดโดเนทเงินให้นายทุนเพื่อทำป้ายและหันไปผลักดันการช่วยคนที่ถูกทอดทิ้งในวิกฤตแบบนี้แทน 

รายได้จากการติดป้ายศิลปิน นอกจากจะช่วยน้าคนขับตุ๊กตุ๊กแล้ว ยังช่วยให้อู่ไปต่อได้ ในส่วนของอู่ได้กำไรที่หักจากค่าป้าย และค่าผลิตป้าย ส่วนน้าตุ๊กตุ๊กได้ค่าขับที่แฟนคลับให้โดยตรง และไม่ถูกหักหัวคิว นั่นทำให้น้าบัง และคนขับตุ๊กตุ๊กที่เหลือในอู่เลือกจะสู้ต่อไปแทนการกลับบ้าน

มากกว่าเงินที่น้าบังได้จากค่าขับรถ เงินพิเศษ และของขวัญที่แฟนคลับแต่ละด้อมมอบให้ ก็เป็นสิ่งที่เขาไม่คิดว่าจะได้มาก่อน

“ตอนผมไปวิ่งป้ายยองแจ แฟนคลับเขาก็แนะนำให้ผมฟังว่าเขาเป็นใคร อยู่วงอะไร (GOT7 นั่นเอง) เขาดังมากนะ ทำเพลงนู้น เพลงนี้ ผมก็เริ่มเข้าว่าทำไมเขาถึงชอบหนุ่มคนนี้ บางครั้งก็ถามก่อนเลยว่าน้ากินข้าวหรือยัง กินข้าวกันก่อนออกเดินทางนะ ทำให้เราอยากบริการเขาดี ๆ อะ เราเลยรู้สึกว่าลูกค้าคนไทยดี ๆ ก็มี” 

นอกจากนี้แฟนคลับบางด้อมยังเป็นห่วงน้าบังที่ต้องสู้กับเศรษฐกิจย่ำแย่ จึงยื่นถุงยังชีพให้น้าบังติดกระเป๋ากลับบ้านไปบ่อย ๆ

“แฟนคลับหลายคนเคยจ่ายเงินก้อนเดียวให้กับนายทุน แต่พอสังคมเริ่มตระหนักว่าควรกระจายรายได้ให้มากขึ้น ทาร์เก็ตพวกเขาเลยเป็นน้า ๆ ที่บางคนไม่มีมือถือที่จะรับเงินเยียวยาจากรัฐด้วยซ้ำ เขาอยู่รอดในช่วงนี้ได้เพราะป้ายล้วน ๆ

“อีกอย่างป้ายบนรถตุ๊กตุ๊กจะไม่กระจุกอยู่ที่เดียว มันเป็นผลประโยชน์ที่วิน-วิน แฟนคลับได้โปรโมตศิลปินไปพร้อมกับโปรโมตประเทศ เพราะหลายครั้งแฟนคลับจะพาน้า ๆ ไปจอดตามแหล่งท่องเที่ยวเพื่อถ่ายรูป ซึ่งทำให้ไม่ใช่แค่แฟนคลับชาวไทยที่เริ่มอุดหนุนเรา แต่มีแฟนคลับต่างชาติมาใช้บริการเหมือนกัน

“อย่างบิวกิ้นพีพีที่เขาดังมากในประเทศจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของไทยที่ชอบนั่งตุ๊กตุ๊กไปลงย่านเยาวราชอยู่แล้ว ลองคิดดูว่าถ้าประเทศเปิด ผมคิดว่าแฟนคลับต่างชาติจะมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เราได้ เพราะเรามีป้ายศิลปินหลากหลายประเทศมาก ถึงมุมตรงนี้มันจะดูเล็กน้อย แต่ผมก็เชื่อว่าขนาดแฟนคลับไทยยังขับเคลื่อนได้ขนาดนี้ แล้วถ้ามีต่างชาติเพิ่มมากขึ้นด้วยล่ะ? ดีแน่นอน” โต๊ดในฐานะผู้ริเริ่มโปรเจกต์มองการณ์ไกล

แบบนี้คิดว่าประเทศเราเสพติดการท่องเที่ยวไหม?

“ในทัศนคติผม ก็คิดว่าใช่นะ เพราะรายได้หลักของเรามาจากการท่องเที่ยว รายได้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับเงินจากต่างประเทศ ไม่งั้นมันก็จะเป็นเงินหมุนเวียนแค่ในประเทศ ซึ่งตอนนี้ชะงักมาก จนทำให้งานบริการหลายอาชีพรายได้หดหาย ไม่ใช่แค่คนขับตุ๊กตุ๊ก แต่ทุกงานบริการเลย

แล้วถ้าไม่ใช่การท่องเที่ยว น้า ๆ จะพึ่งตัวเองได้ไหม?

“ผมมองว่าสิ่งที่น้าทำอยู่คือการปรับตัวแล้วครับ ไม่ได้วิ่งคอยต่างชาติ ยอมเอาป้ายมาติดซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากของเขา ใครขึ้นก็รับหมดถึงราคาจะถูกลง เพื่อให้พอมีกิน แต่ถ้าประเทศไทยไม่มีการท่องเที่ยวเลย ก็ต้องมาดูอีกว่ามันจะไม่เพียงพอให้น้า ๆ รอดในระยะยาวไหม”

New Normal ใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมไทยตอนนี้เปลี่ยนไปหลายอย่างเหมือนกันนะ เพราะค่านิยมเก่าๆ ที่มองติ่งว่าไร้สาระน้อยลง ส่วนหนึ่งก็มาจากจำนวนป้ายศิลปินที่พวกเขาช่วยเหลือคนขับตุ๊กตุ๊ก 

แถมน้าบังยังบอกเราก่อนคุยจบว่า ติ่งกลายเป็นคนที่ช่วยเหลือเขาได้ดีกว่ารัฐบาล (ฮ่า ๆ) และ ‘ป้ายศิลปิน’ ทำให้คนไม่มีแสงอย่างเขา มีแสงได้มากขึ้น เพียงแค่ติดไว้หลังรถ

“โอ้โห แฟนคลับเดินมา ผมนี่ยิ้มออกเลยครับ วันนี้มีเงินต่อชีวิตแล้ว (หัวเราะ)”

Loading next article...