ค่าแรงขั้นต่ำ: อยู่ได้หรือต้องอยู่ ?

สำนวนที่ว่า “ข้าวยาก หมากแพง” คงไม่พอ ในยุดที่หมูแพง มะนาวแพง ซ้ำแล้วน้ำมันยังมาแพงอีก คงพูดกันได้แค่ “ค่าแรงมันจะพอไม่พอ แต่มันก็ต้องไปต่อแหละ”

ในความเป็นจริงที่มะขามจะแทนมะนาว หรือ ใช้ดีเซลแทนเบนซิล ยังคงเป็นไปไม่ได้ทันทีสำหรับคนทั่วไป ทีมงาน RICE ลองติดตามแม่บ้าน คนทำงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำ ดูความเป็นจริงของการใช้ชีวิตด้วยค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อยิ่งเทียบกับค่าเงินเฟ้อและราคาข้าวของที่แพงขึ้นทุกวัน

ทุกคนล้วนอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาส นายทุนต่างๆ และ รัฐบาลสามารถช่วยได้ ไหวมั้ย?​

ระหว่างรอคำตอบของคำถามนี้ มีคนมากมายที่จะต้องใช้ชีวิตกันวันต่อวัน ให้อยู่รอดต่อไป

ภาพ: วรนิษฐ์ เกียรติจรัสโชติ

ค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้ไม่ใช่ 300 แต่ขึ้นเป็น 331 บาท ต่อวันแล้วนะ

เงินเดือน 15,000 บาท ในกรุงเทพก็เป็นจำนวนที่ค่อนข้างยากในการใช้ชีวิตในกรุงเทพในพ.ศ. 2565 อยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่มีรายได้ขั้นต่ำ 331 บาทต่อวัน หรือประมาณ 6,951 บาทต่อเดือน (คำนวนจาก 331 x 21 วันทำงาน) หรือคิดเป็นน้อยกว่าครึ่งนึงของเงินเดือนเด็กจบใหม่ด้วยซ้ำ แล้วเขาจะอยู่กันยังไง

พี่วันเป็นแม่บ้านที่บริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ทำโอทีต่อถึง1ทุ่ม วันจันทร์ถึงวันเสาร์ หยุด 1 วันต่ออาทิตย์ ปกติมาทำงานก็จะมีหน้าทีทำความสะอาดห้องน้ำ ดูดฝุ่น เก็บขยะ ทำความสะอาดครัวส่วนกลาง ทำความสะอาดทั่วไป

พี่วันมีเวลาพักกลางวันตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายโมง และพักช่วงบ่ายสามถึงสี่โมงเย็น หลังจากทำความสะอาดเสร็จ

พี่วันได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 331 บาท แต่บริษัทจ่ายเป็นรายเดือน รวมโอทีแล้วก็ประมาณ 10,000 บาทนิด ๆ ต่างกันไปแต่ละเดือน

พี่วันอายุ 43 ปี เป็นคนจังหวัดสุรินทร์โดยกำเนิด เข้ามาทำงานที่กรุงเทพหลังเลิกกับสามี พี่วันเล่าให้ฟังว่าเคยทำงานเย็บผ้ามา 10 กว่าปี ได้รายได้ค่อนข้างดี 700-800 บาทต่อวัน แต่พอเริ่มอายุมากขึ้น ตาเริ่มแย่ลง และปวดหลังจนทำงานไม่ไหว

พี่วันเลยตัดสินใจไปเรียนนวด แล้วเข้าทำงานร้านนวด แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้ร้านนวดปิดไม่มีรายได้ พี่วันเลยย้ายมาทำงานแม่บ้านที่นี้มาเกือบ 2 ปีแล้ว ซึ่งรายได้ก็ไม่ดีเท่าตอนทำงานเย็บผ้า หรือทำงานนวด แต่รู้สึกสบายใจกว่า เพราะงานทำความสะอาดเป็นงานที่ทำเป็นอยู่แล้ว และไม่ได้มีความกดดันว่าต้องทำมากเพื่อจะได้เงินมากขึ้น แต่ว่าสามารถจัดการเวลาทำงานเพื่อให้มีเวลาเหลือได้

เราถามพี่วันไปว่า แล้วค่าแรงขั้นต่ำนี่พอมั้ย พี่วันตอบเราทันทีว่าพอนะ แต่ก็หยุดคิดไปซักพักนึงก่อนจะบอกว่า “เพราะมีโอทีด้วยแหละ เราจนมาก่อน เลยเป็นคนประหยัดตั้งแต่สาว ๆ แล้ว อีกอย่างพี่ก็ไม่มีภาระอะไร ลูกผัวก็ไม่ต้องส่งแล้ว หนี้เน่อก็ไม่มี อยู่ตัวคนเดียว แต่ถ้าสาว ๆ กว่านี้อาจจะลำบากกว่านี้หน่อย”

พี่วันวางแผนไว้ว่าจะทำงานอีก 4-5 ปี หรือจนกว่าจะเก็บเงินสร้างบ้านของตัวเองที่บ้านเกิดได้แล้วก็จะกลับไปทำนาที่บ้าน รายได้ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิมหรอก พี่วันเคยทำนาแล้วก็เจ๊ง แต่ไม่อยากทำงานที่กรุงเทพแล้ว กลับไปอยู่ที่บ้านสบายใจกว่า

พี่วันมีลูกสองคน แต่พี่วันบอกว่าโชคดีที่สามีเก่าบ้านพอมีฐานะ เลยรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และค่าเทอมของลูกทั้งสองคนได้อย่างดี พี่วันเลยไม่มีภาระอะไรให้เป็นห่วงแล้ว เหลือแค่ส่งให้แม่ กับลูก 1 คน คนละ 1,000 บาท ที่เหลือก็เก็บเงินสร้างบ้าน

อยู่กรุงเทพก็เช่าห้องเล็ก ๆ อยู่คนเดียว เดือนนึงประมาณ 3,500 บาท รวมน้ำไฟ นั่งรถเมล์ร้อนไปกลับที่ทำงาน แวะซื้อกับข้าวมากินตอนกลางวัน 30 บาท หุงข้าวมาเองจากบ้าน

เราได้คุยกับพี่แม่บ้านอีกคนนึง พี่ส้มเล่าให้ฟังว่าเพิ่งมาทำงานแม่บ้านได้เกือบ 2 ปีเหมือนกัน ก่อนหน้านี้เคยขายของกับแฟนอยู่ที่พัฒน์พงษ์มา 18 ปี รายได้ต่อเดือนไม่แน่นอน แต่โดยรวมก็ค่อนข้างดี แต่รายจ่ายเดือนนึง (รวมถึงเงินที่ต้องจ่ายค่าปรับให้ตำรวจ) ก็หลายหมื่นอยู่ พอมีโควิด ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาทำงานแม่บ้านที่ได้รายได้ประจำดีกว่า ถามว่าพอมั้ยก็ไม่ได้พอหรอก ก็ต้องย้ายที่อยู่ เปลี่ยนการกินอยู่ แต่ก็ต้องทำเพราะมีลูกอีก 2 คนที่อยู่ต่างจังหวัดที่ยังต้องส่งเสียเลี้ยงดูอยู่ ไม่ทำก็ไม่ได้

พี่ส้มลดค่าเดินทางด้วยการมาทำงานโดยมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวกับแฟน ค่าน้ำมันเดือนนึงก็เกือบ 500 บาท ขนาดตอนนั้นน้ำมันยังไม่พีกเท่านี้นะ แล้วแบบนี้จะประหยัดยังไงดีคะท่าน มันก็ตลกดีที่คนใช้รถหลวงมาบอกให้ชาวบ้านที่ต้องจ่ายเงินเองประหยัดค่าน้ำมัน

เราแค่ลองคิดว่าถ้าเราได้เงินเดือน 6,000 กว่าบาท แต่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็น ค่าใช้จ่ายประจำ หรือ ต้นทุนคงที่ (fix cost) ต่อเดือน ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง ไม่ต้องคิดถึงเงินเก็บเลย แค่จะคิดว่าจะทำยังไงให้เงินเดือนพอถึงสิ้นเดือน ก็รู้สึกว่ายาก

มันดูเป็นความกดดันของพี่ ๆ มาก ๆ แล้วยังไม่รวมถึงเงินที่ต้องส่งไปดูแลพ่อแม่ตอนแก่ หรือค่าเทอมลูก การสร้างครอบครัวไม่ได้ง่าย และยิ่งยากเมื่อคิดถึงการสร้างครอบครัวในยุคสมัยแบบนี้

แล้ววันหยุดพี่วันกลับบ้านมั้ย ?
“ก็กลับบ้านปีละสองครั้ง ปีใหม่ กับสงกรานต์นี่แหละ ไปดูบ้านที่สร้างอยู่ด้วย”
วันอาทิตย์ก็ถือเป็นวันพักผ่อน ก็นอนเหยียดขา ดูทีวี ฟังเพลง หรือไม่ก็ซื้ออะไรมากินกับเพื่อน ก็มีความสุขแล้วแหละ

เราเคยเห็นตอนแม่มีคนมาทวงหนี้ถึงหน้าบ้านมาก่อน เราไม่อยากเป็นแบบนั้น เราอายเขา เลยตั้งใจว่าจะไม่มีหนี้ เราไม่มี เราก็ไม่กิน

เราก็ต้องมีความสุขให้ได้ในรายได้ที่เรามี คนที่ไม่พอ เพราะมัวแต่คิดถึงสิ่งที่เกินตัว

มันก็ใช่แหละนะ แต่คนเราจะหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ได้มั้ยนะ มันคือการเกินตัวรึเปล่า

เราจำได้ว่าตอนที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 300 บาท มีแต่คนกร่นด่าว่าผู้ประกอบการณ์จะอยู่ไม่ได้ แต่ลองคิดในมุมของลูกจ้างดู อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นทุกปี ของต่าง ๆ ก็แพงขึ้นตลอดเวลา

ในขณะเดียวกัน ค่าแรงขั้นต่ำกลับอยู่เท่าเดิม ทำงานเท่าเดิม แต่ต้องใช้เงินมากขึ้น เพื่อซื้อของเท่าเดิม แล้วแบบนี้ คนจะอยู่กันได้ยังไง นี้เรายังไม่ได้พูดถึงการที่ 331 บาทนี่เฉพาะในกรุงเทพนะ เพราะในต่างจังหวัด ค่าแรงขั้นต่ำจะต่ำกว่านี้

การที่ไม่เคยได้ค่าแรงขั้นต่ำ เราว่าก็ไม่น่ามีสิทธิ์ไปตัดสินคนที่ต้องอยู่

เราก็ด้วย แต่แค่จะชวนคิดว่า การได้เงิน 331 บาทต่อวัน ไม่น่าจะใช่จำนวนที่เหมาะสมกับเมืองที่ค่ารถไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุดอยู่ที่เกือบ 100 บาทเลยนะ การผลักให้คนที่อยากลดค่าใช้จ่ายลงอีกหน่อย ก็จำใจต้องใช้รถเมล์ร้อนเท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เลือกเอง แต่ถูกเลือกให้จากรายได้ที่ไม่พอ

คนที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ คือต้องใช้รถเมล์ร้อนเป็นมาตรฐานเหรอ? เราว่าไม่น่าใช่นะ เพราะคุณภาพชีวิตบนรถเมล์ร้อนดูต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นซะอีก

การที่เราต้องอยู่ด้วยเงินเดือนขั้นต่ำ เราไม่มีสิทธิ์คิดถึงการมีเงินเก็บ การลงทุนเพิ่มเติม หรือการหาความสุข (ที่ไม่พอเพียง) เลยด้วยซ้ำ

คนที่อยู่ได้ คงจะมีแต่คนที่ประหยัดมาก ๆ แต่เป็นการประหยัดแบบไม่มีเงินเก็บ ลดคุณภาพการใช้ชีวิตของตัวเองลง และห้ามหาความสุขมากกว่าการใช้ชีวิตประจำวัน

เราก็ไม่รู้ว่ามันควรแก้ยังไง ค่าแรงเท่านี้ ลูกจ้างก็ไม่ไหว แต่ถ้าขึ้นค่าแรง นายจ้างก็จะไม่ไหวเหมือนกัน อาจจะนำพาไปสู่ปัญหาการว่างงานเลยก็ได้

นี่มันงูกินหางชัด ๆ

สิ่งที่น่าจะพอช่วยได้เลยคงจะเป็นเรื่องสวัสดิการพื้นฐาน แต่ก็รู้กันว่าในกรุงเทพสวัสดิการพวกนี้เป็นยังไง ยกตัวอย่างเช่น ขนส่งสาธารณะที่ไม่ต้องถึงกับสะดวกสบายหรอก เอาแค่ไม่ต้องลำบากขนาดนี้ได้มั้ย รถเมล์ร้อนที่เวลาปกติจะเปิดรับควันรถบนถนนอย่างเต็มที่ แต่เวลาฝนตกก็ต้องปิดหน้าต่างหมด จนทำให้คนในรถหายใจไม่ออก

วันนี้การผจญภัยในเมืองหลวงของเราจบลงแล้ว เรากลับไปใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางได้เหมือนเดิม แต่กับพี่วันและอีกหลายคน สิ่งนี้ไม่ใช่แค่การผจญภัย แต่มันคือชีวิตประจำวันของพวกเขา

อีกไม่กี่ปีพี่วันคงจะสร้างบ้านได้ และกลับได้ไปอยู่กับครอบครัวซักที จากนั้นก็คงมี “พี่วัน” รุ่นต่อไปที่เข้ามาแสวงโชคในเมืองใหญ่แห่งนี้ เพื่อเก็บเงินไปมีความสุขในซักที่ ที่ไม่ใช่กรุงเทพ เพราะถ้าอยากมี ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว ที่กรุงเทพละก็ คงจะต้องมีเงินพอสมควรเลยล่ะ

Loading next article...