อยู่ก่อนแต่ง ใจแตกยังไง?

‘อยู่ก่อนแต่ง ผู้ชายไม่ (ค่อย) ผิด แต่ผู้หญิงใจแตก’ ตรรกะนี้มันเข้าข่ายความชายเป็นใหญ่ หรือแฟร์ไหมสำหรับผู้หญิง?

หลายครอบครัวสอนว่า ‘เป็นสาวเป็นแส้ อย่าทำตัวเกินงาม’ หรือ ‘​มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน’ แต่สังคมกำลังกำหนด ‘ความงาม’ และ ‘ความเหมาะสม’ คนอื่นมากเกินไปรึเปล่า? กรอบความคิดแตกต่างกันระหว่างเพศ มันสมควรแล้วเหรอ? 

นี้คือเรื่องเล่าความจริงของเหล่านั้น

‘เนย’ เพื่อนร่วมคณะตอนเรียนมหาวิทยาลัยของฉัน เธอกับแฟนเลือก ‘อยู่ก่อนแต่ง’ ต้องเผชิญด่านค่านิยมสังคม และด่านโควิด-19 ที่กระทบความเป็นอยู่ การมาคุยกับพวกเขา ทำให้ฉันเรียนรู้ความคิดตัวเองผ่านมุมมองของผู้หญิงอีกคนที่กล้าหาญ และมุมมองผู้ชายอีกคนที่พร้อมเข้าใจสิทธิสตรี

คู่รักที่อยู่ก่อนแต่งในยุคโควิด-19 อย่างเนยและพังพอน ตัดสินใจอยู่ด้วยกันตั้งแต่ 2 เดือนแรก จนถึงวันนี้ก็หนึ่งปีพอดี

ครอบครัวพังพอนไฟเขียว แค่เตือนห่วงๆ ว่าอย่าเพิ่งมีลูก 

ครอบครัวเนยไฟแดงทันที เพราะเธอเป็นฝ่ายหญิง เธอไม่เคยมีชีวิตของตัวเอง เพิ่งได้เล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียนครั้งแรกตอน 18 เพราะมหาวิทยาลัยบังคับนอนหอ 

“เวลาแม่เห็นว่าใครมีลูกก่อนแต่ง เขาจะบอกว่าอย่าทำแบบนี้นะ มันไม่เจริญ แต่ไม่ได้มีเหตุผลอื่นมากกว่านี้”  แต่เรามองว่ามันคือการอยู่ให้รู้ว่าผู้ชายคนนี้มันดีไหม เป็นเซฟโซนที่ไม่เคยมีจากที่บ้านได้หรือเปล่ามากกว่า”

“ช่วงคบแรกๆ ผมเอารูปเนยขึ้นปกไลน์ พ่อแม่ก็จะแบบ อ้าว มีแฟนเหรอ โทรมาคุยว่าเป็นใคร ชื่ออะไร แค่นี้เลยครับ ทางบ้านผมก็อนุญาตให้อยู่ด้วยกัน ให้ช่วยดูแลกัน”

“เอาจริงป้ะ มันง่ายเพราะเธอเป็นลูกผู้ชายไง ผู้ใหญ่เลยฝังหัวว่าไม่เสียหาย”

จริงอยู่ที่ครอบครัวของผู้ชายส่วนมากมักเปิดกว้าง แต่สำหรับผู้ชายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตฉันว่าการบอกครอบครัวเรื่องมีแฟนก็ยังเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะบางบ้านที่หวงลูกชายมากๆ หรือมีค่านิยมลูกสะใภ้ที่เพอร์เฟคหัวจรดเท้าอ่ะนะ

ฉันกับเนยเหมือนกันตรงที่เคยพยายามบอกแม่ตรงๆ ว่าอยากอยู่กับแฟน เพราะอยากให้พ่อแม่รับรู้ว่าลูกปลอดภัย ไม่ได้อยู่กับคนแปลกหน้า แต่ทางบ้านรับไม่ได้ แต่เนยกล้าที่จะตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตคู่ และแหกกฏเป็นครั้งแรกตอนอายุ 24

“เราเคยมีแฟนเก่า คบกันมาปีนึง แต่พอวันนึง เราต้องการเขา อยากอยู่ด้วย เขากลับไม่มา สุดท้ายต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนไป ต้องเลิกกัน เราเลยคิดว่า ถ้ามีแฟนใหม่คือต้องอยู่ด้วยกันอะ” 

“ก่อนหน้านี้เราอยู่กับที่บ้าน แต่พอเรียนจบ ออกมาทำงานข้างนอกเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ออกกองตีห้า เลิกกองเที่ยงคืน  เราเลยมีเหตุผลพอที่ทำให้แม่ยอมให้ออกมาอยู่ข้างนอก ซึ่งตอนนั้นเราเอาเงินก้อนที่เป็นของขวัญรับปริญญามาจ่ายค่าหอเดือนแรก และแอบชวนพอนมาอยู่ด้วยกัน เพราะกลับดึกมันอันตราย ไปๆ มาๆ อยู่ยาว แชร์ค่ากินค่าอยู่กันจนถึงทุกวันนี้”

“ซึ่งก็เป็นแบบที่เราคิดเลย อยู่ด้วยกันคือไม่ทะเลาะกันเท่าไหร่ เดินสองสามก้าวก็เจอกันแล้ว มันเคลียร์กันง่าย จนต้องมานั่งคุยกันว่าหาเรื่องทะเลาะกันดีไหมวะ เบื่อ เพราะวันๆ คุยกันอยู่สองคนเหมือนไม่มีเพื่อนคบ”

พังพอนได้ยินเนยตอบแบบนั้นก็หลุดขำ “ใช่ๆ ตอนอยู่ไกลกันคือคุยไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันบ่อย เช่น ผมเป็นคนตื่นเช้ามานั่งทำเพลง ส่วนเนยเป็นคนตื่นเย็น  มันก็เหลือเวลาคุยกันไม่กี่ชั่วโมง เขาก็จะแบบทำไมไม่ค่อยได้คุยกันเลยวะ เอ้า ก็มึงตื่นสาย”

“แต่พอมาอยู่ด้วยกันก็สุขใจครับ”

ฉันเห็นหลายคนอยู่ก่อนแต่งกับแฟนแล้วดูแฮปปี้จนน่าอิจฉา แต่บางคู่ก็ต้องโบกมือลาเพราะเห็นธาตุแท้ แต่ฉันว่ามองว่ายังไงข้อดีก็มีมากกว่าข้อเสีย เพราะถ้าไปกันไม่รอด ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมน่ะ ถูกแล้ว เจ็บนิดเดียวช่วงแรก แต่อนาคตก็คงชาๆ ไปเองมั้ง

พังพอนบอกว่าบางคืนรู้สึกเหมือนโดนผีอำ จนสะดุ้งตื่นขึ้นมาถึงรู้ว่าแฟนตัวเองนอนคว่ำเหมือนคอจะหัก เอาขามาพาดอยู่บนหัวเขา ช่วงแรกก็ยังไม่ชิน แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าชอบที่จะสัมผัสตัวเนยไม่ว่าจะท่าไหนก็ตาม รวมถึงต้องอาบน้ำด้วยกันทุกวันด้วย 

“เคยบอกพังพอนเหมือนกันว่าแยกกันอาบน้ำมั้ย เพราะต้องแย่งฟักบัว แต่อีพังพอนไม่ยอม เลยแก้ปัญหาด้วยการสลับกันใช้แทน”

ก่อนวันที่ตัดสินใจคบกัน เธอบอกแฟนหนุ่มว่ารสนิยมบนเตียงถ้าไม่ตรงกัน อยู่กันไปก็มีแต่ทุกข์เปล่าๆ การมีเซ็กซ์ทั้งก่อนคบ และก่อนแต่งนั้นจึงเป็นเรื่องปกติของคู่นี้ ทั้งจับเข่าคุยว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน อะไรจะทำให้มีความสุข ไปจนถึงหาวิธีป้องกันที่ลงตัว เช่น ยาคุม

แล้วโควิด-19 กระทบชีวิตไหม?

“ผมเป็นฟรีแลนซ์ สายดนตรีมันต้องพึ่งตลาดกลางคืน พึ่งคน พึ่งร้าน แต่ตอนนี้มันปิดหมดแล้ว ทุกวันนี้ต้องคิดตลอดว่าจะทำยังไงให้รอดดีวะ ” 

“เนยออกจากงานประจำมาสามเดือน เพราะทรมานมาก ถ่ายซีรีส์เรื่องหนึ่ง 

ทนความเยอะแยะในกองถ่ายไม่ไหว ด้วยความที่เราเด็กสุดในกอง เวลามีอะไรก็ชอบมาลงกับเรา ซึ่งสบายใจมากกกกก แต่ก็หนักใจอยู่ดี ว่าจะอยู่ยังไง ทุลักทุเล 

เราเลี้ยงตัวเองเพราะที่บ้านไม่ได้ให้เงินใช้ แต่ก็ยังอยู่ได้นะ เพราะเราช่วยกัน”

“เอ้อ ตอนนี้ค่าไฟ ค่าอยู่ใครมีก็ช่วยกันจ่าย เดือนนี้เขามีก็จ่าย เดือนหน้าเรามีก็จ่าย”

“แต่หลักๆ เราก็ซีเรียสกันเรื่องประหยัดค่ากินมากขึ้นเนอะ” พังพอนหันไปถามเนย

“ใช่ คุยกันทุกเดือน ช่วงนี้ก็จะซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเองตกวันนึงไม่ถึง 300 บาท แต่อยู่ได้ 3 วัน พอนจะเป็นคนจำกัดแคลอรี่ และดูเรื่องโภชนาการให้”

“การลงทุนซื้อพวกตู้เย็น หม้อหุงข้าว เตาไฟฟ้า กระทะ ไว้ตอนมีเงินมันก็ดีเหมือนกันนะ เพราะพอวันที่เราจะประหยัดจริงๆ มันเวิร์คมาก ยิ่งเราอยู่กันสองคน เราสามารถทำเมนูเหมือนที่อยากสั่ง แต่กะปริมาณไว้พออิ่มได้ และประหยัดได้มากกว่าซื้อเอา” 

“แล้วยิ่งพอนชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว มันก็จะรู้ว่าอาหารควรกินกี่กรัม ข้าวเยอะไหม ในจานต้องมีโปรตีน ไฟเบอร์ เท่าไหร่ กี่แคลอรี่ถึงอิ่ม ซึ่งเราเป็นคนกินข้าวน้อยมาก มันก็บังคับเราให้กินเยอะขึ้น เพื่อให้อิ่มนาน ไม่หิวง่าย กินจุกจิก”

เวลาทั้งคู่จะทำเมนูในแต่ละมื้อ จะออกปากถามกันก่อนว่า อยากกินเมนูนี้ด้วยกันไหม เพื่อหาทางรอด ที่รอดทั้งอิ่มท้อง และรอดทั้งค่าใช้จ่าย เพราะตอนอยู่คนเดียว คงไม่มีใครมาเตือนสติใครได้

ทั้งคู่บอกไม่ได้มองไกลถึงแต่งงาน แค่อยากทำเป้าหมายให้เสร็จไปทีละขั้น ซึ่งขั้นแรกๆ ที่อยากก้าวไปให้ถึงคือทำให้ที่บ้านไว้ใจ และเห็นว่าการอยู่ก่อนแต่งน่ะเหมาะสมกับยุคสมัยและมีข้อดี ‘ไม่ได้ใจแตก’ เหมือนที่สังคม หรือใครก็ตามบอกว่ามันมีแต่แง่ลบ

หลังคุยกับพวกเขาจบลง ฉันนั่งนิ่งๆ อยู่หน้าคอมพักหนึ่ง แล้วย้อนมองชีวิตตัวเอง 

แฟนคนก่อนๆ ของฉัน เราจบกันด้วยเรื่องอะไร? ไม่รู้จักกันมากพอ ไม่ได้อยู่ก่อนแต่ง เอาค่านิยม ‘คนอื่น’ มาตัดสินความสัมพันธ์ของตัวเอง

รึเปล่า?

Loading next article...