My Nostalgic Neighborhood – อ่อนนุชกับความสงบที่หายไป
ผมไม่ใช่คนอ่อนนุชโดยกำเนิด เพราะไม่ได้เกิดแถวนี้ แต่ถ้านับเวลาที่อยู่บนถนนเส้นนี้มาเกือบๆสามสิบปี ตอนนี้ก็คงกลายเป็นคนที่นี่โดยสมบูรณ์ไปแล้ว

พ่อกับแม่หาซื้อบ้านหลังแรกตอนผมอายุได้ห้าขวบ จำได้เลือนรางว่าต้องนั่งรถเก๋งคันเล็ก (และเก่า) จากบ้านคุณยายแถวพระโขนง ขับปุเลงๆ ข้ามสะพานเลี้ยวซ้ายเข้าถนนอ่อนนุชเพื่อหาที่อยู่ใหม่ วิ่งไปๆกลับๆหลายรอบ ผมต้องหลับๆตื่นๆเพราะความน่าเบื่อที่ต้องนั่งรอผู้ใหญ่เลือกอยู่นาน สุดท้ายก็เราก็ได้บ้านใหม่เป็นทาวน์เฮ้าส์เล็กๆหลังหนึ่งในหมู่บ้านสร้างใหม่ไม่ไกลจากปากซอยใหญ่นัก ตอนนั้นคุณยายยังบอกแม่ว่าย้ายไปอยู่ซะไกล เดินทางลำบากก็อดทนเอาหน่อย เพิ่งเริ่มสร้างตัวใหม่ๆก็แบบนี้ หมายความว่าที่ดินย่านอ่อนนุชในตอนนั้นยังมีราคาไม่แพงนักและสะดวกตรงที่อยู่ใกล้เมืองมาก

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความทรงจำที่ผมมีเกี่ยวกับถนนเส้นนี้

ตึกแถวหน้าตลาดอ่อนนุชที่เคยคึกคักกลับซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด จากในภาพถ้ามองดีๆจะเห็น 'เพลินเบเกอรี่' ร้านเบเกอรี่เก่าแก่ที่อยู่คู่ซอยอ่อนนุชมานานหลายสิบปีอยู่ด้วย
คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าถนนอ่อนนุชมีความยาวเลยแยกถนนศรีนครินทร์ ผ่านถนนพัฒนาการ ถนนเฉลิมพระเกียรติ และวิ่งไปจนสุดที่เขตลาดกระบัง

แต่คนอ่อนนุชอย่างผมกลับรู้สึกว่าอ่อนนุชที่ผมรู้จักเริ่มตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 77 มาจนถึงแค่เลยเส้นศรีนครินทร์ไปเล็กน้อย เพราะโดยปกติก็ใช้ชีวิตอยู่ไม่เกินไปกว่านี้ แต่พื้นที่ ‘อ่อนนุช’ ที่อยากเล่าในนี้ก็ยิ่งแคบลงมาอีก เพราะจะพูดถึงจากปากซอยมาไม่เกินแยกสวนหลวง (อ่อนนุช 17) ซึ่งเดิมความเจริญก็สิ้นสุดลงแถวๆนี้ แต่เพิ่งเริ่มมีอะไรใหม่ๆให้เห็นแบบก้าวกระโดดราวๆสิบกว่าปีมานี้นี่เอง

ฟุตบาทเดี๋ยวนี้สะอาดขึ้นมาก พ่อค้าแม่ขายที่เคยเป็นแผงค้าอยู่ริมถนนก็เข้าไปจับจองล็อคในอาคารกันเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่สิ่งที่หายไปคือความมีชีวิตชีวาแบบเดิมที่หาซื้อไม่ได้จากที่ไหน
ด้วยความที่ติดกับถนนสุขุมวิท ถ้าออกจากซอยเลี้ยวซ้ายก็เป็นทางไปบางนา-สมุทรปราการ-บางปู เส้นทางตากอากาศของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เลี้ยวขวาก็เข้าเมืองไปพระโขนง-คลองเตย-สุขุมวิท หรือจะไปย่านกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกใกล้ๆ เช่น ศรีนครินทร์ – ลาดกระบัง – หรือ หัวตะเข้ ก็ต้องมาต่อรถกันที่นี่ เริ่มตั้งแต่ใต้สะพานพระโขนงซึ่งเป็นจุดจอดใหญ่ที่สุด แล่นมาหยุดรับคนหน้าซอยสุขุมวิท 73 และจะหยุดรับอีกทีหน้าตลาดอ่อนนุช หรือเลยตลาดอ่อนนุชไปนิดในชั่วโมงเร่งด่วน เรียกว่าจะไปไหนก็ต้องพึ่งระบบการคมนาคมตรงนี้เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะรถสองแถว รถเมล์ เรือ หรือแม้แต่แท็กซี่ที่ถ้าเรียกแถวนี้ก็มีโอกาสได้ขึ้นมากกว่าตรงอื่น
ท่าจอดรถสองแถวใต้สะพานพระโขนง จุดหมายของรถสองแถวเหล่านี้แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะวิ่งผ่านซอยอ่อนนุชทั้งนั้น เช่น หมู่บ้านมิตรภาพ ป้ายกระทรวง หรือตลาดเอี่ยมสมบัติ ซึ่งอยู่บริเวณแยกอ่อนนุช-ศรีนครินทร์ เป็นต้น ผมขึ้นสองแถวที่นี่ครั้งแรกน่าจะเที่ยวละสามบาทหรือสามบาทห้าสิบตังค์ จนล่าสุดที่ขึ้นรู้สึกจะกลายเป็นเก้าบาทไปแล้ว
ถ้าเดินเข้ามาจากถนนสุขุมวิท ฝั่งขวาของถนนเป็นร้านค้าห้องแถว ตรงนี้มีร้านขายของจิปาถะทั่วไป ส่วนทางเดินริมฟุตบาทที่แสนจะแคบนั้นเต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าที่เอาของมาวางบนแผง อย่างเนื้อปลา ไก่ สารพัดผัก ไปจนถึงกับข้าวถุงและของใช้สารพัดอย่าง ทำให้แถวนี้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทางและศูนย์รวมความฟู่ฟ่าของย่านนี้ไปอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าจะให้เทียบกับในเมืองก็ยังห่างชั้นความ ‘ไฮโซ’ เพราะไม่ได้มีของนำเข้าหรือราคาแพงมากมายเท่าไหร่ มีแต่ของที่ชาวบ้านใช้กันในชีวิตประจำวันเป็นหลัก
ผมเคยได้ยินแม่บอกว่าฝั่งนี้ส่วนใหญ่เน้นขายอาหารสำเร็จรูป หรือเครื่องปรุงเล็กๆน้อยๆ เพราะเป็นทางผ่านเดินเข้าอ่อนนุชจากถนนสุขุมวิทเส้นหลัก ส่วนแม่เลือกที่จะจ่ายตลาดฝั่งตลาดอ่อนนุชมากกว่า ถ้าวันไหนตื่นเช้าตามมาตลาดด้วย จะได้ยินเสียงแม่ทักเจ๊แม่ค้าขายผลไม้ก่อนเป็นคนแรก เพราะแผงอยู่ใกล้กับปากทางเข้าที่สุด ก่อนจะเดินไปเลือกของสดอย่างของทะเลเจ้าประจำ แม่บอกว่าเจ้านี้ซื้อมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่เขาขาย ตอนนี้กลายเป็นอีกเจนเนอเรชั่นไปแล้วก็ยังอุดหนุนกันอยู่ ข้อดีของการซื้อของแบบนี้ก็คือเขามักจะเลือกของดีๆเอาไว้ให้ อะไรที่ไม่ดีก็บอกกันก่อนโดยที่ไม่ต้องมาคอยจ้ำจี้จ้ำไชกันให้รำคาญ เราไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ ตามประสานิสัยของคนสมัยนี้ที่ต้องระแวงกันซะทุกอย่างเพื่อป้องกันอีกฝ่ายเอาเปรียบ แต่ก็เลือกที่จะไม่พูดเพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่ายดีกว่า ส่วนด้านในสุดของตลาดเป็นกลุ่มชุนชนจากจังหวัดอ่างทองที่เอาของมาขายที่นี่ทุกวัน บ่ายๆเย็นๆก็พากันกลับบ้าน ไปๆมาๆแบบนี้กันอยู่นาน
ชีวิตในซอยอ่อนนุชเมื่อก่อนเป็นสังคมที่ผมเรียกว่าสังคมเรื่อยๆ คือไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากย่านชานเมืองทั่วๆไป ไม่มีแลนด์มาร์คอะไรโดดเด่นให้พูดถึงนอกจากวัดและวัดและวัด ถ้าลองเดินลึกเข้ามาในซอย วัดแรกที่เจอคือวัดใต้ที่อยู่คู่ชาวอ่อนนุชมานาน แต่วัดดังของชาวอ่อนนุชที่คนน่าจะรู้จักกันทั้งประเทศกลับเป็นวัดมหาบุศย์ หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อวัดแม่นาคที่อยู่ถัดมา นี่น่าจะเป็นไอคอนของย่านอ่อนนุช ทั้งๆที่ชื่ออยู่พระโขนง เพราะอันที่จริงเดิมแถวนี้ก็เรียกกันว่าทุ่งพระโขนงทั้งหมด แต่ก่อนวัดมหาบุศย์เป็นวัดที่มีศาลและศาลาไม้ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นวันที่ปรับปรุงจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม โดยเฉพาะถ้าเข้าไปวันเสาร์อาทิตย์ทีไรก็จะเจอกับคนมากมายที่เข้ามาไหว้ทุกที มีทุกรุ่นทุกวัย แสดงให้เห็นว่าตำนานผีสางนางไม้และความเชื่อด้านนี้ของคนไทยไม่เคยเสื่อมถอยไปตามวันและเวลา ในทางกลับกัน แม้อ่อนนุชจะเจริญมากขนาดไหน มีคนรุ่นใหม่มาอยู่เพิ่มขึ้นซักเท่าไหร่ แต่แรงศรัทธาของผู้คนรุ่นใหม่ๆก็ไม่เคยลดน้อยลงเลย
วัดมหาบุศย์หรือวัดแม่นาค ที่บริเวณวัดกว้างขวาง สะดวกและสะอาด ไม่มีภาพน่ากลัวตามจินตนาการหลงเหลืออีกต่อไป
ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานิดเดียวก็เลี้ยวไปถนนสุขุมวิทหรือพระรามสี่แล้ว แต่พอตกกลางคืน ชาวอ่อนนุชก็พร้อมจะปิดประตูบ้านไปกินข้าวและใช้เวลาอยู่กับครอบครัวกันแล้ว จะมีก็แต่แยกสวนหลวงหรืออ่อนนุช 17 ที่ยังคงคึกคักเพราะขบวนร้านอาหารรถเข็นสารพัดเจ้าที่เปิดขายตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงสี่ห้าทุ่ม เหมือนเป็นครัวกลางให้กับบ้านที่ขี้เกียจทำกับข้าวหรืออยู่คนเดียวให้มาใช้บริการ แต่ถ้าใครเกิดหิวขึ้นมาหลังจากนั้นก็คงต้องพึ่งมาม่าสถานเดียว เพราะแม้แต่เซเว่นก็ไม่ใช่ของหาง่ายที่นี่

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในซอยอ่อนนุชเริ่มขึ้นพร้อมๆกับการมาของสถานีรถไฟฟ้า เดิมที่นี่คือปลายทางสิ้นสุดรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทด้านหนึ่ง สิ่งที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดคือบ้านหลังโต สนามหญ้ากว้างๆ ที่เรียงรายอยู่ริมถนนเริ่มหายไป และถูกแทนที่ด้วยป้ายโครงการคอนโดขนาดใหญ่ขึ้นมาแทน คอนโดในช่วงแรกนี้มีราคาไม่แพงนัก เหมาะสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อไม่มาก อาศัยว่าเดินทางเข้าเมืองสะดวกโดยการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้น

กลุ่มทุนขนาดใหญ่เริ่มขยับตัวตอบรับการพัฒนาเมืองทางด้านนี้ด้วยการเปิดห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่โลตัสอ่อนนุชที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าชนิดมีทางเชื่อมเดินเข้าไปได้ ถัดมาก็เป็นคาร์ฟูร์ที่เปิดตรงข้ามกับตลาดอ่อนนุช ก่อนจะเปลี่ยนเป็นบิ๊กซีในภายหลัง ตอนเปิดใหม่ๆ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดถึงกับบ่นกันอุบว่ายอดขายตกไปมากจากแต่ก่อน ผมเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคกลางของชาวอ่อนนุชที่เริ่มปรับตัวจากการเดินตลาดเป็นเดินห้าง จากเดิมที่เคยซื้อของเพราะความจำเป็น เช่น อยากกินไส้กรอกนำเข้าจากเมืองนอกแต่ขี้เกียจไปไกล ซื้อไส้กรอกตราหมูตัวเดียวที่ขายในตลาดกล้อมแกล้มสนองความอยากไปก่อนก็พอทน มาตอนนี้ก็ยอมเสียเงินนิดหน่อยนั่งรถไฟฟ้า สละเวลาไม่กี่นาทีไปซื้อในซูเปอร์ไฮโซที่เอ็มโพเรียมแล้วนั่งกลับมาเข้าครัวได้เลย ตลาดแถวนี้ก็เลยถูกลดความสำคัญลงไปอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าจะมีการปรับปรุงให้เห็นอยู่เป็นระยะก็ตาม
ตอนแรกที่ดินแปลงนี้เป็นปั๊มน้ำมันข้างตลาด ก่อนจะเปลี่ยนเป็นห้างสะดวกซื้ออย่างคาร์ฟูร์ และเป็นบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าในทุกวันนี้ แต่ในอนาคตเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะกลายเป็นอะไรต่อไปอีกหรือไม่
ครอบครัวของเราพักอยู่บ้านหลังเก่าที่กับพ่อแม่ซื้อไว้หลายปี เมื่อสถานที่เดิมเริ่มคับแคบ เราตกลงกันว่าจะย้ายตัวเองไปอยู่ในซอยอ่อนนุชที่ลึกกว่าเดิม เพราะเบื่อความแออัดทางด้านต้นซอย แต่ก็ยังต้องใช้เป็นทางผ่านอยู่เสมอ บางครั้งเรายังแซวกันเองว่าหรือนี่จะได้เวลาย้ายเข้าไปให้ลึกกว่าเดิมอีกครั้ง เพราะจากเดินที่ซอย 17 คือเขตสิ้นสุดความเจริญสมัยก่อน แต่ตอนนี้หน้าซอยบ้านเก่ามีสุกี้ ธนาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมงมาเปิดให้บริการไปแล้วเรียบร้อย เอาเข้าจริงก็คือสะดวกมากถ้าหากยังใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้

หันกลับมาดูที่ร้านอาหารริมทางตรงแยกอ่อนนุช 17 ที่อยู่มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี อันนี้ก็เป็นอะไรที่เปลี่ยนไปมาก ด้วยกฎหมายใหม่ของ กทม ทำให้ร้านเหล่านี้ต้องย้ายตัวเองเข้าไปในตึกแถว ซึ่งก็ดีในแง่ของความสะอาดและเป็นระเบียบ ทางเท้าไม่สกปรก แต่หลายร้านก็ถือโอกาสนี้ย้ายเข้าไปในบ้านตัวเองที่อยู่ซอยข้างๆ หลายร้านก็ถือโอกาสเลิกกิจการกันไปเลยก็มี ซึ่งเมื่อความเจริญก้าวมาถึงหน้าประตูบ้านอย่างในยุคนี้ ที่นี่ก็เลยกลายเป็นแหล่งจอดรถของพนักงานส่งอาหารดิลิเวอรี่หลายเจ้าที่รอคอยออร์เดอร์จากทางบ้าน จะได้ไปซื้อและจัดส่งให้ลูกค้าได้ทันท่วงที แสดงให้เห็นว่าคนในคอนโดยุคนี้จำนวนไม่น้อยก็ไม่ค่อยนิยมเดินออกมาหาของกินแถวบ้านกันแล้ว แต่เลือกที่จะใช้บริการจัดส่งและเสียเงินจำนวนไม่มากนักเพื่อและกับความสบายแทน

พนักงานขับรถส่งอาหารของแอพลิเคชั่นต่างๆใช่้บริเวณนี้เป็นจุดจอดรถรอออร์เดอร์จากลูกค้าที่อยู่ตามคอนโดต่างๆบนถนนเส้นนี้เป็นหลัก
ไม่กี่วันนี้ผมลองแวะกลับเข้าไปดูในตลาดใหม่อีกครั้ง หลังจากไม่ได้เข้าไปนาน ผมพบว่าหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก แผงในตลาดหายไปหลายร้าน นี่ยังไม่นับโซนหน้าตลาดที่เมื่อก่อนมีร้านขายหนังสือ ร้านซ่อมวิทยุ ร้านพวงมาลัย หรือร้านของเด็กเล่น ส่วนใหญ่พากันปิดตัวกันไปหมด เหลือแค่ไม่กี่ร้านที่ยังคงอยู่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีนัก ถ้าดูจากแบบของสินค้าที่วางโชว์อยู่ในร้านก็คงสังเกตถึงสภาพคล่องได้ดี ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะโทษใคร ระหว่างร้านค้าที่ไม่ยอมปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา หรือเงินทุนเจ้าใหญ่ที่เข้ามาฮุบโอกาสทางการขายสินค้าของรายย่อย
หลายแผงว่างลงจากเดิมเนื่องจากไม่มีผู้เช่ารายใหม่เข้ามาใช้งาน
สิ่งที่เข้ามาแทนร้านค้าปลีกที่สู้ห้างใหญ่แสนทันสมัยฝั่งตรงข้ามได้ส่วนหนึ่งก็คือร้านนวดแผนโบราณ ย่านนี้มีด้วยกันอยู่หลายร้านทั้งสองฝั่ง ร้านนวดเหล่านี้อาจจะสะท้อนภาพของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเก็บเงินซื้อคอนโดใกล้เมือง และเหนื่อยล้าจากการทำงานจนต้องคลายเมื่อยด้วยวิธีเหล่านี้ ทำให้ธุรกิจลักษณะนี้เติบโตดีอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนร้านที่ไม่เคยเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่กลับมียอดซื้อขายดีตลอดกาลก็คือร้านขายล็อตเตอรี่ ‘แม่จำเนียร’ เจ้าใหญ่ที่เป็นขวัญใจคอหวยมาช้านาน ทำให้เราเห็นว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน ความ ‘อยากรวย’ และความฝันถึง ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ ก็ยังคงเป็นแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นล่างและชั้นกลางที่อยากยกระดับสถานะของตัวเองด้วยแรงเงิน
แผงล็อตเตอรี่ที่ยังคงคึกคักไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ โดยเฉพาะวันที่ 1 และ 16 ของเดือน
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้รุกคืบเข้ามาอย่างแนบเนียนและรวดเร็ว โดยค่อยๆกลืนวิถีชีวิตแบบเก่าให้หายไปได้อย่างไม่ทันตั้งตัว ถ้าหากไม่ได้นั่งคิดอย่างจริงๆจังๆ บางอย่างเราก็ลืมไปแล้วว่าเคยมีและเคยเป็นอย่างไรมาก่อน เช่น เมื่อลองเดินเข้ามาในซอย จะเห็นว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือจำนวนของคอนโดมิเนียมที่งอกขึ้นมาเต็มไปหมด ตึกสูงพวกนี้มาพร้อมๆกับรถไฟฟ้าและดูไม่มีทีท่าที่จะหยุด นี่คงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถในซอยติดขึ้นหลายเท่า เปลี่ยนระยะเวลาที่ใช้ในการขับรถออกมาปากซอยจากสิบห้านาทีเป็นอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงในเวลาปกติ แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างช่วงเช้า หรือช่วงเย็น ซึ่งเป็นเวลาไปทำงานและเลิกงาน บอกได้เลยว่าเลิกคิด ถ้ารีบจริงๆการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ดูจะเป็นทางเดียวที่เหมาะที่สุด
การเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างตอนเช้าหรือตอนเย็น มอเตอร์ไซค์คือทางรอดเดียวที่เหลืออยู่สำหรับคนรีบ ไม่อย่างนั้นก็ต้องตื่นแต่เช้า หรือกลับมาอีกทีดึกๆให้พ้นช่วงเวลารถติดไปก่อน
ทุกวันนี้อ่อนนุชกลายมาเป็นย่านที่ครึกครื้นไปด้วยผู้คนแทนที่จะเป็นย่านเงียบๆแบบเดิม ถ้าถามผมว่าเสียดายอะไรในอ่อนนุชที่สุด ตอบได้แบบไม่ต้องคิดว่าคิดถึงความเป็นชานเมือง ความบ้านๆของมันที่เคยมีอยู่เดิม ความง่ายและความจริงใจของพ่อค้าแม่ขาย แต่ความเจริญก็ให้ความสะดวกสบายหลายอย่างแทน ถ้ารถไฟฟ้ายังมาไม่ถึง ย่านนี้ก็คงเป็นย่านชายขอบของกรุงเทพที่สี่ทุ่มก็ปิดประตูบ้านเข้านอนกันหมด เหลือไว้แต่ร้านข้าวต้มโต้รุ่งและแผงขายพวงมาลัยริมทาง ซึ่งในฐานะที่เป็นชาวอ่อนนุชมาเนิ่นนาน ผมคงหยุดการพัฒนาของสังคมเมืองและโลกทุนนิยมที่แพร่ขยายไปทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศไม่ได้ แต่ก็อยากจะบอกว่ามันไม่ได้เลวร้ายหรือแย่ไปซะหมด เพราะทุกๆอย่างที่เสียไปก็มีสิ่งดีๆอย่างอื่นเข้ามาทดแทนเสมอ
ถ้าอยากรู้ว่าความเงียบของกลางคืนในซอยย่อยอ่อนนุชเมื่อก่อนเป็นยังไง ให้ลองมองไปที่ซอยย่อยเล็กๆแถบต้นซอยที่ยังมีหอพักราคาถูกและที่ดินว่างเปล่า สลับกับบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ที่ยังพอเหลือให้เห็นอยู่บ้างตอนช่วงดึกๆก็จะได้คำตอบ
เว้นแต่ว่าสิ่งเดียวที่ผมคิดว่าสิ่งที่โลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็คืออดีต
Loading next article...