Punk in Patani : คนพังก์ในปัตตานี
ครั้งหนึ่งเคยมีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนหนึ่งในสามจังหวัดสามจังหวัดชายแดนที่เรียกตัวเองว่า ‘พังก์’ โดยแสดงออกผ่านทางการแต่งตัวและจัดงานคอนเสิร์ต ท่ามกลางสังคมที่ค่อนข้าง conservative

ผมมีคำถามว่าเมื่อก่อนเขาอยู่กันยังไง? แล้วเดี๋ยวนี้ชาวพังก์เหล่านั้นหายไปไหนหมด? เมื่อนึกขึ้นมาแล้วก็อยากจะรื้อฟื้นความทรงจำและทำความเข้าใจสังคมในช่วงเวลานั้น เมื่อมีประเด็นหลักที่อยู่ในใจแล้วก็เริ่มหาข้อมูลและติดต่อผู้คนรอบๆตัวจนได้พูดคุยกับ ‘อาดัมพังก์’ สหายรุ่นน้องที่มีลุ๊คกวนๆ เป็นคนแรก เขาคนนี้คือผู้เชี่ยวชาญในงานอาร์ตเวิร์ค แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพ่อค้าขายขายโรตีเจ้าเก่าแก่ในสายบุรีอีกด้วย

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2000 อาดัมคือหนึ่งในชาวพังก์ในดินแดนมลายูแห่งนี้ เขาเริ่มต้นชีวิตวัยรุ่นด้วยการฟังเพลงตามกระแสทั่วๆไป ก่อนจะฟังแบบจริงจังตอนปลายยุค 90’s

“จำได้ว่าตอนนั้นได้นั่งดูวีดีโอคอนเสิร์ต family value 98′ กับรุ่นพี่ ดูแล้วก็ได้แต่คิดในใจว่านี่มันอะไรเนี่ย!! เปิดโลกของตัวเองมากเพราะไม่เคยดูอะไรแบบนี้ มีคนทำบอดี้เซิร์ฟ มันดูรุนแรง ไม่เคยเห็นมาก่อน หลังจากนั้นมันก็พาผมไปสู่เพลงอีกแบบนึงตลอดกาล โดยเริ่มจากฟังวง green day เชื่อว่าเด็กพังก์ในยุคเดียวกันจะฟังวงนี้ก่อน ก่อนจะหาวงเก่าๆ อย่าง Ramones sex pistols ฯลฯ มาไล่ฟังต่อ

“อันที่จริงผมเป็นเด็กเนิร์ดๆ การที่ได้ฟังเพลงแบบนี้ทำให้เราปลดปล่อยอีกบุคลิกหนึ่ง ผ่านการฟังเพลงและการแต่งกายที่จัดจ้าน แต่เราเป็นพังก์ที่ไม่ชอบใส่กางเกงขาด เจาะหู เพราะมีกรอบในเรื่องศาสนาที่เป็นข้อห้าม ซึ่งมันก็มีความย้อนแย้งภายในตัวของคนๆหนึ่ง เพราะความเป็นพังก์โดยเนื้อแท้มันก็คือการไม่เอาผู้ปกครองและพระเจ้าทั้งปวง มันคงไม่แปลกถ้าวัยรุ่นทั่วๆไปเกิดอยากจะเป็นพังก์ แต่พอเป็นกลุ่มคนที่เป็นมลายูมุสลิม ผลลัพธ์มันก็จะออกมาประมาณนี้ และจะไม่หลุดไปกว่านั้น มันก็เหมือนกับพังก์ที่อยู่ในอังกฤษมันก็จะหัวแหลมแหลม แต่ถ้าพังก์ที่แคลิฟอร์เนียมันก็จะออกเป็นเด็กใส่กางเกงสามส่วนเป็นเป็นเด็กสเก็ตพั้งก์ หรือเด็กปอเนาะโรงเรียนสามัญสอนศาสนาใส่เสื้อขาวกางเกงขาวใส่โซ่คล้องกระเป๋าเข็มขัดหนามก็เป็นพังก์ได้เหมือนกัน”

ผมถามอาดัมว่าปัจจุบันนี้ยังคิดว่าตัวเองเป็นพังก์อยู่ไหม? เขาบอกว่าตัวเองยังเป็นเหมือนเดิม ยังคงประชดประชันสังคมผ่านงานที่ทำหรือเคยเป็นมาตั้งแต่สมัยยังวัยรุ่น เมื่อได้รับคำตอบแล้วผมจึงหันไปพูดคุยกับ ‘เดล’ ฟาเดล ผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นพังก์ในวิถีของความเป็นนักต่อต้านเป็นคนที่สอง

“ผมว่ากระแสพังก์ในอดีตมันก็ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่ใหญ่โตอะไรขนาดนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งในตอนนั้นมันก็มีคนที่รับมาโดยไม่ได้ผ่านวัฒนธรรมพังก์โดยตรง แต่ผ่านกระแสของสังคม แฟชั่น ดนตรี แต่ถ้าถามว่ามันมีพลวัตอะไรในสังคมก็ตอบได้มันคือการแสดงออกถึงการต่อต้านได้ชัดเจน”

ฟังแล้วผมก็สงสัยว่าคำว่าพังก์นั้นคือการต่อต้านอย่างไร?

เดลบอกว่า “มันคือการต่อต้านอำนาจที่เหนือกว่าโดยคนที่ไม่มีสิทธิชี้นำอะไรเลยกับคนที่มีสิทธิชี้นำทุกอย่างของสังคมโดยการใช้เครื่องมือชี้นำทางศาสนา ความรู้ การเมือง เป็นการต่อต้านวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมาแล้วพยายามชี้นำวัยรุ่น เช่นผู้ใหญ่ถูกเสมอเด็กผิดทุกอย่าง อะไรก็ตามมันก็มีผลทำให้คนที่อยู่ข้างล่างรู้สึกต่อต้านนั้นได้ทั้งหมด”

สิ่งที่ผมสงสัยอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มเด็กพังก์นอกกรอบเหล่านี้มีความขัดแย้งกับพวกหัวอนุรักษ์นิยมในพื้นที่ไหม?

“ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่ในอดีตมีให้เห็นชัดเจน เช่นการกล่าวในการคุตบะ (การบรรยายธรรมในการละหมาดใหญ่วันศุกร์) การการพยายามตักเตือนในการบรรยายในเนื้อหาศาสนา ที่กล่าวถึงวัยรุ่นทำผมแดงแต่งตัวเหมือนตะวันตก ใส่กางเกงยีนส์ขาดขาด ผมเองก็เคยโดนทำทรงผมเดรดล๊อกเข้ามัสยิดคนมองด้วยสายตาที่ไม่โอเคทั้งมัสยิด

“ที่นี่สังคมผู้ใหญ่วิพากษ์ในสิ่งเหล่านี้ แต่ปัจจุบันความเข้มข้นของอิทธิพลทางดนตรีมันน้อยลง มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่เพื่อกล่าวถึงวัยรุ่นที่มีลักษณะแสดงออกของการต่อต้าน ทำตัวนอกกระแสสังคม ปัจจุบันจากพังก์ก็กลายเป็นพวกสุดขอบ พวกหัวแข็งพวกสุดโต่ง พวกคิดนอกกรอบ เด็กอินดี้ เด็กแนว hipster ปัจจุบันแฟชั่นการแต่งกายพังก์ ทำผมโมฮ๊อก ย้อมผมสีชมพูเเทบจะหายไปในสังคมมลายูปัตตานี มันถูกแทนที่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น พวกอิ้นดี้ก็จะแต่งตัวแบบอินดี้ hipster ก็จะมีวิถีแบบhipster คนที่เป็นพังก์ในอดีตก็ไม่ได้มาจับกีต้าร์ไม่ได้แต่งตัวจัดเหมือนแต่ก่อนแล้วบางคนก็เป็นผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนตามสภาพสังคมแวดล้อม มันก็จะมีเด็กรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกับสังคมมาแทนที่จะเรียกว่าพวกเขาหรือนิยามว่าเป็นอะไรก็ตามคนประเภทนี้ก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆจนวันสิ้นโลก”
ผมขอสรุปไว้ตรงนี้ว่าแม้จะไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างที่ควรจะเป็น แต่พังก์ในปาตานีก็ยังคงอยู่ แต่ถูกแปรสภาพเป็นอย่างอื่นแทนที่ด้วยวัฒนธรรมและกระแสนิยมใหม่ๆ ด้วยสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งในพื้นที่ ปาตานีพังก์อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นการต่อต้านที่มีอารยะมากขึ้น และเป็นการต่อต้านเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้นก็เป็นไปได้
Loading next article...