ศรัทธา ฮาจัด

พระ เฮฮา ยิงมุก แทรกธรรมะ – พระมหาไพรวัลย์ กับ พระมหาสมปองไลฟ์สอนธรรมะทาง Facebook มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจริง ๆ อย่างที่เราเห็นกัน

แต่มีคนได้ประโยชน์จากสิ่งนี้และทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพุทธศาสนาได้มากขึ้นจริง ๆ นี่นา 

การทำอะไรตามขนบหรือการปรับตัว อย่างไหนจะดีต่อศาสนามากกว่ากันล่ะ?

ภาพ: จิตติมา หลักบุญ

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เราเห็นพระมหาไพรวัลย์กับพระมหาสมปองนั่งไลฟ์ทางโซเชียลมีเดีย 

ชงมุก ตบมุก ยิงมุก สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจนมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ดูเผิน ๆ ก็ขัดกับภาพพระสงฆ์ที่เราเคยเห็น ชวนให้คิดว่าระหว่างความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมกับแนวคิดแบบสมัยใหม่อันไหนจะดีต่อตัวศาสนามากกว่ากัน

สำหรับเราหลาย ๆ เรื่องก็เป็นดาบสองคม จะใช้ Facebook เผยแพร่ธรรมะ หรือส่องภาพสีกาในเวอร์ชั่นยั่วยวนก็ได้เหมือนกัน  ไม่ได้เฉพาะยุคนี้หรอก ข่าวที่แสดงให้เห็นถึงด้านมืดอย่างพระเล่นยา พระมั่วสีกา พระตุ๋ยเด็ก พระแอบดูหนังสือโป๊ พระเล่นการพนัน ก็มีมาตั้งแต่เราจำความได้… ก่อนจะมี Social Media ด้วยซ้ำ

เราอยู่กับ ‘ซินดี้’ ในบรรยากาศสบาย ๆ ตอนบ่าย หลังจากเพิ่งแยงจมูกตรวจ ATK ไปก่อนมาสัมภาษณ์  เธอคือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าการสอนธรรมะไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว 

ซินดี้เติบโตมาในครอบครัวพุทธ… แบบที่คนที่บ้านตื่นไปใส่บาตรทุกเช้า แต่เธอดันได้ไปเรียนโรงเรียนคริสต์ ด้วยความเป็นเด็ก เธอคิดว่าศาสนาพุทธดูเข้าใจยากมากกกก… มีศัพท์ยาก ๆ เต็มไปหมด 

“พรหมวิหาร 4, อุเบกขา คืออะไร? เราไม่เข้าใจนะเว้ย เรารู้สึกว่าภาษาพวกนี้มันเข้าใจยาก เราก็เลยไม่อยากเรียนศาสนาพุทธไง ไปเรียนศาสนาคริสต์ละกัน”

พอย้ายไปเรียนและลองนับถือศาสนาคริสต์ก็ได้เพื่อนใหม่เพิ่มเป็นของแถม และคำสอนหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี สิ่งหนึ่งที่ซินดี้ได้จากศาสนาคริสต์คือการรักและให้อภัย 

“เรื่องมิตรคงไม่แปลก แต่ศัตรูเราว่ามันคือการสอนให้เราไม่ผูกใจเจ็บ ให้เรารู้จักให้อภัย ก็คล้าย ๆ กับพุทธเลยนะ เหมือนการอโหสิกรรม”

เธอไม่ได้จะเปรียบว่าศาสนาไหนดีหรือแย่กว่ากัน แต่ถ้าศาสนาพุทธเข้าถึงได้ง่ายขึ้นก็คงจะดี 

“เราว่าไบเบิลใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายกว่า แต่ถ้าให้มาอ่านพระไตรปิฎกนี่เราว่ายากมาก”

… แน่ล่ะว่าพอที่บ้านรู้ก็บ้านแตก หลังจากนั้นเธอก็กลายเป็นคนไม่มีศาสนาอีกเลย 

แต่ …

เมื่อไม่กี่ปีก่อน  ซินดี้เริ่มกลับมานั่งทำความเข้าใจกับศาสนาพุทธอีกครั้ง… ศาสนาพุทธจริง ๆ ที่ไม่ได้มีการอาบน้ำมนต์ ต่อดวงชะตา หรืออภินิหารแบบหนังแฟนตาซีที่ปล่อยพลังใส่กันโป้งป้าง ถึงได้เปิดใจและยอมรับมากขึ้น…

ยิ่งเมื่อเจอกับแนวทางการสอนธรรมะแบบติดตลกย่อยง่ายของพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง ก็ทำให้เธอสนใจศาสนามากขึ้นอีก

ก็แน่ล่ะ ถ้าพูดถึงพระสงฆ์ ภาพแรกที่โผล่มาในหัวคือ ผู้ชายแก่ ๆ เดินช้า ๆ พูดช้า ๆ  ท่าทีสงบ สำรวมวาจาและกิริยา ดูน่าเคารพนับถือ… แต่! ไม่ได้หมายความว่าพระแบบในจอที่ยิงมุกพูดคุยกันอย่างสนุกสนานจะไม่ได้น่านับถือนี่นา

“คือเรารู้สึกว่าอย่างพระมหาไพรวัลย์มาเทศน์ให้ดูตอนนี้จะอยู่ที่ไหนก็ฟังได้ อยู่ที่บ้านจะนั่งท่าไหนฟังก็นั่งไปเหอะ ถูกมั้ยล่ะ? มีแทรกมุกตลก มันย่อยง่าย ฟังง่าย เปิดด้วยมุกตลกก่อนแล้วคำสอนก็จะตามมา” 

“มันคือสิ่งที่โคตรเป็นความจริงเลย ศาสนาพุทธอะ”

สำหรับซินดี้ ศาสนาพุทธสอนให้เธอมองโลกตามความเป็นจริง และรู้ทันจิตใจตัวเองมากขึ้น มีพบก็ต้องมีจาก ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน หรือเมื่อเกิดเรื่องอะไรแย่ ๆ ก็สามารถปล่อยวาง ให้อภัย ไปต่อได้เร็วกว่าเดิม และจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพราะจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็อยู่ที่ตัวเรานั่นแหละ 

เธอได้แนวคิดทัศนคติจากหนังสือธรรมะก็มาก แต่จากการไลฟ์ของพระมหาไพรวัลย์กับพระมหาสมปองก็เยอะ ต่อให้ไลฟ์มันจะ… ตลกก็เถอะ

ซินดี้บอกว่าควรดูที่เจตนามากกว่า การกระทำของคนเรามันมักมีเหตุผล แล้วการที่พระมหาไพรวัลย์กับพระมหาสมปองไลฟ์ ท่านไม่ได้ไลฟ์ไปเรื่อย หรือแค่มาเล่นตลกให้ดู แต่มีการสอดแทรกธรรมะอยู่ในนั้น นั่นก็เพราะท่านต้องการให้คนเข้าถึงธรรมะมากขึ้น โดยใช้วิธีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย… 

การสอนศาสนาควรปรับให้เข้ากับยุคสมัยและผู้รับสารให้มากกว่านี้ สำหรับเราจะมีคนรุ่นใหม่อ่านหนังสือธรรมะเล่มหนา ๆ ซักกี่คน แต่ถ้า Facebook ล่ะก็เล่นเกือบทุกคนแหละ เพราะงั้นจะไลฟ์สอนธรรมะในนั้นก็ถูกแล้วนี่นา 

ใครจะรู้ อีกซัก20-30 ปี เราอาจได้เห็น Hologram พระ พร้อมกับฉากในโบสถ์แบบ 3 มิติ ส่งตรงถึงห้องนั่งเล่นที่บ้านก็ได้ ฮ่า ๆ

ซินดี้เป็นครูดนตรีที่กำลังเรียนต่อด้านการศึกษา  เธอบอกเราว่านักเรียนแต่ละคนจะมีกระบวนการเรียนรู้ที่ถนัดไม่เหมือนกัน บางคนถนัดอ่าน บางคนถนัดลงมือทำ บางคนถนัดดู เพราะงั้นเรียนการสอนควรปรับไปตามสิ่งที่ผู้รับสารถนัด

“คือบางคนอาจถูกจริตกับการอ่านก็ได้ แบบโคตรจะวิชาการ โคตรจะเป็นภาษาเข้าใจยาก โคตรจะปรัชญาก็ได้ บางคนก็อาจจะชอบดู แต่ฉันไม่ชอบดูอะไรที่น่าเบื่อนะ อะไรแบบนี้…. ก็เป็นไปได้”  เราฟังแล้วก็พยักหน้าเห็นด้วย

ซินดี้เล่าว่าลูกศิษย์เธอหลายคนชอบมาบ่นให้ฟังถึงวิชาต่าง ๆ ที่น่าเบื่อในรั้วโรงเรียน วิชาพระพุทธศาสนาก็เป็นหนึ่งในชื่อที่เธอได้ยินบ่อย…  พอถามว่าดูพระมหาไพรวัลย์มั้ย… เด็กตอบว่าดูเพราะตลกดี นี่เป็นอีกเรื่องที่พอคิดดูก็ขัดแย้งกัน… ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ในแวดวงเขาจะว่ายังไง แต่เราว่าควรเก็บจุดนี้มาคิด

“เด็กรู้จักพระมหาสมปองจากที่ท่านไปเล่นกับแก๊งอะไรไม่รู้ ที่เป็นตลกอะ เออ ออกทีวีอย่างงี้ เค้าก็เลยสนใจมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วพอเห็นมาไลฟ์กับพระมหาไพรวัลย์ตอนนี้ก็เลยติดมากกกก เนี่ย เด็กเข้าถึงศาสนาได้จากนี่แหละ ทางทีวี… อีกแล้วววววว” – ซินดี้ตอบมาด้วยน้ำเสียงปนหัวเราะ

พูดถึงวิชาพระพุทธศาสนา ความทรงจำอันเลือนรางของเราจำได้ว่าตอนป.4 ป.5 มีครูคนนึงสอนสนุกมาก  เพราะแทรกมุกตลกไปด้วยสอนไปด้วยนี่แหละ แต่นอกจากนั้นทั้งชีวิตการเรียนในโรงเรียน เราไม่เคยรู้สึกว่าวิชานี้สนุกอีกเลย 

ใช่ครับ… ผลพวงจากความไม่สนุก มันทำให้เราเรียนไปวัน ๆ แบบให้พอผ่าน ๆ ไป เราจำได้แค่ พุทธประวัติคร่าว ๆ , อริยะสัจ 4, กับจำชื่อปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ 4 คน คือ โกณฑัณยะ วัปปะ มหาณามะ อัสชิ… แถมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสะกดชื่อถูกหรือเปล่า ฮ่า ๆ (น่าจะผิดแหละ)

ซินดี้เสริมขึ้นมาว่าถ้าโรงเรียนทำวิชาพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงง่ายขึ้น ปรับภาษาให้เข้าใจง่าย ย่อยให้สนุก หรือสอนแค่ว่า เรามีวิธีคิดแบบนี้   อาจจะไม่ได้ตั้งชื่อว่าวิชาพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ แต่เรียนแล้วสบายใจ เอามาใช้ได้จริง เด็กก็อาจจะอยากเรียนนะ” 

เราและซินดี้ก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะหาจุดตรงกลางของสองแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับสมัยใหม่ให้เจอ ซึ่งแค่พูดน่ะมันง่าย แต่จะทำให้สำเร็จน่ะมันยาก… เพราะคำว่าตรงกลางของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน

สุดท้ายแล้วเราคิดว่าทุกอย่างต้องยอมปรับตัวไปตามยุคสมัยนั่นแหละนะ ก็อย่างเช่นเดี๋ยวนี้มีการขายของออนไลน์ มีสั่งอาหารผ่านแอป ไม่เหมือนตอนเราเด็ก ๆ ที่ต้องไปขอเบอร์จากร้านมาเอง หรือจะสั่งก็คงสั่งได้แค่พิซซ่ากับเคเอฟซี

เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็ออนไลน์ ศาสนาก็คงไม่น่าจะใช่ข้อยกเว้น

Loading next article...