ก่อนข้ามเพศ ทำไมเราถึงกลัว?

มากกว่า ก้าวข้ามเพศกำเนิด (เพื่อให้มีเพศสภาพที่ตรงกับใจ) ยังมีความ ‘กลัว’ มากมายที่ทรานส์เจนเดอร์ต้องข้ามไปให้ได้

แอ๊บแมน ปลอมตัวในที่ทำงาน เข้าห้องน้ำชาย โดนแกล้ง ตัดผม แต่งชาย คือความยากลำบาก ก่อนการพิสูจน์ตัวเองจนได้ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงเต็มตัว นี่ก็เป็นเหตุผลที่เราแวะเวียนมาคุยกับ ผู้หญิงข้ามเพศ ที่ชื่อ ‘เต้ย’ 

แม้ฟังดูไม่แฟร์เลยที่เต้ย หรือ LGBTQ+ หลายคนต้องพิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็น แต่พอคุยกับเธอจบ ก็รู้เลยว่าคนที่ต้องสู้กับสังคมที่เปิดกว้างทางเพศ แต่บางพื้นที่ยังไม่เปิดใจจริง ๆ มันไม่ง่ายที่จะทำให้คิดบวกรอบด้าน…

… เพราะชีวิตยังไม่สิ้น ก็ยังต้องสู้กันต่อไปอะหญิง!

ยุคนี้เป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารพลุ่งพล่าน เด็กสมัยนี้สามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้มากกว่าแต่ก่อน จะเด็กผู้หญิงที่อยากโตไปเป็นผู้ชาย หรือเด็กผู้ชายที่อยากโตไปเป็นผู้หญิง ต่างรู้ตัวได้เร็วตั้งแต่มัธยมว่า ความรู้สึกที่เพศสภาพ ไม่ตรงกับเพศกำเนิด คือ ตัวตนของ ‘คนข้ามเพศ’

แต่ในยุคของ ‘เต้ย’ สาวเจ้าของห้องวัย 34 ปี ที่ริมหน้าต่างข้างเตียงนอนเต็มไปด้วยชุดเดรสหลากสี ซึ่งเราเพิ่งชมไปว่าชุดสวยทั้งนั้นเลยค่ะ เธอตอบยิ้ม ๆ “อัดอั้นมานาน เลยซื้อชุดเก็บไว้เยอะ ช่วงวัยรุ่น ไม่ค่อยได้ใส่ไง (หัวเราะ)” 

“ตอนฝึกงานที่มหาลัย เราต้องแต่งชาย ใส่สูท ตัดผมสั้น ใส่ยูนิฟอร์ม พอมาอยู่ในโลกการทำงาน เราเลยจำว่า เออ ถ้าเราเข้าไปในองค์กรแล้วแต่งชาย มันคงจะมีโอกาสมากกว่า เพราะไม่รู้ว่าเขาจะคิดยังไงกับเรา”

ที่ผ่านมาเราเห็นทรานส์เจนเดอร์ หรือ LGBTQ+ โลดแล่นในสายงานบันเทิง เป็นพิธีกรบ้าง ช่างแต่งหน้าบ้าง หรือครีเอทีฟ ซะส่วนใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้ผิด แต่สะท้อนได้ว่าทรานส์เจนเดอร์นอกเหนือจากสายครีเอทีฟนั้นยังมีที่ยืนน้อยกว่า หรือถูกนำเสนอบนสื่อน้อยกว่า ทำให้เต้ยมีความกดดัน เมื่อเธอเป็นอีกคนที่ไม่อยากมุ่งไปตามเส้นทางที่ใครเขาบอก

“เราเข้าไปในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทเยอรมันด้านเครื่องจักร ถึงเราจะไว้ผมยาวไปแล้ว เทคฮอร์โมนไปแล้ว แต่งหญิงบ้างแล้ว แต่เราก็ต้องตัดใจ ตัดผมทิ้ง ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงสแล็ก เพื่อทำให้เขายอมรับ”

“แล้วก็… อึดอัดมาก ที่ต้องเข้าห้องน้ำชาย มีคนทักว่าเข้าห้องผิดปะเนี่ย หรือต้องพูดครับตลอดเวลา แต่ทั้งหมดก็เป็นความกดดันของเราเอง ที่อยากจะพิสูจน์ให้คนเห็นความสามารถ มองเราเป็นฟันเฟืองที่สำคัญจนไม่อยากเสียเราไป ถ้าวันนั้นมาถึงเราก็จะได้เป็นตัวเองแน่ ๆ”

ไม่ว่าเต้ยจะนิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ กะเทย หรือไม่นิยามอะไรเลย สมัยก่อนการที่ไม่ตรงกรอบความเป็นชาย ก็ล้วนถูกผลักเป็นคนชายขอบอยู่ดี เธอบอกเราว่า “ที่ต้องทำให้ที่ทำงานยอมรับ เพราะไม่อยากกลับไปโดดเดี่ยวเหมือนตอนเด็ก ๆ แต่พอเขายอมรับแล้ว โห โคตรมีความสุขเลย”

“จริง ๆ เรารู้ตัวว่าไม่ใช่ผู้ชายมาตั้งแต่มอหนึ่ง แต่เพิ่งยอมรับว่าอยากเป็นผู้หญิงตอนใกล้จะเรียนจบ และพ่อแม่ก็เพิ่งยอมรับเราตอนทำงานไปได้ 3 ปี ที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งคำถามอะไรเลยว่าฉันเป็นอะไร แต่บอกกับตัวเองตลอดว่าอย่าเป็นทรานส์ เพราะชีวิตต้องยากแน่ ๆ แต่สุดท้ายก็เป็น (หัวเราะ)”

“สมัยนั้นคนมองทรานส์คือตัวตลก เลวร้าย ไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่มีโรลโมเดลยืนยันว่าการเป็นทรานส์แล้วจะปลอดภัย เราเลยเป็นเด็กผู้ชายเรียบร้อย แอ๊บแมน เวลาพ่อแม่แนะนำเพื่อนเขาว่าลูกชาย เราก็จะผ่านไปได้ เข้าสังคมได้ง่ายกว่า เพราะถ้าแต่งหญิง คงถูกแบน หรือมีอันตรายทันที”

เต้ยทนแต่งชาย และตั้งใจพิสูจน์ตัวเองในที่ทำงาน ทำตัวจริงจัง ไม่เคยคิดจะพัก หรือวอกแวก จนได้รับการประเมินดีตลอด โดยที่เพื่อนร่วมงานไม่เคยยกเรื่องเพศมาค้านความสามารถ 

เมื่อเข้าสู่ปีที่สามที่ทำงาน เธอเริ่มเสริมหน้าอก แต่สวมเสื้อแจ็กเกตเพื่อพลางรูปร่าง และค่อย ๆ ลองเปิดเผยตัวตนกับเพื่อน ๆ ทีละนิด เริ่มจากไปกินข้าวนอกเวลางานด้วยชุดผู้หญิง ไปงานเลี้ยงบริษัทด้วยชุดผู้หญิง และเริ่มใส่เสื้อที่ดูเฟมินีน ขยับมาเรื่อย ๆ จนแต่งหญิงเป็นชีวิตประจำวัน

“คือเราต้องค่อย ๆ ทำทีละนิด เพื่อดูเชิงว่าเขาจะโอเคกับเราแค่ไหน ตอนนั้นกลัวมาก ด้วยความที่เรามีเพื่อนสนิทน้อย แล้วไม่รู้ว่าคนรุ่นเก่า ๆ เขาจะมองเรายังไง แต่ก็อยากลอง เพราะคิดแค่ว่า ถ้าไม่ลอง ก็ไม่รู้”

นอกจากจะไม่มีใครว่าเต้ยสักคน ทุกคนยังซัปพอร์ตเธอเต็มที่

เหตุผลที่เต้ยติดนิสัยระแวงคน ก็มีที่มาที่ไป เธอเล่าย้อนไปตอนสมัยเรียนชายล้วน ที่ถ้ามีใครตุ้งติ้งในโรงเรียน คนนั้นจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ทำให้เต้ยเปรียบเทียบการไปเรียนแต่ละวัน เหมือนอยู่ในสนามรบ

“คนเหมือนตั้งค่าความคิดในหัวว่าเป็น LGBTQ+ คือเรื่องที่ผิด แม้แต่ครูยังตัดสินนักเรียนจากเพศ ครูชอบบอกนักเรียนชายที่มาแกล้งเพื่อนกลุ่มเราว่า ตายละ เธอมีรสนิยมแบบนี้หรอ เพื่อนก็ยิ่งได้ใจล้อเราว่า ตุ๊ด กะเทย ใช้กำลัง จับแขนเราแรง ๆ”

“พอมีประชุมผู้ปกครอง ครูที่โรงเรียนจิ้มคนที่เป็นกะเทย หรือตุ้งติ้ง ออกมาแล้วรายงานที่บ้านทันทีว่าพฤติกรรมไม่เหมาะสม พ่อเราเป็นทหารเรือ เข้มงวดมาก ส่วนแม่ก็แคร์เรื่องสายตาคนในสังคม ว่าเขาจะมองครอบครัวเรายังไง ก็เลยทะเลาะกัน”

“พ่อบอกให้เราเลิกคบกับเพื่อน ให้เราทำตัวแมน ๆ เราเลยบอกว่า ถ้าทุกวันนี้เต้ยยังเป็นเด็กดี แสดงว่าเพื่อนพวกนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไรหนิ พ่อก็ฟังนะ แต่ก็ไม่ได้บอกว่ายอมรับอยู่ดี”

“ยุคนั้นเราเลยรักเพื่อนมาก ๆ เพราะมีกันอยู่แค่นี้ ต้องสู้รบกับเสือสิงห์กระทิงแรดในโรงเรียน (หัวเราะ) ไม่มีครูสักคนรับฟังเรา”

ความรู้สึกที่ไม่มีคนรับฟัง ฟังดูเศร้าเหมือนกันนะ เป็นไงบ้างตอนนั้น – เราถาม 

“เรากลัวการเข้าสังคมมาก ตอนมอปลายเราได้ไปเรียนที่อเมริกา เราขังตัวเองในห้องน้ำตอนพักกลางวัน เพราะไม่มีเพื่อน แต่โชคดีที่ครูมาเห็น มาชวนเราคุย ชวนเราไปกินข้าวด้วย เขาเห็นว่าเราตัวคนเดียวเลยพาไปปิกนิกบ้าง ไม่มาถามถึงเพศสภาพสักนิด ไม่ต้องมีโมเมนต์คัมเอาต์เหมือนในละคร ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองลบ ๆ ของครูไปเลย สงสัยที่ผ่านมาเราแค่ยังไม่เจอครูดี ๆ เองมั้ง”

การได้เจอสักคนที่เข้าใจในตัวตน สำหรับเรามันเหมือนของขวัญชิ้นพิเศษที่ทำให้อยากใช้ชีวิตต่อได้เลยนะ ยิ่งเป็นคนที่ตลอดชีวิตไม่มีใครรับฟังมาก่อน แล้วอยู่ดี ๆ มีคนยื่นมือมาช่วย…โห โคตรวิเศษ 

ตอนปิดเทอมช่วงปีสาม เต้ยกลับไปที่อเมริกาเพื่อทำงานพิเศษ แต่ครั้งนี้เธอได้เจอกับคนที่จุดประกายให้เธอเป็นเธอ ว่าแล้วเต้ยก็เปิดรูปตอนสวมชุดเดรส และรู้ตัวว่าเป็นผู้หญิงครั้งแรกให้ดู พร้อมเล่าความรู้สึกให้ฟัง

“ตอนอายุ 21 เราเริ่มทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ พี่รูมเมตที่เป็นผู้หญิง เขาชวนเราไปเปิดโลก เปิดสังคม แล้วถามเราว่า พี่มีชุดนี้อยู่ เต้ยอยากลองใส่ไหม ตอนนั้นลึก ๆ อยากใส่มาก แต่ก็กลัว สุดท้ายพอใส่ เฮ้ย เราก็น่ารักดีนะ (หัวเราะ)”

“วินาทีแรกที่ออกจากห้องคือตื่นเต้นมาก เราจะเป็นตัวประหลาดไหม คนจะมองยังไง แต่คนรอบข้างกลับเอ็นดู ไม่มีใครล้อ เราสามารถเป็นผู้หญิงได้อย่างปกติ หลังจากนั้นเลยแต่งหน้า พี่รูมเมตก็กันคิ้วให้ ชวนแต่งตัว เราก็รู้ตัวเองว่า นี่แหละคือสิ่งที่ฉันเป็น และไม่คิดจะปฏิเสธมันอีกแล้ว”

ด้วยความที่พ่อแม่ยังไม่เคยเห็นเธอแต่งหญิง กลับมาไทยเธอจึงเอาส้นสูง และเครื่องสำอางที่ซื้อจากอเมริกาใส่กระเป๋า พกไปมหาลัยทุกวัน และก่อนกลับบ้านก็ลบมันทิ้ง และเปลี่ยนรองเท้า 

“มันอาจจะยังมีความสุขไม่สุด เพราะยังไม่สามารถแต่งหญิงให้ที่บ้านเห็นได้ แต่อย่างน้อยมันคือความกล้าเล็ก ๆ จากอเมริกา ที่ทำให้เรากล้าจะเป็นตัวเองตลอดทั้งวันที่มหาลัย”

“แต่ความทรงจำวัยเด็ก ก็ย้อนมาทำให้เรารู้สึกด้อยกว่าคนอื่นอยู่ดี ที่ผ่านมาเราคิดว่าเราต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องทำอะไรที่มากขึ้น เรียนดี เพื่อให้คนยอมรับ พ่อแม่ก็จะไม่ว่าอะไรเรา ความคิดนี้มันส่งผลมาจนเรียนจบ เราตัดผมไปสมัครงาน เพราะกลัวบริษัทไม่ยอมรับ แม้เขาจะไม่ได้บอก”

ในวันนี้ที่เธอทำงานมาเกือบสิบปีในที่ทำงานเดิม ช่วยหล่อหลอม และสอนให้เธอรู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่ใจร้ายกับเธอ เพราะสุดท้ายอาจจะมีคนใจดีรอพบเธออยู่เสมอ

“สังคมที่ดีคือสังคมที่ทำให้เราเป็นเรา เต้ยรู้สึกโชคดีที่ได้เจอสังคมที่ดี ถึงอดีต มันจะมีเรื่องไม่ดีเยอะ แต่ตอนนี้มันดีแล้ว ก็ดีใจที่ผ่านมาได้”

“โห วินาทีแรกที่ออกจากห้องผ่าตัดแปลงเพศ ต่อให้ร่างกายเราเจ็บ แต่จิตใจเรารู้สึกดีมาก จากคนที่ไม่กล้าส่องกระจกมองท่อนล่างเพราะอึดอัด พอกลับมาส่องกระจกครั้งนี้ เรารักตัวเองแบบที่ไม่เคยรักมาก่อน ความเจ็บอื่นหลังจากนี้ที่เข้ามาคงทำอะไรฉันไม่ได้แล้วแหละ”

แล้วที่บ้านล่ะ โอเคไหม?

เต้ยพูดเสียงสั่น และน้ำตาคลอ แต่น้ำตาของเธอ คือความดีใจ

“ก่อนหน้านี้เวลาต้องหยิบชุดแมน ๆ มาใส่ เพื่อให้ที่บ้านปลื้ม เมื่อก่อนเราติดหอม ติดกอดพ่อแม่ แต่พอเขาเริ่มจับผิดเรา พ่อก็จะบอกว่าเป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง ไม่ต้องมากอด มาหอมแล้ว เสียใจเหมือนกันนะ และคิดว่าเราผิดมากเลยหรอ ก็เลยตีตัวออกหากจากเขา”

“พอโตมา ทำงานได้ 2-3 ปี เราซื้อคอนโดอยู่เอง แต่ทุกเสาร์อาทิตย์ จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ วันนึง พ่อดูทีวีกับเรา แล้วบอกว่า เต้ยอยากแต่งตัวอยู่บ้านยังไง หรือออกไปข้างนอกจะแต่งตัวยังไง พ่อไม่ว่าเลยนะ ตอนนั้นรู้แล้วว่า ในที่สุดเขาก็ไม่ได้กีดกัน”

“กลับมาสนิทกับแม่ คุยกันมากขึ้น เรื่องสวย ๆ งาม ๆ คือคุยสนุกมาก”

“เวลาพ่อกับแม่แนะนำเพื่อน เขาเรียกเราว่าลูกสาว และดีใจกับการที่เราประสบความสำเร็จ ได้อยู่ในองค์กรดี ๆ หาเงินเรียนโทเอง”

แม้ทุกวันนี้ เต้ยจะบอกว่า เธอยังระแวงคนอยู่บ้างตอนเข้าสังคม กลัวว่าคนอื่นจะคิดกับเธออย่างไร จึงไม่กล้าทักทายใครก่อน หรือบางครั้งก็ต้องทำตัวเป๊ะอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวคนมาตัดสิน

“ปกติเราเป็นคนร่าเริงมาก แต่พออยู่ในที่ทำงาน เราต้องเป็นคนสตรอง เพื่อให้เขาเชื่อถือเรา ยอมรับเรา ดุหน่อย พูดตรงหน่อย เพราะเมื่อไหร่ที่เราเฮฮา กลัวคนจะมองว่าเราไม่มีวุฒิภาวะ เพราะเราเป็นทรานส์คนเดียวในออฟฟิศที่มีคนรุ่นเก่า ๆ ค่อนข้างเยอะ”

“ถึงมันจะไม่แฟร์ ที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง หรือเสียใจที่ต้องผลักตัวเองให้เก่งอยู่ตลอด เพื่อจะได้เป็นตัวเอง แต่ในตอนนั้น ถ้าเต้ยไม่พิสูจน์ เต้ยก็ไม่มีจุดยืนในสังคมอยู่ดี”

เรามองโปสเตอร์หนังเรื่อง Wonder Woman ที่ติดไว้ข้างฝาผนังห้องของเธอ สลับกับเต้ย ภาพทับซ้อนที่เห็นตรงกัน คือเธอผ่านเรื่องราวมากมาย และขึ้นชื่อว่าเป็นสาวเก่ง และแกร่งในคนเดียว

“ฟังดูอาจจะเวอร์ ๆ แต่สุดท้ายพอเรารักตัวเอง ได้มีร่างกายเป็นของตัวเอง หลาย ๆ อย่างที่ต้องเจอเราก็พร้อมจะสู้ต่อ”

“อืม…แต่ถ้าเป็นไปได้ ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ เต้ยก็อยากเห็นสังคมพัฒนามากขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น ไม่ว่าจะการทำงานที่หลากหลาย หรือไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ก็ขอให้ทุกอย่างไม่มีเพศมายึดติด” 

“ที่ผ่านมาเก่งมากเลยค่ะ” เราบอกเต้ยหลังกดหยุดเรคคอร์ด

เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่สู้อยู่เหมือนกันนะ : )

Loading next article...