Disposable Me: (กล้อง) ใช้แล้วทิ้ง: โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

[Roll #6: โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง]

“ที่นี่ได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง เรามีอิสระมากกว่าในโรงเรียนในระบบ” นี่คือเสียงเล็กๆ จากนักเรียนแห่ง ‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง’ จังหวัดบุรีรีมย์

เด็ก ๆ เล่าชีวิตประจำวันในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางท้องนาให้เราฟังว่าพวกเค้ามีความสุขมากกว่าชีวิตที่โรงเรียนในระบบมากแค่ไหน น้องๆ เล่าให้ฟังว่าชีวิตเค้าเปลี่ยนไปมากหลังจากได้เรียน ‘วิชาชีวิต’ ด้วยการเล่นดนตรี นั่งสมาธิ สร้างบ้านดิน ฝึกโยคะ และ ปลูกผักกินเอง

[Disposable Me / (กล้อง) ใช้แล้วทิ้ง] เป็นซีรีย์ที่เอากล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งไปฝากให้คนแปลกหน้าถ่าย เพื่อเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเขา ที่แม้แต่เราเองก็อาจจะนึกไม่ถึง

 “โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง” แห่งนี้ตั้งอยู่กลางท้องนาสีเขียวขจีในจังหวัดบุรีรัมย์  ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนวิชาชีวิตที่โรงเรียนหลักไม่ได้สอน

ทุกปิดเทอมและหลังเลิกเรียนน้อง ๆ จะมาใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ส่วนช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ ก็จะกลับเข้าเรียนในเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่จังหวัดตามปกติ

น้อง ๆ ที่นี่มีเพดานเป็นท้องฟ้า กำแพงเป็นภูเขา ทำให้จินตนาการของพวกเค้าดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด

น้ำเสียงสดใสและเห็นรอยยิ้มของน้อง ๆ ทำให้นึกถึงชีวิตตัวเองสมัยประถมที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบ ต้องแข่งกันเรียน นั่งอุดอู้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมทุกวัน

เสียงใส ๆ ทักทายเข้ามามาผ่าน video call ต่อสายตรงมาจากกลางทุ่ง 

เรามองผ่านภาพจากกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งฝีมือน้อง ๆ แล้วสัมผัสได้ถึงอิสระเสรีของเด็กวัยกำลังซน 

“ชอบโดดน้ำ !” 

“โดดน้ำ ! โดดน้ำ ! โดดน้ำาาาาาาา !” 

เสียงที่ตะโกนเข้ามาตามสายย้ำให้เรารู้ว่า บ่อน้ำที่นี่มันสนุกจริง ๆ นะ !

ทุกวันนี้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลาทั้งวัน นั่งอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมเพื่อเรียนให้ทันตามหลักสูตร แต่เราลืมไปแล้วว่าเด็กก็มีความรู้สึกไม่ต่างกับผู้ใหญ่ เค้าสมควรจะมีที่นั่งเรียนสบาย ๆ และช่วงเวลาผ่อนคลายที่มากพอ ไม่ต่างอะไรกับเราที่อยากนั่ง work from home ในห้องทำงานสงบ ๆ 

ห้องเรียนธรรมชาติออกแบบมาเพื่อการใช้ชีวิต ความรู้สึกของเด็ก ๆ ที่ได้อยู่ใต้ชายคาอันร่มเย็นของโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ทำให้พวกเค้ารักการไปโรงเรียน

“ถ้าเป็นไปได้เราอยากให้โรงเรียนปกติมีแบบที่โรงเรียนเล็กค่ะ อยากให้โรงเรียนมีสภาพดีกว่านี้ ไม่อยากให้เครียดค่ะ 

เสียงรอบข้างเวลาเรียนดังไปหมด เวลาเรียนในห้องอากาศร้อนมาก นั่งเบียดกัน คนในห้องก็เยอะด้วยค่ะ หนูเลยไม่ค่อยอยากไปโรงเรียนค่ะ” 

ชีวิตที่โรงเรียนในระบบกับโรงเรียนที่นี่มันต่างกันมาก 

ห้องเรียนในโรงเรียนทั่วไปมีนักเรียนตั้ง 50 คน นั่งอัดกันในห้องสี่เหลี่ยม อากาศก็ร้อน เสียงรถวิ่งก็ดัง ส่วนที่นี่มีนักเรียนแค่สิบกว่าคนวิ่งเล่นอยู่กลางทุ่ง 

เด็ก ๆ ไม่ค่อยอยากพูดถึงโรงเรียนในระบบเท่าไหร่ แต่อยากเล่าความรู้สึกที่มีต่อห้องเรียนธรรมชาติให้ฟังมากกว่า เราลองถามเด็ก ๆ ว่าถ้าให้มาโรงเรียนนี้ทุกวันล่ะ ? โอเคไหม ? 

“อยากมาบ่ ?” น้ำว้า พี่สาวคนโตอยู่ชั้นม. 3 หันไปถามน้อง ๆ ให้ 

“อยากกก !” เด็ก ๆ ตะโกนกลับมาเสียงดังฟังชัด 

“ที่นี่ได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เรามีอิสระมากกว่าในโรงเรียนในระบบ” 

“ตอนอยู่รร.ปกติไม่มีอิสระเลย มีแค่เวลาพัก ระเบียบในห้องเยอะมาก มีเข้าห้องน้ำก็ให้เราไปเข้าได้แค่ทีละสองคน” แพรวาเล่าให้ฟัง

น้องน้ำว้าเล่าให้ฟังว่าช่วงปิดเทอมนี้น้อง ๆ จะมากินอยู่ที่นี่ทุกวัน ส่วนกิจวัตรประจำวันคือการตื่นตั้งแต่ตี 5 ไปเดินเขา ฝึกโยคะตั้งแต่เช้าตรู่ สายมาก็เริ่มซ้อมดนตรีกัน ส่วนครูลี่จะฝึกให้เด็ก ๆ นั่งสมาธิก่อนเริ่มเล่นดนตรีทุกครั้ง 

“ดนตรีทำให้หนูใจเย็นลงมาก ๆ ทำให้หนูมีสมาธิ คุณพ่อคุณแม่ชอบให้หนูเล่นดนตรีค่ะ เค้าจะมาส่งตอนเช้า แล้วก็มารับตอนเย็น”

ช่วงนี้เด็ก ๆ ออกไปแสดงดนตรีข้างนอกไม่ได้ ช่วงนี้ก็เลยจัดไลฟ์ในเพจของโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างไปก่อน ทำให้เด็ก ๆ เค้ามีความกระตือรือร้นในการซ้อมเอามาก ๆ 

“เวลาเรายืนอยู่บนเวทีเราจะบอกตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็ตั้งสมาธิค่ะ หายใจลึก ๆ มองไปข้างหน้า ถ้าเป็นหนู หนูจะมองไปให้ไกลที่สุดค่ะ แล้วก็คิดซะว่าไม่มีคนอยู่ตอนที่เราร้องเพลง”

“ตอนไลฟ์ไม่ค่อยตื่นเต้นเพราะมีแค่ผู้ปกครอง มันสนุกมากกว่าเวลาที่เราเล่นบนเวทีค่ะ”

วิชาชีวิตช่วงปิดเทอมนี้ เด็ก ๆ เค้ากำลังช่วยกันสร้างห้องเรียนจากดิน 

จริง ๆ แล้วการเล่นแบบไม่มีของเล่นคือการส่งเสริมจินตนาการเด็กได้ดีกว่าของเล่นจากโรงงาน แล้วธรรมชาติก็คือของเล่นที่สุด เพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพคือการปล่อยให้เด็กได้ออกไปทดลองกับของเล่นที่ไม่มีคำตอบตายตัว 

เราจะเอาดินมาปั้นเป็นตุ๊กตา หรือจะเอามาสร้างบ้านก็ได้

มองแล้วชวนให้เราคิดถึงชีวิตธรรมดาและการกลับไปเป็นเด็กทุกครั้งที่ได้เห็น

รู้มั้ยเนี่ยว่าทำไมเด็กต้องมาโรงเรียนทุกวัน ? เราลองถามต่อ 

“ไม่รู้เหมือนกันค่ะ แต่ต่างประเทศ เรียนแค่วันละไม่กี่ชั่วโมงค่ะ เค้าจะแต่งตัวยังไงก็ได้” น้ำว้าพูด

จะว่าไปเราก็ไม่ค่อยแน่ใจกับคำตอบ เพราะถ้าให้ไปนั่งฟังครูสอนเรื่องวิชาการนาน ๆ เราก็ไม่อยากไปทุกวันเหมือนกัน

“หนูว่าคณิตไม่จำเป็นเลยค่ะ เราไม่เคยต้องไปถอดรูทที่ตลาด แม่ค้าไม่ได้ถามนิคะว่ามันกี่รูท” 

น้องเค้าคิดเหมือนเราตอนเด็ก ๆ อ่ะ ก็เดี๋ยวนี้มันมีเครื่องคิดเลขแล้วนี่ จะเสียเวลานั่งเรียนสูตรเลขพวกนี้ทำไม ?

“ตั้งแต่เรียนที่นี่มามีอะไรในตัวเองที่เปลี่ยนไปไหม ?” เราลองถามดู 

“ความหล่อครับ ฮ่า ๆ ๆ ๆ ๆ” 

“จริง ๆ ก็เปลี่ยนครับ เรื่องการเข้าสังคม การทำมาหากินเอง แล้วก็การปลูกต้นไม้ หลาย ๆ อย่างที่เราไม่ได้ทำครับ” 

น้ำเสียงและแววตาที่มีความสุขของน้อง ๆ ถูกส่งผ่านมาตามสาย เรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นเด็กมีความสุข บางครั้ง การบังคับให้เค้าเป็นอะไรแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการมันก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป 

เค้าอาจจะฝันอยากเป็นอะไรที่เราไม่อยากให้เป็นก็ได้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องแย่สักหน่อยนี่นา

ได้ยินมาจากน้อง ๆ ว่าเพื่อนที่โรงเรียนปกติหลายคนพยายามขอผู้ปกครองมาเรียนที่นี่บ้าง แต่ถูกพ่อแม่ปฏิเสธ เพราะการมาเรียนที่นี่มันดูไร้สาระ ไม่มีวิชาการ ไม่ได้ช่วยลูกเค้าติวข้อสอบเข้ามหา’ลัย 

แต่ว่าเรากำลังอยากให้เด็กรุ่นใหม่โตไปเป็นอะไรหรอ ? 

ทำไมความสุขของเด็กตัวน้อย ๆ ถึงถูกมองเป็นเรื่องไม่สำคัญละ ? 

น้อง ๆ ที่โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง พยายามบอกเราว่าธรรมชาติก็สอนเค้าให้เป็นเด็กที่ดีขึ้น จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มันช่วยทำให้เค้ามั่นใจในตัวเองมากขนาดไหน

“หนูคุยกับพ่อไว้ว่าอยากไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศค่ะ ดูไว้ว่าอยากไปอเมริกา จะได้เก่งภาษาอังกฤษ” น้ำว้าเล่าให้เราฟังถึงความฝันที่เธอมี 

“แล้วไม่กลัวฝรั่งเหรอ ?” เราลองถามดูเล่น ๆ 

“ไม่กลัวค่ะ คิดว่าได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ”

ถ้าให้นึกกลับไปตอนเราอยู่ม. 3 วัยเดียวกับน้ำว้า จำได้ว่าเราไม่เคยมีเวลาว่างมานั่งถามตัวเองว่าจริง ๆ แล้วชีวิตนี้อยากทำอะไร เพราะที่ผ่านมา เราถูกผู้ใหญ่คอยชี้ทาง บอกให้เราเป็นแบบนั้นแบบนี้เพื่อให้ใครพอใจก็ไม่รู้

ความมั่นใจของตัวเองก็หายไป เพราะเด็กไม่เคยมีโอกาสได้คิดอะไรเองเลย 

มันคงจะดีนะ ถ้าผู้ใหญ่เริ่มรับฟังความต้องการของเด็ก ๆ และส่งเสริมให้เค้ามีจินตนาการ เค้าจะได้ออกไปเป็นคนที่มีคุณภาพมากกว่าแค่การท่องจำตามแบบเรียน

ห้องเรียนที่ไม่มีห้อง ทำให้เด็กมีจินตนาการ แล้วก็สอนให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้เข้าใจว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำราทั้งหมด

วิชาชีวิตที่โรงเรียนทั่วไปไม่ได้สอน คือสิ่งล้ำค่าที่สุดของเด็ก ๆ แห่งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

กลัวไหมกับการโตไปเป็นผู้ใหญ่ ? 

“ไม่กลัวการโตเป็นผู้ใหญ่ค่ะ อยากลองเป็นผู้ใหญ่ดูค่ะ ทั้งอยากและไม่อยากเป็นผู้ใหญ่” 

ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากลองกลับไปเป็นเด็กดูอีกครั้งเหมือนกัน เพราะเรารู้แล้วว่าช่วงเวลานั้น คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต

Loading next article...