มื้อนี้ใครเลี้ยง (ถ้าทุกเพศเท่าเทียม)? | Who Pays For Dinner (If All Sex Are Equal) ?

Who pays for dinner?

เมื่อสังคมกำลังเรียกร้องหาความเสมอภาคให้กับสิทธิของการเป็นมนุษย์ ดังนั้น เราควรให้ความเสมอภาคกับความรักความสัมพันธ์ทุกตารางนิ้วไหม 

เงินทองสามารถเป็นตราช่างวัดความยุติธรรมในมื้ออาหารค่ำของคุณได้หรือไม่ 

จากความสงสัยส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายเงินในเดต ทำให้เราลองออกไปค้นหาคำตอบผ่านบทสัมพาสจากกลุ่มคน 4 แบบ และ ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า มันไม่ผิดเลยที่แต่ละคนจะมีวิธีที่จะแสดงออกกับคนรักแตกต่างกันไป 

บทสนทนาระหว่างเรากับชายหนุ่มวัยเกือบสามสิบ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ และ ให้เกียรติเพศตรงข้ามในทุกจังหวะชีวิต 

ปกติคุณเลี้ยงอาหารในเดตไหม? 

“ไปเดตทุกครั้งเราเลี้ยงทุกครั้งนะ คบกันเป็นปีเราก็เลี้ยงเกือบทุกครั้ง ยิ่งเดตแรกไม่มีครั้งไหนที่เราไม่เคยเลี้ยงเลย” 

ทำไมถึงเลี้ยงตลอดล่ะ

“รู้สึกรับไม่ได้ถ้าเค้าต้องจ่าย เรารู้สึกอึดอัดมากกว่า” 

แล้วมีเวลาไหนที่ไม่เลี้ยงเค้าบ้างไหม

“แต่ก็มีช่วงนึงที่เปลี่ยนงาน ช่วงนั้นไม่ค่อยมีเงินไง ก็เลยเริ่มหารค่าอาหารกัน”

“แต่ถ้าไม่ติดขัดอะไร เราก็คงยืนยันคำเดิมนะว่าเราอยากเลี้ยง” 

สาเหตุที่ทำให้เขารู้สึกสะดวกใจที่จะเลี้ยงอาหารให้กับคู่เดต น่าจะเป็นเพราะมันทำให้เขารู้สึกว่าหญิงผู้นั้นคือคนพิเศษ 

“อาจจะเป็นเพราะแม่เคยบอกเราไว้ว่า แม่อยากเห็นผู้หญิงทุกคนเป็นคนที่โชคดีที่สุดในโลก”

การดูแลเพศหญิงอย่างเป็นพิเศษอาจเกิดจากภาพจำในสมัยเด็ก ที่เขาเคยเห็นภาพความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเขารู้สึกว่าเพศชายไม่สมควร และ มีสิทธิที่จะทำร้ายผู้หญิง ไม่ว่ากรณีใด ๆ เลยก็ตาม

“เราโตมากับความรุนแรงในบ้าน ซึ่งเราเป็นทีมแม่มาเสมอ แต่อีกมุมนึงเราอยู่เรียนโรงเรียนชายล้วน เลยทำให้เราเป็นคนที่มีความผู้ชายมาก ๆ แต่ถูกแม่ปลูกฝังความคิดว่า เกิดเป็นผู้ชายอย่าให้เสียชาติเกิด”

การดูแลเพศตรงข้ามในมุมมองของเขา คือการช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกปลอดภัย และ ได้รับความสะดวกสบาย

“เอาจริง ๆ เวลาเราเห็นแม่ ก็คือเราเห็นผู้หญิงในแบบที่ว่าเราต้อง Treat ในเชิง Physical เค้าแตกต่างจากผู้ชายนะ แล้วเราชอบฟังมุมความคิดผู้หญิงนะ แต่ในเชิงข้อเท็จจริงเราจะไม่ปฏิบัตต่าง”

“ความแตกต่างระหว่างชายหญิง สำหรับเราเวลาขึ้น BTS เราไม่กล้านั่งนะ ทุกคนจะรู้ว่าเราเป็นคนชอบนั่งมาก ๆ แต่พอเป็น Rush hour เราจะไม่นั่งเด็ดขาด รู้สึกอับอายขายขี้หน้า”

เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเปิดประตูก็เป็นสิ่งที่เขาประสงค์ที่จะแสดงออกอย่างชัดเจน ว่าเขาต้องการจะแสดงน้ำใจ และ อยากดูแลอีกฝ่ายมากกว่า 

“เราไม่ Mind เลยนะ ถ้าจะใส่รองเท้าให้แฟน อย่างตอนไปงานแต่งด้วยกันเค้าเมื่อยเท้า เราก็ถือรองเท้าให้ ใส่รองเท้าให้ คือทำเพราะอยากทำให้ ไม่รู้ว่าเค้าจะชอบมั้ย แต่เราทำให้ได้เสมอ”

เพราะนิสัยส่วนตัวเขามีน้ำใจกับทุกคน จึงทำให้การช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่ปัญหาอะไร 

“เราชอบช่วยเหลือ ช่วยผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นพี่น้องผู้หญิง เพื่อนผู้หญิง ถ้าเห็นถือของหนักเราจะเป็นคนชอบช่วยมาก ๆ”

อย่างไรก็ตามการให้ความช่วยเหลือ ก็ไม่ได้หมายความคือการทำตามคำสั่ง จุดตรงกลางของความสัมพันธ์แบบฉบับของเขา คือดีที่สุดหากพบกันครึ่งทาง

“ถ้าผู้หญิงเค้า demand ให้มารับมาส่ง เราจะไม่ค่อยชอบนะ เพราะเรารู้สึกว่าถ้าอยากทำ เราค่อยทำ”

บทสนทนาระหว่างเรากับหญิงสาวผู้มีอุดมการณ์เกี่ยวกับประชาธิปไตยและความเท่าเทียม พร้อม รสนิยมการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างจะทันสมัย เธอยอมรับได้อย่างเต็มปากว่าเธอเป็น เฟมมินิสต์ และ เชื่อในความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศ

เธอไม่เชื่อเรื่องการให้อีกฝ่ายเลี้ยงค่าอาหารและไม่เชื่อในการให้อีกฝ่ายดูแลเธอมากกว่า เธอมีความเชื่อว่าสองฝ่ายต้องมีความเท่ากันในทุกเรื่อง

“เวลาบิลมา บางทีอีกคน Offer ว่าจะจ่าย เราก็จะบอกไม่เป็นไร หารกัน”

“พอเดตสอง สาม ก็จะเริ่มเข้าใจแล้วว่าต้องหารกัน”

“เราไม่ค่อยโอเคนะ ถ้าจะเลี้ยง เราจะบอกว่าโอเคไม่เป็นไร หารกันได้ เราสบายใจมากกว่าถ้าหารกัน”

“หรือ ครั้งแรกเรายอมให้เค้าจ่าย ครั้งต่อไปเราขอจ่าย จะได้ make sure ว่าจะได้เจอกันอีก”

เธอไม่เห็นด้วยกับการตกเป็นผู้ถูกเลี้ยง เธอเชื่อเรื่องความเท่าเทียมในทุก ๆ ครั้งที่ได้พบกัน 

“ประทับใจมากกว่าถ้าเค้าไม่เลี้ยงตั้งแต่แรกนะ เพราะน้อยคนมากที่จะทำแบบนั้น ปกติเวลาทานอาหารเสร็จ พนักงานชอบเอาบิลไปวางให้กับคนที่ดูเป็นผู้ชายมากกว่า” 

หลายครั้งสังคมมักให้ความเข้าใจว่าเพศชายต้องเป็นคนจ่ายเงิน หากคิดตามหลักเหตุผล สองฝ่ายสมควรที่จะจ่ายอย่างเท่าเทียมกันมากกว่า 

“แม้ไปกับเพื่อนเกย์ บิลก็มักจะวางไปหาคนที่เป็นชาย”

ความสัมพันธ์ตามแบบฉบับของเธอ คือการไม่ปล่อยให้ใครต้องเสียสิทธิ์ และ ต้องรับฟังความเห็นของกันและกัน เธอจะรู้สึกว่าความไม่ยุติธรรมมีส่วนที่ทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจ

“เราคิดว่าเวลาไปทานอาหาร ควรแบ่งกัน 50-50 นะ เวลาไปไหนก็เลือกด้วยกัน หารค่าอาหารกัน หรือ ถ้าเป็นกรณีพิเศษ เราสั่งเยอะแล้วเค้าไม่ได้กิน เราคิดว่าเราต้องจ่ายเยอะกว่า หรือ ถ้าสั่งแพงกว่าเราก็รู้สึกว่าเราต้องจ่ายมากกว่า” 

เช่นเดียวกันกับค่าใช้จ่ายในการออกไปเที่ยววันหยุดพักผ่อน เธอมองว่าทุกอย่างสมควรถูกแชร์กัน

“สำหรับเรา เราคิดว่ามันต้องแฟร์เท่า ๆ กัน ไม่ใช่ให้เค้ามาตามใจเราทุกอย่างตลอด หรือ เราตามใจเค้าตลอดก็ไม่ใช่”

เพราะเธอมีความสุขที่จะได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของเธอ มากกว่าการปล่อยให้อีกฝ่ายเข้ามาดูแลจนมากเกินไป 

“เราไม่ได้ต้องการให้ใครมาเอาใจขนาดนั้นว่าต้องซื้อนู่นนี่ให้ หรือ ไปรับไปส่ง อีกส่วนคือ เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ ต้องมีความแฟร์ในแง่ที่ไม่มีใครเอาเปรียบอีกคน แม้กระทั่งการเลือกร้าน ครั้งนี้ตามใจเธอ คราวหน้าตามใจฉัน”

ความสัมพันธ์ในมุมมองของเธอ คือต้องการเพียงคนที่เข้าใจ และ รับฟัง โดยไม่นำปัจจัยเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวในความสัมพันธ์ เธอแยกเรื่องเงิน ออกจากความสัมพันธ์ โดยมองว่าต่างฝ่ายสมควรดูแลเรื่องเงินในส่วนของตัวเองมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบกรับเพียงคนเดียว 

“บางคนเค้าก็อยากแสดงความเทคแคร์ไง เค้าคิดว่าเค้าต้องเลี้ยงตลอด แต่ในมุมของเราคือ หารกันดีกว่า”

“บางคนเค้าคิดว่ามันเป็นมารยาท เลยต้องจ่ายให้”

เธอไม่ได้สนใจว่าอีกฝ่ายจะต้องช่วยเธอทางกายภาพเท่าไหร่ ทั้งเรื่องการเปิดประตูให้ ยกของให้ แม้จะเป็นการแสดงมารยาท แต่เธอกลับไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในความสัมพันธ์ขนาดนั้น

“เราจะไม่ชอบเวลาคนมาเปิดประตูให้ เปิดประตูรถให้ หรือว่า ลากเก้าอี้ให้เรานั่งในร้านอาหาร สั่งเครื่องดื่มให้แบบไม่ถามก่อนว่าเราจะดื่มอะไร” 

การแสดงออกของเพศตรงข้ามในบางครั้งคือการแสดงน้ำใจ แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายหญิงบางคนกลับมองว่าเธอไม่ต้องการที่จะถูก ปฏิบัติอย่างคนที่อ่อนแอกว่า อย่างเรื่องการเปิดประตูให้ เธอมองว่าเป็นรสนิยมของแต่ละคน และ มองว่าทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออกในแบบที่ตนอยากทำ เพียงแค่บางครั้งการเปิดประตูให้เฟมมินิสท์อย่างเธอ อาจหมายความถึงการไม่ชอบใจได้เหมือนกัน 

“มันก็คงเป็นเรื่องการแสดงความ nice นะ เรามองว่ามันเป็นการแสดงออกของคนที่มีความเป็นชายมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเกย์ ผู้ชาย ล้วนคิดว่าทำแบบนี้แหละถึงจะถูก”

เพศกับเรื่องการจ่ายเงิน ไม่สมควรถูกจัดให้เป็นหน้าที่ เนื่องจากมันเป็นการบังคับให้ฝ่ายชายมีหน้าที่ต้องออกตัวจ่ายเงินก่อนเสมอ ทั้ง ๆ ที่บางครั้ง ฝ่ายหญิงประสงค์ที่จะแสดงน้ำใจเช่นเดียวกัน แต่สุดท้าย เมื่อฝ่ายหญิงต้องการที่จะออกเงิน มักทำให้เกิดบรรยากาศความอึดอัด และ เกรงใจขึ้นระหว่างบทสนทนา 

“บางทีก็มีนะ เวลาเราบอกเค้าว่าหารครึ่ง เค้าจะเกร็งทันที เค้าอาจจะคิดว่าเราพูดเล่น ๆ เพื่อให้เค้าจ่าย แต่จริง ๆ แล้ว เราหมายความแบบนั้นจริง ๆ ว่าเราอยากจ่ายนะ”

สุดท้ายมันก็ไม่มีกฎตายตัวว่าใครต้องจ่าย เลยอยากให้คนเข้าใจว่าความเป็นหญิงมันมีความหลากหลายมากกว่าที่คุณคิด 

“ใช่ บางทีอีกฝ่ายเค้าก็ไม่รู้ตัวนะว่าเค้ากำลังใช้ความชายเป็นใหญ่เข้ามาในความสัมพันธ์”

บทสนทนาระหว่างเรากับหญิงสาวผู้มีความสุขกับการใช้ชีวิตสันโดษ ผู้เชื่อในความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ เธอมองว่าไม่สมควรจะมีใครถูกปฏิบัติอย่างสิ่งของ 

นิยามในการออกเดตของเธอ เธอเชื่อว่าสองฝ่ายสมควรแชร์ค่าอาหารในการเดต เธอมองว่าความสัมพันธ์ที่ดีสมควรเกิดจากความเข้าใจในตัวตนของทั้งสองฝ่าย และ ควรมีเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน 

ประสบการณ์ความรักที่ผ่านมาของเธอ สอนให้เราได้รู้ว่าบางทีมนุษย์ก็มองความสัมพันธ์เป็นเหมือนวัตถุ การที่เรากำหนดว่าฝ่ายตรงข้ามต้องเป็นแบบไหน ลักษณะอย่างไร มีฐานะร่ำรวยมากแค่ไหน ก็ไม่ต่างอะไรกับการให้ค่ามนุษย์แบบเดียวกันกับกระเป๋าแบรนด์เนม 

“เราเคยอยู่ในความสัมพันธ์ที่ผู้ชายคนนั้นชอบผู้หญิงขาวหมวย แล้วเราไม่ใช่ไง มันทำให้เรารู้สึกเฟลมากว่าทำไมเราไม่ขาวไม่สวย ทำไมไม่มีผู้ชายไทยมาชอบฉันเลย อาจเป็นเพราะ Beauty standards ของที่นี่ บวกกับนิสัยเราที่อาจจะดูไม่ค่อยสนใจใคร” 

“สุดท้ายเราก็ไม่รู้จะพยายามไปทำไม สุดท้ายเราก็กลับมาดูแลตัวเอง รักตัวเอง จนวันนึงมันก็มีคนที่เข้ามาชอบเราแบบที่เราเป็นเราจริง ๆ” 

การตกเป็นผู้ถูกกระทำในความสัมพันธ์มันช่างเจ็บปวด แต่อย่างน้อยมันก็เป็นบททดสอบที่ทำให้เธอเติบโตมาอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น เธอเลือกที่จะมีชีวิตใหม่ที่สดใส โดยกการหันมารักตัวเอง ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และ ภูมิใจกับมันมากขึ้น 

“ตอนที่เสียความมั่นใจคือคิดไปถึงว่า เราคงไม่มีทางได้เจอกับรักดี ๆ ได้เลย แต่ไหน ๆ ก็ไม่มีใคร value เราแล้ว เราก็เลยคิดว่า งั้นเราจะเป็นผู้หญิงเก่งไปเลย เราไปออกกำลังกาย ทำในสิ่งที่เราชอบ เจอคนออกกำลังกาย คนมีพลังบวก คือพวกเค้าดูดีในแบบของเค้า”

“ทุกวันนี้พอใจ มีความสุขกับตัวเอง และ อยากพัฒนาตัวเอง เราไม่เอาคำพูดของคนอื่นมากระทบจิตใจ เพราะเราเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองแล้วว่าเราต้องการอะไร เราอยากทำอะไร เวลาเราคิดแบบนี้แล้วเราก็จะไม่อิจฉาชีวิตคนอื่นขนาดนั้น เพราะเราพอใจในชีวิตของเราแล้ว” 

สาเหตุที่ทำให้เธอเป็นโสดอย่างมีความสุข อาจเป็นเพราะเธอเข้าใจบริบททางสังคมมากขึ้นว่าบางครั้ง สังคมก็กดดันให้ทุกคนต้องมีคู่ และ ได้กำหนดแบบแผนไว้หมดแล้วว่า คู่ครองที่ดีต้องซื่อสัตย์ ดูแลเอาใจใส่ มอบความสุข และ ผูกมัดว่าจะรักกันตลอดไป ทั้งที่ในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนต่างก็มีข้อผิดพลาดกันทั้งนั้น

การมีแฟนจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเธอ เธอกลับมองว่าความสัมพันธ์ที่ดี สมควรที่จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า ให้ต่างฝ่ายต่างต้องมาทุ่มเทให้กันจนมากเกินความพอดี 

“การมีคู่ไม่ใช่ A must แต่ก็ดีเพราะมันเป็น Emotional support มันเป็นเหมือนโบนัสให้กับชีวิต เพราะโดยพื้นฐานเราก็ Heal ตัวเอง ด้วยตัวเราเองอยู่แล้ว เพราะสุดท้ายแฟนก็ไม่สามารถช่วยเราได้ทุกเรื่อง”

บทสนทนาสุดท้ายเป็นมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายสองคน ที่สอนให้เราทำลายกำแพงเรื่องเพศไปอย่างหมดสิ้น เพราะความรักสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และ ความรักไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะออกมาหน้าตาเป็นหญิงหรือชาย รวมถึงประเด็นการจ่ายเงินก็ไม่ได้กำหนดว่าใครต้องจ่ายมากกว่ากัน ทั้งคู่มองว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความเสมอภาคต่อกันมากกว่า

เช่นเดียวกันกับการใช้เวลาในวันหยุดพักร้อน เขาทั้งสองเชื่อว่าค่าใช้จ่ายในส่วนของ โรงแรม เครื่องบิน และ ค่าอาหาร สมควรถูกแชร์กันอย่างเท่าเทียม 

ภาพความสัมพันธ์ที่ให้ความเสมอภาคกันทั้งสองฝ่าย อาจไม่ได้ต้องทำอะไรใหญ่โตมากมาย เพียงแค่ทั้งสองให้ความเข้าใจว่าคนสองคนมีสิทธิ์ที่จะดูแลกันอย่างเหมาะสมก็เพียงพอแล้ว

“ไม่ขนาดต้องมารับมาส่ง แต่ถ้าซื้อของให้เราก็รู้สึกว่าต้องให้บางอย่างกลับเป็นการตอบแทนเค้านะ”

ความสัมพันธ์ที่ไม่กำหนดว่าเพศไหนควรทำอะไร ส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันกลายเป็นเรื่องการช่วยเหลือในส่วนที่ขาดของกันและกันมากกว่าการกำหนดว่า ผู้ที่มีความชายมากกว่า ต้องดูแล หรือ จ่ายค่าอาหารให้กับ ผู้ที่มีความเป็นหญิงมากกว่า 

“ความสัมพันธ์แบบชาย-ชาย คิดว่ามันเป็นเรื่องการไปด้วยกันมากกว่า ซึ่งเรามองว่ามันแตกต่างจากคู่หญิงชายหลายคนที่เราเห็น” 

“เพศไม่ได้บอกว่าใครต้องทำอะไรมากกว่ากัน สำหรับเราคนที่มีความเป็นหญิงมากกว่าอาจจะมีความ ใส่ใจเรื่องการดูแลพื้นฐานมากกว่า เช่น อยากให้พาไปหาหมอเวลาไม่สบายหนัก”

ความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกกำหนดว่าใครต้องเป็นช้างเท้าหน้า ใครต้องเป็นช้างเท้าหลัง ทำให้สองฝ่ายไม่ต้องมีความรู้สึกแบกรับกับหน้าที่ภายใต้ความสัมพันธ์ และ กลับมองว่าความสัมพันธ์ที่ดีควรที่จะก้าวไปพร้อมกันมากกว่า 

“สำหรับเราในความสัมพันธ์ไม่มีความคิดว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำเลย”

ภูมิหลังของความเชื่อว่าผู้ชายไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำในความสัมพันธ์ เกิดจากการเติบโตของทั้งคู่ ที่เห็นแม่ของทั้งสองเป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจ หาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง และ ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของการที่ให้สามีเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว พวกเขาจึงเห็นตรงกันว่า ผู้หญิงก็มีสิทธิที่จะเป็นผู้นำได้เหมือนกัน

“รู้สึกว่าที่บ้าน แม่เราเป็นผู้นำนะ ประมาณว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พ่อประสบความสำเร็จ” 

“สำหรับเรา แม่เราหาเงินเองตลอด คือเค้ามี mindset ว่าเค้าต้องดูแลตัวเองให้ได้ เพราะไม่รู้ว่าชีวิตจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า” 

การกำหนดให้เพศใดเพศหนึ่งมีหน้าที่ในการเลี้ยงอาหาร สะท้อนให้เห็นว่าสังคมยังคงใช้เพศเป็นตัวกำหนดหน้าที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน 

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเลี้ยงอาหารในเดต มองว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำเนื่องจากเป็นการแสดงมารยาท ความมีน้ำใจ และ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกว่าเขาคือคนพิเศษ ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการหารค่าอาหาร มองว่าเป็นเรื่องของการให้ความเสมอภาคในความสัมพันธ์ ไม่มีเพศใดสมควรถูกกำหนดให้มีภาระต้องจ่ายเงิน และ ประทับใจมากกว่าถ้าความสัมพันธ์มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่ต้น 

ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ต่างก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเลือกเลี้ยงอาหารฝ่ายตรงข้าม หรือ หารค่าอาหาร ย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลว่าใครพอใจที่จะทำแบบไหน

Loading next article...