จงศรัทธา กองทัพไทย

“หมดศรัทธา” ดูเหมือนจะเป็นคำที่มักจะถูกนำมาใช้บ่อย ๆ สำหรับ สิบเอก ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม 

คำ ๆ นี้ใช้ในการพูดถึงการถูกปลดออกจากราชการ รวมถึงคดีความที่ตามมาจากการชี้ให้เห็นถึงความ “ไม่ถูกต้อง” ในหน่วยงานที่มองตัวเองว่าเป็น “ความถูกต้อง” ในประเทศนี้

นี่คือมุมมองของชายคนนึงที่ถอดเครื่องแบบและแทนที่จะหันหลัง – กลับเดินหน้าเปลือยกายสู้ในระบบด้วยศรัทธาที่เขาเคยมีให้กับคำว่า “ทหาร”

วันนี้ (4 เมษายน 2564) ก็เป็นหนึ่งวันในอีกหลาย ๆ ครั้งที่หมู่อาร์มต้องขึ้นมาที่กรุงเทพฯเพื่อสู้คดีความที่ยังไม่รู้ผล ผมอยากรู้ว่าอะไรทำให้คน ๆ หนึ่งที่รักในหน้าที่การงานถึงกับใช้คำว่า “หมดศรัทธา” กับมันแบบที่ไม่มีวันได้หวนกลับไปทำอีก

หมู่อาร์มเล่าให้ฟังว่าวันนี้จะมีขึ้นปราศรัยกับกลุ่ม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย” ในขณะที่ยังพอมีเวลาอยู่เลยได้โอกาสชวนคุย

ท่ามกลางบรรยากาศร้อนชื้น ๆ อากาศครึ้มเหมือนฝนทำท่าจะตก ผิดวิสัยของการเข้าสู่ฤดูร้อนตามฉบับเดือนเมษาของประเทศไทยตามปกติ

“สำหรับพี่แล้ว พี่คิดว่าทหารถูกสร้างมาเพื่ออะไร?” — เราเริ่มคำถามแรกด้วยคำถามที่หลาย ๆ คนโดยเฉพาะผู้มีใจรักประชาธิปไตยน่าจะขบคิดอยู่ในหัว แต่คงไม่ค่อยมีใครได้ถามทหารหรืออดีตทหารสักเท่าไหร่

“ทหารถูกสร้างมาเพื่ออะไร… เอ้อ จริงเนาะ… เป็นอะไรที่น่าคิดนะ” — หมู่อาร์มตอบหลังจากได้ยินคำถาม

“ถ้าให้ผมมองนะ ผมว่าตอนนี้ทหารไร้ประโยชน์แล้วก็กินงบประมาณแผ่นดินเปล่า ๆ ไม่เหมือนทหารสมัยก่อนที่ถูกสร้างแล้วออกแบบไว้เพื่อชาติในยามสงคราม ทุกวันนี้เรารบกับใครอะ? 

ตอนนั้นทหารในอุดมคติของผมคือทำเพื่อชาติ เพื่อศาสนา เพื่อพระมหากษัตริย์ และประชาชนผมถึงอยากเป็นทหารไงครับ เพราะมันได้ทำให้ได้ทั้งสี่อย่าง เป็นทหารทำให้สี่อย่างผมคิดแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงสี่อย่างนั้นอะมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเลย มันไม่มีเลย 

ในความเป็นจริงแล้วคำว่าเพื่อประชาชนของกองทัพคืออะไร? ยึดอำนาจ รัฐประหาร แล้วคุณยังกล้ามาใช้คำว่าเพื่อประชาชนเหรอ มันไม่สมควร ทหารทุกวันนี้มีไว้เพื่อยึดอำนาจครับ”

เป็นคำตอบที่เหมือนจะกวนแต่ฟังดูแล้วมันก็จริงอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้

“ในฐานะที่ตอนนี้เป็นประชาชนแล้ว พี่คิดว่าประชาชนคาดหวังอะไรจากทหาร?”

ที่ประชาชนคาดหวังกับกองทัพก็คือการดูแลปกป้องประเทศ 

รักษาความมั่นคงทำให้ประเทศสงบไม่มีภัยคุกคาม และปกป้องแนวเขตแดนของประเทศไทยและก็จะต้องดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยเหมือนกัน ซึ่งทหารเนี่ยในเมื่อคุณปกป้องชาติ 

ในคำว่าชาติมันก็รวมไปถึงรัฐธรรมนูญ การที่จะมีชาติเป็นประเทศได้มันต้องมีบุคลากร กฏหมาย และภูมิประเทศ นี่คือคำว่าเพื่อชาติสำหรับผมนะ 

แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากองทัพตีความหมายของคำว่า ‘เพื่อชาติ’ ไปในแนวทางไหน 

ทหารก็ทำให้ประชาชนผิดหวัง ใช้อำนาจที่ตัวเองมีในการยึด ครอบครอง ทำลายแล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันสร้าง แล้วหลังจากนั้นมาก็มาตั้งพรรคของตัวเองโดยที่เป็นระบบอุปถัมภ์เพื่อที่จะดำรงไว้หรือสืบต่อขั้วอำนาจของตัวเอง

ในวันข้างหน้ามันเลยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าผิดหวัง เมื่อผิดหวังประชาชนก็ออกมาเรียกร้องให้ทหารมีการคืนอำนาจให้ประชาชน เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา ผลปรากฏว่าทหารก็ไม่ยอมรับในสิ่งนี้”

“กูละเว้ย เฮ้ย กูนี่คนไทย” เสียงตะโกนร้องตามเพลงออกมาจากปากของเจ้าของร้านแผงลอยข้าง 

(เพิ่งรู้ตอนถอดเทปนี่แหละว่าเป็นเพลงที่แต่งและใช้ในการประกอบเดินขบวนของมวลมหาประชาชน กปปส. สงสัยพี่แกกลัวว่าเราคุยกันแล้วบรรยากาศจะเงียบไป)

คุยกันได้ไม่ทันไรฝนก็เทลงมาเหมือนนัดไว้ เราย้ายที่มาคุยกันใต้ทางขึ้นสกายวอล์ค บทสนทนาดำเนินต่อไปอย่างออกรสท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเม็ดฝนและเสียงเครื่องยนต์ที่ตลบอบอวล

“ก่อนผมเข้าไปผมมองว่าพี่น้องหรือว่าญาติ ๆ จะชอบการเป็นข้าราชการ ใคร ๆ ก็ต่างยอมรับว่าข้าราชการทหารเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่พอเข้าไปแล้วผมได้เห็นสายตาประชาชนดังเช่นภาพที่ผมได้มองเมื่อกี้นี้ ผมที่เคยภูมิใจในความเป็นทหารกลับรู้สึกขยะแขยงอาชีพทหารมากกว่า

ในจิตใต้สำนึกของผมเนี่ย เรื่องชุดมันก็บ่งบอกถึงองค์กรเหมือนความรักที่เรามีต่อสิ่งนั้น ๆ เหมือนเราอยากได้อะไรเราก็ซื้อมันมาถูกต้องมั้ยครับ แต่อันนี้เราใช้ความพยายามเพื่อที่จะได้มันมาเราก็เลยรักและผูกผันกับมัน 

แต่ผมกลับมองว่าชุดที่ผมเคยใส่ ต่อให้มันมอมแมม สกปรก หรือมันจะเก่าแค่ไหนผมยังมองว่ามันเป็นชุดที่สวยเสมอ มันอยู่ที่คนใส่มากกว่าว่าคนใส่นั้นจิตใจมันจะใสสะอาดเหมือนชุดอันทรงเกียรตินี่หรือเปล่า”

“ความศรัทธาที่มีต่อกองทัพก่อนพี่เข้าไปเป็นทหารเป็นยังไง?”

“ผมเคยเป็นทหารเกณฑ์ตอนอายุ 18 ตอนนั้นไม่มีงานทำเลยสมัครเป็นทหารอากาศ ผมได้ไปช่วยพี่น้องประชาชน ได้ทำอะไรหลายอย่างมากเช่นช่วยวัด ช่วยทำนุบำรุงศาสนาจริง ๆ เลยรู้สึกว่าการเป็นทหารมันได้เอาเวลาไปสร้างอะไรให้ประชาชนหรือตอบแทนประเทศได้เยอะ เลยอยากจะเป็นทหาร”

“แต่เมื่อมาเจอการเป็นทหารจริง ๆ แล้วมันกลับไม่ใช่อย่างที่เราคิด มันมีแต่ระบบทุจริตเอาเปรียบ อาจจะเป็นเพราะว่าตอนเป็นทหารเกณฑ์อยู่ระดับล่างเลยไม่รู้ลึกขนาดนั้น ถ้าปปช.ยกให้กองทัพบกเป็นองค์กรที่โปร่งใสที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศ ผมก็ขอยกให้กองทัพบกเป็นองค์กรที่ทุจริตที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศเหมือนกัน”

ฟัง ๆ ดูแล้วมันก็ดูเป็นการปะทะกันของ สิ่งที่คาดหวัง (expectation) กับ ความเป็นเป็นจริง (reality) เหมือนกันนะ

ในระหว่างที่กำลังรอไฟแดง คุณป้าผู้โดยสารคนหนึ่งชะเง้อมองผ่านหน้าต่างรถเมล์แล้วถามผมด้วยการพูดแบบไม่ออกเสียงว่า “หมู่อาร์มเหรอ?”

ผมพยักหน้าไปหนึ่งครั้งก่อนที่หมู่อาร์มจะสังเกตเห็น คุณป้าแปลกหน้าที่ตอนนี้เผยว่าตัวเองเป็นเอฟซีชูสามนิ้วให้ หมู่อาร์มจึงชูตอบ คุณป้าพูดประมาณว่าจะรอฟังปราศรัยวันนี้ก่อนที่ตัวรถจะเคลื่อนออกไป

“พี่ว่าประเทศเราจะไปได้ไกลขนาดไหนถ้ากองทัพดี?” — ผมถามกลับเข้าประเด็น

“อันนี้ผมเชื่อได้ว่าประเทศจะไปได้ไกลเลยล่ะครับ หากบางทีกองทัพยอมสละหักงบตัวเองบางส่วนหรืออะไรบางสิ่งบางอย่างที่ไม่จำเป็นเพื่อช่วยให้สวัสดิการของประชนดีขึ้นมาก่อน เศรษฐกิจมันก็จะดีขึ้นไปได้ครับ”

“อีกอย่างนะ กองทัพจะดีได้มันต้องเริ่มจากผู้มีอำนาจครับ เริ่มต้นจากผู้บังคับบัญชา คุณจะไปแอบอ้างเอาสถาบันมาเกี่ยวมันไม่ได้เพราะอำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะมาบอกว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดบัญชากองทัพมันไม่ใช่ คุณต่างหากที่กำลังเอาสถาบันเข้ามาเกี่ยวเพราะว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”

“ทหารชอบอ้างเสมอว่าวินัยทหารเป็นสิ่งที่เคร่งครัดและต้องทำตามและปฏิบัติ” — หมู่อาร์มพูดหลังจากหยิบบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ

“แค่คุณยึดอำนาจก็ผิดวินัยข้อแรกแล้ว ก็คือดื้อดึง ขัดขืน หรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน ซึ่งที่อยู่เหนือจากกองทัพก็คือกระทรวงกลาโหมถูกมั้ยครับ? 

คุณไปยึดอำนาจเขามาโดยใช้อำนาจของตัวเองก็หมายถึงทำผิดวินัยทหารแต่ตัวเขาเองกลับไม่ยอมรับ อ้างแต่ว่าตัวเขารักชาติ รักสถาบัน คำอ้างโหนเจ้าของเขามันทำให้ประชาชนอยู่ยาก

หรืออย่างเช่นคนที่ถีบท้องผู้หญิงแล้วอ้างว่าตัวเองทำเพื่อชาติ กตัญญูต่อชาต

ถ้าอย่างนั้นผมก็พูดได้ว่าผมจะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อชาติ ผมรักและปกป้องสถาบัน ผมเลยต้องยิงพลเอกประยุทธ์ ผมก็ต้องไม่ผิดใช่มั้ยครับเพราะผมรักชาติ แล้วทุกวันนี้เป็นยังไง มีการดำเนินคดีเกิดขึ้นมั้ย? กลับกันเขาได้รับเกียรติยศ ได้รับคำสรรเสริญจากการถีบผู้หญิง… ผมว่ามันไม่ถูกต้อง”

“อ้าว! สรุปไอ้นั่นไม่โดนข้อหาเหรอ?” — ผมถามกลับเพราะเพิ่งรู้เหมือนกัน

“ไม่โดนครับ แล้วตำรวจให้เข็มเชิดชูเกียรติด้วยนะ” — หมู่อาร์มกล่าวทิ้งท้าย

… กลียุคยิ่งใกล้เข้ามาทุกที

“เขาพูดอยู่เสมอครับว่าทหารไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ทำไมทหารยังยุ่งกับการเมืองอยู่” 

— หมู่อาร์มตอบหลังจากได้ยินคำถามว่ามีหน้าที่ไหนบ้างที่ไม่ใช่ของทหาร แต่ทหารก็ยังทำอยู่

“ทุกอย่างคือการเมือง สว. คือการเมือง เขากำลังย้อนแย้งในตัวเองอยู่แถมยังผิดกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า “ทหารที่ดีจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง” 

แล้วสว.ที่นั่งอยู่ตรงนั้นเป็นข้าราชการทหารกี่คน? พลเอกประยุทธ์เอาน้องตัวเองมาเป็นสว.นี่การเมืองมั้ยครับ? ทางที่ดีทหารควรกลับเข้าไปอยู่ในกรมกองมากกว่า อยู่แล้วคอยช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก สร้างบ้านเรือนให้ประชาชนที่ประสบไฟไหม้ อุทกภัยพวกนี้ ปกป้องเขตแดนให้ดี”

“ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นทหารแล้ว หมู่อาร์มคิดว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่อะไรของทหารอยู่?”

“ผมกำลังทำให้ทหารปรับปรุงตัว ปรับปรุงตัวในเรื่องที่ว่ามันมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ผมกำลังทำให้ทหารได้กลับไปแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองทำผิดและเป็นที่ยอมรับของประชาชน นั่นคือหน้าที่ทหารที่แท้จริง 

ผมรักกองทัพ ผมรักในคำว่า ‘ทหารอาชีพ’ ไม่ใช่ ‘อาชีพทหาร’ นะครับ ก็เลยจำเป็นที่จะต้องนำเสนอให้สังคมได้รับรู้เพื่อให้ปรับปรุงและแก้ไขในสิ่งที่มันผิดพลาด ผมว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เรียกว่ารักกองทัพจริง ๆ”

“ ‘ทหารอาชีพ’ กับ ‘อาชีพทหาร’ มันต่างกันยังไงอะพี่? ”

“ ‘ทหารอาชีพ’ มันถูกปลูกฝังมาด้วยจิตวิญญาณครับ เรารักในคำว่า “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน” จริง ๆ 

ส่วน “อาชีพทหาร” ก็คือใส่เครื่องแบบไปวัน ๆ รับเงินเดือน นายสั่งอะไรก็ทำไป จรรยาบรรณของทหารแต่ละคนมันไม่เท่ากัน มันเลยแบ่งแยกออกมาได้สองอย่างนี่แหละ”

พอฝนเริ่มซาเลยได้เวลาที่จะเรียกตุ๊ก ๆ ที่เหมาไว้ทั้งวันให้ไปส่งยังจุดหมายต่อไป มันอดที่จะถามไม่ได้ในขณะที่รถกำลังแล่นผ่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิว่าคนที่เคยผ่านการรับราชการทหารอย่างหมู่อาร์ม รู้สึกอย่างไรกับอนุเสาวรีย์ที่ไม่ค่อยมีคนรู้ที่มาอันนี้

“อนุเสาวรีย์นี้มันไม่มีอะไรให้คนศึกษา พอไม่มีคนศึกษาเราก็ไม่รู้ประวัติ รู้แต่ว่านี่คืออนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มันไม่ได้บ่งบอกเลยว่าเขาสู้อะไรมาเพื่อเรา มีรายชื่อให้แต่คุณไม่ได้บอกวีรกรรม มันต่างจากระบบกองทัพอย่างเช่นผบ.ทบ.ที่มีบอกว่าคนนี้จบจากไหน รุ่นอะไร เคยดำรงตำแหน่งอะไรมาบ้าง 

แต่กลับกัน ไม่มีเขียนบอกว่าทหารแต่ละคนที่ยืนอยู่นี่หมายถึงอะไร อนุเสาวรีย์ที่สร้างมาเพื่อรำลึกถึงสงครามแต่คุณมีแค่รายชื่อ แล้วรายชื่อนั้นครบรึเปล่าก็ไม่รู้ เหมือนเป็นเกาะกลางแห่งความว่างเปล่า แม้แต่คนที่จะเดินเข้าไปถ่ายรูปยังไม่มีเพราะมันไม่มีอะไรให้ศึกษา”

“ผมไม่ศรัทธาสิ่งก่อสร้างพวกนี้ แต่ผมศรัทธารายชื่อที่อยู่ในนั้นมากกว่า

สิ่งก่อสร้างพวกนี้วันนึงมันก็บุบสลาย แต่รายชื่อคนพวกนั้นเป็นสิ่งที่น่าจดจำที่สุด พวกเขาไม่ควรถูกลืมอย่างนี้ เขาสมควรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ให้คนอื่นได้ศึกษาได้เรียนรู้ ได้รู้ว่าทหารพวกนี้ได้ทำอะไรไว้บ้าง”

“แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าตัวผมทำความดีแล้วผมจะต้องมีอนุเสาวรีย์นะ” –หมู่อาร์มเสริม

“ถ้าเราเป็นคนดีจริงมันไม่จำเป็นต้องสร้างหรอกครับ ถ้าผมเลือกได้จะขอสร้างอนุเสาวรีย์ให้บิ๊กแดงครับ อยากให้เป็นอนุเสาวรีย์รูปเขาบีบน้ำตา แล้วก็บอกวีรกรรมไว้เลยว่าเขาแก้ปัญหาไม่ได้ตอนมีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้น ผมว่าจดจำเรื่องแบบนี้มันดีกว่านะเพราะว่าเรื่องดีๆมันไม่มีให้จดจำไง แล้วไหนล่ะครับที่บอกว่าจะปฏิรูปกองทัพ? ได้แต่พูดเอาตัวรอดไปวันๆว่ากำลังทำเพื่อให้ตัวเองหมดวาระ”

“คือกลับด้าน ทำอนุเสาวรีย์ประจานไปเลย?”

“กลับด้านไปเลยครับ กลับด้านไปเลยให้เป็นอนุสรณ์ว่าเราเคยมีผู้นำประเทศแบบนี้ คุณบอกว่าคุณยึดมั่นในคำว่าวินัยแต่พวกคุณยังรักษาวินัยไว้ไม่ได้เลย”

ฝนยังคงตกอยู่เมื่อย่างเท้าลงจากรถตุ๊ก ๆ ลงที่จุดหมายปลายทางคือกรมสรรพาวุธ, ถนนทหาร ชื่อถนนก็ดูเป็นการบ่งบอกความโดดเด่นของมันได้ดีซึ่งนั่นก็คือเป็นที่ ๆ เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างของทหารนั่นเอง

“เล่าประสบการณ์เคยเห็นการทุจริตในค่ายทหารให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ ว่าพี่เจออะไรมาบ้าง?”

“มันก็มีเช่นการทุจริตเบี้ยเลี้ยงเดินทางไป เป็นการตั้งโครงการว่าจะไปไหนเพื่อทำอะไรแต่ไม่ได้มีการเดินทาง คือมีการทำเอกสารขึ้นมาแล้วก็ส่งไปให้เขาเซ็นต์ว่าเราได้ไปจริง ๆ … แต่เราไม่ได้เดินทางแล้วก็เอาเอกสารกลับมาเบิกเงิน” — ไม่รู้จะรู้สึกยังไงก่อนดีระหว่างตะลึง กับทึ่งถึงความง่ายในการทำการทุจริต

“อันนั้นเฉพาะเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการนะ ถ้าหน่วยนึงได้ปีละสองแสน – สามแสนต่อหนึ่งหน่วย ทุจริตรวมทุกกองพันจะเป็นเงินเท่าไหร่? หรือมีอีกตัวอย่างหนึ่งคือการตั้งโครงการเยาวชนป้องกันยาเสพติด จัดตั้งมาแต่มันก็ไม่มีการจัดอบรมจริง เป็นการตั้งโครงการเพื่อดึงภาษีประชาชนมาใช้ ป.ป.ส.ควรจะมีหน้าที่ในการเข้ามาจัดอบรม ไม่ใช่ทหารเป็นคนจัด

มันไม่ใช่แค่นั้นนะ มีเรื่องอื่นอีกอย่างเช่นเบี้ยเลี้ยงพลทหารที่โดนหักค่าประกอบเลี้ยง หักค่านู่นค่านี่ไปเยอะมาก แล้วคุณภาพที่ได้จากอาหารของโรงเลี้ยงภายในค่ายมันก็ไม่ได้มาตรฐาน ที่เห็นออกสื่อว่าได้กินดีเนี่ยคุณได้กินตลอดไปมั้ยอะ บางทีเดือนนึงก็มีซักมื้อนึงอะไรอย่างนี้”

“สรรพาวุธนี่ก็มีหลายเรื่องมากครับ อย่างเช่นเราจ้างซ่อมแอร์เราก็ไม่ได้ไปจ้างช่างเขา แต่เป็นการเอาคนภายในมาซ่อมแล้วก็ไปขอบิลบริษัทมาว่าเราซ่อมแอร์ราคาเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วบางทีการจัดซื้อจัดจ้าง ‘อาจจะ’ เป็นการบริจาคมาก็ได้แต่เราไม่ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีคุมไว้แล้วก็หลอกว่าซื้อแอร์ตัวนี้มา” — แน่นอนว่าไหน ๆ มาถึงถิ่นเก่าแล้วจะไม่แฉให้ฟังซักหน่อยก็กระไรอยู่

“ต้องใช้คำว่า ‘อาจจะ’ นะเพราะเดี๋ยวเขาจะฟ้องหมิ่นประมาท ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นเรื่องจริงแต่ประการใด แต่สิ่งที่เห็นมามันคือประมาณนั้น อย่างเรื่องคอมถ้าไม่ซื้อเองก็รับบริจาค ใช้เงินพัฒนาหน่วยซื้อมาอาจจะเกินหรือต่ำกว่าสเปคบ้าง อุปกรณ์สำนักงานอะไรพวกนี้ มันเป็นการเอื้อประโยชน์กันมากกว่าครับ

หรือจะเรื่องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องอาวุธสงครามหาย ทราบที่มาว่ามีการลักลอบนำอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดเอาไปขายให้กับบุคคลภายนอก ผลสุดท้ายก็เงียบ แล้วถามว่าคนผิดไปไหน? แล้วบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปตรวจสอบได้มั้ย อันนี้มันเป็นเรื่องที่กองทัพสมควรปรับปรุงตัวเอง” 

— ฟัง ๆ มาทำไมรู้สึกว่าหน่วยงานความ “มั่นคง” ของประเทศอย่างกองทัพถึงทำงานกันง่ายอย่างนี้

ไม่รู้ว่าคิดถึงถิ่นเก่ารึเปล่า หมู่อาร์มเลยชวนพวกเราขึ้นไปถ่ายรูปหน้าทางเข้ากองสรรพาวุธ หมู่อาร์มบอกว่าเราสามารถยืนถ่ายหน้าทางเข้าได้โดยที่ไม่โดนข้อหาครับ

เดี๋ยว ๆ… แต่ทำไมพี่ทหารคนนั้นกรายเท้ามาทางนี้แล้ววะเนี่ย

หลังจากพูดคุยได้ครู่หนึ่ง พอหมู่อาร์มบอกว่าเขาคือหมู่อาร์มคุณพี่ทหารก็ทำท่าเหมือนเก็ทแล้วก็เดินจากไป ว่าแต่นาฬิกาแอบเท่อยู่นะครับเนี่ย

“ถ้าพูดถึงการทุจริตในกองทัพแบบที่เห็นได้ชัด ๆ ก็เรื่องทหารเกณฑ์ครับ ผมเชื่อว่าทุกคนมองเห็นอยู่แล้วว่าทหารเกณฑ์บางส่วนก็ถูกปล่อยกลับบ้าน เอาเงินเดือนให้นาย นั่นก็คือการทุจริตที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด สำหรับตัวผมเองไม่ว่าจะเป็นการทุจริตประเภทไหน เล็กน้อยแค่ไหนมันก็คือการทุจริตที่ผมรับไม่ได้”

“เคยมีคนชวนให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทุจริตมั้ย?” — กลับเข้าเรื่องกันดีกว่า ออกทะเลไปเยอะ

“อ๋อ ไม่มีคนชวนครับแต่มีคนบังคับ บังคับโดยการที่เอาชื่อเราไปใส่เลย เขาไม่มีทางมาขอความยินยอมจากเราเพราะว่าวินัยทหารหากเราผิดข้อที่ 1 คือไม่ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเนี่ยเขาก็จะบอกว่าเราดื้อดึง ขัดขืน หรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน เอาชื่อเราไปเวลามีปัญหาขึ้นมาก็เป็นเราที่ติดคุกเอง มีอะไรผู้ใหญ่เขาปกป้องกัน แต่ผู้น้อยอย่างเราไม่มีใครปกป้อง”

“ต้องยอมรับนะว่าการทุจริตมันมีในทุกองค์กรภาครัฐเลยก็ว่าได้” — หมู่อาร์มพูดแบบปลง ๆ

“แต่ถ้าเราเพิกเฉยต่อการทุจริตแล้วลูกหลานเราจะอยู่ต่อไปยังไง ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันถึงแม้ว่าจะเป็นเสียงเล็ก ๆ แต่มันก็จะดังขึ้นเรื่อย ๆ จนสะท้อนให้เห็นว่าอะไรที่ซุกอยู่ใต้พรม ภาพกองทัพอาจจะดูสวยหรูเหมือนอย่างป้ายกรมสรรพาวุธเนี่ย แต่ภายในลึก ๆ มีใครรู้บ้างว่าเขาแฝงความชั่วร้ายอะไรเอาไว้บ้าง

เหมือนวันนี้ผมมายืนรอให้ตัวเหี้ยขึ้นหน้าป้ายกรมสรรพาวุธ นี่ก็รอมาเป็นเวลานานแล้วมันก็ยังไม่ขึ้น ก็เหมือนกับรอให้กองทัพปฏิรูปเพราะเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่จนเราหมดความอดทนไปเอง”

— เอาจริง ๆ แถวนี้เป็นที่ ๆ มีตัวเงินตัวทอง (จริง ๆ ไม่ได้อุปมา) เยอะอยู่นะ แต่ไม่ยอมมีตัวไหนว่ายผ่านป้ายกรมฯเลย 

“มีซักครั้งมั้ยที่พี่รู้สึกว่าต้านไปก็ยอมแพ้ ยอมโกงด้วยก็ได้?”

“ไม่เคยมีครับ ถามว่าโกงไปแล้วเราได้อะไรกับเงินแค่นี้ ทำไปแล้วมันก็จะจำอยู่ในใจตลอดไปว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นคนโกง 

แต่สิ่งที่ทำให้ผมผิดหวังมากที่สุดคือการที่กองทัพไม่คืนหน้าที่ตำแหน่งการงานให้ผมหลังจากออกมายอมรับแล้วว่ามีการทุจริต เสียความรู้สึกมากไปอีกเมื่อป.ป.ช.ไม่คุ้มครองพยานเพราะเขากล่าวอ้างว่าผมโดนสั่งปลดก่อนที่จะคุ้มครอง”

ถ้านี่คือภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง บทสนทนาข้างบนคงเป็นท่อนหักมุมล่ะมั้ง

หลังจากที่ไปถ่ายรูปตรงหน้าค่ายมา ก็ดูเหมือนว่าผู้บังคับบัญชาจะพยายามส่งคนมาดูว่าพวกเรามาทำอะไรกัน เหมือนพลทหารสองคนนี้ที่แอ๊คท่าเหมือนถ่ายรูปให้เพื่อนแต่ไม่เนียน

“เพราะเงินเดือนน้อย ไม่ทุจริตก็ไม่อยู่รอดหรือเปล่า?”

“ไม่จริงหรอกครับ มันอยู่ที่ว่าคนเราอยากจะเดินไปทางไหนมากกว่า” — หมู่อาร์มยืนกรานว่าเงินน้อยไม่ใช่ข้ออ้างให้ทำชั่ว(โว้ย) 

“อย่างเช่นถ้าคุณคิดว่าอาชีพเดียวไม่สามารถเลี้ยงคุณได้ก็ไปประกอบอาชีพเสริม แต่ถ้าคุณอยากพายเรือให้โจรนั่ง หรืออยากทำงานหากินบนหลังคน มันก็คือการทุจริตนี่แหละครับ มันอยู่ที่ว่าเราเลือกในสิ่งที่ดีหรือไม่ดี

แต่ถ้าเราไม่เข้าร่วมมันก็จะหาทางแกล้งเพื่อให้เราออกจากราชการให้ได้ ทำลายอนาคตของคน ๆ หนึ่ง ตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่สมควรจะได้รับทิ้งไปเลยแม้กระทั่งเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญที่สมควรจะได้รับก็ไม่ได้” — เตือนความจำนิดนึง นี่คือกระทำโดยสิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า “ชายชาติทหาร” นะ

“ที่ผมออกมาพูดเรื่องการทุจริตเนี่ย พูดได้เต็มปากว่าผมพยายามปกป้องคำสองคำคือ ‘เกียรติ’ และ ‘ศักดิ์ศรี’ ของทหาร การเป็นทหารคุณต้องมีสองอย่างนี้ หากเป็นทหารแล้วคุณยังปกป้องแค่ภาษีของประชาชนไม่ได้ก็อย่าคิดว่าจะปกป้องประเทศชาติ เพราะถ้าทหารทุกคนยังเห็นแก่ความกลัว ขนาดตัวเองยังไม่สามารถเอาชนะความกลัวได้ เมื่อถึงเวลาศึกจริง ๆ คุณจะกล้ามั้ย?

ผมเชื่อว่าเกียรติและศักดิ์ศรีมีอยู่ในตัวทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะกล้าหรือไม่กล้า… ความกล้าเท่านั้นครับที่จะพิสูจน์ทุกอย่าง” — หมู่อาร์มกล่าวเสริม

หมู่อาร์มพยายามจะใช้ไดอะล็อคเดิมคือการบอกไปสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “ผมคือหมู่อาร์ม” (เตือนแล้วนะว่าอย่าออกเสียงแบบแบทแมน) แต่ทว่ากลับใช้ไม่ได้ผลเพราะพลทหารคนนี้นอกจากจะมาใหม่แล้วก็น่าจะไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารซักเท่าไหร่ด้วย

“เม็ดเงินในกองทัพอยู่ตรงไหนเยอะที่สุดอะพี่?”

“ถ้าพูดถึงก็น่าจะมีสองที่นะ มีกอ.รมน.ที่นึง แล้วก็กรมสรรพาวุธ กรมพลาธิการของทหารบก พวกนี้คือที่ ๆ เม็ดเงินอยู่เยอะที่สุด”

คุยกับพลทหารหน้าใหม่ได้ซักพักก็แยกย้ายกัน ไม่ได้มีดราม่าอะไรเพราะเราก็แค่มาถ่ายรูปจริง ๆ

แต่ก็นั่นแหละครับ ไปที่ใหม่ได้ไม่ทันไรก็มีพลทหารยศจ่า (หมู่อาร์มบอกว่ายศนี้) เดินออกมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบอีกแล้วพร้อมทั้งถ่ายรูปหมู่อาร์ม (และพวกเรา) เป็นที่ระลึกอีกด้วย

“ทหารมองประชาชนเป็นยังไงอะพี่? แล้วในมุมมองของทหารจริง ๆ แล้วควรมองประชาชนเป็นยังไง?”

“ถ้าให้ผมพูดตรง ๆ นะ… ตอนที่ผมเป็นทหารเนี่ยก็ได้รับการปลูกฝังมาจากผู้บังคับบัญชาหลาย ๆ คนเวลาพูดเขาจะย้ำอยู่เสมอว่าทหารมีวินัยและเป็นอะไรที่ ‘มากกว่า’ ประชาชน 

เขาคิดว่าทหารคือคนที่จับอาวุธ คือคนที่เหนือกว่าประชาชน อีกอย่างหนึ่งคือทหารเขาปกป้องกันเองเลยหยิ่งทะนงตนว่าเจ๋งกว่าทุกหน่วยทุกองค์กร เจ๋งกว่าตำรวจ เขาก็เลยคิดว่าประชาชนก็เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่ง” — เอาจริง ๆ ก็แอบคิดนะว่าในกองทัพคงมีแนวคิดอะไรประมาณนี้ แต่ก็ยังรู้สึกประหลาดใจอยู่ดีพอได้ยิน

“หมายถึงเบี้ยของพวกข้าราชการนั่นแหละ” — หมู่อาร์มขยายความ

“เหมือนกับชนชั้นวรรณะอะครับ เหมือนทาส เหมือนคนธรรมดา เหมือนไพร่ซึ่งเอาจริง ๆ แค่ระดับพลทหารก็รู้กันอยู่แล้วครับว่ามันเป็นยังไงที่ทหารเขามอง นี่ขนาดเป็นทหารเหมือนกันนะ ทหารเกณฑ์ดูต่ำต้อยด้อยค่ามาก แล้วประชาชนก็อยู่ต่ำกว่านั้นซึ่งเราไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้เลยว่ามันเป็นขนาดไหน

ทหารพอมียศขึ้นมาจะรู้สึกเหมือนเป็นหนุมานอะที่จะทำอะไรก็ได้ จะหาวเป็นดาวเป็นเดือนก็ได้ ทหารยศนายสิบนี่บางทีก็ข่มนายร้อยตำรวจนะครับ เพราะเอาผิดทหารยากมากถึงได้ไม่ค่อยมีใครอยากยุ่ง ไม่ใช่ว่ากลัวนะ หนักไปทางรำคาญ หมดความน่าเชื่อถือมากกว่า”

“ผมเชื่อนะว่าสังคมภายนอกมีการรับรู้เรื่องระบบชนชั้นในค่ายทหาร แต่ไม่ได้ชัดถึงขนาดร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเห็นบ้างอย่างน้อยครึ่งนึงก็ดีแล้ว ผมถือว่าดีมากครับที่ยังเห็นว่าในระดับพลทหาร ในระดับข้าราชการเป็นอย่างไร เรื่องชนชั้นนี่มันเป็นศักดินาเลย แบบว่าเจ้ายศเจ้าอย่าง ถือยศถือตำแหน่งไม่มีคำว่าพี่น้องเหมือนที่เขากล่าวอ้าง” 

“เขาบอกว่าทหารอยู่กันอย่างพี่น้อง รักกันอย่างครอบครัวแต่จริง ๆ มันไม่ใช่ มันอยู่กันอย่างระบบเจ้าขุนมูลนาย

คือชนชั้นมันก็ลดหลั่นกันไปครับ แบบจะเข้าหาเจ้ากรมนี่ก็ต้องผ่านหน้าห้อง ผ่านทหารคนสนิท ผ่านอะไรเยอะกว่าเราจะเข้าพบได้ ผมก็เลยมองว่าจริง ๆ แล้วมันมีขนบธรรมเนียมของมันอยู่ 

พอเป็นขนบธรรมเนียมแบบนี้มันทำให้เกิดความห่างไกล มันเลยเป็นชนชั้นที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้”

“พี่คิดยังไงเวลาเห็นสโลแกนนี้?” — ใช่ครับ นี่แหละรูปที่ทำให้เราโดนคุณจ่าในรูปที่แล้วเข้ามาถาม

“ผมอยากให้เอาคำว่า ‘ประชาชน’ ออกไปเถอะครับเพราะว่าตอนนี้ทหารไม่ได้ทำเพื่อประชาชนแล้ว จะเรียกร้องอะไรก็ไม่เคยได้เลยไม่ว่าจะปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารมาใช้ระบบสมัครใจ กองทัพก็ไม่เคยฟัง ทำไมคุณไม่ฟังเสียงประชาชนเลย? ในการยึดอำนาจนี่ประชาชนขอร้องให้คุณมายึดเหรอครับ? ก็เปล่า ประชาชนไม่ได้เรียกร้องการยึดอำนาจ”

ระบบทหารมันไม่ได้ยึดโยงว่าทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อย่างวันนี้แค่คำว่า ‘เพื่อประชาชน’ ของเขา แค่เราถ่ายรูปเนี่ยก็มีทหารตามแล้ว มีทหารมายืนถามเราแล้วว่ามาทำอะไร อันนี้แค่บริเวณหน้าป้ายที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครผ่านไปผ่านมาก็เห็นแค่นั้นเอง เห็นมั้ยครับว่าเขาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนจริง ๆ”

“ถ้าเป็นพี่ ๆ อยากเปลี่ยนสโลแกนนี้เป็นคำว่าอะไร?”

“ผมอยากเปลี่ยนคำว่า ‘เพื่อประชาชน’ ออกไปเป็น ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และตัวเอง’ ไม่ก็ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และครอบครัวจ.ป.ร.’ นี่แหละ หรือเป็น ‘ครอบครัวตัวเอง’ ก็ได้แต่ตัดคำว่า ‘เพื่อประชาชน’ ออกไปซะ”

หลังจากขี้เกียจรอคุณจ่าคนนั้นเดินเข้าไปปรึกษา“นาย”ว่าจะเอายังไงกับไอ้พวกนี้ดี พวกเราเลยตัดสินใจเรียกตุ๊ก ๆ ไปส่งหมู่อาร์มดีกว่าเพราะนี่ก็ใกล้ถึงเวลานัดเริ่มกิจกรรมชุมนุมแล้ว

“ตอนนี้พี่คิดว่าตัวเองยังเป็นทหารอยู่มั้ย?” — คำถามสุดท้ายที่ไม่ถามก็คงรู้สึกแปลก กับคนที่รักและอยู่กับอาชีพ ๆ หนึ่งนาน ๆ มันต้องมีบางช่วงแหละที่คิดถึง

“ไม่แล้วครับ…” — ผิดคาดแฮะ

“ตอนนี้ไม่คิดว่าตัวเองเป็นทหารอีกแล้ว ดูพฤติกรรมทหารเอาก็แล้วกันว่าใครมันอยากจะเป็น มันหมดศรัทธามันเสื่อมไปแล้ว แม้แต่ชุดพี่ก็ยังไม่อยากเก็บไว้เลย”

หลังจากเดินไปส่งหมู่อาร์ม ซึ่งเอาจริง ๆ พวกเราเรียกเค้าว่า “พี่อาร์ม” ที่อนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภา 35 แล้ว พวกเรายืนดูการปราศรัยซักพักหนึ่งแล้วจึงลากลับก่อน ตอนแรกตั้งใจกะที่จะเก็บภาพพี่อาร์มขณะทำการปราศรัยบนเวทีแต่ก็ต้องกลับกันก่อนเพราะว่า…

พี่อาร์มปราศรัยพรุ่งนี้

Loading next article...