บ้านฉันดูเนชั่น
277 วันแล้ว ที่ผมไม่ได้กลับบ้าน​​ (ในภาคใต้)

วันนี้ผมกำลังจะกลับบ้านอีกครั้ง บ้านที่ดูเนชั่น บ้านที่ไม่ส่งเสริมให้ผม ‘คิดต่าง’

การเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนในกรุงเทพฯ
เราได้รับข้อมูลแตกต่างไปจากมุมมองที่เคยได้รับการปลูกฝัง
เรื่องการเมือง เรื่องประวัติศาสตร์ รวมไปถึงมุมมองต่อ ’ประเทศ’ และ ‘อนาคต’ ของเรา

พอย้ายมาเรียนกรุงเทพ เจอสังคม โลกอีกแบบ ‘โตขึ้น’
แต่สุดท้าย เราก็มีวันที่ต้องกลับบ้าน นี่คือการเดินทางของผม

เราไม่ชอบกลับบ้าน
ไม่ใช่ว่าตัวเองขาดความอบอุ่น ครอบครัวไม่ลงรอยกันหรืออย่างไร แต่เป็นเพราะว่าความแตกต่างที่ระหว่างตัวเรากับสมาชิกครอบครัวมันทำให้เกิดความอึดอัดบางอย่าง

คิด ๆ ดูแล้วเราก็เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ผ่าเหล่าผ่ากอมากที่สุดจริง ๆ ตั้งแต่มือข้างที่ถนัด ทัศนคติหลาย ๆ อย่าง อาชีพการงานที่ทำ และแน่นอนว่ารวมไปถึงเรื่องการเมืองด้วย

กรุงเทพฯ / ภายใน / สนามบิน

การมาเรียนต่างจังหวัดทำให้เรารับรู้อะไรหลาย ๆ อย่างในมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น เมื่อความแตกต่างหลาย ๆ อย่างมาสุมรวมกันจนทำให้เกิดความไม่เข้าใจ แล้วมันก็นำไปสู่อาการไม่อยากกลับบ้าน ส่วนหนึ่งเราก็กังวลว่าพ่อแม่เราจะได้รับข่าวสารด้านเดียวและอาจจะไม่จริงแล้วอินกับมันมากไปจนเครียดและล้มป่วยได้

เราไม่แปลกใจเลยที่หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าภาคใต้เป็นเมืองหลวงกปปส. หรือคนใต้เป็นสลิ่ม (อาจจะฟังดูแย่ที่ผมใช้คำนี้กับคนบ้านเดียวกัน แต่จากประสบการณ์ที่ได้รับในกรุงเทพ คำนิยามนี้ดูจะใกล้เคียงที่สุด)เพราะได้รับอิทธิพลมาจากการเลี้ยงดูและสภาพสังคมอย่างนั้นจริง ๆ

เราชอบการไปถึงสนามบินก่อน นอกจากการกลัวเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ตกเครื่องเพราะคนในครอบครัว(รวมถึงเรา)ล้วนมีประวัติเคยตกเครื่องมาแล้ว

อีกอย่างคือชอบไปดูบรรยากาศของการรอคอย ไม่ว่าจะมาจากเพื่อนร่วมทางหรือการรอคอยของผู้มารับ มันทำให้เรารู้สึกว่าคงจะดีเหมือนกันที่มีใครยอมเสียเวลาของตัวเองเพื่อรอคน ๆ หนึ่ง ระหว่างรอเราก็คิดเล่นๆไปว่าใครจะเป็นคนเปิดประเด็นเรื่องการเมืองก่อนระหว่างเราหรือพ่อ ที่บ้านจะมีการตื่นตัวทางการเมืองขนาดไหน หรือว่ายังดูเนชั่นอยู่เหมือนเดิม

หาดใหญ่ / ภายใน / ระหว่างกลับจากสนามบิน

หลังจากเจอแม่ ขนของขึ้นรถ 277วันที่ไม่ได้กลับบ้านมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย แต่ดูเหมือนบรรยากาศระหว่างทางกลับบ้านก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม

ขณะที่รถกำลังแล่นผ่านทาง เราสังเกตเห็นอะไรหลายๆอย่างในบริบทที่เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเคยเฉย ๆ ตอนนี้กลายเป็นเย้ยหยั่น การพูดถึงบุคคลที่มีชื่อติดบนป้ายในบริบทอื่นนอกจากด้านคุณงามความดีเป็นอะไรที่ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเฉพาะในจังหวัดบ้านเกิดของเขา

เราคิดว่าทุกเรื่องสามารถคุยกันได้ถ้าคุยกันอย่างใช้เหตุผลและมีข้อเท็จจริงมารองรับ การกลับบ้านครั้งนี้เราเลยอยากคุยกับที่บ้านเรื่องข้อมูลที่ได้รับมาจากสื่อ เราอยากรู้ว่าเขาตั้งคำถามกับสารที่ได้รับมามั้

หาดใหญ่ / ภายนอก / สวน
.
พอลงเครื่องและรอได้ซักพัก แม่ก็มารับกลับบ้าน ก่อนไปบ้านแม่พาเราไปดูที่ดินที่เพิ่งซื้อใหม่ซึ่งตอนนี้กำลังถมดินทำเป็นสวน ก่อนหน้านี้เราเห็นความเป็นไปของสวนผ่านทางไลน์กลุ่มที่บ้าน

เราตกใจที่เห็นพ่อผอมและดูโทรมลงมาก ๆ จากรูปถ่ายที่ส่งมาในไลน์ พอมาเจอต่อหน้าเลยเห็นได้ชัดว่าพ่อดูแก่และผิวคล้ำลงไปมากจากวันที่เจอกันครั้งล่าสุด ผ่านมาเป็นสิบปีเราก็ได้เสียสถิติคนที่ผิวคล้ำที่สุดในบ้านไปแล้ว

ตอนแรกเราเฉย ๆ กับเรื่องทำสวนเพราะมันเป็นการตัดสินใจของพ่อกับแม่ คิดว่าก็ดีแล้ว ได้ออกกำลังไม่งั้นร่างกายคงเสื่อมตามประสาคนมีอายุที่เกษียณแล้วอยู่ติดบ้าน แต่เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันจำเป็นที่ต้องตะบี้ตะบันทำถึงขนาดต้องมาคุมงานเองทุกวันเลยเหรอ

พ่อ: ที่ซื้อสวนเนี่ยเพราะอยากให้มันเป็นสินทรัพย์ ให้ลูกให้หลาน พ่อขายต่อพี่เพราะถือว่าเป็นการลงทุนให้ยืมเงินก่อน ที่เหลือก็จะแบ่งกันสองคนลูก ด้านหน้าตัดให้เผื่อขายของ ส่วนด้านหลังแบ่งกันสองคนพี่น้องเท่า ๆ กัน ด้านหลังว่าจะปลูกต้นไม้ป่ายืนต้นเผื่อ10-20ปีได้โค่นขาย ข้างหน้านี่จะปลูกผลไม้ทุกชนิดที่เราอยากกินให้ลูกหลานได้กิน ได้อร่อย

พ่อพูดในขณะที่ความฝันที่จะมีที่ดินไว้ปลูกไม้หายากและสวนผลไม้ยังคงเป็นภาพเลือนราง แต่ดูเป็นไปได้มากกว่าการที่ได้เห็นลูกตัวเองคนใดคนหนึ่งแต่งงาน หรือได้อุ้มหลาน เพราะสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ การจะแต่งงาน มีลูก มันเป็นอะไรที่ต้องคิดหนักมาก

ยิ่งสถานการณ์ที่การเมืองเป็นแบบนี้ทำให้รู้สึกว่ามันจะดีเหรอที่ให้ลูกเกิดและเติบโตมาในประเทศที่อะไรต่าง ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อย่างนี้

หาดใหญ่ / ภายใน / ตัวเมือง

กรุงเทพฯตอนนี้บนพื้นถนนอาจจะเต็มไปด้วยรถรา การจราจรที่ติดขัดเพราะฝน ความพลุกพล่านของคนหรือความคุกกรุ่นของการชุมนุมทางการเมือง แต่หาดใหญ่ในช่วงโพล้เพล้กลับเต็มไปด้วยความเงียบเหงา วิวสองข้างทางเป็นอะไรที่ต่างจากที่เราเคยเห็น หาดใหญ่เคยเป็นเมืองที่คึกคักมากในตอนที่เราเป็นเด็ก เพราะไม่มีนักท่องเทียวเลยทำให้บรรยากาศหมองลงไปเยอะ

ลูก: มันเป็นเพราะช่วงโควิดเหรอ?
แม่: อือ เค้าปิดประเทศ โรงแรมอะไรก็ปิดหมดเห็นมั้ยนิเพราะไม่มีคนพัก ปิดไฟเงียบเลย เหลือแต่ยามเฝ้า

หาดใหญ่ / ภายใน / ครัว

ระหว่างที่กำลังดูทีวีอยู่หน้าบ้าน เราได้ยินเสียงพิธีกรที่คุ้นหู มันเป็นเสียงที่เราต้องได้ยินทุกครั้งที่กลับบ้าน เราไม่มีทางทำให้พ่อเลิกดูช่องนี้ได้อยู่แล้ว การกลับมาครั้งนี้เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะเราอยากจะรู้ด้วยว่า ในบรรดาทีวีหลาย ๆ ช่อง(พ่อแม่ไม่เสพสื่อออนไลน์)ทำไมถึงเลือกที่จะดูเนชั่นเป็นหลัก

พ่อ: มัน..พูดความจริงตรงกับความรู้เรา

ลูก: ทำไมพ่อถึงเชื่อว่าสื่อในทีวีมันเชื่อถือได้ พ่อเคยเช็คความน่าเชื่อถือมั้ยว่าแต่ละช่องนำเสนอข่าวเดียวกันยังไง อินเตอร์เน็ตนำเสนอยังไง?

พ่อ: ก็ไม่เคยรู้สึก เพราะเราก็ไม่ได้เชื่อทั้งหมด

แม่: แม่ว่าช่องอื่นมันก็นำเสนอข่าวแบบเนชั่นนะ

ลูก: ประเด็นคือเสรีภาพในการแสดงออกมันไม่มี ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมันไม่มีหรอกที่ใครออกมาแสดงความเห็นแล้วโดนจับ หลาย ๆ คนโดนตำรวจอุ้ม อินเตอร์เน็ตมันทำให้เราเห็นเหตุการณ์ตอนนั้นได้เลยแบบเรื่องของเพนกวิ้นที่โดนตำรวจดักจับแล้วก็อุ้มไป

พ่อ: ก็มันนอนอะ มันไม่ไปเขาก็อุ้มแล

ลูก: แล้วเรื่องตำรวจมาแอบซุ่มดูหน้าบ้าน ซุ่มจับ จับต่อหน้าลูกเมียเขาล่ะ พ่อรู้ข่าวนี้มั้ย?

พ่อ: แล้วทำไมมันต้องไปสาดสีใส่ตำรวจล่ะ แล้วคนที่ถูกจับมันโดนจับตามข้อกฏหมาย

ลูก: พ่อไม่เห็นด้วยกับเรื่องกระทิงแดงใช่มั้ย โดนหมายเรียกไปหลาย ๆ ครั้งแต่ไม่เคยมาเลยแล้วก็ไม่โดนจับ แต่หลายคนที่เป็นแกนนำชุมนุมนี่บางคนไม่โดนหมายเรียกนะ โดนจับเลย ได้รู้เรื่องนี้มั้ย?

พ่อ: …อย่าให้ประเทศเป็นเหมือนซีเรียก็แล้วกันลูกเอ๊ย(ห๊ะ?)

ลูก: เราอยู่ในการโดนรัฐประหารมา11รอบ แล้วมันมีอะไรดีขึ้นมั้ย 88ปีของประชาธิปไตยอะ รู้สึกว่าเป็นประชาธิปไตยขึ้นมั้ย?

พ่อ: เรา(หมายถึงตัวพ่อเอง)ไปอยู่เมืองจีนมาเดือนนึงเราไม่มีความรู้สึกว่าแตกต่างเลยว่าเขาปกครองแบบคอมมิวนิสต์หรืออะไร มันก็อิสระเสรี(ถามคนจีนแล้วเหรอ?)ยกเว้นว่าอย่าไปทำผิดกฏหมาย ต่างกันยังไงประชาธิปไตยกับเผด็จการ ถ้าชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุขอยู่สบาย

ลูก: มันสบายไง มันสบายก็แค่ที่พ่อรู้แค่นั้นไง

พ่อ: คิดไปเอง ลูกคิดไปเอง

พ่อ: ..พ่อคงพูดแค่สั้น ๆ ว่า ในฐานะที่เป็นพ่อ-ลูกกันน่ะนะ ดำรงชีวิตตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยก็พอ พ่อไม่รู้สึกว่ามันเป็นบุญคุณเลยถ้าลูกออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย พ่อพูดให้ฟังไว้คำหนึ่งนะ นักศึกษาจะตกเป็นเครื่องมือทุกยุคทุกสมัย

ลูก: รู้มั้ยทำไม?

พ่อ: เพราะมันโง่ไง มันอวดฉลาด อ่อนประสบการณ์

ลูก: ไม่ใช่ เพราะรุ่นพ่อทำไม่สำเร็จไง

บ้านเราปกครองด้วยระบอบพ่อเป็นใหญ่ เราเลยถามว่าทำไมพ่อถึงดูเนชั่นแทนที่จะเป็นแม่ หรือพ่อแม่ เรื่องการทะเลาะกันว่าจะดูช่องไหนเป็นสิ่งที่เราเจอมาตั้งแต่เด็ก โตมาเลยได้ทางแก้ด้วยการมีทีวีคนละเครื่อง หน้าบ้านกับหลังบ้าน ข้าวก็แยกกันกินเอา

…ก็ยอมรับแหละว่าคุยไปก็มีหัวร้อนบ้าง คุยไปก็เหมือนเอาเหตุผล ตรรกะ สาระ และข้อมูลทั้งหมดไปโยนลงหลุมดำ

สุดท้ายเราก็เอาเครื่องหมายคำถามไปใส่ไว้ในสิ่งที่เขาเชื่อไม่ได้อยู่ดี

หลังจากสนทนากันหนักหน่วงเมื่อคืน พอแยกกันกินข้าวเช้าระหว่างเรากับพ่อแม่เสร็จ พ่อก็อาบน้ำ แต่งตัวไปสวน เหลือช่องว่างให้แม่ต่อบทสนทนาจากเมื่อคืน

แม่: พ่อยังพูดกับแม่เสมอว่าเด็กอะ เป็นเครื่องมือให้กับนักการเมืองทุกรุ่นเลยลูก

ลูก: สรุปแม่ก็ยังเชื่ออย่างนั้น?

แม่: มันก็มีส่วน บางทีลูกอาจจะประสบการณ์ไม่เยอะ เหมือนพ่อบอกนะแหละว่าผ่านมาหลายสมัยแล้ว ก็คือรักษาตัวให้ดี ให้มีงานทำ เลี้ยงดูตัวเองให้ดีลูก อย่าไปฝักใฝ่กับมันมากนักแรง บางทีลูกอยู่คนเดียวลูกอาจจะไม่มีใครมาที่มาแชร์ความเห็นก็ได้ไง แล้วลูกจะรู้ได้ไงว่าคนที่ลูกสัมภาษณ์เขาจะไม่เอียงข้างไหน ๆ แล้วมันก็อันตรายด้วย เอาข่าวไปลงแล้วมีใส่ชื่อตัวเอง แม่กับพ่อก็เป็นห่วงนะลูก บางทีความคิดลูกเป็นอิสระเกินไปนะแม่ว่า ลูกทำท่าจะเอียงแล้วนะ

เราก็ไม่ได้ถามแม่ต่อว่า “เอียง” ที่พูดมาหมายความว่าอะไร แต่ที่สงสัยกว่าคือการที่คนออกมาต่อต้านระบบที่ไม่เป็นธรรมกับตัวเองนี่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เหรอ? แล้วต้องมีประสบการณ์ขนาดไหนถึงจะพอ? เพราะเดี๋ยวนี้คนเราเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และมันสามารถหาอ่านได้ง่ายและมีมากมายหลายแห่ง แถมมีหลายด้าน หลายแง่มุมกว่าที่พ่อกับแม่เข้าใจเสียอีก

หาดใหญ่ / ภายใน / ระหว่างทาง

แม่เป็นสมาชิกครอบครัวที่เราสามารถพูดคุยได้มากสุด(ซึ่งก็ไม่ได้มากขนาดคุยได้ทุกเรื่องอยู่ดี) ด้วยความเป็นห่วงที่ลูก(เลือกที่จะ)ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในกรุงเทพฯทำให้บทสนทนาประเภท “กลับมาอยู่บ้านเถอะลูก” เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ

แม่: แม่ว่าลูกกลับมาอยู่บ้านดีกว่า

ลูก: ไม่อะ

แม่: ไปอยู่ที่บ้านเก่า เปิดกิจการก็ได้

ลูก: ไม่อะ ไม่มีทาง

ลูก: ทำไมถึงอยากให้กลับมาอยู่บ้าน?

แม่: อยากให้อยู่ใกล้พ่อใกล้แม่

ลูก: ไม่อะ

แม่: หืม?

ลูก: ไม่อะ ต่างคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง

แม่: ลูกก็มาหางานทำแถวนี้ก็ได้

ลูก: …ไม่อะ

หาดใหญ่ / ภายใน / ร้านอาหาร

หนึ่งในความเหมือนที่มีร่วมกันน้อยนิดระหว่างเรากับพ่อคงมีเรื่องชานี่แหละที่ชอบกินเหมือนกัน ถึงจะต่างกันที่ความร้อน-ความเย็นก็เถอะ

ร้านกาแฟ ร้านชา เป็นสถานที่ ๆ คนใต้ชอบมาพูดคุย พบปะและเปลี่ยนความเห็นกัน แต่เรารู้สึกว่าด้วยทัศนคติหลายๆด้านที่ต่างกันไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองมันน่าจะเปลี่ยนให้เราเป็นคนนอกไปแล้ว
.
ไม่ใช่คนใต้ใจเต็มที่คิดอะไรคล้ายๆกัน มีมุมมองทางการเมืองแบบเดียวกัน

ระหว่างเดินขึ้นไปเก็บของเตรียมกลับกรุงเทพฯ เราประหลาดใจที่ได้ยินเสียงของ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกร Voice TV ช่องที่พ่อไม่ชอบและไม่เคยคิดจะเปิด ดังออกมาจากคอมพิวเตอร์ นึกว่าพ่อเปิดใจรับข่าวสารอื่นแล้ว แต่เปล่าเลย

พ่อเราหลับ

…..ก็แอบมีหวังนิดนึงอะนะ

หาดใหญ่ / ภายใน / ระหว่างทางไปสนามบิน

อาจจะเพราะกังวล เป็นห่วง หรืออะไรก็ตาม จู่ ๆ พ่อก็โพล่งความคิดของตัวเองออกมาให้ฟังระหว่างขับรถไปส่งเรากลับกรุงเทพฯที่สนามบิน

พ่อ: สมัยป๋าเปรมเป็นนายก(ตอนนั้นพ่ออายุ23-31ปี) บ้านเมืองรุ่งเรืองเป็น8ปีก็เจริญ ไม่มีการคอรัปชั่น แล้วทีนี้ชาติชายเนี่ยขึ้น ก็ให้ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ไปปลุกปั่นเด็กในมหาวิทยาลัย…

เราได้แต่คิดในใจว่า “จะมาไม้ไหนอีก” ระหว่างถ่ายรูปพ่อ(รูปข้างบนนี่แหละ) ไม่บ่อยนักที่พ่อจะพูดเรื่องประวัติศาสตร์(ในมุมมองที่ตัวเองรู้) จะมาปลูกจิตสำนึกชาตินิยมให้ลูกเอาตอนนี้เหรอ?

พ่อ: ลูกไปอ่านประวัติซักนิดก็ดี ออกมาขับไล่ว่า(ป๋าเปรม)ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมั่งอะไรแบบนี้ แกก็เลยเบื่อระอาแกก็ลาออก พอลาออกชาติชายก็ขึ้นเลย

ลูก: พ่อจะสื่ออะไร?

พ่อ: จะสื่อว่าบางอย่างเนี่ย เรากว่าจะรู้ความจริงก็10-20ปี

หลังจากเลคเชอร์วิชาประวัติศาสตร์ในมุมมองของตัวเองเสร็จ บรรยากาศภายในรถก็กลับมาเงียบอีกครั้ง

พ่อคงไม่สนใจ หรืออาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าตอนนี้ ยุคนี้การรับรู้อะไรหลาย ๆ อย่างมันต่างจากเดิมไปเยอะแล้ว 

หาดใหญ่ / ภายใน / สนามบิน

หลังจากบอกลากับพ่อแม่เราก็รีบเดินขึ้นมาที่ชั้นผู้โดยสาร ถ่ายรูปตั๋วสองสามทีก็ต้องรีบเข้าเกทเพราะประกาศ Final call แล้ว

ต่อจากนี้เราคิดว่าเรื่องการเมืองคงเป็นประเด็นที่ไม่พูดกันในบ้านเพราะพูดไปก็ป่วยการ เขาไม่คิดที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ก็ได้แต่หวังว่าที่บ้านจะไม่เป็นฝ่ายเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาเอง

ระหว่างอยู่บนเครื่องรู้สึกเหมือนลืมอะไรซักอย่าง

แต่ก็รู้สึกแบบนี้ประจำแหละเวลากลับบ้าน 

Loading next article...