‘หนัดกินผัก’ กัญ
“มันถูกสมมติโดยสังคม มันถูกสมมติโดยกฎหมาย มันถูกสมมติโดยเจ้านาย
มันถูกสมมติโดยผู้ขาย มันถูกสมมติขึ้นมาจนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคือสมุนไพร มันคือสิ่งที่ทำให้พวกเราเยือกเย็นแล้วก็อ่อนโยน”
คำพูดส่วนหนึ่งของพี่วิน นักร้องนำวง SRIRAJAH ROCKERS ซึ่งกล่าวก่อนเล่นคอนเสิร์ตเปิดงาน ‘หนัดกินผัก’

พืชก็คือพืช แต่บรรทัดฐานของสังคมเป็นตัวกำหนดให้อะไรผิดตามกฎหมายหรือไม่ผิด
แต่สิ่งผิดกฎหมายที่หลายคนเห็นว่าไม่มีโทษจนคนกลุ่มนึงสามารถสร้างจักรวาลของตัวเองขึ้นมา
จนกลายเป็นชุมชนได้

พืชหนึ่งที่คาบเกี่ยวทั้งการเป็นพืชสมุนไพรและยาเสพติด
สำหรับคนที่ใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ก็อาจจะมองว่านี่คือพืชสมุนไพร
แต่กับคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากมัน พืชชนิดนี้ก็อาจเป็นแค่ชนิดของยาเสพติด

ตราบใดที่กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมให้พืชชนิดนี้ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด
ทั้ง ‘พืชสมุนไพร’ และ ‘ยาเสพติด’ ก็ล้วนแล้วแต่ยังเป็นสิ่งสมมติอยู่ต่อไป
เรื่องเล่าจาก งาน ‘หนัดกินผัก’
งานสนับสนุนการ ‘กินผัก’ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2563

มันคือพืช ไม่ใช่สารเสพติด

“ ไอ้นี้มันคือพืชชัด ๆ ใครมาเถียงว่าไม่ใช่พืช อยากถามว่าผักไม่ใช่พืชใช่มั้ย ใครกล้าเถียงว่าไม่ใช่พืชบ้าง แต่ถ้ามาบอกว่าผักเป็นยาเสพติดเนี่ยผมกล้าเถียง มาให้ข้อมูลที่เท็จจริงกัน เพราะว่าผมกินผักมา 48 ปีแล้วครับ ก็ผมกินเป็น ผมไม่ได้กินพร่ำเพรื่อ ผมไม่ได้กินทุกวัน”

“ผมก็กล้าเถียงเลยว่ามันไม่ใช่สารเสพติด จะเป็นสารเสพติดได้ยังไงในเมื่อมันผลิตในพืช แล้วเค้ารู้จักเอาพืชนี้มาใช้เพื่อปรับสมดุลในร่างกายให้เรารับสารความสุข” ลุงดำ เกาะเต่า หนึ่งในคนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากคนกินผักในประเทศไทยขึ้นพูดประเด็นผักคือพืชสมุนไพรไม่ใช่สารเสพติด

“สารเสพติดเนี่ย มุมมองส่วนตัวของผม ผมมองว่ามันเป็นสารอะไรก็ได้ที่เราใช้แล้วเรารู้สึกติดรู้สึกว่าอยากจะใช้มันอีกเรื่อย ๆ เหมือนเวลาติดน้ำตาลติดชากาแฟเนี่ย อันนี้ผมยกตัวอย่างให้คนทั่วไปมองเห็นได้นะครับว่าการติดเนี่ยมันไม่ใช่ว่าจะแค่ติดผักเขียวใบแฉกได้อย่างเดียว คุณสามารถติดน้ำตาลได้ ติดเหล้า ติดชากาแฟ ติดอะไรที่มันถูกกฎหมายได้หลาย ๆ อย่างนะครับ ดังนั้นมันอยู่ที่ว่าเราจะนิยามคำว่าสารเสพติดยังไง สำหรับผักนี่ถ้าบอกว่าเป็นสารเสพติด ผมยังไม่เคยเห็นใครลงแดงผักแล้วตายนะ” พิธีกร (บุญเติม สายเขียว) พูดเสริมลุงดำอีกที

สร้างความคุ้นชิน

ด้วยความที่เราไปถึงเรือในช่วงที่ทีมงานกำลังเตรียมงานกันอยู่ ก็เลยทำให้เรามีเวลาพอสมควรในการเดินสำรวจเรือจนครบทุกซอกทุกมุม กว่าที่งานจะเริ่ม ระดับความคุ้นชินที่เรามีต่อเรือลำนี้ก็เพิ่มจากติดลบขึ้นมาอยู่ในระดับปกติแล้ว

เป็นความคุ้นชินที่อยู่ในระดับปกติ แต่ความตื่นเต้นนั้นก็ยังอยู่ในระดับสูง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เรือจอดเทียบท่าอีกครั้งเพื่อรับผู้โดยสารกลุ่มสุดท้าย

‘ตื่นเต้นยืนไม่ติด’ น่าจะเป็นคำอธิบายความตื่นเต้นของผู้โดยสารกลุ่มนี้ได้ชัดที่สุด

ผู้เข้าร่วมงานหยิบอุปกรณ์ที่เตรียมมาจากบ้านขึ้นมาจุดควันอย่างพร้อมเพรียงกัญโดนมิได้นัดหมาย

มองไปทางไหนก็เห็นควันลอยคลุ้ง พอได้สูดดมก็รู้ทันทีเลยว่านี่คือควันจากการเผาไหม้ของอะไรสักอย่างที่เราไม่เคยได้กลิ่นมาก่อน จะบอกว่ากลิ่นหอมก็ไม่เชิง เพราะถึงมันจะไม่เหม็นเท่าบุหรี่ราคาถูก แต่มันก็เป็นกลิ่นที่รู้สึกว่ายังมีความเหม็นอยู่ เอ้อ อย่างน้อยมันก็สูดดมได้แบบที่คนเป็นไมเกรนอย่างเราไม่มีอาการมึนหัวเลย

บรรยากาศในเรือตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว

ลงเรือลำเดียวกัน

“เจอด่านก็ต้องระแวงกฎหมาย ไปไหนก็กลัวตรวจเยี่ยว โดนสังคมตราหน้าว่าเป็นขี้ยาอย่างนู้นอย่างนี้ เราอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราอยู่ในชะตากรรมเดียวกันก็คือเราลงเรือลำเดียวกันมาตั้งนานละ แต่วันนี้เป็นนัดหมายอันสวยงามนะครับที่เราได้มาอยู่ในเรือลำเดียวกันจริง ๆ”

“ มันไม่ใช่แค่สุภาษิตอีกต่อไปครับ ดังนั้นวันนี้เราจะเอาความสุขมาแบ่งปันกัน ร่วมที่จะก้าวไปด้วยกันวันนี้” ด้วยรูปแบบงานชิลล์ ๆ สบาย ๆ เราเลยไม่เห็นพิธีรีตองอะไรมากนัก ประโยคเปิดงาจากพี่บุญเติม สายเดี่ยว หนึ่งในสองพิธีกรของงาน ก็เลยถูกลดทอนรูปแบบลงให้เหลือเป็นมุขตลกร้ายธรรมดา ๆ

ใครก็ลงเรือลำนี้ได้

“ที่ไม่เคยลองสูบผักชนิดนี้เพราะว่าเราสูบบุหรี่ไม่เป็น แต่จริง ๆ ทุกวันนี้มันมีวิธีเยอะมากในการใช้ประโยชน์จากผัก ทั้งแบบบ้อง แบบมวน แบบจ๊อย รึว่าพวกคุกกี้อะไรแบบนี้”

“โอเคทุกคนเท่ากัน เรามาจอยกันเพื่อที่จะทำเรื่องเดียวกัน แล้วก็พูดให้ประเด็นนี้มันเสียงดังขึ้น เหมือนตอนประชุมเค้า (พี่ณัฐ ผู้จัดงาน) พูดประมาณว่า ถ้าต่างคนต่างพูดมันจะสะเปะสะปะ แต่ถ้าทุกคนพูดพร้อมกันด้วยข้อความเดียวกันอะมันก็อาจจะเสียงดังกว่าอะไรประมาณนี้” นี่คือบทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างเรากับน้องทีมสารคดีของงาน คล้ายจะเป็นการแนะนำตัวของเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จัก

ทุกคนในที่นี้ก็คือทุกคนจริง ๆ

เรือคนละลำ

“คนกินผักก็ต้องการเสรี ไหนใครบ้างที่ต้องการใช้ผักเขียวใบแฉกอย่างเสรี?” คนในงานส่งเสียงร้องพร้อมกัน วู้ววววววว
“ทีนี้เราทุกคนก็มีเป้าหมายอันเดียวกันแล้ว”

พิธีกร (บุญเติม สายเขียว) ชงให้พี่เดี่ยว (ด.เดี่ยว พรรคเขียว) บอกที่มาที่ไปของพรรคเขียว แต่พิธีกรยังไม่ทันจะพูดจบก็ต้องหยุดพูดเพราะกลัวอะไรบางอย่าง เสียงในงานเลยดังขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่เสียงไมค์พิธีกร แต่เป็นเสียงซุบซิบในความสงสัยของผู้เข้าร่วมงาน เกือบหนึ่งนาทีที่ความกลัวเข้ามาครอบงำพิธีกรและศิลปินรับเชิญ

ช่วงแรกของงานวันนี้มันมีเรือตำรวจแล้วพิธีกรกับแขกรับเชิญก็ต้องหยุดพูดไปขณะหนึ่ง อยากให้พี่ณัฐ(ผู้จัดงาน)อธิบายเหตุการณ์นี้หน่อยค่ะ?

“คือด้วยความที่มันมีกฎหมายอะมันก็ยังแคบอยู่ในการที่จำกัดพวกเราที่ใช้เพื่อสันทนาการ มันก็เลยไม่ควรจะพูดให้เค้าได้ยินอะ คือรู้สึกว่าไม่ให้เค้าได้ยินดีกว่า แต่เราก็รู้กันเองว่าเรากำลังทำอะไร แล้วตอนหลังเราก็ไม่ใช้คำนั้น (ผักใบเขียวมีแฉก) แต่ทุกคนบนเรือก็รู้ว่ามันคืออะไร เพราะว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มันอาจจะคัดง้างกับคำว่าผิดกฎหมายใช่ป่ะ แต่ถามว่าการที่คนใช้เข้าถึงผักเพราะว่าป่วยมะเร็งแล้วเค้าก็หายจากมะเร็ง เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งพวกนี้มันมีหลายมิติที่น่าจะต้องขุดออกมาให้เห็นว่าสันทนาการผิดกฎหมายจริง แต่ว่าประโยชน์มีมั้ย ใช้แบบไหน ใช้อะไรยังไง มันควรที่จะให้เข้าถึงประชาชนอะเนอะ

มันเหมือนจังหวะซิทคอมเลยเนอะ แต่แค่พอมาเจอเหตุการณ์จริง ๆ แล้วก็ขำไม่ออกเหมือนกัน

เปิดเสรีที่บ้านก่อน

หนึ่งในคำถามที่เราเตรียมไปถามคนเข้าร่วมงานก็คือ ‘บอกที่บ้านมั้ยว่าจะมางานปาร์ตี้กินผัก’ ซึ่งบังเอิญตรงกับประเด็นที่หนึ่งในศิลปินของงานพูดบนเวทีด้วย

ตอนออกมาจากบ้านได้บอกที่บ้านกัญมั้ยว่าจะมาคอนเสิร์ต?
“บอกครับ แม่รู้ด้วยซ้ำไป แม่เลือกบริษัทนี้ให้ผมฝึกงานด้วยซ้ำไป เพราะว่าแม่รู้จักแล้วก็สนิทกับเจ้าของบริษัท คือแม่ผมเปิดกว้างเรื่องผักชนิดนี้ นี่เค้าก็พึ่งไปงานผักเขียวใบแฉกที่บุรีรัมย์มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วด้วย พอดีแม่ผมทำเกี่ยวกับสมุนไพร ทุกอย่างที่เป็นสมุนไพร ไม่ได้ปิดกั้นว่าเป็นยาเสพติดหรืออะไร”

แล้วอย่างนี้แม่แนะนำวิธีการใช้ประโยชน์จากผักต้องห้ามนี้ให้เราบ้างมั้ย?
“ไม่เชิงว่าแนะนำครับ จะพูดยังไงดีอะ (นิ่งคิด) ก็เหมือนแม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เราโตแล้ว ก็เหมือนเค้าเชื่อมั่นในตัวเราว่าเราจะรู้ลิมิตของตัวเองอะครับ” Staff ซึ่งเป็นนักศึกษาฝึกงานของบริษัทที่เป็นออแกไนซ์จัดงานนี้ให้สัมภาษณ์เราอย่างไม่เคอะเขิน

“สังคมจะต้องเปิดขึ้นนะครับ เสรีที่ต้องเสรีที่บ้านนะครับ ใครที่ยังแอบอยู่ ไปคุยกับที่บ้านก่อน” พี่เดี่ยว (ด.เดี่ยว พรรคเขียว) พูดย้ำบนเวทีนัยว่าสิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่สุดอีกหนึ่งอย่างที่ผู้ใช้ประโยชน์จาก‘ผักที่ว่านี้’ทุกคนควรจะปฏิบัติเพื่อเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำกัญไปสู่เสรีในระดับที่ใหญ่ขึ้น

การถูกยอมรับจากคนใกล้ตัวที่เราใว้ใจ สิ่งนี้น่าจะใช้อธิบายคำว่า ‘เสรีผักที่บ้าน’ ได้

ของแท้ต้องขึ้นจากดิน

“เพราะว่าของแท้นี่มันต้องขึ้นจากดิน ไอ้ปลูกฝัง(ความคิด) น่ะของปลอม การปลูกฝังเป็นเรื่องของการบิดเบือนนะครับ”

ประโยคนี้ของพี่เดี่ยว (ด.เดี่ยว พรรคเขียว) ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะปฏิเสธว่าสิ่งที่พี่เดี่ยวพูดไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาเราถูกปลูกฝังแบบผิด ๆ ด้วยชุดข้อมูลเก่าเพียงแค่มันมีความดีงามเหมาะสม พอโตมาถึงได้รู้ว่าสิ่งที่ถูกปลูกฝังทั้งหลายนั้นคือข้อมูลด้านเดียวที่ไม่มีความชอบธรรม แล้วสุดท้ายเราก็ต้องมาหาความจริงป้อนเข้าไปแทนที่

ถ้าจะพูดกันแบบแทนที่สมการเลยคือเมื่อก่อนกัญชาถูกมองเป็นยาเสพติด คนใช้กัญชาก็เลยกลายเป็นคนติดยาเสพติด แต่ไม่กี่ปีมานี้แนวความคิดใช้กัญชากับการแพทย์เริ่มพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย กัญชาถูกยอมรับว่าเป็นพืชสมุนไพรมากกว่าจะเป็นสารเสพติด นำไปสู่การผลักดันกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับกัญชา

ผักก็คือพืชสมุนไพร

“โดยส่วนตัวผมสนับสนุนในเรื่องของการใช้ผักชนิดนี้เป็นสมุนไพรทางเลือกเพื่อมาเสริมการรักษา ในฐานะที่ผมเป็นแพทย์แผนไทยผมเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องการส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยการปลูกเป็นชาเพื่อชงดื่ม คือสามารถที่จะเยียวยารักษาตัวเองก่อนเบื้องต้นได้นะครับ แต่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ป่วยด้วย แล้วก็ส่วนของสันทนาการผมมองว่าถ้าเปิดเป็นสันทนาการจริง ๆ รัฐบาลจะได้ภาษีจากตัวนี้เยอะทีเดียว เหมือนกับเหล้าบุหรี่ ให้ขึ้นบนดิน ส่งเสริมให้ความรู้ให้คำแนะนำแล้วจะเก็บภาษีจากตรงนี้ได้มหาศาล เพราะงั้นเลยอยากให้มันเสรีให้ไวที่สุด” หมอพิสิษฐ์บอกกับเราในขณะที่อีกฟากหนึ่งของโต๊ะกำลังวัดความดันเพื่อเช็คสุขภาพเบื้องต้นให้กับผู้ร่วมงานที่สนใจใช้พืชชนิดนี้เพื่อการรักษาทางการแพทย์
เหมือนว่าคล้ายแต่ไม่ใช่

ถ้าเป็นตอนเด็ก ๆ เราก็จะถูกปลูกฝังจากทั้งผู้ใหญ่และสื่อโทรทัศน์กัญว่าผักที่ขึ้นต้นด้วย ก ลงท้ายด้วย า คือยาเสพติด เป็นสิ่งผิดกฎหมาย คืออบายมุข คือสิ่งไม่ดีที่เราไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวด้วยประการทั้งปวง แล้วการปลูกฝังนั้นก็ได้ผลมาตลอดจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ที่มีคนออกมาเรียกร้องเสรีให้ผักอารมณ์ดี จากนั้นข้อมูลเรื่องการใช้ผักข้างต้นทางการแพทย์ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง นั่นทำให้สิ่งที่ถูกปลูกฝังมาทั้งชีวิตค่อย ๆ ทลายลงแต่ก็ยอมรับว่ายังไม่หมดไปซะทีเดียว

พอไม่เคยอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของคนที่กำลังใช้ประโยชน์จากผักในสันทนาการจริง ๆ เราก็เลยไม่มีโอกาสได้ทำความเข้าใจ ‘ผักกับสันทนาการ’ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าคอนเสิร์ตแบบนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนภาพการเสพสารติดชนิดอื่น ๆ แบบที่ละครฉายให้เราดูมาตลอด

ไม่แน่ว่าวันนี้อาจจะเป็นวันที่เศษเสี้ยวสุดท้ายจากการปลูกฝังมาทั้งชีวิตได้มลายหายสิ้นไปจากความคิดของเราเรียบร้อยแล้ว

จากผู้ซื้อสู่ผู้สร้าง

“เรื่องการจัดงาน ผมกับเบียร์เราทำงานด้วยกันมากว่า 10 ปี เบียร์เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ เป็นพี่ เป็นน้องและเพื่อนในเวลาเดียวกัน เบียร์เป็นคนชอบปาร์ตี้ เรียกว่ามีคอนเสิร์ตเป็นต้องไปกดบัตรเพื่อไปปะทะกับคนอื่น ผมไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมนี้จึงขอตามไปคอนเสิร์ต Sunset festival (raggae) เมื่อต้นปี บรรยากาศริมชายหาด คนเยอะ รอยยิ้มเพียบไม่มีคนตีกันเลย มองไปทางไหนก็มีแต่คนเมา เราโคตรชอบบรรยากาศที่คนมาเมาร่วมกันโดยปราศจากความรุนแรง สิ่งนี้แหละมั้งคือสิ่งที่ทำให้เบียร์ไปกดบัตรคอนเสิร์ตตลอด ขอบคุณมากนะครับอาจารย์เบียร์ที่ร่วมเดินมาด้วย จนตอนนี้นั่งอย่างเดียวเลย (หัวเราะ)” พี่ณัฐ (ผู้จัดงาน) แนะนำให้เรารู้จักพี่เบียร์ผ่านเรื่องเล่าของเขา หากไม่มี‘พี่เบียร์’ งาน ‘หนัดกินผัก’ ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
เติม-เต็ม

“อันนี้ผมโยงมาหาบุญเติมผมหน่อยละกัน มันเป็นสาเหตุที่ผมใช้คำว่าเติมไงลุง เพราะแบบเราขาดไง แคนนาบินอยด์เราลดไง ไปยืมของพืชมาเติมให้หน่อย แคนนาบินอยด์จะได้สูง สุขภาพจิต สุขภาพกายจะได้ดีนะครับ มันก็เลยเป็นที่มาของคำว่าบุญเติม มันเป็นบุญที่ผมเนี่ยได้มาเติม ผมก็เลยได้อยู่มาถึงทุกวันนี้นะครับ” พิธีกร (บุญเติม สายเขียว) พูดย้ำในประเด็นที่ว่าทำไมผักถึงไม่ใช่สารเสพติด

ตลอดงานวันนี้เราได้ยินคำว่า ‘เติม’ กับ ‘เต็ม’ บ่อยมาก ๆ สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการการกินผัก นี่เลยเป็นครั้งแรกที่เราได้ยินและเข้าใจสองคำนี้อย่างถ่องแท้

ทำไมงานสันทนาการกินผักถึงไม่มีคนตีกัน?
“คือพืชชนิดนี้เนี่ย พอถึงจุดนึงคนที่ใช้อะครับเค้าก็จะสำนึกรู้ว่ามันให้เอฟเฟ็กต์ตรงไหน แต่ละสายพันธุ์มันมีหลายเอฟเฟ็กต์มากเลย คุณจะใช้เพื่อคิด คุณจะใช้เพื่อใช้แรงงาน ใช้เพื่อผ่อนคลาย หรือคุณจะใช้เพื่อแก้เครียด มันแยกสายพันธุ์กันหมดเลย ทีนี้งานสันทนาการของเรามันก็จะไม่เหมือนปาร์ตี้อื่นที่ไปเหยียบเท้ากันแล้วโกรธ อันนี้คือขอโทษคร้าบบบ ยิ้ม ยิ้มมมม อันนี้นี่เป็นข้อดีของผัก คือ THC ที่มันมีอยู่ในผักเนี่ยมันเข้าไปกระตุ้นทำให้เราเฟรช ทำให้เราเมา คือพอภาวะเมาอะมันก็หลุดจากสิ่งที่สังคมเชป (Shape) อยู่อะครับ พอเราใช้มันบ่อย ๆ เรารู้ว่าเราสามารถหลุดจากความเครียด ณ ตรงนี้ได้อะ มันก็เลยเกิดเป็นการใช้เพื่อบำบัดตัวเองเยอะ ซึ่งตรงนี้เนี่ยกฎหมายมันไม่เปิด เราก็รู้สึกว่ามันเปิดแต่ว่ามันยังไม่ได้เปิดทางนี้

“เรามองว่าถ้าประชาชนคนทั่วไปรู้ประโยชน์กัญเนี่ยจะเป็นยังไง จากนั้นก็กำหนดอัตราการใช้ขึ้นมา เราว่าประเทศจะสมดุลได้อีกเยอะมากเพราะว่าเราจะมีจุดเครียดแล้วก็จุดที่ผ่อนคลายได้ในคืนนั้น นั่นคือข้อดีของมัน” พี่ณัฐผู้จัดงานอธิบายความแตกต่างระหว่างงานสันทนาการกินผักกับงานสันทนาการเครื่องดื่มให้เราฟัง

เติม เพื่อเพิ่มสิ่งที่ขาด
เต็ม จนพอดีกับความต้องการของตัวเอง ไม่มีล้น
ไม่รู้ว่าคำอธิบายตามความเข้าใจของเราจะยืนยันความเข้าใจที่ว่าถ่องแท้ได้แค่ไหน

ใช้เองขายเอง

อีกหนึ่งความพิเศษของงานนี้คือทีมงานได้เชิญพ่อค้าอุปกรณ์กินผักชื่อดังจากในโซเชียลเน็ตเวิร์กมาร่วมกัญเปิดแผง จนชั้นหนึ่งของเรือถูกเนรมิตให้กลายเป็นตลาดของคนรักผัก เห็นพ่อค้าจัดร้านเสร็จสรรพพร้อมขายแล้ว แต่บนเรือยังไม่มีลูกค้าขึ้นมาสักคน โอกาสนี้แหละเหมาะสมที่สุดแล้ว งั้นเราเข้าไปทำความรู้จักกับธุรกิจที่น่าสนใจนี้กันเลยดีกว่า

“ขายมาสิบบกว่าปีแล้ว”
โหหห พอเราลองนับย้อนไปนี่ตอนนั้นระดับความยอมรับของผักน่าจะยังไม่ถูกยอมรับขนาดนี้เลย แล้วอะไรล่ะคือสาเหตุที่ทำให้พี่เค้าตัดสินใจทำธุรกิจขายอุปกรณ์ช่วยกินผักในตอนนั้น

“ส่วนนึงก็เพราะชอบด้วยอะครับผมแล้วสมัยนั้นด้วยความที่เรายังหาของพวกนี้ลำบาก เลยอยากหาที่ ๆ มันรวมของพวกนี้ไว้ให้เรา ก็เลยเกิดไอเดียว่าเราสามารถทำเองได้ ก็เลยลองทำดูอะครับ”

ตอนนั้นที่เริ่มแรก ๆ พี่กลัวตำรวจจับมั้ยอะคะ?
“ก็ศึกษามาบ้างอะครับ คือจริง ๆ มันมีกฎหมายอยู่อะครับ เพราะว่าเราขาย(บ้องแก้ว) ไปในแง่ของประดับบ้านของสะสมเลยซะมากกว่า”

ที่บ้านเค้าเข้าใจอาชีพของพี่ขนาดไหนอะคะ?
“(หัวเราะ) แรก ๆ เค้าก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่พอวันนึงเค้าเห็นเราทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้สุจริตเค้าก็เข้าใจมากขึ้น”

เพิ่มรสชาติชีวิต

พี่ว่าถ้าไม่มีกัญและกัญ ชีวิตพี่จะเป็นยังไงคะ?
“ถ้าชีวิตไม่มีกัญและกัญก็คงจะขาดสีสันไปเยอะเลยครับ เพราะว่าชีวิตเรามีแต่เรื่องเครียด ๆ การที่ได้แบ่งกัญเติมก็เหมือนได้ปลดปล่อยครับ ออกมาระบายความเครียด แล้วมันก็เป็นยาด้วย ไม่เห็นจะเสียหายอะไรเลยครับ”

เติมกัญและกัญนี่มันไม่เมาเท่าเติมเหล้าและเบียร์ใช่มั้ยคะ?
“จากที่ทดลองหรือจากที่ดูเพื่อนอะครับ ผมว่ามันไม่มีโอกาสไปถึงจุดนั้น มันไม่มีโอกาสไปถึงจุดที่ขาดสติถ้าคุณใช้มันอย่างเดียว แต่ถ้าคุณไปดื่มแอลกอฮอล์ด้วย หรือไปทำอะไรอย่างอื่นด้วยเนี่ย ผมเชื่อว่ามันอาจจะฟุ้งอยู่”

เมื่อกี้หนูได้ยินพี่เดี่ยวพูดเรื่องชวนกัญเสรีที่บ้าน เลยอยากรู้ว่าพี่กับที่บ้านชวนกัญทำเสรีแล้วยังคะ?
“จริง ๆ ก็มองที่ประโยชน์ของมันมากกว่า อย่างผักที่ว่าเนี่ย ถ้าเราศึกษามา มันจะตอบโจทย์เรามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำอาหาร มันก็แทนผงชูรสได้ ผมมองว่าเด็ก ๆ ก็สามารถใช้กัญได้ถ้าผู้ใหญ่ควบคุมดูแล เสรีในบ้านจริง ๆ ตอนแรกพ่อแม่ผมเค้าก็ไม่โอเคหรอกครับ แต่พอหลังจากที่มีกระแสทางการแพทย์หันมาใช้กัญแล้วเนี่ย ที่บ้านผมก็เปิดใจมากขึ้น”

พี่ว่าพี่ใช้ทำอาหารกัญด้วยใช่มั้ยคะ อันนี้นี่พี่ใช้ทำอาหารปกติเลยรึเปล่าคะ?
“คือถ้ามีโอกาสก็ใช้ครับ เพราะตอนนี้เราทำตามกฎหมายอยู่ คือวันนี้มันยังไม่เสรี ในความหมายคือยังไม่สามารถปลูกได้ เราก็เลยเอามาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีโอกาสไปบ้านเพื่อนที่ต่างจังหวัดแล้วเจอกัญ เราก็เอากลับมาทำให้ครอบครัวเรากิน”

พอสัมภาษณ์มาถึงตรงนี้ก็ทำให้คิดไปถึงก๋วยเตี๋ยวกัญชา หรือร้านอาหารที่มีฝีมือ ลูกค้าติดใจจนมักจะเติมคำว่า ‘กัญชา’ ต่อท้ายเพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีความอร่อยให้เสมอ

ถูกสมมติกัญขึ้นมาจนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

“จริง ๆ แล้วเรื่องผักสมุนไพรชนิดนี้เนี่ยมันไม่ใช่การสูบการเมาอย่างเดียว มันไปถึงการใช้ชีวิตเลยนะครับ”
“ผมคิดว่ามันเป็นส่วนนึงนะครับ มองแบบง่าย ๆ มันก็น่าจะทำให้พวกเราเข้าถึงความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมชาติมากขึ้น เวลาใจร้อนก็ลดลงมา ทำให้เรามีสติ ได้คุยกับตัวเอง ได้ทบทวนความคิด ถ้าคิดในแง่ดีแล้วผมคิดว่ามันมีแต่เรื่องที่ดี ก็อยากให้มันถูกต้องเสียทีครับ”
สมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน

“ทีนี้เนี่ยจากวันที่เราเริ่มทำเพจกัญชาชนกันมาแปดปี ถ้าเทียบกับคนอื่น ๆ ที่ทำกันมาเป็นสิบปี เราเรียกว่าเรามาได้ระดับนึง แต่สุดท้ายแล้วเราได้มาคุยกับคนในวงการจริง ๆ จัง ๆ ว่าที่ผ่านมาเราไปไม่ถึงเป้าหมายเพราะเราไม่มีพลังมากพอ การลงมือทำที่มันกะจัดกระจาย ต่างคนต่างลงมือทำกันเนี่ยมันขาดพลัง เราก็เลยคุยกับทุกกลุ่มว่าตอนนี้เรากำลังจะมีองค์กรกลางที่จะให้ทุกคนมาขับเคลื่อนเรื่องนี้กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะทำสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน องค์กรนี้จะเป็นองค์กรจากภาคประชาชน มีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ เข้ามา แล้วเราก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคืออยากเห็นกัญชาถูกกฎหมาย อยากเห็นเสรีกัญชา อันนี้จะเป็นกลไกต่อไปที่เราจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือไปสู่จุดหมาย”

“ที่มาวันนี้ก็เพื่ออยากให้ทุกคนเห็นว่าการรวมกลุ่มกันมันสำคัญขนาดไหน ถามว่ามันจะเกิดขึ้นมั้ยผมว่ามันเป็นเรื่องของเวลา และเวลาอยู่ข้างเราเสมอ ตอนนี้ภาคประชาชนต้องมีกำลังที่แข็งแรง ต้องมีการรวมตัว รวมกันให้มันเกิดพลังที่ขับเคลื่อนไปถึงจุดหมายได้ ”

ที่ตอนแรกเค้าบอกว่างานนี้เป็นงานคอนเสิร์ตกัญชาเพื่อความบันเทิงนี่เราว่ามันไปไกลกว่านั้นแล้วนะ

รวมกลุ่มให้แข็ง

เท่าที่สังเกตเวลาไปม็อบ เราแทบจะไม่เคยเจออะไรที่เป็นสัญลักษณ์หรือป้ายประท้วงของผักสมุนไพรต้องห้ามนี้เลย พอเราเห็นแอคทิวิสต์ (Activist) ประเด็นผักต้องห้าม กล้าที่จะออกมาจัดอีเวนต์แล้วก็อดคิดที่จะถามคำถามนี้ไม่ได้

พี่ณัฐ(ผู้จัดงาน)คิดจะเอาผักต้องห้ามเข้าไปพูดในม็อบมั้ยคะ?
“คือตอนนี้อะเรากับทีมงานกำลังทำสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชนอยู่ใช่มั้ย แล้วเราก็คุยกันว่าเฮ้ยเราจะไปม็อบรึเปล่า แต่ทีนี้อะเราคิดกันว่าเราไม่ต้องไปทำ Policy ที่ม็อบก็ได้ เพราะเรามีแคมเปญ เรามีสิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังจะทำในปีที่กำลังจะถึงนะครับ แล้วเราก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้เนี่ยมันจะช่วย Shape ผู้คนแล้วก็สร้างความรู้ความเข้าใจที่เปิดกว้างมากขึ้น แล้วก็ทำให้ภาพลักษณ์ของผักต้องห้ามไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วย”

ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัญ

“คือเราทุกคนอะมันแตกต่างสไตล์กันหมด คือทุกคนเนี่ยมันมีจุดต่างกันทั้งหมด ทั้งไลฟ์สไตล์ ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ความคิด การเติบโตไรเงี้ย แต่ตอนนี้ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัญ เราก็เลยใช้การกอดเป็นการสื่อสารว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันนะ เราเจอกัญแล้ว เราเพื่อนกัญ พอผักมันเข้ามาอยู่ในชีวิตเราเนี่ยมันเป็นอีกโลกนึงอะครับ มันมากกว่าว่าคุณฟังเพลงอะไร ดูหนังแบบไหน แต่ถ้าคุณกินผักเนี่ยมันจะข้ามผ่านเลย ไม่ว่าคุณจะมีไทป์แบบไหน แต่งตัวยังไง ลองสังเกตดูได้เลยว่าคนที่มาเนี่ยมันไม่มีสไตล์เดียวกันมากกว่าสามกรุ๊ปหรอกเพราะทุกคนอะใช้กัญชาเพื่อชีวิต”

เพราะทุกคนกินผักเพื่อชีวิต ในขณะเดียวกัญก็ยังไม่ถูกกฎหมายซะทีเดียว เราก็เลยได้ยินผู้เข้าร่วมงานบอกพี่ณัฐ (ผู้จัดงาน) ว่า ‘สู้สู้นะครับพี่’ ก่อนที่ทั้งสองจะคลายมือที่กอดออกจากกัน

สัญญาณของการเริ่มต้น

พี่ณัฐคิดว่าจะจัดงานนี้เป็น Festival ทุกปีเลยใช่มั้ยคะ?
“คิดว่านะ เพราะช่วงนี้มันเป็นช่วงที่จะหมดฝน แต่ก็ไม่ได้หนาว มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอะครับ ถ้าเป็นเรื่องของกัญชา ฤดูนี้ก็คือฤดูที่เริ่มจะทำดอกแล้ว มันก็เป็นต้นกัญชาที่สวยงาม”

เราเห็นหมอกลอยปกคลุมตึกระฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดระยะเวลากว่า 6 ชั่วโมงของการจัดงานในครั้งนี้ ด้วยลักษณะของหมอก มันไม่ต่างอะไรกันเลยกับควันไฟจากการเผาไหม้ของกัญชา

ในที่สุดควันก็จะลอยขึ้นไปเหมือนหมอก อาจลอยได้ไม่สูงเท่าหมอก แต่อย่างน้อยเมื่อมองจากบนเรือลำนี้ ควันกับหมอกก็ไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกจากกันเลย

Loading next article...